สิ่งที่ทำให้อิหร่านเป็นไป

ก่อนอื่นผมขอสรุปประวัติศาสตร์อิหร่านสมัยใหม่แบบคร่าว ๆ เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมอิหร่านในปัจจุบันนะครับ

เริ่มต้นที่ “ราชวงศ์กอญัร” หรือคาจาร์ (1789–1925) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองในยุคที่อิหร่านกำลังเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่ามาเป็นยุคใหม่

ในช่วงนั้นมีการค้นพบว่าอิหร่านมีแหล่งทรัพยากรที่ชาวตะวันตกต้องการนั่นคือ “น้ำมัน” คือมีการประมาณการว่าอิหร่านมีน้ำมันใต้ดินมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

พอเล่าถึงตรงนี้ท่านคงพอจะเดาได้ใช่ไหมครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

ในต้นศตวรรษที่ 20 มีนายทุนอังกฤษสามารถเจรจาดีลน้ำมันในอิหร่านได้ โดยได้รับสัมปทานการขุดหาน้ำมันในอิหร่าน ซึ่งอังกฤษจะรับผิดชอบค่าขุดหาแล้วแบ่งหุ้นให้กับชาห์อิหร่านเพียงเล็กน้อย ตามมาด้วยการก่อตั้งบริษัทชื่อบริษัทน้ำมันอังกฤษ-เปอร์เซีย (APOC) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง ปัจจุบันถูกรวมเข้ากับบีพี (British Petroleum: BP) ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดบริษัทน้ำมันและแก๊สยักษ์ใหญ่ของโลก

อาจกล่าวได้ว่าดีลน้ำมันนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้จักรวรรดิอังกฤษร่ำรวยขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของอิหร่าน เพราะราษฎรและขุนนางไม่พอใจที่ต่างชาติมากอบโกยทรัพยากรมากถึงเพียงนี้

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ต้องล้มดีลน้ำมัน กับฝ่ายที่ต้องการปกป้องดีลน้ำมันเพื่อรักษาการสนับสนุนจากอังกฤษนี้เป็นมหากาพย์ของการต่อสู้ในอิหร่านต่อเนื่องมาเกือบตลอดศตวรรษที่ 20

หลายครั้งอังกฤษ (และต่อมาคือสหรัฐ) เห็นว่าผู้นำอิหร่านคนปัจจุบันไม่เข้มแข็งพอที่จะรักษาดีลน้ำมันได้ ก็เข้ามาแทรกแซงเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนตัวกษัตริย์ ทำให้ชาวอิหร่านโกรธแค้นเป็นอันมาก

กษัตริย์อิหร่านรัชกาลสุดท้าย คือพระเจ้าชาห์ “โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี” นั้นอิงตะวันตก แม้จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่ก็ปกครองแบบเผด็จการและตัดสินใจผิดพลาดหลายอย่างทำให้ประชาชนแทบทุกภาคส่วนไม่พอใจ

ปรากฏประชาชนทั้งที่เป็นเสรีนิยม, คอมมิวนิสต์, และเคร่งศาสนารวมกันก่อม๊อบล้มพระเจ้าชาห์ พวกเขาทำสำเร็จในปี 1979 จากนั้นทั้งสามกลุ่มชิงความเป็นใหญ่กันเอง กลายเป็นฝ่ายเคร่งศาสนาที่ชูความสมถะและอัตลักษณ์แบบอิสลามสามารถเอาชนะฝ่ายอื่น ๆ ขึ้นมาปกครองอิหร่านจนปัจจุบัน

ความขัดแย้งภายในนี้ทำให้เผด็จการเพื่อนบ้านอย่าง “ซัดดัม ฮุสเซน” แห่งอิรักเห็นโอกาส จึงบุกอิหร่านในปี 1980 หมายชิงทรัพยากรน้ำมันและทางออกทะเลในดินแดนทางใต้ของอิหร่าน

ซัดดัมหวังว่าฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลศาสนาจะร่วมลุกฮือก่อกบฏ แต่ปรากฏว่าเขาคิดผิดเพราะกลายเป็นว่าชาวอิหร่านเห็นเลือดข้นกว่าน้ำ ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันขับไล่ข้าศึกอิรัก สงครามยืดเยื้อมาถึงปี 1988 มีคนตายนับล้านคน และจบลงโดยเสมอกัน

…ตั้งแต่นั้น “ศาสนา” และ “ทหาร” ในอิหร่านก็กลายเป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืนกัน คือทหารสู้เพื่อปกป้องศาสนา และศาสนาให้ความชอบธรรมกับทหาร

รัฐบาลเคร่งศาสนาของอิหร่านปกครองโดยเน้นให้ประชาชนมีศีลธรรม และให้สวัสดิการที่ดี ในขณะเดียวกันก็ทะเลาะกับฝ่ายตะวันตกจนถูกคว่ำบาตรมานับ 40 ปี จนปัจจุบัน

และนี่คือภูมิหลังที่มีความสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมและโลกทัศน์ของชาวอิหร่านนะครับ…

เรื่องทั่วไป 

ผมเข้าใจว่าโครงสร้างสังคมอิหร่านปัจจุบันนี้มีลักษณะคือ ทหารและศาสนาเป็นกลุ่มการเมืองที่อุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอีลิตของประเทศในตอนนี้ และจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมได้พบกับการออกงานเกี่ยวกับทหารและศาสนาตามที่ต่างๆ ในอิหร่านบ่อยครั้ง

ชาวอิหร่านมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างกรณีที่นายพลสุไลมานีถูกโดรนสหรัฐฆ่าตายเมื่อปี 2020 ก็มีคนอิหร่านพากันร้องไห้กันมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีชาวอิหร่านประท้วงรัฐบาลในเรื่องปากท้อง และการทำสงครามตัวแทนมากเกินไปเช่นกัน

ชาวอิหร่านมีทั้งคนที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา สิ่งเหล่านี้เห็นได้ทั่วไปเช่นการที่ประชาชนอยากเล่นดนตรีข้างถนน แต่ถูกตำรวจมาขับไล่

สิ่งนี้ยิ่งเห็นได้ง่ายในผู้หญิง คือผู้หญิงที่แต่งชุดดำปิดมิดชิดนั้นเคร่ง ส่วนผู้หญิงที่คลุมผ้าคลุมศีรษะหลากสีนั้นไม่เคร่ง ซึ่งความไม่เคร่งนั้นสามารถไปถึงขั้นที่พวกเธอบางคนสวมเสื้อแจ็กเก็ตมีหมวกฮูดแบบฮิปฮอปเดินไปมาโดยเปิดศีรษะ!

เวลาตำรวจศาสนาเดินผ่านผู้หญิงที่ใส่ฮูดก็จะยกฮู้ดขึ้นมาปิดผม ผู้หญิงที่แต่งหน้าก็จะลบเครื่องแต่งหน้าออก แต่พอลับหลังพวกเธอก็จะถอดฮูด/แต่งหน้าใหม่อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่ล้อกันว่าหญิงอิหร่านมีสกิลแต่งหน้าใน 5 นาที

ซึ่งโดยรวม ๆ ผมกะจากสายตาพวกที่ไม่เคร่งนี้มีเยอะกว่านะ อาจจะ 70% แล้วแต่เมืองด้วย

ชาวอิหร่านชื่นชอบบทกวีเป็นอย่างมาก พวกเขามีการพกหนังสือของกวีชาวอิหร่านที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น ฮาเฟซ (Hafez) ไปด้วย เวลาว่าง ๆ ก็มีการเปิดหนังสือแบบสุ่ม ๆ แล้วนำเอาบทกวีจากหน้าที่เปิดมาเป็นหลักการใช้ชีวิตในวันนั้น ๆ ซึ่งอารมณ์คล้าย ๆ กับการดูดวงประจำวันนั่นเอง

คนอิหร่านคิดอย่างไรจากสื่อต่าง ๆ

ส่วนต่อไปผมจะขอรวบรวมความคิดเห็นของคนอิหร่านที่มีการสำรวจในโพลเพื่อมาประกอบบทความนี้

แต่ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับอุปสรรคในการทำโพลในอิหร่านเสียหน่อย แน่นอนว่าด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการคุมสื่อของรัฐบาล อาจเกิดปัญหาได้หากตอบไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ การทำโพลด้วยวิธีเก่าอย่างสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อาจได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงเสียทีเดียว

ขณะเดียวกันโพลเหล่านี้มักจะทำแบบออนไลน์อาจได้ข้อมูลจากฝั่งต่อต้านรัฐบาลมากกว่าความเป็นจริง ผลโพลเหล่านี้ฟังหูไว้หูแล้วกันนะครับ

[มุมมองต่อเศรษฐกิจ]

IranPoll (เป็นสำนักวิจัยการตลาดตั้งอยู่ในแคนาดา) สำรวจในปี 2019 พบว่า:
– ผู้ตอบ 57% มองว่าอีลิตของประเทศควบคุมเศรษฐกิจ
– 31%
มองว่าเศรษฐกิจของอิหร่านทำเพื่อทุกคน

และต่อมาตรการปราบคอร์รัปชันทางเศรษฐกิจของรัฐบาลโรฮานี (ประธานาธิบดีอิหร่านคนก่อน)
– ผู้ตอบ 29% มองว่ามีเพิ่มขึ้นบ้างหรือมาก
– 19% มองว่ามีลดลงบ้างหรือมาก
– และ 50% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงประมาณ 30 ปีหลัง อิหร่านมีอัตราการเกิดลดลงถึง 70% ซึ่งอาจเป็น “อัตราคลอดบุตรต่อหญิงลดลงเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” จนทางการอิหร่านต้องสั่งให้ผู้หญิงในบางกองทัพมีลูก 5 คน …สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวอิหร่านที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงโควิด-19 อิหร่านมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉพาะในช่วงเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ ในอิหร่านนั้นมียอดคนฆ่าตัวตายสูงขึ้นถึง 23%

ในรายงานความสุขโลกของ UN ปี 2020 พบว่าอิหร่านมีอันดับความสุขอยู่ที่ 118 จาก 153 ประเทศ ซึ่งเมื่อเจาะแยกย่อยลงไป พบว่าชาวอิหร่านมีความสุขในด้านสุขภาพ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรายได้ (แม้ว่าจีดีพีอิหร่านจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร แต่เป็นการระบุว่าชาวอิหร่านไม่ได้รู้สึกแย่กับเรื่องนี้มากนัก)

ส่วนเรื่องที่เป็นตัวฉุดคะแนนความสุขของชาวอิหร่าน ได้แก่ “ผลด้านลบ” ซึ่งหมายถึงความรู้สึกโกรธ กังวลและเศร้า ซึ่งอยู่อันดับที่ 150 จาก 153 ประเทศ โดยอิหร่านมีการคอร์รัปชันสูง การขาดหลักประกันสังคมทำให้ขาดที่พึ่งในยามลำบาก และการขาดอิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิต

ชาวอิหร่าน 86% ยังมองว่าสิ่งที่ส่งผลกระทบหนักสุดต่อเศรษฐกิจอิหร่าน คือ ความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชันในประเทศเอง และ 73% สนับสนุนสโลแกน “ศัตรูของเราอยู่ที่นี่ เขาหลอกว่าเป็นอเมริกา”

สิ่งเหล่านี้แม้สะท้อนความไม่พอใจของชาวอิหร่านต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล… แต่ก็ขอให้ตระหนักว่าโพลนี้ทำโดยคนอิหร่านในต่างประเทศซึ่งน่าจะไม่ชอบรัฐบาล

[มุมมองต่อการเมืองในประเทศ]

การสำรวจของ GAMAAN (ตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์) พบว่า:
– ผู้ตอบ 41% ต้องการโค่นล้มสาธารณรัฐอิสลาม
– 21% ต้องการ “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐอิสลาม” (คือเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป)
– และมีเพียง 18% ที่พอใจกับระบบการเมืองปัจจุบัน

ผู้ตอบ 64% ยังเห็นชอบกับโมฮัมมัด เรซา ปาห์ลาวี ชาห์อิหร่านรัชกาลสุดท้าย เทียบกับคนที่ไม่เห็นชอบที่มี 28%

สำหรับวิธีการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ผู้ตอบประมาณ 65% สนับสนุนวิธีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ และการรณรงค์ในโซเชียลมีเดีย และ 52% สนับสนุนการเข้าร่วมอารยะขัดขืน

ผู้ตอบ 88% เห็นชอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 67% ไม่เห็นชอบกับการใช้กฎหมายศาสนา โดยมีผู้ตอบเห็นชอบเพียง 28%

การสำรวจของ IranWire (เป็นสำนักข่าวของชาวอิหร่านในต่างประเทศ) เรื่องโควิดในปี 2020 พบว่าผู้ตอบ 55% เชื่อมั่นในการรับมือโควิดของรัฐบาล เทียบกับ 39% ที่ไม่เชื่อมั่นหรือเชื่อมั่นน้อย ผู้ตอบ 45% เห็นชอบกับมาตรการของรัฐบาล ขณะที่ 48% ไม่เห็นชอบ โดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นชอบคือคนเมืองและผู้มีการศึกษา

การสำรวจของ Stasis Consulting ในปี 2022 ความนิยมของประธานาธิบดีไรซี (คนปัจจุบัน) อยู่ที่ 28% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดสำหรับประธานาธิบดีอิหร่านที่ดำรงตำแหน่งมา 1 ปี (ลดลงจาก 72% จากผลสำรวจของ Gallap เมื่อปี 2021)

และผู้ตอบเพียง 20% ที่บอกว่าพวกเขาคิดว่าไรซีจะสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมอิหร่านในปัจจุบันได้ ผู้ตอบ 51% ที่บอกว่าหากย้อนเวลากลับไปได้จะเลือกไรซีตามเดิม ส่วน 30% บอกว่าจะเลือกคนอื่นหรือไม่เลือก

ต่อคำถามว่าเหตุใดจึงมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเมื่อปี 2021 น้อย ผู้ตอบ 46% บอกว่าน่าจะเป็นเพราะชาวอิหร่านไม่เชื่อมั่นต่อระบอบการเมือง 16% บอกว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี และ 6% มองว่าเพราะผลงานของรัฐบาลชุดก่อน

ผู้ตอบ 58% มองว่าสถานการณ์ของประเทศจะเลวลงในปีหน้า เทียบกับ 19% ที่มองว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

[มุมมองต่อศาสนา]

แม้ทางการอิหร่านจะมีการทำให้อิหร่านกลายเป็นรัฐศาสนาและพยายาม “ยัดเยียด” ศาสนาให้แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของชีวิตรวมทั้งมีการสอดแนมและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในความจริงนักวิจารณ์ก็ยังมองว่าอิหร่านมีความเป็นรัฐฆราวาสอยู่มาก

การสำรวจของ GAMAAN พบว่า:
ประชากรเพียง 32% ที่บอกว่าตัวเองเป็นมุสลิมชีอะห์
73% ไม่เห็นด้วยกับการบังคับสวมญิฮาบ
60% ไม่สวดมนต์แบบมุสลิม (น่าจะหมายถึงละหมาด)

EHESS (เป็นสถาบันสังคมศาสตร์ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส) พบว่า ชาวอิหร่าน 78% เชื่อในพระเจ้า แต่มีเพียง 26% ที่เชื่อในการมาของอิหม่ามมะห์ดี (เป็นเมสสิยาห์หรือพระผู้ช่วยให้รอด อารมณ์ประมาณการมาครั้งที่ 2 ของพระเยซูในศาสนาคริสต์)

คนที่สวดมนต์วันศุกร์ (ซึ่งทางการถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเคร่งศาสนา) ก็ลดลงมากเมื่อเทียบกับยุคต้นๆ ของการปฏิวัติอิหร่าน

EHESS ยังพบว่าเยาวชนที่ศึกษาศาสนาในเมืองกอมอันเป็นศูนย์กลางศาสนา ยังอ่านหนังสือและฟังเพลงที่ชนชั้นศาสนาห้ามด้วย

ในการประท้วงยุคหลังๆ ยังมีสโลแกนอย่าง “พวกหมอสอนศาสนาต้องออกไป” “เผด็จการไปตายซะ!” กับ “สาธารณรัฐอิสลามไปตายซะ!” หรือแม้แต่หมอสอนศาสนาที่พยายามขวางการประท้วงยังถูกหัวเราะเยาะและโห่ไล่

…สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นปรากฏการณ์ว่าคนอิหร่านไม่ชอบการปกครองแบบศาสนามากขนาดไหน และนับวันจะยิ่งยึดถือสถาบันศาสนาของประเทศลดลง…

[มุมมองต่อโครงการนิวเคลียร์]

การสำรวจของมหาวิทยาลัยเตหะรานในปี 2015 พบว่า:
– ชาวอิหร่าน 91% มองว่าการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น
– 78% มองว่าการคว่ำบาตรอิหร่านเพราะโครงการนิวเคลียร์เป็นเพียงข้ออ้าง
– แต่ขณะเดียวกัน 65% มองว่าการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ขัดต่อศาสนาอิสลาม
– และ 58% ทราบถึงสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

การสำรวจร่วมของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และมหาวิทยาลัยเตหะรานในปี 2014 พบว่า:
– ผู้ตอบ 79% เห็นด้วยกับข้อตกลง P5+1 ที่ห้ามอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
– 62% สนับสนุนให้ IAEA เข้ามาตรวจสอบมากขึ้น
– แต่ 75% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการวิจัยด้านนิวเคลียร์

จะเห็นได้ว่าชาวอิหร่านสนับสนุนการพัฒนานิวเคลียร์อย่างสันติ แต่ไม่สนับสนุนหากมีการพัฒนาไปเป็นอาวุธนิวเคลียร์

แน่นอนว่าในเรื่องนี้สังคมอิหร่านก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มขวาจัดและฮาร์ดคอร์จะมองว่าอาวุธนิวเคลียร์มีความจำเป็นเพื่อใช้ป้องกันประเทศและอาจใช้เป็นเครื่องมือขยายอิทธิพลในภูมิภาค แต่ฝ่ายปฏิรูปจะมองว่าเป็นโครงการที่กินงบประมาณและเป็นภาระให้สังคม ซึ่งแพงยิ่งกว่าทำสงคราม 8 ปีกับอิรักเสียอีก

[มุมมองต่อประเทศอื่น]

ปกติเราอาจคิดว่าชาวอิหร่านคงจะไม่ชอบสหรัฐมากที่สุดหลังการคว่ำบาตรและการเผยแพร่ข่าวสารในเชิงลบออกมามากมาย

แต่จากการสำรวจของ GAMAAN (เป็นมูลนิธิไม่แสวงกำไรในเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาชาวอิหร่านโดยเฉพาะ) ในปี 2021 พบว่า “สหรัฐ” กลับเป็นประเทศที่ชาวอิหร่านชอบมากที่สุด คือ 52.1% ไม่เห็นชอบ 39.5% มีเพียงองค์การอีกองค์การเดียวที่ชาวอิหร่านเห็นชอบเกินครึ่ง คือ องค์การอนามัยโลก ที่ 61.8% ไม่เห็นชอบ 27.3%

ส่วนประเทศและองค์การอื่น ๆ นั้นมีชาวอิหร่านไม่เห็นชอบเกินครึ่งทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่รัสเซียกับจีนที่หลายคนคงคาดว่าชาวอิหร่านน่าจะเอียงไปทางสนับสนุนชาติที่ต้านอเมริกาก็ตาม โดยจีนมีคนเห็นชอบ 27% และรัสเซีย 24.6% (ทั้งสองประเทศยังน้อยกว่าซาอุดีอาระเบียที่รัฐบาลมองว่าเป็นศัตรูสำคัญเสียอีก)

การสำรวจนี้ยังพบว่า 73% ไม่เห็นชอบกับสโลแกน “อเมริกาไปตายซะ!” และ 65% ไม่เห็นชอบกับ “อิสราเอลไปตายซะ!” ทั้งสองมีคนเห็นชอบเพียง 20% นอกจากนี้ ผู้ตอบ 57% คัดค้านการแทรกแซงซีเรียของอิหร่าน เช่นเดียวกับ 70% ที่ค้านการสนับสนุนกลุ่มฮามาส ฮิซบอลเลาะห์ และฮูธี (รัฐบาลอิหร่านหนุนกลุ่มเหล่านี้หมด)

ที่น่าสนใจคือคำถามว่านโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใดที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวอิหร่านมากที่สุด ผู้ตอบ 7% เลือกไบเดน แต่ 29% เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งที่ทรัมป์เป็นคนถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และเริ่มคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่

แต่เมื่อมาดูอีกคำถามหนึ่งที่มีผู้ตอบ 60% ไม่ควรแค่เฝ้าดู แต่ควรลงมือทำเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอิหร่านเท่านั้น

นี่เป็นการส่งสัญญาณที่บอกว่าชาวอิหร่านต้องการให้สหรัฐเข้ามาช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ควรเอาแต่ดีลกับรัฐบาลอิหร่านเพียงอย่างเดียว (แปลว่าคนมองว่าอย่างน้อยช่วยกดดันรัฐบาลอิหร่านหน่อย)

ชาวอิหร่านยังแสดงความไม่พอใจกับท่าทีของรัฐบาลที่ไปสนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครน โดยหลายคนมองว่าเป็นการสนับสนุน “ชาติอันธพาล” และทำให้ความสัมพันธ์กับตะวันตกยิ่งเสื่อมลง มีการประท้วงประปราย มีหมอสอนศาสนาคนหนึ่งโพสต์อินสตาแกรมบอกว่า “ฉันหวังว่ายูเครนจะสามารถต้านทานการโจมตีของปูตินได้” และนายทหารเกษียณอิหร่านคนหนึ่งบอกว่า เหตุผลทำสงครามของรัสเซียน่าหัวเราะเยาะ ไม่ต่างอะไรกับเหตุผลที่ซัดดัมใช้บุกอิหร่าน

ในการสำรวจของ Chicago Council on Global Affairs (เป็นองค์การอิสระในสหรัฐ) ในปี 2021 ชาวอิหร่านมองว่าชาติที่มีความสำคัญต่ออิหร่าน สูงสุดคือจีน (83%) รองลงมาคือ อิรัก (76%) ซีเรีย (74%) เลบานอน (68%) ญี่ปุ่น (57%) และสหรัฐ (54%) แต่ในขณะเดียวกันชาวอิหร่านก็ไม่พอใจที่รัฐบาลไปตกลงระยะยาวกับจีนและรัสเซีย จนมีการกล่าวหาว่ามีการ “ขายชาติและประชาชน”

[มุมมองต่อภาวะโลกร้อน]

การสำรวจของ WIN (เป็นเครือข่ายวิจัยตลาดและทำโพลอิสระทั่วโลก) ในปี 2019 พบว่าชาวอิหร่าน 84% เห็นด้วยว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ กลุ่มที่เห็นด้วยมากเป็นพิเศษได้แก่นักศึกษา ผู้มีการศึกษาสูง และวัยมิลเลเนียล 86% บอกว่าภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามใหญ่สุดต่อมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากนักศึกษาแล้วยังมีกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เห็นด้วยมากเช่นกัน

นักศึกษาและรุ่นมิลเลเนียลมีความกังวลต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดแต่ยังมองโลกในแง่ดีและพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเพื่อช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

จากที่ได้พูดคุยมา

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยบทสนทนาที่ผมได้พูดคุยกับชาวอิหร่านที่ผมพบเจอระหว่างทางในทริปอิหร่านในรอบที่ผ่าน ๆ มานะครับ

คนแรก ผมขอเรียกว่า นาย A เป็นชายวัย 40 ปี เขาเล่าว่า เขาเกลียดศาสนาอิสลาม เพราะจริง ๆ แล้วอิสลามเป็นศาสนาของชาวอาหรับ แล้วมากดขี่วัฒนธรรมเปอร์เซียที่นับถือโซโรอัสเตอร์ เขาไม่ชอบที่ศาสนาอิสลามมีกฎต่างๆ มากมายรวมทั้งการกดขี่ผู้หญิง

เขาเล่าต่อว่ารัฐบาลใช้เงินทำสงครามในสมรภูมิตะวันออกกลางต่างๆ มาก ไม่สนใจเอาเงินมาพัฒนาประเทศ รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ มีการเล่นพรรคเล่นพวกและคอร์รัปชันสูง เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี เงิน 1 บาทจากเดิมแลกได้ 6,000 กว่าเรียล กลายเป็น 8,000 กว่าเรียลภายในเวลาเพียง 3 เดือน

เขายังเชื่อว่ามีคนคิดเหมือนเขาอีกมาก โดยบอกว่าถึงแม้เขาจะไม่มีตัวเลขชัด ๆ แต่เขาเชื่อว่ามีชาวอิหร่านคิดเหมือนเขาประมาณร้อยละ 70 รวมทั้งตำรวจด้วย (น่าจะวัดจากทัศนคติที่แสดงออกเวลาเจอกัน)

ส่วนคนที่สอง ผมขอเรียกว่า นางสาว B เป็นหญิงวัย 20 ปี เธอบอกว่าเธอไม่ค่อยเข้ามัสยิด สวมญิฮาบแบบหลุดๆ ชอบดูอะนิเมะญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่อง Attack on Titans ที่เธอชอบมากที่สุด เธอยังชอบจัดปาร์ตี้ที่บ้านกับคนรุ่นเดียวกัน

(ปาร์ตี้ที่บ้านชาวอิหร่านเป็นสิ่งเลื่องลือมาก มีการร้องรำทำเพลงและดื่มเหล้า)

…นี่คือเรื่องเล่าของชาวอิหร่านส่วนหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสสนทนาด้วย (หมายเหตุว่าผมมักจะเจอคนที่มีแนวคิดเอียงด้านเสรีนิยมนะครับ อาจเป็นเพราะว่าคนเหล่านี้ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เลยมีโอกาสพบปะชาวต่างชาติและได้รับแนวคิดภายนอกมา)

ผมยังมีเพื่อนร่วมคอนโดเป็นชาวอิหร่านอพยพ โดยเขาเล่าว่าสมัยพ่อเขาเป็นคนใหญ่คนโตอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งของอิหร่าน และยังเป็นคนแรกที่รับเอาเทคโนโลยีปลูกพืชแบบหยดน้ำมาจากอิสราเอลด้วย อย่างไรก็ตาม พ่อเขาเป็นคนที่ใกล้ชิดกับชาห์ จึงหลบหนีมาไทยในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน ปัจจุบันครอบครัวเขายังมีที่ดินผืนใหญ่อยู่ในเมืองนั้นแหละ แต่รัฐบาลอิหร่านยังกั๊ก ๆ อยู่ ไม่ได้ยึดไปและไม่ได้คืนให้ มีสภาพอึน ๆ อยู่จนถึงตอนนี้

และเรื่องสุดท้ายที่ผมไม่พูดไม่ได้ นั่นคือการต้อนรับแขกของชาวอิหร่านที่ผมประทับใจมาก แทบทุกคนมีความเอื้อเฟื้อน่ารักเป็นอย่างยิ่ง และมักจะยอมออมชอมกฎของตนเองเพื่อเอาใจแขก

ผมยังเคยเจอตำรวจศาสนาของอิหร่านครั้งหนึ่ง เขามาเตือนผมว่าเพื่อนผู้หญิงที่มากับผมว่าทำญิฮาบหลุด ก็บอกประมาณว่า ขอโทษจริงๆ ช่วยให้เขาสวมให้เรียบร้อยได้ไหม เป็นการบอกแบบสุภาพมาก (แต่เขาปฏิบัติแบบนี้เฉพาะกับชาวต่างชาติหรือเปล่า ไม่แน่ใจนะครับ)

…และนี่คือภาพรวมของสังคมและคนอิหร่านในสายตาของผมครับ

บทส่งท้าย 

จากสภาพสังคมอิหร่านเท่าที่ผมประสบมาด้วยสายตาตัวเอง และข้อมูลความคิดเห็นของชาวอิหร่านที่มีการสำรวจออกมา พอสรุปได้ว่า ชาวอิหร่านเป็นคนที่มีความคิดความเชื่อที่หลากหลายมาก ไม่ได้ถูกล้างสมองให้เชื่อในรัฐบาลหรือศาสนามากอย่างที่คนภายนอกเข้าใจ

พวกเขาก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไปแบบเราท่าน มีอัธยาศัยดี ต้อนรับขับสู้ และอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ต้องอยู่ท่ามกลางโลกภายนอกที่คว่ำบาตรพวกเขา และรัฐบาลที่ชูศาสนากับการทหารเป็นสิ่งสำคัญนั่นเอง…