ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศมหาอำนาจในหมู่ชาวอาหรับ เป็นดินแดนทะเลทรายที่ร่ำรวย และมีเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม

หลังจากการสานความสัมพันธ์ใหม่กับไทยในปี 2022 ทำให้หลายฝ่ายหันมาสนใจประเทศนี้มากขึ้น

ดินแดนอันยิ่งใหญ่แห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร? มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จึงทำให้ชนเผ่าเร่ร่อน กลายมาเป็นเศรษฐีน้ำมันที่รวยที่สุดในโลก? สภาพสังคมของซาอุดีอาระเบียปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เพราะอะไร? …ขอเชิญทุกท่านติดตามได้ในบทความนี้ครับ

สถานที่และผู้คน

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศใหญ่ในคาบสมุทรอาระเบีย โดยกินพื้นที่ถึง 4 ใน 5 ของคาบสมุทรดังกล่าว (ประเทศอื่นๆ ได้แก่ เยเมน โอมาน กาตาร์ ยูเออี และคูเวต) เมื่อมองจากแผนที่โลก คาบสมุทรอาระเบียเป็นแผ่นดินที่ยื่นออกไปในมหาสมุทรอินเดีย มันเป็นพื้นที่แห้งแล้งกว้างใหญ่ มองไปทางไหนก็มักมีแต่ทรายสุดลูกหูลูกตาสลับกับโอเอซิสซึ่งมีเพียงเล็กน้อย

แม้ว่าดินแดนนี้จะติดต่อกับเมโสโปเตเมีย และอียิปต์ ซึ่งถือเป็นอู่อารยธรรมสำคัญของโลกมาแต่โบราณ แต่คาบสมุทรอาระเบียส่วนมากกลับเป็นดินแดนที่ทุรกันดาร แม้จะอยู่ใกล้เส้นทางสายไหมทางบกซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญเชื่อมโลกตะวันตก-ตะวันออก เส้นทางสายไหมนั้นพาดข้ามมันไปโดยผ่านอิหร่าน อิรัก ซีเรีย ตุรกี แต่ไม่ได้เข้ามาถึงแดนทะเลทรายเบื้องล่างเพราะกันดาร (แต่มีรัฐชายทะเลที่หลายแห่งในคาบสมุทรอาระเบียเป็นเมืองท่าสำคัญในเส้นทางสายไหมทางเรือ)

ดินแดนแถบนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์โลก แต่ในบางช่วงมันกลับเป็นดินแดนที่ทรงอิทธิพลและน่าสนใจมากที่สุด

ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาระเบียคือชาวอาหรับ ดังนั้น “อาหรับ” เป็นคำที่มี 2 ความหมาย คือ 1. เป็นคนที่พูดภาษาอาหรับ (เป็นสายหนึ่งในภาษาตระกูลเซมิติก ร่วมตระกูลกับภาษายิวและภาษาเอธิโอเปีย) และมีอัตลักษณ์ร่วมกัน หรือ 2. กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาระเบียนี้ คือเชื่อว่าชาวอาหรับเกิดที่นี่ก่อน แล้วค่อยกระจายไปในดินแดนอื่นๆ เช่นในแอฟริกาเหนือ

ด้านวัฒนธรรมร่วมของชาวอาหรับมีการระบุไว้ 4 อย่าง คือ 1. ความเคร่งศาสนา 2. การรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักในเกียรติยศของครอบครัว 3. ความเชื่อในความแตกต่างระหว่างชายหญิง และ 4. ทัศนคติต่อพฤติกรรมทางเพศ ที่ไม่ค่อยยอมรับเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (จริงๆ ชาวยิวซึ่งร่วมรากเซมิติกแบบเดียวกับชาวอาหรับ ก็มีวัฒนธรรมร่วมแบบนี้ทั้งหมด ทำให้ต่อมาศาสนายิว-คริสต์-อิสลาม จะมีแนวคิดประมาณนี้อยู่)

ชาวอาหรับในอาระเบียมีทั้งกลุ่มที่เป็นชาวเมืองและชาวเร่ร่อน สำหรับพวกที่อยู่ในเมืองนั้นก็มีหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรม เช่น ดิลมัน (Dilmun) มิเดียน (Midian) ลิห์ยาน (Lihyun) และแนบะเทียน (Nabataean) ซึ่งวัฒนธรรมแนบะเทียนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียนั้นได้รับอิทธิพลจากโรมัน และเป็นส่วนหนึ่งของโรมันจนถึงศตวรรษที่ 7 ดังนั้นแม้แนบะเทียนจะเป็นอาหรับ แต่มีสิ่งก่อสร้างคล้ายๆ โรมัน

ต่อไปผมจะขอกล่าวถึงจากวัฒนธรรมอาหรับเร่ร่อน หรือพวกเบดูอิน ซึ่งเป็นรากเหง้าสำคัญรากหนึ่งของชาวซาอุดิอาระเบีย

เบดูอินมาจากคำว่า บาดาวี เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกชนเผ่าคนเชื้อชาติอาหรับหลายเผ่า ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเลทราย (คำว่าบาดาวีแปลตรงตัวว่าผู้อาศัยในทะเลทราย)

เนื่องจากอากาศทะเลทรายนั้นแห้งยิ่ง ผันผวนยิ่ง ยามร้อนนั้นอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึงมากกว่า 50 องศา และยามหนาวสามารถลดลงได้ถึงติดลบ

…อาหารหายากมาก …แต่น้ำหายากกว่า

วัฒนธรรมของพวกเบดูอินถูกพัฒนาขึ้นมารอบๆ การเอาตัวรอดในทะเลทราย และการทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และสามารถแสวงหาน้ำมาต่อชีวิต

สังคมที่นี่มีคำกล่าวว่า “ฉันสู้กับน้องตัวเอง, ฉันกับน้องร่วมมือกัน สู้กับลูกพี่ลูกน้องของฉัน, และ ฉันกับลูกพี่ลูกน้องร่วมมือกัน สู้กับคนแปลกหน้า” หมายความว่าพวกเบดูอินจัดลำดับความสำคัญว่าตนเองนั้นสำคัญที่สุด, พี่น้องร่วมพ่อแม่สำคัญรองมา, ลูกพี่ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมเผ่าสำคัญน้อยลงไปอีก, และคนแปลกหน้ามีความสำคัญต่ำที่สุด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดหลักของพวกเบดูอิน ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้มีชีวิตรอด แนวคิดนี้ทำให้พวกเขามักแตกแยก และขาดสามัคคี แต่ก็ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง

วัฒนธรรมของเบดูอินมักเน้นการเชื่อฟังกันในกลุ่มเล็กๆ ในเผ่าเล็กๆ ของตัวเอง มักนับถือตัวผู้นำที่เป็นเพศชาย และมักไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับคนนอกเผ่า เนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์

เนื่องจากพวกเผ่าเบดูอินเหล่านี้อาศัยกระจายๆ กันในทะเลทรายข้างๆ เส้นทางสายไหม พวกเขาจึงพัฒนาทั้งการเป็นพ่อค้า และการเป็นกองโจรที่จะเข้าปล้นกองคาราวาน

ชาวเบดูอินกับชาวอาหรับเมืองนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก เช่นในหมู่ชาวอาหรับเมืองสมัยโบราณมีประเพณีให้ลูกชายไปอาศัยกับพวกเบดูอินเพื่อให้แข็งแกร่ง

ความที่พวกเขามีหลายเผ่า และมักแตกสามัคคีกัน จึงทำให้ทั้งอาหรับเมืองและเบดูอินต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรที่ใหญ่กว่าเรื่อยมา เช่นอาณาจักรโรมัน หรือเปอร์เซีย ซึ่งต่างเลี้ยงเผ่าอาหรับไว้เป็นบริวาร ใช้ทำสงครามตัวแทนมาตั้งแต่อดีต

การมาของอิสลาม

ในศตวรรษที่ 6 มีชายคนหนึ่งชื่อมุฮัมมัดถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองเมกกะของคาบสมุทรอาระเบีย เขาได้รับสารจากพระเจ้าให้มาประกาศศาสนาอิสลาม โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือการอพยพจากเมกกะไปเมดินาห์เนื่องจากถูกกดขี่ทางศาสนาในปี 622 ที่เรียกว่า “ฮิจเราะห์” และมีการนับปีแรกที่เกิดเหตุการณ์นั้นเป็นการเริ่มต้น “ฮิจเราะห์ศักราช” หรือศักราชของอิสลาม

คนมักเรียกมุฮัมมัดว่า “นบีมุฮัมมัด” โดยนบีหมายถึง “ศาสดา” หรือผู้ที่ประกาศสารของพระเจ้า

นบีมุฮัมมัดได้รวบรวมเผ่าต่างๆ ในคาบสมุทรอาระเบียให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ศาสนาอิสลาม และการที่พวกอาหรับทั้งอาหรับเมืองและเบดูอินสามารถรวมกันทำให้มีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นอันมาก

คือจริงๆ พวกอาหรับเป็นชาวทะเลทรายที่มีความทรหดอยู่แล้ว (เพราะต้องอาศัยในพื้นที่กันดาร) แต่เนื่องจากรบกันเองบ่อยทำให้อ่อนแอ เมื่อนบีมุฮัมมัดรวมพวกเขาได้ พวกเขาจึงกลายเป็นกองกำลังที่ร้ายกาจ

ชาวอาหรับภายใต้ธงอาณาจักรอิสลาม ได้รบขยายอาณาเขตออกไปอย่างไร้ผู้ต่อต้าน ทำให้อาณาจักรอิสลามกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น โดยยุคพีคเคยแผ่ออกไปกว้างขวางจากสเปนและโมร็อกโกทางตะวันตก ไปจนถึงบางส่วนของอินเดียทางตะวันออก และจากเทือกเขาคอเคซัสทางเหนือ ไปจนถึงเยเมนทางใต้ เรียกว่ามีความสำเร็จในการแผ่อาณาจักรไม่น้อยกว่าชาวมองโกล และหากมองทางด้านการแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมนั้นมีมากกว่ามองโกลมาก

ด้วยเหตุที่นบีมุฮัมมัดเป็นชาวอาหรับ ทำให้ภาษาอาหรับกลายเป็นภาษาของศาสนาอิสลาม (ในลักษณะเดียวกับที่ภาษาบาลีเป็นภาษาของศาสนาพุทธ) และเป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งของโลก

อาณาจักรอิสลามมีต้นกำเนิดจากอาระเบียก็จริง แต่นานวันไปด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของอาณาจักร ทำให้ศูนย์กลางอำนาจมักเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น เช่น กรุงแบกแดดในอิรัก หรือไคโรในอียิปต์

ต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองหลายครั้งทำให้อาณาจักรอิสลามแตกเป็นส่วนๆ มิได้รวมกันอีก กระนั้นมุสลิมหลายคนก็ยังฝันถึงการที่พวกเขาจะกลับมารวมกันเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ยุคออตโตมัน และต้นราชวงศ์ซะอูด

หลังอาณาจักรอิสลามแตก ดินแดนตะวันออกกลางก็ผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งยุคสงครามครูเสด, หรือยุคที่มีเผ่าทางตะวันออกทั้งเผ่าเติร์กและมองโกลมารุกราน

ศูนย์กลางอำนาจอาณาจักรใหญ่ของชาวอาหรับมักไม่ได้อยู่ในคาบสมุทรอาระเบียอีก แต่ที่นี่ยังมีความสำคัญในฐานะดินแดนศาสนา โดยยังมีเมืองเมกกะและมัสยิดอัลฮะรอมซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก

ในมัสยิดดังกล่าวมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือกะอ์บะห์ทซึ่งมุสลิมทุกคนจะต้องใช้เป็นจุดหมายในการหันเข้าหาเพื่อทำละหมาด นอกจากนั้นทุกคนยังควรเยี่ยมเยียนที่นี่เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

ตัดมาถึงยุคออตโตมัน ปลายศตวรรษที่ 16 อาณาจักรออตโตมันของชาวเติร์กได้แผ่อำนาจจากพื้นที่ประเทศตุรกีปัจจุบันลงมาจนถึงดินแดนต่างๆ ในคาบสมุทรอาระเบีย โดยอำนาจของออตโตมันเหนือคาบสมุทรดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของอำนาจที่อิสตันบูล

ในศตวรรษที่ 18 เกิดชายชื่อ มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลวะฮาบ มองเห็นว่าศาสนาอิสลามในยุคนั้นซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ออตโตมันเสื่อมทรามลง จึงคิดตั้งแนวทางใหม่ชื่อแนวทางสะลาฟีย์ (บางทีเรียกวะฮาบีย์) เป็นการชำระอิสลามให้บริสุทธิ์เหมือนที่กลุ่มชนในยุคนบีมุฮัมมัดปฏิบัติกัน

อับดุลวะฮาบสามารถสั่งสอนให้ มูฮัมมัด บินซะอูด เจ้าเมืองดิริยาห์ (อยู่ใกล้กับเมืองริยาดในปัจจุบัน) นับถือ ทำให้ทั้งสองร่วมกันแผ่ขยายอิทธิพล และแนวคิดสะลาฟีย์ไปทั่ว

วงศ์ซะอูดนี้พยายามรบตั้งอาณาจักรของตนเองในคาบสมุทรอาระเบียมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นานก็โดนออตโตมันและกองกำลังอื่นปราบแพ้ไป ดังนี้จะเห็นว่าวงศ์ซะอูดกับแนวคิดสะลาฟีย์นั้นมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันมาก

อธิบายสะลาฟีย์

อนึ่งแนวคิดสะลาฟีย์เป็นแนวคิดที่ต้องการนำศาสนาอิสลามกลับเข้าสู่ยุคนบีมุฮัมมัดอีกครั้ง (Islamic revivalism) ถือเป็นอิสลามสายที่เคร่งครัดมากเป็นอันดับต้นๆ

สะลาฟีย์มีข้อกำหนดควบคุมชีวิตประจำวันเยอะ พวกเขาคัดค้านพิธีกรรมที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น เช่น ให้เลิกแสวงบุญ (ซิยารัต) ตามหลุมศพของนักบุญอิสลามต่างๆ และให้เลิกตกแต่งหลุมศพเพราะจะเป็นการบูชารูปเคารพ (สมัยหนึ่งพวกสะลาฟีย์ถึงกับทุบทำลายอาคารและสิ่งประดับหลุมศพของคนในครอบครัวนบีมุฮัมมัดด้วย แต่ยังเว้นโดมเหนือหลุมศพของนบีมุฮัมมัดไว้เพราะ sensitive ที่จะทำลาย) ดังนี้อิสลามหลายสายจะมองว่าสะลาฟีย์นั้นสุดโต่ง แต่สะลาฟีย์มองว่าตนเองปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักอิสลาม

ซาอุดีอาระเบียสมัยใหม่

มาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษรบอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับออตโตมัน จึงได้ส่งนักการทูตชื่อ ที.อี.ลอว์เรนซ์ หรือลอว์เรนซ์แห่งอาระเบียมาปลุกระดมชาวอาหรับให้กบฏต่อออตโตมัน และสัญญาว่าจะมอบดินแดนให้ปกครอง โดยมีผู้นำสำคัญ คือ ฮุสเซน บิน อาลี แห่งเมกกะ

เมื่อออตโตมันรบแพ้ จึงนำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรชื่อฮัชไมต์โดยลูกหลานของบินอาลีทั้งในอิรัก ซีเรียและจอร์แดน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาหรับไม่รู้คืออังกฤษกับฝรั่งเศสเจรจากันเองลับหลัง เกิดเป็นข้อตกลงไซค์-ปิโกที่ตกลงแบ่งดินแดนอาหรับตะวันออกกลางกันเองหลังสงคราม ดังนั้นเมื่อสงครามยุติ ดินแดนเหล่านี้จึงเป็นอาณานิคม ส่วนกษัตริย์ฮัชไมต์เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น หรือก็คือหนังหน้าไฟที่คอยปกครองคนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของตะวันตก

ความสัมพันธ์ระหว่างพวกฮัชไมต์กับอังกฤษเสื่อมลงหลังอังกฤษปล่อยให้ยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ได้ ต่อมาพวกเขาขัดแย้งกับวงศ์ซะอูด ซึ่งในเวลานั้นสามารถรวบรวมคาบสมุทรอาระเบียอย่างกว้างขวาง โดยมีกองกำลังเบดูอินเป็นทัพสำคัญ ในที่สุดวงศ์ซะอูดสามารถพิชิตฮัชไมต์ ชิงคาบสมุทรส่วนใหญ่ และประกาศตั้งเป็นอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในปี 1932

ในช่วงแรกๆ ซาอุดีอาระเบียมีรายได้สำคัญจากการเกษตรและจากผู้แสวงบุญที่เดินทางสู่เมกกะ แต่ทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนไปในปี 1938 เมื่อมีการค้นพบน้ำมัน

ต่อมาทางการซาอุดีอาระเบียร่วมมือกับบริษัทน้ำมันอะแรมโคสัญชาติอเมริกันให้ขุดเจาะและพัฒนาบ่อน้ำมัน

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ซาอุดีอาระเบียไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบหรือได้รับความเสียหาย ดังนั้นความเจริญทางวัตถุจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

…ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นชาติที่ร่ำรวย เพราะมีรายได้จากน้ำมันมหาศาล ดังนี้จากชนเผ่าทะเลทรายที่อดอยากจึงค่อยๆ กลายสภาพมาเป็นเศรษฐีน้ำมันรวยสุดในโลกในชั่วไม่นาน

การปฏิวัติอิหร่านและผลสะท้อน

มาถึงปี 1979 มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงแนวทางของซาอุดีอาระเบียอย่างสำคัญ นั่นคือ การปฏิวัติอิหร่าน

ก่อนหน้าการปฏิวัติ อิหร่านเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ที่มีแนวทางนิยมตะวันตก กษัตริย์นั้นฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และเป็นเผด็จการ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ

สิ่งนี้นำสู่ “การปฏิวัติอิสลาม” ในปี 1979 เมื่อประชาชนได้รวมกันโค่นล้มกษัตริย์ และยกอยาตอลเลาะห์ โคไมนีซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาขึ้นมาเป็นใหญ่แทน

โคไมนีปกครองโดยการชูแนวทางปฏิบัติตามศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด แสดงให้เห็นว่าแนวทางอิสลามนั้นไม่เก่า และยังถูกนำมาใช้พัฒนาให้ประเทศเจริญได้ โคไมนียังบอกว่าจะกระจายการปฏิวัติอิสลามไปยัง              ประเทศอื่นๆ

เมื่อเห็นแบบนี้ กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียที่รู้ว่าพระองค์ก็อิงตะวันตกเหมือนกับอิหร่าน จึงรู้สึกระแวงว่าบัลลังก์จะไม่มั่นคงด้วยเช่นกัน!

ต่อมามีกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงบุกยึดมัสยิดอัลฮะรอมในปี 1979 เช่นกัน โดยอ้างว่าวงศ์กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียประพฤติตัวฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ทำการคอร์รัปชันสูง และทำผิดหลักอิสลาม ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่เกิดในอิหร่าน

เมื่อปราบกลุ่มก่อการร้ายไปแล้ว วงศ์ซาอุฯ จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร สิ่งนี้จึงไม่เกิดอีก

เพื่อการดังกล่าวกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียได้มีการดำเนินการต่างๆ ประกอบด้วย:
1. การสานสัมพันธ์กับสหรัฐเพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของประเทศจากอิหร่าน
2. การเพิ่มอำนาจของฝ่ายศาสนา กับการบังคับใช้บรรทัดฐานต่างๆ ให้เข้มงวดตามหลักศาสนามากขึ้น เพื่อให้กลุ่มหัวรุนแรงไม่มีข้ออ้างในการต่อต้านรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การสวามิภักดิ์ต่ออเมริกาอย่างออกนอกหน้านี้เป็นสาเหตุพวกสะลาฟีย์สายเคร่งครัดไม่พอใจ (เพราะสหรัฐนั้นดีกับยิว) จึงทำให้เกิดการก่อการร้ายอยู่เรื่อยๆ

ต่อมาเกิดสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอิสลามหลายคนชูแนวทางสะลาฟีย์เป็นอุดมการณ์หลัก คนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ อุซามะห์ บินลาดินซึ่งก็เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้แนวทางสะลาฟีย์ในตัวมันเองไม่ใช่แนวทางที่ชั่วร้าย เพียงแต่เป็นแนวทางที่เคร่งครัดมาก พวกผู้ก่อการร้ายมักจะดัดแปลงไปใช้อย่างสุดโต่ง

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องที่พูดยาก หลักฐานบางชิ้นระบุว่าเอกชนซาอุฯ ที่ศรัทธาแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายนั้นเป็นแหล่งทุนสำคัญของกลุ่มก่อการร้ายสายสะลาฟีย์ทั่วโลก

ปัญหาในซาอุ: สิทธิและเศรษฐกิจ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงซาอุหลังมีการเพิ่มอิทธิพลของศาสนานั้นเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น

1) เรื่องระบบผู้ปกครองชาย คือผู้หญิงทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้หลายอย่าง ต้องมีผู้ปกครองชายทำให้

2) การห้ามชายหญิงสุงสิงกันในที่สาธารณะ ยกเว้นไปกับผู้ปกครองชายของตัวเอง ห้างร้านหลายแห่งก็ต้องแยกส่วนให้บริการหญิงกับชาย

3) ผู้หญิงถูกจำกัดในอาชีพการงาน ทำให้มีสัดส่วนหญิงทำงานน้อย ทั้งที่หญิงจบมหาวิทยาลัยมากกว่าชาย

สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีที่กำเนิดมาจากอิสลามทั้งหมด แต่มาจากประเพณีเผ่าทะเลทรายโบราณที่ให้ผู้ชายเป็นใหญ่มากๆ

ในทางปฏิบัติด้านหนึ่งผู้ชายจะต้องดูแลทะนุถนอมผู้หญิงในปกครองอย่างดี แต่อีกด้านหนึ่งผู้หญิงก็ถูกจำกัดสิทธิ์ และถูกเลี้ยงให้เป็นผู้ติดตามอยู่เสมอ

ปัญหาอีกด้านที่มักสั่นคลอนซาอุดีอาระเบีย คือ เศรษฐกิจที่พึ่งพาแต่น้ำมันเป็นหลัก การเก็บภาษีสูงและมีอัตราว่างงานสูง (เนื่องจากทางการซาอุมักใช้นโยบาย “เปย์” ประชาชนให้ยอมรับการปกครองแบบเผด็จการโดยราชวงศ์ ดังนั้นประชาชนจำนวนมากจึงมีความเป็นอยู่สุขสบาย จนไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานต่างชาติที่ยอมรับเงินเดือนน้อยกว่าได้) ทั้งหมดเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นนอกเหนือจากความไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมานาน

ดังนั้นเพื่อพยายามประนีประนอม ทางการจึงมีการออกกฎหมายหลักพื้นฐานซึ่งเทียบได้กับรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ และให้มีสภาองคมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง นำไปสู่การเลือกตั้งเทศบาลครั้งแรกในปี 2004 และการให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี 2015 ตามด้วยการพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ ด้วยการโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

ในช่วงอาหรับสปริง หรือการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาหรับ ซาอุดีอาระเบียตอบสนองด้วยการประกาศมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นหลักสวัสดิการและสร้างที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่านโยบายภายในของซาอุดีอาระเบียเทียบได้กับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ แต่ควบคุมเสรีทางการเมืองอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับมีการเซ็นเซอร์สื่อและปราบปรามผู้ประท้วง

บินซัลมาน: ยุคใหม่ของซาอุดีอาระเบีย?

มาถึงช่วงประมาณปี 2015-2017 มีเชื้อพระวงศ์ซาอุพระองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงขึ้นมา คือ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน หรือมักย่อเป็น MBS

เขาสามารถไต่เต้าจากเชื้อพระวงศ์คนหนึ่งที่ไม่อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ลำดับแรก กลายมาเป็นมกุฎราชกุมาร รัฐมนตรีกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี (นายกฯ ซาอุคือพระมหากษัตริย์) ในเวลาอันรวดเร็ว เรื่องราวของ MBS ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจและควรทราบอีกมาก จะขอยกไปเขียนในโอกาสหน้านะครับ

ในยุคของ MBS ซาอุดิอาระเบียดูเหมือนจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการพยายามเปลี่ยนซาอุดิอาระเบียจากรัฐเคร่งศาสนามาเป็น ”ศูนย์กลางความบันเทิงโลก!”

…มีการนำความบันเทิงหลากหลายเข้ามา รวมทั้ง รายการตลก มวยปล้ำ (มวยปล้ำหญิงก็มี) รถมอนสเตอร์ทรัค และงานคอมิคอน
…ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ขับรถได้
…ประกาศหนุนอิสราเอลให้เป็นมาตุภูมิของยิว (เทียบกับเมื่อปี 1973 ซาอุดีอาระเบียคว่ำบาตรชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล)
…การประกาศลดอิทธิพลของฝ่ายศาสนา รวมทั้งการตัดอำนาจตำรวจศาสนา ยกเลิกการลงโทษเฆี่ยน และยกเลิกโทษประหารชีวิตเยาวชน
…และสิ่งที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ คือ ซาอุดีวิชัน 2030 ซึ่งต้องการลดการพึ่งพาน้ำมัน และพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

การที่ไทยกลับมาเจริญไมตรีกับซาอุฯ ได้ส่วนหนึ่งก็เป็นอานิสงค์จากรถไฟขบวนดังกล่าวด้วย

บทส่งท้าย

หากจะสรุปประวัติศาสตร์ซาอุดีอาระเบีย มันเป็นเรื่องราวของทั้งชาวอาหรับเมือง และชนเผ่าเร่ร่อน ที่หันมานับถืออิสลาม ก่อนจะสู้รบประกาศอิสระจากออตโตมัน ต่อมาร่ำรวยขึ้นเพราะทรัพยากรน้ำมัน กลายเป็นมีอิทธิพลขึ้นเป็นอันมาก

มาถึงบัดนี้ซาอุดีอาระเบียพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ทั้งหมดนี้จะมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจในประเทศซาอุดีอาระเบียต่อไปครับ