ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวสารของสื่อภาพยนตร์ จะเห็นได้ว่ามีกระแสหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ “The Little Mermaid” (เงือกน้อยผจญภัย) ซึ่งผู้คนมักจะจำเรื่องนี้ได้ในเวอร์ชันการ์ตูนที่มีเงือกสาว ผิวขาว ผมแดง เป็นตัวเอก
…อย่างไรก็ตามหลังจากที่ดิสนีย์เปิดเผยรายชื่อนักแสดงเวอร์ชันภาพยนต์ของเรื่องนี้เป็นคนผิวดำ ทำให้เกิดข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างคึกคักทั้งแง่บวกแง่ลบ…
…ฝ่ายแรกแสดงความคิดเห็นว่าไม่ตรงบท …ส่วนอีกฝ่ายชื่นชอบเพราะเป็นความหลากหลาย
…แล้วสิ่งที่ผู้ชมต้องการจากดิสนีย์คืออะไร ความหลากหลาย หรือ ต้นฉบับที่แท้จริง? บทความนี้จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกันครับ
ทำความรู้จักดิสนีย์
The Walt Disney Company เป็นบริษัทอนิเมชั่นยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก…
…ที่ผ่านมาดิสนีย์มีภาพยนตร์มากมายที่สามารถทำเงินในบ็อกออฟฟิศ …อย่างเช่นในปี 2019 พวกเขาได้ออกหนัง Avengers: Endgame, The Lion King (2019), Captain America, Aladdin, และ Dumbo ที่สามารถทำเงินรวมกันได้ถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!
กระแสความหลากหลายในภาพยนตร์
ก่อนหน้านี้ในวงการฮอลลีวู้ดมักเลือกนักแสดงผิวขาวมารับบทที่ไม่ใช่คนขาว ซึ่งกระแสตอบรับของผู้ชมมีความคิดเห็นว่า “มันก็แค่หนัง” หรือ “ก็แค่การเปลี่ยนบทภาพยนตร์นิดหน่อยเท่านั้น” จนทำให้เกิดวัฒนธรรมที่คุ้นชินจนเรียกว่าการฟอกขาวเชื้อชาติและวัฒนธรรมอื่นที่นอกเหนือจากวัฒนธรรมตะวันตก… อย่างเช่น บทแอนเชียน วัน นักบวชเชื้อสายลามะทิเบต ในคอมิกส์มาร์เวลที่ได้ ทิลดา สวินตัน นักแสดงหญิงชาวอังกฤษมารับบทนี้
…แต่ ณ ตอนนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้วครับท่าน ผู้คนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่สนับสนุนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ไหนเชื้อชาติอะไรหรือแม้แต่สีผิวแบบไหน ซึ่งเป็นเหตุทำให้แวดวงภาพยนตร์ต้องปรับตัวให้เข้ากับความหลากหลายและพยายามหันมาเลือกนักแสดงที่มีความเป็น “Color-blind Casting” หรือการเลือกนักแสดงโดยไม่สนใจเชื้อชาติ หรือสีผิวมากขึ้น
และดูเหมือนว่าดิสนีย์เอง ก็ผลักดันนักแสดงแบบ Color-blind Casting เช่นกัน อย่างใน Percy Jackson and the Olympians ที่ได้เลียร์ เจฟฟรี่ผู้หญิงผิวดำมารับบทแอนนาเบธ ที่เตรียมเข้าฉายในปี 2024 และ The Little Mermaid ที่พร้อมจะเข้าฉายเร็ว ๆ นี้
….อย่างไรก็ตามใช่ว่าเรื่องความหลากหลายจะมีแค่กระแสคำชม กระแสคำวิจารณ์ก็ย่อมมีไม่น้อย ส่วนใหญ่ฝั่งนี้จะมองว่าดิสนีย์พยายามยัดเยียดความหลากหลายมากจนเกินไป
จากหัวข้อบทความนี้เห็นได้ว่าในปี 2020 ดิสนีย์ได้นำอนิเมชั่นเรื่อง The Little Mermaid กลับมารีเมคเป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่น พร้อมเข้าฉายในปี 2023
และผู้ที่มารับบทเป็นแอเรียลนั้นก็คือฮัลลีย์ เบลลีย์ นักร้องสาวผิวดำจากวง “Chole x Halle” ซึ่งทันทีที่มีชื่อของเธอปรากฏออกมา ก็เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทันที!
“ขอโทษนะแต่มันงี่เง่ามากเลย ตัวละครนี้ผิวขาวผมแดง ซึ่งฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคนผิวสี แต่มันเหมือนกับจะสร้าง โมอันนา ฉบับคนแสดงแล้วเอาคนขาวมาเล่นแทน”
“ดิสนีย์ ถ้าคุณไม่เคารพและเห็นแก่ช่วงวัยเด็กของพวกเรา ก็ปล่อยมันไปเถอะ ฉันอุตส่าห์ปล่อยผ่านตอนที่คัดเลือกคนมาแสดงเป็นเบลล์ แต่นี่ใช้นักแสดงผมดำมาเล่นเป็นแอเรียลเหรอ? ฉันพอละ ฉันจะไม่เป็นแฟนดิสนีย์อีกต่อไป หลังจาก Lion King มันเต็มไปด้วยความทุเรศ ฉันพอแล้วจริงๆ”
“ฉันเป็นคนดำคนเดียวหรือเปล่าที่คิดว่าบท แอเรียล นี้ควรจะเล่นโดยนักแสดงผิวขาว?”
ข้อความพวกนี้เป็นแค่บางส่วนของกระแสความไม่พอใจจากผู้ชม พวกเขาเห็นว่าการเอานักแสดงผิวดำมาเล่นบทเป็นคนผิวขาวนั้นมันไม่ตรงบท! เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่ได้แล้ว และดิสนีย์ทำแบบนี้ก็เป็นการไม่ให้เกียรติภาพจำในวัยเด็กของพวกเขา
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ติดแอชแท็ก #NotMyAriel ในทวิตเตอร์อย่างดุเดือด พร้อมทั้งขอให้ดิสนีย์ตัดสินใจเลือกนักแสดงใหม่
….ไม่นานมานี้ทางดิสนีย์ได้ปล่อยทีเซอร์ The Little Mermaid ตัวแรกออกมาเรียกน้ำย่อยแฟนๆ แต่ทันทีที่มีการโพสต์ตัวอย่างลงโลกออนไลน์ กลับมียอดดิสไลค์ถึง 4 ล้าน! เกิดเป็นสงครามเดือดระหว่างฝ่ายที่ถกเถียงว่า…ดิสนีย์ไม่เคารพต้นฉบับ และฝ่ายที่บอกว่าคนที่ไม่ชอบนั้นเหยียดเชื้อชาติ
การเหยียดผิว (Racism)
…จากนี้จะขอเล่าถึงประเด็นการเหยียดผิวหรือ Racism นั้นมีความหมายว่า “การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีพื้นฐานชาติพันธุ์เฉพาะ”….
หากลองมองย้อนกลับไปในช่วงตั้งประเทศอเมริกาขึ้นใหม่ๆ นั้นได้มีการนำชาวแอฟริกันจำนวนมากมาเป็นแรงงาน
ในตอนนั้นมีข้อแตกต่างในการปฏิบัติต่อคนทั้งสองกลุ่มอย่างชัดเจน เช่นแรงงานผิวขาวสามารถยกเลิกสัญญาการเป็นแรงงานได้ แต่สำหรับคนผิวดำนั้นไม่มีสิทธิดังกล่าว
…พวกเขาต้องเป็นแรงงานไปตลอดชีวิต…
การทำสัญญาทาสที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนดำเรียกร้องอิสระภาพมาตลอดทั้งศตวรรษที่17 – 18
สาเหตุเกี่ยวกับสิทธิของทาสในรัฐทางใต้เป็นชนวนให้เกิดเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา การต่อสู้นั้นจบลงที่ฝ่ายเหนือซึ่งไม่สนับสนุนการมีทาสเป็นฝ่ายชนะจนในที่สุดสภาคองเกรสได้มีมติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 โดยให้สิทธิพลเมืองแก่ทุกคนให้มีความเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตามประเด็นการเหยียดผิวนั้นยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ในสังคมอเมริกา และในบางประเทศ
เหตุการณ์เหยียดผิวแบบรุนแรง
วันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2020 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญระหว่างการจับกุม นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกา-แอฟริกัน โดยนายตำรวจชื่อ เดเร็ด เชาวิน ใช้เข่ากดเข้าไปที่ลำคอของฟรอยด์ จนเขาหมดสติและเสียชีวิตลง เกิดเป็นการติดแฮชแท็ก #BlackLiveMatters เพื่อประณามความรุนแรงและเดินหน้าประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบตำรวจเพื่อการปฏิบัติที่เท่าเทียมไม่ว่าคุณจะมีสีผิวอะไร…
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือประเด็นชาวเอเชียถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง ในปี 2020 ยอดการโดนทำร้ายของชาวเอเชียในอเมริกาพุ่งสูงกว่า 202 คน ถ้าเทียบกับปี 2019 ที่มีเพียง 16 คนเท่านั้น… จนเกิดเป็นการติดแฮชแท็ก #StopAsianHate เพื่อประณามความรุนแรงและขอให้หยุดการเหยียดเชื้อชาติกันได้แล้ว!
…เราจะเห็นได้ว่าความรุนแรงจากการเหยียดเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายเริ่มหันมาตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
สิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Woke ที่สนับสนุนความเท่าเทียม และความหลากหลายในโลกของเรา
ไม่ตรงปก? และเคารพความหลากหลาย?
…กลับเข้ามาที่ประเด็นข้อโต้แย้งเรื่อง The Little Mermaid อีกครั้ง ข้อถกเถียงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายไม่เห็นด้วยกล่าวว่ามันไม่ตรงกับนวนิยาย ซึ่งถ้าอ้างถึงผู้แต่งเรื่องนี้คือ ชาวเดนมาร์ก อย่างฮาน คริสเตียน แอนเดอร์สัน โดยเขาได้นิยามความเป็นแอเรียลในนวนิยายว่า
“…เธอเป็นน้องสาวคนสุดท้อง ผิวของเธอใส่กระจ่างราวกับกุหลาบ ดวงตาเป็นสีฟ้าน้ำทะเลที่ลึกที่สุด แต่เธอก็เหมือนพี่สาวของเธอ คือไม่มีเท้าและมีท่อนล่างเป็นปลา”
นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้ชมติดภาพตัวละครจนเป็นภาพจำ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะมีการตั้งคำถามกับดิสนีย์และไม่อินกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าไม่ตรงปก
…นอกจากนี้ยังมีผู้ชมบางส่วนเห็นด้วยตามทฤษฎีที่ว่า “นางเงือกอยู่ใต้ท้องทะเลลึก เป็นไปได้ยากที่จะได้รับแสงบนผิวน้ำ ผิวของเธอก็ควรเป็นสีขาวเพราะโดนแดดน้อย” ฉะนั้นการเอาสาวผิวดำถักเดรกล็อกมาเล่นนั้นเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ เพราะยากจะมีโอกาสใดที่เงือกจะโดดแดดจนมีผิวดำได้
ขณะที่บางส่วนแย้งว่านางเงือกเป็นสาวผิวดำ ถักเดรกล็อกก็เก๋ไปอีกแบบ ทำให้หนังดูเพิ่มความแฟนตาซี และเป็นการทำให้คนตระหนักถึงความแตกต่างที่ลงตัวอีกด้วย…
…แต่ใช่ว่าจะไม่มีพวกเหยียดผิวที่เข้ามาผสมโรงนะครับ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ มีผู้ใช้แอคเคาต์หนึ่งในทวิตเตอร์ได้ตัดต่อรูปของแอเรียลให้เป็นผู้หญิงผิวขาว แล้วทวีตข้อความว่า “แด่พวก woke ทั้งหลาย”
ผลคือแอคเคาต์นี้โดนแบน!
ทางด้านดิสนีย์เองก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว ผู้กำกับอย่าง ร็อบ มาร์แชลได้กล่าวอย่างหนักแน่นถึงฮัลลีย์ เบลลีย์ว่า “เธอมีคุณสมบัติที่ผมชื่นชอบมากๆ ทั้งยังมีจิตวิญญาณที่หาได้ยากในทุกวันนี้ คือมีความเยาว์วัย และมีใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งผมเชื่อว่าในท้ายที่สุดทุกคนจะรักเธอในบทแอเรียล”
สุดท้ายนี้เราไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อ The Little Mermaid เวอร์ชันภาพยนต์ออกมาแล้ว จะได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างไร?
อย่างไรนางเงือกต้องเป็นคนขาวใช่หรือไม่? แต่เมื่อคิดกลับกันเมื่อมีคนผิวขาวได้รับบทที่ไม่ใช่ชนชาติตนเอง กระแสในทางโลกออนไลน์กลับไม่เกิดอะไรขึ้น ลึกๆแล้วสังคมของเรายังมีการแบ่งแยกกันอยู่หรือเปล่า?
ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับผู้ชมเป็นคนตัดสิน และทางดิสนีย์ก็ต้องยอมรับถึงผลลัพธ์ที่ตามมา
0 Comment