ในช่วงสงครามยูเครน มีการออกมาตั้งข้อสังเกตว่าชาติตะวันตกปฏิบัติต่อยูเครนแตกต่างจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น โดยเราเห็นภาพฝ่ายตะวันตกพยายามผนึกกำลังกันในเรื่องนี้ถึงขั้นคว่ำบาตรรัสเซียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้มีประชาชนในประเทศอื่นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักเหมือนกัน เช่น ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในพม่า หรือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่ในอิสราเอล แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ได้รับทั้งสปอตไลต์และความช่วยเหลือจากนานาประเทศมากที่สุดในช่วงนี้ยังคงเป็นยูเครน …แม้แต่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนก็ยังได้รับการต้อนรับดีกว่าผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

บทความนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับ “ความจริงอันไม่น่าอภิรมย์” ของโลกนี้ แล้วลองดูว่าเราจะสามารถถอดบทเรียนมาอย่างไรได้บ้างนะครับ

 “สงครามตัวแทน” นาโต้-รัสเซีย 

ถ้าเรามองตามกรอบความคิดเรื่อง “สงครามตัวแทน” ก็คงพอจะเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมยูเครนจึงได้รับความช่วยเหลือในปริมาณค่อนข้างมากจากชาติตะวันตก โดยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ลอยด์ ออสติน เอง เคย “หลุด” ออกมาว่าจุดมุ่งหมายของการส่งยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนในวิกฤตรอบนี้คือเพื่อให้รัสเซีย “อ่อนแอลง” ซึ่งปาเลสไตน์หรือพม่าไม่ได้มีผลประโยชน์เช่นนั้น

“สงครามตัวแทน” ระหว่างรัสเซียกับนาโต้นี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเปิดเผยชัดเจน โดยสื่อตะวันตกจะบอกว่านาโต้มีเหตุผลชอบธรรมหลายอย่างในการแทรกแซงวิกฤตรอบนี้ เริ่มจากยูเครนเป็นฝ่ายถูกรุกราน ทำให้มีสิทธิป้องกันตัวเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ

นอกจากนี้ยูเครนยังเป็นฝ่ายร้องขอความช่วยเหลือแก่ชาติตะวันตกด้วย (ซึ่งก็เทียบเท่ากับที่รัฐบาลซีเรียเคยขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย ที่หลายคนก็ออกมาบอกว่าชอบธรรมนั่นแหละ)

หลายคนมองยูเครนเชิงดูถูกว่าเป็นเพียง “เบี้ย” ของสหรัฐหรือนาโต้ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงเบี้ยตัวนี้ก็เป็นเบี้ยที่ยินดีให้ผู้เล่นเดินหมาก เพราะการเอาชนะรัสเซียเป็นจุดมุ่งหมายที่ตรงกัน

เมื่อสงครามดำเนินไปกลายเป็นว่าสหรัฐเองที่เป็นฝ่ายผ่อนความช่วยเหลือลงน้อยกว่าที่ยูเครนอยากได้ โดยบอกว่าจะไม่ส่งอาวุธที่มีพิสัยโจมตีถึงดินแดนรัสเซีย เพราะรู้ว่ายูเครนมีความคิดที่จะตอบโต้เช่นนั้น แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้รัสเซียงัดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมายิงจริงๆ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐพยายามประโคมว่านี่จะเป็นศึกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ และระบุว่านี่จะเป็นเหตุการณ์ที่ “โลกล้อมรัสเซีย” หรือเป็นการบอกว่าจะไม่มีใครเอาด้วยกับการรุกรานประเทศอื่นอีกแล้ว

ชาติตะวันตกต่างผนึกกำลังกันตอบโต้รัสเซียด้วยการคว่ำบาตร ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เบ็ดเสร็จ แต่ก็ถือว่าหนักหน่วงยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ และที่แน่ๆ ว่ามากเกินกว่าที่รัฐบาลรัสเซียคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน

…และต่อให้ถึงที่สุดแล้วยูเครนจะแพ้หรือชนะ แต่การทำให้รัสเซียต้องอ่อนแอลงจากการเสียทรัพยากรในสงครามครั้งนี้ นับว่า “คุ้มมาก” ชาติตะวันตกไม่ต้องเสียเลือดเนื้อคนของตัวเองด้วยซ้ำ

…ที่ผ่านมาอเมริกาเคยสูญเสียสถานะมหาอำนาจขั้วเดียวของโลกมาก่อน …ไม่ใช่เพราะการกระทำของจีนหรือรัสเซีย แต่เพราะอเมริกาเคยผิดพลาดไปติดหล่มในสงครามอิรัก-อัฟกานิสถานเอง

อย่างไรก็ตามนอกจากการมีมติประณามการรุกรานของรัสเซียในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติแล้ว มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกนั้นกลับไม่ได้รับการขานรับในพื้นที่อื่นของโลก คือชาติเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกาต่างพากันนิ่งเฉยเป็นส่วนใหญ่

ในเรื่องนี้มีการวิเคราะห์เอาไว้หลายทาง หลักๆ คือทัศนคติของ “ฝ่ายใต้” (the South หรือใต้เส้นศูนย์สูตร) ต่อเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ตรงกับประเทศ “ฝ่ายเหนือ” (the North หรือเหนือเส้นศูนย์สูตร) ซึ่งการแบ่งเหนือ-ใต้เส้นศูนย์สูตรนี้เป็นการแบ่งกลุ่มประเทศสมัยสงครามเย็น โดยประเทศทางเหนือมักมีความเจริญและร่ำรวยกว่าประเทศฝ่ายใต้

แม้ประเทศฝ่ายใต้จะมองการรุกรานของรัสเซียเป็นเสมือนการล่าอาณานิคมในสมัยก่อน แต่รัสเซียเองก็เป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว สินค้าพลังงานหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยจะเห็นว่าหลายชาติยังคงค้าขายกับรัสเซียต่อไป แต่จะพยายามกดราคาให้ต่ำลงแทน รวมทั้งการคว่ำบาตรยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือครอบงำของสหรัฐ มากกว่าเป็นเครื่องมือเพื่อความยุติธรรม

นอกจากนี้ผู้นำบางคนยังมองการลงโทษของตะวันตกด้วยความไม่ไว้ใจ เช่น ทูตเคนยาประจำยูเอ็นที่ออกมาชี้ในช่วงที่ยูเอ็นมีมติขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ว่าก่อนหน้านี้ลิเบียก็เคยโดนขับออกจากองค์การระหว่างประเทศ ก่อนที่นาโต้จะแทรกแซงในสงครามกลางเมืองลิเบีย (ปี 2011) ด้วยเหมือนกัน รวมถึงประเด็นการตัดรัสเซียออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า ต่อไปอาจนำสิ่งนี้ไปใช้เล่นงานประเทศอื่นด้วย

สหรัฐยังถูกมองว่าเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ” กับ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” อยู่หลายเรื่อง เช่น ชี้นิ้วประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน แต่ตัวเองกลับไปบุกอิรักกับอัฟกานิสถาน (แม้ตัวเองจะอ้างว่าคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติไม่ได้คัดค้าน) หรือการที่สหรัฐประณามประเทศที่เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ตัวเองก็ไปคบกับประเทศที่เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ทำให้ธงคุณธรรมของสหรัฐไร้มนต์ขลัง

ในสงครามเย็น ประเทศที่ไม่ต้องการเข้าร่วมทั้งฝ่ายโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ประกาศตนเป็น “กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (ประเทศสำคัญๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้) แต่สหรัฐเพิกเฉยต่อประเทศเหล่านี้มาช้านาน จนบางทีกลายเป็นสหภาพโซเวียตที่หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้มากกว่าเสียอีก

เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่สหรัฐต้องการให้ประเทศเหล่านี้ร่วมมือด้วยก็มักใช้ไม้แข็ง เช่น ขู่อินเดียให้เลิกนำเข้าสินค้าพลังงานจากรัสเซีย หรือขู่หมู่เกาะโซโลมอนที่ลงนามความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีน

…ผลก็เป็นแบบที่เห็นคือสุดท้ายแล้วขู่ไม่ค่อยได้

หรือรัสเซียเองที่มักขู่คนอื่นไปทั่ว จริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเหมือนกัน

โลกในยุคหลังสงครามเย็นนั้นเปลี่ยนไป ชาติมหาอำนาจไม่ได้มีพลังเหนือชาติอื่นขนาดนั้นแล้ว…

ความ “สมเหตุสมผล” อื่นๆ ในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามยูเครน

ถ้าจะวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของชาติตะวันตกในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามยูเครน แม้จะในระดับการส่งอาวุธ จะพบว่าเหตุผลข้อหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยคือ ยูเครนนั้นมีความสำคัญต่อชาติยุโรปตะวันออกหลายประเทศซึ่งมีประวัติถูกจักรวรรดินิยมรัสเซียเล่นงานมาก่อน

โดยเฉพาะโปแลนด์ ซึ่งเปิดรับผู้อพยพจากยูเครนเกือบ 2 ล้านคน รวมถึงส่งความช่วยเหลือทางทหารตั้งแต่อาวุธประจำกายไปจนถึงรถถังและปืนใหญ่อัตตาจร เพื่อใช้ทำสงครามระยะยาวกับกองทัพรัสเซีย เนื่องจากโปแลนด์นั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัสเซียมาหลายชั่วอายุคน หรือแม้แต่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ในช่วงแรกพยายามสงวนท่าทีด้วยการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก แต่กลับเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนอาวุธในภายหลัง

ในฐานะที่สหภาพยุโรปและนาโต้มองการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่าเป็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกได้ในอนาคต การส่งอาวุธไปช่วยจึงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่ากลุ่มมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการจัดการกับปัญหาแบบนี้ การรุกรานของรัสเซียยังช่วยให้องค์กรอย่างนาโต้ ซึ่งมีความสำคัญลดลงตั้งแต่สิ้นสงครามเย็น กลายเป็นมีความสำคัญมากขึ้นเป็นอย่างมาก

ในทางกลับกัน ในกรณีของความขัดแย้งภายในพม่าหรือปาเลสไตน์ไม่ได้มีนัยสำคัญทางการเมืองหรือดุลอำนาจมากขนาดนั้น …เรียกได้ว่าถึงฝ่ายต่อต้านพม่าและชนกลุ่มน้อยถูกปราบหมดไป หรือแม้แต่ปาเลสไตน์จะสิ้นชาติไป ก็แทบไม่ได้มีความสำคัญต่อการเมืองโลกในภาพรวมใหญ่เลย

นอกจากนี้ในกรณีของอาเซียนยังมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่น (ซึ่งเป็นกฎเหล็กข้อหนึ่ง เพราะในอาเซียนเองก็มีชาติประชาธิปไตยจริงๆ น้อยมาก จึงตัดปัญหาด้วยการไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องภายในของประเทศอื่น) ทั้งหมดยิ่งทำให้เหตุผลที่เหมาะสมในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวมีน้อยลงไปอีก

ความขัดแย้งในพม่ามีลักษณะของสงครามกลางเมือง เช่นเดียวกับการกดขี่ชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลซึ่งมีสภาพเป็น “ผู้แพ้สงคราม” ประเด็นทั้งสองนี้เป็นกิจการภายในของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศอื่นไม่มีความชอบธรรมในการเข้าไปก้าวก่าย และการ “ทะเล่อทะล่า” เข้าไปอาจได้ไม่คุ้มเสียเหมือนกับที่สหรัฐเคยประสบมาแล้วทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน

ด้วยสถานะที่แตกต่างกันทำให้ความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือต่างกันไปด้วย อย่างในกรณีของยูเครน พบว่าโปแลนด์ที่อยู่ติดกันได้เสนอตัวเป็นตัวกลางในการส่งอาวุธและความช่วยเหลือให้อย่างแข็งขัน ทำให้ความช่วยเหลือดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ขณะที่พม่าไม่มีชาติไหนเสนอตัวเป็นตัวกลางช่วยจัดส่งอาวุธให้แก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยเลย ขณะที่รัฐบาลทหารพม่ายังได้รับความสนับสนุนจากจีนอยู่มาก

และประเด็นสุดท้าย กองทัพยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนาโต้และยังได้รับการฝึกฝนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผิดกับพม่าที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยแทบไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับนาโต้ ดังนั้น จะมองว่า “เพื่อนย่อมช่วยเพื่อนมากกว่าคนไกล” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

 “อคติ” ในการนำเสนอสงครามยูเครน

“ยูเครนเป็นประเทศค่อนข้างศิวิไลซ์ ที่ที่คุณไม่คาดฝันหรือหวังว่ามัน [สงคราม] จะเกิดขึ้น”

“(ผู้ลี้ภัยยูเครนเป็น) คนที่มั่งมี เป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่คนที่หนีออกจากพื้นที่ในแอฟริกาเหนือ”

“สะเทือนใจที่เห็นคนยุโรปที่มีตาสีฟ้าผมบลอนด์ถูกฆ่า”

“ในชั่วชีวิตของผม ผมเคยเห็นภาพการโจมตีแบบนี้ในประเทศอื่น แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศคนขาว”

…นี่คือคำพูดของนักข่าว นักการเมืองหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามยูเครน ซึ่งมีสื่ออย่างอัลจาซีราภาคภาษาอังกฤษรวมอยู่ด้วย …ว้าวไหมครับ?

ทัศนคติเหล่านี้บ่งบอกอะไร? ก็บ่งบอกว่าคนเหล่านี้มองว่ายุโรปเป็นทวีปที่สงบ ห่างไกลสงคราม และค่อนข้างเจริญ และมองว่าดินแดนอย่างแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางเป็นดินแดนป่าเถื่อน ซึ่งมักมีเรื่องรบราฆ่าฟันอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้พวกเขายังมีอคติแบบ “แบ่งเขาแบ่งเรา” ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่มนุษย์จะมีความรู้สึกร่วมกับคนที่มีอะไรคล้ายๆ กับตน อย่างในฐานะที่เราเป็นคนเอเชีย อาจมีความรู้สึกร่วมกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มากกว่าชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกหรือคนผิวดำ (ซึ่งก็เป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน) หรือถ้าท่านนับถือศาสนาหนึ่ง ก็มักจะมีความรู้สึกร่วมกับศาสนิกศาสนาเดียวกันมากกว่าคนพวกอื่น

…ผมไม่คิดว่าทัศนคติทำนองนี้จะเป็นการ “จงใจเหยียด” หรอกนะครับ แต่เป็นเรื่องของการปลูกฝังหรือโลกทัศน์ที่เราหล่อหลอมขึ้นมาเองจากประสบการณ์จนบางทีเราเองก็ไม่รู้ตัวมากกว่า…

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นตามมาของอคติหรือการแบ่งแยกในลักษณะนี้ทำให้สื่อหันไปสนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ตนหรือประชาชนสนใจ มากกว่าพื้นที่อื่นของโลก โดยในช่วงที่สงครามยูเครนกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดนั้น เหตุการณ์สงครามกลางเมืองในพม่า เอธิโอเปีย ซีเรีย หรือการกดขี่ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงเกิดขึ้นเงียบๆ เป็นฉากหลัง

อีกด้านหนึ่งยังมีการจับสังเกตได้ว่าสื่อสหรัฐมักตั้งผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในการนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์ ซึ่งแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะถือได้ว่ามีคุณวุฒิ แต่ก็เสมือนเป็นการชี้นำกลายๆ ว่าสาธารณชนควรมีความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร อีกทั้งเป็นการบอก “ทางเลือก” ของนโยบายสหรัฐว่ามีอะไรบ้าง (ซึ่งอาจบอกหมดหรือไม่หมด จริงเท็จมากน้อยเพียงใดก็ไม่อาจทราบได้)

และประเด็นสุดท้าย คือเรื่องยูเครนยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจใหญ่ของโลกมากกว่าสงครามครั้งก่อนๆ ดังนั้นจึงมีสื่อตะวันตกตีข่าวเรื่องนี้อย่างแพร่หลายเพื่อให้เห็นภาพความชั่วร้ายของกองทัพรัสเซีย ซึ่งก็มีทั้งส่วนจริง ส่วนเท็จและส่วนที่เขียนเกินจริง

สรุปง่ายๆ ว่าสื่อไม่ได้ทำตัวเป็นตัวอย่าง กลับส่งเสริมให้เกิดอคติ ก็เลยทำให้สุดท้ายแล้วความสำคัญของยูเครนกลับถูกยกไว้สูงกว่าพม่าหรือปาเลสไตน์ ยิ่งเรื่องนี้ยังไปเกี่ยวกับชาติมหาอำนาจด้วย ถ้าสื่อเล่นข่าวนี้น้อยสิถึงจะแปลก

…แม้เราจะคาดหวังโลกที่คนทุกคนมีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่เห็นทีอุดมคตินี้คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฝังรากในใจคนได้…

บทส่งท้าย

ผมขอสรุปปิดท้ายเรื่องราวของการเลือกปฏิบัติต่อยูเครนเมื่อเทียบกับความขัดแย้งในพื้นที่อื่นของโลกด้วยคำสองคำ หนึ่งคือ “ผลประโยชน์” และสองคือ “อคติ”

เพราะช่วยยูเครนแล้วทำให้ตัวเองได้ประโยชน์มาก จึงทำให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกมากกว่า และเพราะอคติจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าชาวยูเครนน่าช่วยเหลือมากกว่าคนต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างสีผิวแม้ว่านั่นจะเป็นคนเหมือนกัน เจ็บปวดเดือดร้อนเหมือนกัน

ความลำเอียงนี้เป็นเรื่องปกติของคนทุกชาติทุกภาษา มิได้จำกัดแค่ตะวันตก (จริงๆ เทียบกับส่วนอื่นๆ ในโลก ตะวันตกยังมีประวัติช่วยคนต่างชาติต่างภาษามากกว่า) ลองนึกดูว่าหากคนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นลาวได้รับความลำบาก ชาวไทยในประเทศไทยก็คงจะรู้สึกอยากช่วยมากกว่าความลำบากที่อยู่ในทวีปไกลๆ

…มนุษยชาติก็เป็นเช่นนี้…