“น่าน” ถือเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ “กำลังมา” ด้วยที่ตั้งอันเงียบสงบท่ามกลางหุบเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์, อากาศบริสุทธิ์สดชื่น, และทะเลหมอกแสนสวยงาม ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเลือกจะเดินทางมายังจังหวัดแห่งนี้เพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย

ในทางประวัติศาสตร์นั้นน่านยังมีความโดดเด่นในฐานะ “อาณาจักรแห่งหนึ่ง” ซึ่งมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งถูกแสดงผ่านงานศิลปะอันวิจิตร แม้ดินแดนนี้จะผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งช่วงที่รุ่งเรืองและตกต่ำในกระแสธารของประวัติศาสตร์ น่านก็ยังคงสามารถรักษา “ความเป็นตัวเอง” อันเข้มแข็งมาตลอด

วัฒนธรรมที่โดดเด่นของน่านยังมีหลายอย่าง เช่น การรับประทานใบชา ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการใช้ใบชาหรือใบเมี่ยงมาทำอาหาร ต่อมายังมีการนำชามาปลูกเพื่อทำน้ำชา ซึ่งสภาพดินฟ้าอากาศอันอุดมสมบูรณ์นั้น ทำให้ “ชาน่าน” ให้ผลผลิตที่น่าสนใจ นอกจากนั้นยังมีบ่อเกลือ และสาหร่ายน้ำที่เรียกว่า “ไก” เป็นของดี แสดงถึงรุ่มรวยของแผ่นดินแห่งนี้เป็นอย่างดี

“ความเรียบง่ายแต่โดดเด่น และลุ่มลึก” ทำให้น่านมีเสน่ห์ยิ่ง บทความนี้ขอเชิญทุกท่านไปรู้จักเมืองน่าน และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ด้วยกันนะครับ

ความเป็นมาของน่าน

หนังสือ “พงศาวดารเมืองน่าน” ของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ค.ศ. 1831 – 1918 (พ.ศ. 2374 – 2461) เจ้าผู้ครองนครน่าน และหนังสือ “เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ” ของกรมศิลปากรระบุว่าในอดีตน่านถือเป็นรัฐอิสระที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

ราวปี ค.ศ. 1282 (พ.ศ. 1825) “พญาภูคา” ได้นำราษฏรจำนวนหนึ่ง อพยพมาพบเมืองร้างซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม มีเทือกเขาอันอุดมสมบูรณ์โอบล้อมอยู่ ยากต่อการเข้าตี จึงเริ่มตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “เมืองย่าง” (เชื่อว่าปัจจุบันอยู่ทางใต้ของแม่น้ำย่าง จังหวัดน่าน) และตั้งราชวงศ์ภูคาขึ้น

ตามตำนานพญาภูคาผู้เป็นต้นวงศ์ได้แบ่งอำนาจให้ราชบุตร 2 พระองค์ (บางแหล่งกล่าวว่าเป็นบุตรบุญธรรม) คือ “ขุนนุ่น” ผู้พี่ถูกส่งไปครองเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบางในลาว) และ “ขุนฟอง” ผู้น้องครองเมืองวรนครหรือเมืองปัว (ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอปัว จังหวัดน่าน) ที่อยู่ใกล้กับเมืองย่าง

เมืองย่างเมืองปัวนี้ต่อมาเชื่อว่าได้รวมกันเป็น “ราชธานีเมืองวรนคร” และเป็นที่มาของเมืองน่าน ตำนานนี้แสดงให้เห็นว่าน่านมีที่มาใกล้ชิดกับ หลวงพระบาง หรือ “ล้านช้าง” มากกว่าล้านนาเสียอีก

เวลาต่อมา ราว ค.ศ. 1450 (พ.ศ. 1993) “พระเจ้าติโลกราช” มหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาผู้มีอานุภาพมาก ได้แผ่ขยายอิทธิพลยึดครองหัวเมืองภาคเหนือต่างๆ รวมถึงนครน่าน

…เชื่อกันว่าเพราะพระเจ้าติโลกราชต้องการ “บ่อเกลือ” ในน่าน เพราะสมัยก่อนเกลือถือเป็นวัตถุดิบหายากและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะกับเมืองไม่ติดทะเล (แม้บ่อเกลือทางเหนือจะเป็นเกลือสินเธาว์ที่ไม่มีไอโอดีน แต่ก็ยังมีแคลเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่คนต้องการ ส่วนไอโอดีนนั้นชาวภูเขามักรับประทานเสริมเอาจากถั่ว)

การนี้ส่งผลให้น่านกลายเป็นประเทศราชของล้านนากว่าร้อยปี กระทั่ง “พระเจ้าบุเรงนอง” แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพมาตีอาณาจักรล้านนาสำเร็จในปี ค.ศ. 1560 (พ.ศ. 2103) ส่งผลให้ล้านนาและหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งน่านตกอยู่ใต้พม่าเป็นเวลาราว 200 ปี

ระหว่างนั้นเจ้าเมืองฝ่ายน่านมีความพยายามจะแข็งเมืองอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งถูกฝ่ายพม่าเผาทำลายในสมัยของพระเมืองราชาจนกลายเป็นเมืองร้างนานถึง 5 ปี

ต่อมา “เจ้าฟ้าเมียวขา” ขุนนางชาวพม่าตัดสินใจบูรณะเมืองขึ้นมาใหม่และปกครองด้วยความสงบร่มเย็นจนกระทั่งเสียชีวิต …เมื่อไม่มีผู้สืบทอดอำนาจการปกครองทำให้ผู้รักษาเมืองอัญเชิญ “หลวงติ๋นมหาวงศ์” เจ้านายจากแถบเชียงใหม่มาครองเมืองน่านอีกครั้ง กลายเป็นต้นราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

น่านยังตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าอยู่เรื่อยมา (แต่การเป็นเมืองขึ้นในสมัยโบราณนั้น หัวเมืองขึ้นมักมีอิสระในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง) ล่วงเลยมาถึงยุคของ “พระเจ้าตากสิน” แห่งกรุงธนบุรีได้ตัดสินใจยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือ โดยมีขุนนางชาวเหนือชื่อ “พญาจ่าบ้าน” และ “พญากาวิละ” เข้าสวามิภักดิ์เพื่อยืมกำลังขับไล่พม่าจากล้านนา

ในยุครัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ “เจ้ามงคลวรยศ” ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มาปกครองนครน่านและเริ่มฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่

…น่านในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นหัวเมืองประเทศราชที่มีเจ้าผู้ครองนครและอำนาจบริหารภายในของตนเอง แต่ยังให้ความช่วยเหลือสยามอย่างดีโดยตลอด

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการเลื่อนยศ “เจ้าสุริยะ” เจ้าเมืองน่านในยุคนั้นขึ้นเป็น “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช” มีชื่อในพระสุพรรณบัตรว่า “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลย์ศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตย์ณนันทราชวงษ์”

ท่านนับเป็นพระเจ้านครน่านที่มีฐานะสูงสุดเท่าที่เจ้าประเทศราชของสยามจะมีได้ (แม้ในหมู่เจ้านครเชียงใหม่ก็มีน้อยคนที่จะได้รับการยกย่องในระดับนี้)

ภายหลังพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชพิราลัยด้วยโรคชรา อำนาจการปกครองของเจ้าเมืองน่านพระองค์ถัดๆ มาก็เริ่มลดน้อยลง เหลือเป็นตำแหน่งทางสัญลักษณ์ที่ทำงานร่วมกับข้าราชการผู้ใหญ่จากกรุงเทพ ก่อนที่ตำแหน่งดังกล่าวจะถูกยกเลิกลงในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ทำให้น่านกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างทุกวันนี้

ในปัจจุบันเราสามารถศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของน่านได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน ซึ่งรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนนี้ โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองที่ถูกรักษาโดยเจ้าผู้ครองนครน่านสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน ตัวงามีสีน้ำตาลเข้ม, จารึกอักษรธรรมล้านนาที่สามารถแปลเป็นภาษาไทยว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” วางอยู่บนรูปปั้นครุฑอย่างสง่างาม

อนึ่งคำว่าหมื่นนี้เป็นภาษาโบราณใช้เรียกของที่หนัก 10 ชั่ง งาช้างหนักหนึ่งหมื่นห้าพันจึงหมายถึงหนัก 15 ชั่ง คำนวณเป็นมาตราสมัยใหม่แล้ว 1 ชั่งเท่ากับ 1.2 กิโลกรัม 15 ชั่งจึงหนักเท่ากับ 18 กิโลกรัมนั่นเอง

พระธาตุแช่แห้งและแมงหมาเต๊า

ศาสนสถานที่สำคัญและโด่งดังของน่านคือพระธาตุแช่แห้งที่สร้างโดย “พญากานเมือง” กษัตริย์ในราชวงศ์ภูคา โดยเชื่อว่าท่านได้รับองค์พระธาตุมาจากสุโขทัย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเมืองน่านเป็นเวลายาวนาน

นอกจากนี้ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้งยังมีรูปปั้นขนาดเล็กของ “แมงหมาเต๊า” ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานที่มีหัวเป็นสุนัข แต่มีลำตัวคล้ายกับแมลงมี 4 ขาและมีปีก 1 คู่ บ้างก็ว่ามีลำตัวคล้ายกับกบ

ตำนานเล่าว่า แมงหมาเต๊านั้นเป็นอดีตชาติของพญาขาก่านผู้ครองเมืองน่านที่มีจิตศรัทธาต่อพุทธศาสนา ต่อมาจึงเป็นคนสำคัญในการบูรณะพระธาตุแช่แห้งนั่นเอง

เกลือสินเธาว์ ทรัพยากรอันล้ำค่าในอดีต

น่านเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าในอดีตคือ “บ่อเกลือสินเธาว์” ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาหาร, การรักษาแผล, รวมถึงการรับประทานเพื่อเพิ่มแคลเซียมแก่ร่างกาย จึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีสร้างความมั่งคั่งให้กับนครน่านในอดีตกาล

ตามตำนานเล่าว่า ในช่วงสมัยเจ้าหลวงปัว นายพรานคนหนึ่งได้ชิมน้ำในบ่อที่มีสัตว์มากินบ่อยๆ รู้สึกว่าน้ำมีรสชาติเค็ม เลยนำเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้คนในหมู่บ้านฟัง เมื่อข่าวแพร่กระจายไปถึงหูเจ้าหลวงปัว ท่านก็มีรับสั่งให้นำมาต้มเป็นเกลือ ทำให้มันกลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญของจังหวัดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม… มูลค่าของเกลือทำให้เจ้าเมืองต่างๆ อยากได้ และพยายามยกทัพมาตีเมืองน่าน โดยพระเจ้าติโลกราชของล้านนาเป็นผู้ทำสำเร็จ

ในปัจจุบันจังหวัดน่านเหลือบ่อเกลือเพียง 2 แห่งคือ ‘บ่อเกลือเหนือ’ และ ‘บ่อเกลือใต้’ โดยยังรักษากรรมวิธีแบบดั้งเดิมด้วยการต้มน้ำเกลือในกะทะประมาณ 4-5 ชั่วโมงจนระเหย แล้วจัดการนำไม้พายที่ทำจากไม้ไผ่มาตักเกลือใส่ตะกร้าสานเหนือกะทะเพื่อให้น้ำไหลลงมา ซึ่งจะทำซ้ำไปเรื่อยๆจนน้ำในกระทะแห้งหมด

นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการเพิ่มมูลค่าของเกลือด้วยการนำมาทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เกลือสปาขัดผิว, สบู่ดอกเกลือ, เกลือเเช่เท้า, หรือไข่ต้มเกลือที่เป็นเมนูขึ้นชื่อของจังหวัด เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างน่าสนใจ

ชาอัสสัมพืชเศรษฐกิจที่น่าค้นหา

หากเกลือคือวัตถุดิบหากยากจากอดีต คงสามารถกล่าวได้ว่า “ใบชาอัสสัม” ที่ปลูกในน่านคือพืชเศรษฐกิจในอนาคตที่น่าสนใจ

ด้วยสภาพดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำน่านซึ่งเป็นหนึ่งในสี่แม่น้ำหลักของภาคเหนือ (ประกอบด้วยแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน) บวกกับลมฝนที่พัดมาจากประเทศจีน ทำให้น่านมีระบบนิเวศที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกอย่างยิ่ง

คุณสมบัติของชาที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นและแก้อาการกระหาย ทำให้น่านมีวัฒนธรรมการบริโภคใบชามาแต่โบราณ

ชาวน่านจะนำชาที่ขึ้นในป่า หรือที่เรียกว่า “เมี่ยง” มาทำเป็นอาหารอย่าง “เมี่ยงคำ” โดยนำ “ใบเมี่ยง” มามัดรวมกัน ก่อนจะนำไปนึ่งและหมักด้วยน้ำเปล่าเป็นเวลาเกือบกว่าสองเดือน จึงนำออกมารับประทานร่วมกับเม็ดเกลือและขิงดอง จนได้อาหารว่างเลิศรสที่ยังคงรับประทานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

อีกทั้งคนน่านยังมีการใช้ใบชาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนต่างๆ เนื่องจากสามารถหาได้ทั่วไป เห็นหลักฐานได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ที่มีรูปคนแบกตะกร้าใบชาอยู่ร่วมกับกิจวัตรอื่นๆ ของชาวบ้านในยุคนั้น

ปัจจุบัน เมื่อมีการนำชามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในไทย จังหวัดน่านก็ถือเป็นเพียงหนึ่งในห้าจังหวัดที่เหมาะสมแก่การปลูกชา (จังหวัดอื่นๆ ได้แก่เชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, และแม่ฮ่องสอน)

ชาที่ปลูกในน่านนั้นเป็นชาอัสสัม ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับ “ชาป่า” ที่ชาวน่านบริโภคมาแต่อดีต โดยจะมีลักษณะใบชาใบใหญ่ เติบโตได้ดีตามป่าที่มีร่มเงา และมีแสงแดดส่อง ดังนั้นการปลูกชาในน่านจึงทำลักษณะเป็นพุ่มๆ ปลูกคล้ายอยู่ในป่า ไม่เรียงตัวเป็นแนวยาวๆ เหมือนที่ไร่ชาอู่หลงที่เราอาจเคยเห็นในเชียงราย

ชาอัสสัมของจังหวัดน่านกลายเป็นสินค้าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมาจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน, น้ำ, ลมฟ้าอากาศ, และมีวิธีการปลูกแบบของตนเองดังกล่าว จนได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์น่าแสวงหา

อาหารน่าน

อาหารเมืองน่านมีความใกล้เคียงกับอาหารเหนืออื่นๆ แต่อาจจะมีการใส่พืชท้องถิ่นหรือใช้กรรมวิธีการปรุงที่แตกต่างจนกลายเป็นอาหารตำรับน่านเอง

น่านมีสาหร่ายน้ำจืดที่เรียกว่า “ไก” ที่เจริญเติบโตตามโขดหินหรือใต้ธารน้ำ มักนำมาทำอาหารหลากหลายเช่น ห่อหมกไก, ข้าวตังหน้าสาหร่ายไก, กล้วยตากผสมสาหร่ายไก ฯลฯ อนึ่งสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมกับหลวงพระบางที่ใช้สาหร่ายมาทำอาหารเหมือนกัน ออกสำเนียงหลวงพระบางว่า “ไค”

อาหารเด่นอื่นๆ ของน่านเช่น “ส้าบะเขือ” (ส้ามะเขือเปราะ) ที่มีวัตถุดิบหลักคือมะเขือเปราะ, ใบชะพลู, ชะอม, และหัวปลี มาขยำรวมกับเนื้อหมูปรุงรสด้วยกระเทียม, หอมแดง, พริกแห้ง, และกะปิ ก่อนโรยหน้าด้วยแคปหมู, ต้นหอมผักชี, หรืองาดำ เพื่อกลิ่นที่น่าดึงดูด

สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน

นอกเหนือจากธรรมชาติอันสวยงามและภูมิอากาศที่เหมาะแก่การพักผ่อน จังหวัดน่านยังมีความรุ่มรวยทางศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้

ผลงานที่เป็นจุดสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวคือจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์นาม “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือที่รู้จักกันด้วยฉายา “กระซิบรักบันลือโลก” อันเป็นผลงานของศิลปินชาวไทลื้อนามว่า “หนานบัวผัน” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักชายหญิง ที่ฝ่ายชายกำลังกระซิบข้อความบางอย่างกับคนรัก

ด้วยรายละเอียดอันวิจิตรและองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบ ทำให้รูปวาดดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น รวมถึงนักวิจารณ์งานศิลป์จำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีรูปวาดอื่นๆ ในวัดภูมินทร์ ซึ่งแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต ตั้งแต่กิจกรรมของชนชั้นปกครองไปจนถึงวิธีชีวิตชาวบ้านตามห้วงเวลานั้น เช่นรูปคนแบกใบชาตามที่กล่าวไปแล้ว

สรุป

น่านถือเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวความเป็นมาน่าค้นหา แม้จะผ่านเวลากว่า 700 ปี น่านก็ยังเป็นดินแดนอันงดงามที่ตั้งท่ามกลางธรรมชาติสวยงาม และได้มอบงานศิลปะอันวิจิตร, อาหารอร่อย, รวมถึงชาชั้นดีแก่โลก

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวอีกมากมายของ “น่าน” ซึ่งรอคอยให้ผู้สนใจเข้ามาสัมผัสมนต์เสน่ห์ด้วยตัวเองครับ