ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อหลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด และสงครามยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อราคาน้ำมันด้วย

สิ่งที่ตามมาคือคำถามว่า “ทำไมราคาน้ำมันไทยถึงแพง?”

ในเรื่องนี้มีทั้งคนที่มองว่าราคานี้สมเหตุสมผลแล้วพร้อมทั้งยกเหตุผลบอกว่าราคาน้ำมันไทยจึงเป็นอย่างที่เห็น กับคนที่มองว่าราคาน้ำมันไทยควรจะถูกกว่านี้ได้ พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่างๆ เพื่อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมัน

รายละเอียดจะเป็นอย่างไร? ฝ่ายที่มองว่าราคาน้ำมันไทยสมเหตุสมผลกับฝ่ายที่มองว่าราคาน้ำมันไทยแพงเกินไป เขามีข้อมูลอะไรบ้าง? บทความนี้จะพยายามพาทุกท่านไปหาคำตอบพร้อมกันครับ

น้ำมันในประเทศไทย

หลายท่านคงทราบแล้วว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบของตนเอง และมีการส่งออกน้ำมันด้วย โดยมีแหล่งขุดเจาะใหญ่สุด คือ แหล่งขุดเจาะอำเภอลานกระบือ จ. กำแพงเพชร และแหล่งขุดเจาะเอราวัณ, บรรพต, ปลาทองและไพลิน ในอ่าวไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 บาร์เรล/วัน (ข้อมูลปี 2020)

แต่สาเหตุยังมีการนำเข้าน้ำมันทั้งที่มีการส่งออกน้ำมันอยู่แล้วนั้นเนื่องจาก:

1) ปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าน้ำมันอีกวันละ 140 ล้านลิตร/วัน (ข้อมูลปี 2021) นอกจากนี้ น้ำมันจากแหล่งขุดเจาะในประเทศบางส่วนยังมีโลหะเจือปนสูง ไม่เหมาะกับการนำมาใช้
2) น้ำมันที่ส่งออกมักเป็นส่วนที่มีมากเกินความต้องการใช้ในประเทศ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ น้ำมันดีเซลมีปริมาณการผลิตมากเกินความต้องการใช้ในประเทศ จึงมีการส่งออกน้ำมันดีเซล ส่วนน้ำมันเบนซินยังต้องนำเข้า เป็นต้น

อนึ่งโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมากเกินความต้องการใช้ในไทยมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2000 แล้ว และไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

ที่มาของราคาน้ำมันไทย

ราคาน้ำมันไทยนั้นมีรายละเอียดมาก โดยในรายการโครงสร้างราคาน้ำมันไทย ออกโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเมื่อเดือน ก.พ. 2022 ระบุว่าที่มาของราคาน้ำมันไทยมี 7 โครงสร้าง ประกอบด้วย:

1) ราคาหน้าโรงกลั่น (53.55%) ซึ่งเป็นราคาที่อ้างอิงกับตลาดโลก
2) ภาษีสรรพสามิต (15.49%) ซึ่งมีคำอธิบายว่าหมายถึง สินค้าและบริการที่ต้องเก็บภาษีสูงกว่าปกติ เพราะเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” หรือ “ได้รับผลประโยชน์จากกิจการของรัฐ” เป็นต้น
3) ภาษีท้องถิ่น (1.55%) เพื่อบำรุงท้องที่ที่มีการผลิตน้ำมัน
4) เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (17.11%) เพื่อนำเข้ากองทุนที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ไม่ให้ราคาน้ำมันแกว่งมากเกินไป
5) เงินอุดหนุนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (0.01%) เพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทนต่างๆ
6) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (5.75%) หรือ VAT7%
7) ค่าการตลาด (2.41%) ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับผู้ค้าน้ำมัน ทั้งการจัดการคลัง การขนส่ง และค่าบริการ และกำไร

ในเดือน ก.พ. 2022 ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยมีราคาพอๆ กับราคาหน้าโรงกลั่นของมาเลเซีย คือ 22 บาท/ลิตร แต่ปรากฏว่าเมื่อบวกภาษีกับเงินอุดหนุนต่างๆ เข้าไป กลับทำให้ราคาน้ำมันของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 42 บาท/ลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 190.9 ของราคาหน้าโรงกลั่น

…โครงสร้างราคาที่มีการบวกราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นยุบยั่บจนสูงเช่นนี้เองที่ทำให้ตกเป็นเป้าวิจารณ์อยู่เรื่อยๆ

และแน่นอนปัญหาค่าเงินอ่อนหรือแข็งก็มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันไทยเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าเงินบาทอ่อนลงก็ต้องนำเข้าสินค้าแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกแพงและเงินบาทอ่อนค่าลงพร้อมกัน เช่น ช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากการทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันแล้วก็อาจจะยังเห็นภาพที่ไม่ครบถ้วน ผมจึงคัดบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันไทยมาไว้ประกอบด้วยนะครับ

กองทุนน้ำมัน ที่เขาว่าช่วยพยุงราคาน้ำมัน

“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เป็นหน่วยงานที่มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่ในช่วงหลังมีข่าวออกมาว่าขาดทุนหนักจนต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการอุดหนุนราคาน้ำมัน

จากประวัติพบว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อตั้งขึ้นตาม พรก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 (1973) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดวิกฤตพลังงานโลกในทศวรรษ 1970s

บทบาทของกองทุนนี้ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ถ้าน้ำมันโลกราคาถูก จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนนี้ จนเมื่อน้ำมันโลกราคาแพงก็จะมีการควักกองทุนนี้ออกมาจ่าย

แต่ในปัจจุบันที่กองทุนน้ำมันติดลบสุทธิถึงกว่า 100,000 ล้านบาท และอาจขยับไปขาดทุนถึง 200,000 ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปี จนมีข่าวขอกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุน จนทำให้เกิดคำถามว่านโยบายนี้ได้ผลจริงหรือไม่?

โดยก่อนหน้านี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยตั้งข้อสังเกตและข้อคัดค้านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ดังต่อไปนี้:

1) กองทุนน้ำมันจริงๆ แล้วก่อตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีกฎหมายอื่นรองรับ จนกระทรวงพลังงานต้องรีบผ่าน พรบ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 โดยที่จัดเวทีสัมมนารับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศเพียงครั้งเดียว
2) วัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันที่อ้างว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันนั้น ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่ลอยตัวราคาเชื้อเพลิงทุกชนิด
3) การตั้งกองทุนน้ำมันโดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว
4) รัฐบาลสามารถใช้รายได้จากภาษีสรรพสามิตมาช่วยอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีโครงสร้างกองทุนน้ำมันให้ซ้ำซ้อนอีก จะเป็นภาระภาษีของผู้บริโภค
5) หน้าที่การสำรองน้ำมันเป็นหน้าที่ผู้ค้าพลังงานตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2509 อยู่แล้ว การบอกว่าจำเป็นต้องมีกองทุนน้ำมันเพื่อทำหน้าที่นี้จึงเป็นการซ้ำซ้อน
6) การกำหนดหน้าที่ของกองทุนน้ำมันให้สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนจนเกินควร

…เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าแม้ฝ่ายหนึ่งบอกว่ากองทุนน้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นและมีเหตุผลรองรับ แต่ก็มีฝ่ายที่ออกมาระบุว่ากองทุนนี้ไม่จำเป็นและเป็นภาระของประชาชนด้วยเหมือนกัน

เมื่อพลังงานทดแทนแพงกว่าน้ำมัน

ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราคงคุ้นเคยกับการที่ทางการสนับสนุน “แก๊สโซฮอล” ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลซึ่งสกัดได้จากพืช เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลต้องการลดการพึ่งพาน้ำมันและช่วยพยุงราคาพืชผลการเกษตรจึงมีการสนับสนุนรถยนต์ต่างๆ ที่ใช้แก๊สโซฮอลได้ จนตัวเลขปี 2022 พบว่าไทยผลิตเอทานอลได้มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 พบว่าราคาเอทานอลได้พุ่งสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเบนซินและดีเซลไปแล้ว ทำให้แก๊สโซฮอลยิ่งมีสัดส่วนเอทานอลสูงยิ่งแพง

…แต่ปรากฏว่าราคาขายจริงน้ำมันเบนซินกลับแพงสุด และราคาแก๊สโซฮอลต่ำสุด เนื่องจากน้ำมันเบนซินมีสัดส่วนการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันสูงสุด

…สรุปง่ายๆ นะครับ ผู้ใช้น้ำมันเบนซินกำลัง “อุ้ม” ผู้ใช้แก๊สโซฮอลอยู่…

หรืออย่าง “ไบโอดีเซล” (บี7 บี10 และบี20) ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มนั้น พบว่าราคาน้ำมันปาล์มมีราคาปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จนสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและนักวิชาการบางส่วนออกมาเสนอให้ลดการผสมน้ำมันปาล์มในน้ำมันลง

…แต่ข้อเสนอเช่นนี้คงรับไปปฏิบัติได้ยาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้ผลิตหลายส่วน….

ค่าการกลั่นน้ำมัน: ขึ้นได้ไม่จำกัด?

“ค่าการกลั่น” เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในช่วงนี้ จากที่มีการเปิดเผยว่าบริษัทน้ำมันได้ขึ้นมาหลายเท่าแล้วตั้งแต่ต้นปี โดยมีการเปิดเผยว่า ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.88 บาท/ลิตร ในปี 2020 เป็น 8.56 บาท/ลิตร ในปี 2022 ทำให้เกิดข้อกังขาว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เอกชนสามารถปรับราคาส่วนนี้ได้ถึงเพียงนี้

มีเสียงวิจารณ์ว่า ค่าการกลั่นนี้เป็นตัวเลขที่สมมติขึ้นเอกชนสามารถปรับได้เองตามใจชอบ ไม่สะท้อนภาพต้นทุนที่แท้จริงใดๆ (อย่าลืมว่าในโครงสร้างราคาน้ำมันมีค่าการตลาดแล้วนะครับ)

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงว่า ค่าการกลั่นนั้นเป็นต้นทุนที่ผันแปรตามหลายปัจจัย ทั้งค่าขนส่ง ค่าแรง และเงินลงทุน ผู้ผลิตไม่มีอำนาจกำหนดค่าการกลั่นได้เอง

ก่อนจะระบุเพิ่มอีกว่า ค่าการกลั่นของไทยที่มีการบอกว่าเพิ่มขึ้นหลายเท่านั้นจริงๆ เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 0.72 บาท/ลิตรช่วงก่อนโควิด เป็น 1.17 บาท/ลิตรในไตรมาส 1 ของปี 2022 (อย่างไรก็ตาม ในไฟล์คำอธิบายระบุว่าส่วนที่แพงขึ้นเป็น “ค่าการกลั่นของสิงคโปร์” ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.66 บาท/ลิตร ตั้งแต่ต้นปี เป็น 4.94 บาท/ลิตร ในเดือน มิ.ย. 2022)

จึงมีการเสนอให้รัฐบาลออก “ภาษีลาภลอย” (windfall tax) ต่อผู้ผลิตน้ำมัน เนื่องจากมีการมองว่ากำไรที่บริษัทน้ำมันได้รับเพิ่มขึ้นในช่วงที่คนต้องการใช้น้ำมันสูงนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากการประกอบการที่ดีหรือนวัตกรรม แต่เป็นผลมาจากราคาทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว คล้ายๆ กับถูกหวยนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่มีการเสนอให้กำหนดเพดานค่าการกลั่น ให้บริษัทน้ำมันยังได้กำไรต่อไป เพียงแต่กำหนดให้กำไรนั้นอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนฝั่งรัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่าการเข้าไปควบคุมการกำหนดค่าการกลั่นคงทำได้ยาก เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ จึงจะเลือกใช้วิธีขอให้เอกชนผู้ค้าน้ำมันส่งเงินอุดหนุนเข้ากองทุนน้ำมันตามความสมัครใจแทน

…ดังนั้นจากทั้ง 2 ฝ่ายจึงยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ว่าจริงๆ แล้วสามารถใช้กฎหมายกำหนดเพดานค่าการกลั่นได้หรือไม่ ยังเป็นหัวข้อที่ต้องให้ผู้รู้จริงมาให้คำตอบต่อไป

“ราคาอ้างอิงสิงคโปร์”: ต้นทุนทิพย์?

ราคาน้ำมันของไทยส่วนหนึ่งเป็นการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายระหว่างประเทศกันที่ตลาดสิงคโปร์ หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปใหญ่ฝั่งเอเชีย

เหตุผลที่ต้องยึดราคาซื้อขายน้ำมันอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์นั้น มีการระบุไว้หลายทาง เช่น เป็นราคากลางที่มีการซื้อขายกันในตลาดเอเชีย ทำให้ปั่นราคาได้ยาก และสะท้อนต้นทุนการนำเข้าน้ำมันของไทย รวมทั้งมีการออกมาชี้แจงว่าช่วยลดปัญหาการลักลอบนำเข้าหรือส่งออกน้ำมันจากนอกประเทศ เพราะถ้ากำหนดราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิง ก็จะมีการลักลอบนำน้ำมันไทยไปขายในต่างประเทศที่มีราคาอ้างอิงแพงกว่า หรือกลับกันหากกำหนดราคาสูงกว่าราคาอ้างอิง

ขณะเดียวกันมีกระแสที่เรียกร้องให้ยกเลิกการอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ เพราะ…

1) น้ำมันที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น”น้ำมันสำเร็จรูป” ที่กลั่นในประเทศไทย ส่วนน้ำมันที่ไทยนำเข้านั้นเป็น “น้ำมันดิบ” จากตลาดดูไบ จึงเป็นสินค้าคนละชนิดกัน การคิดราคาสินค้าที่ผลิตขึ้นได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในอัตราเดียวกับสินค้านำเข้า 100% จึงเป็นการตั้งราคาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
2) เรื่องการปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันควรเป็นหน้าที่ของตำรวจหรือกองทัพเรือ ไม่ใช่ผลักภาระมาให้ประชาชน

โดยมีการเปิดเผยว่าหากตัดค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, และค่าการสูญหายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาอ้างอิงตามตลาดสิงคโปร์ลงอาจช่วยให้ราคาน้ำมันไทยลดลงถึงร้อยละ 10-20 เลยทีเดียว

ปตท. น้ำมันถูกก็กำไร น้ำมันแพงยิ่งกำไร

รายละเอียดแง่มุมสุดท้ายที่ควรจะพูดถึงเสียหน่อย นั่นคือ ปตท. บริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทยนี่เอง

ในเรื่องนี้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเคยออกมารายงานว่า ปตท. เป็นบริษัทไทยที่ติดอันดับบริษัทใหญ่สุดของโลก 500 อันดับแรก มีการผูกขาดตลาดพลังงานไทยโดยมีคนในวงการราชการได้รับประโยชน์ด้วย รวมทั้งผลประกอบการ 40 ไตรมาสย้อนหลัง พบว่ากำไรเกือบทุกไตรมาส

นอกจากนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเวลาราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันไทยจะปรับตัวสูงขึ้นแทบจะทันที แต่เวลาราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันไทยจะต้องใช้เวลากว่าจะลดลงตาม ทำให้บริษัทน้ำมันใหญ่ของไทยถูกมองว่ามิได้ “ร่วมทุกข์” กับชาวไทย

ซึ่งความไม่พอใจดังกล่าวก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแส “ทวงคืนพลังงาน” หรือ “ทวงคืน ปตท.” อยู่เป็นช่วงๆ เพราะเห็นว่าเมื่อมีการแปรรูป ปตท. เป็นของเอกชนทำให้ราคาพลังงานไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีข้อกังวลในเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก หรือการเอื้อประโยชน์แก่นักการเมือง

…แม้สุดท้ายจะมีการอธิบายว่าแนวทางของกลุ่มทวงคืน ปตท. เป็นทางออกที่ไม่สมเหตุสมผล และอาจมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นจริง

บทส่งท้าย

ตัวผมเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพียงแต่พยายามรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านมากที่สุด เพื่อให้เห็นคำชี้แจงของฝ่ายที่บอกว่าราคาน้ำมันไทยขณะนี้สมเหตุสมผลแล้ว และฝ่ายที่บอกว่าราคาน้ำมันไทยสามารถถูกลงกว่านี้ได้

เท่าที่อ่านมาท่านคงเห็นว่าประเด็นเรื่องราคาน้ำมันไทย ก็เข้ากับธีมเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การต้องเลือกระหว่าง “การอุดหนุนผู้ผลิต” กับ “การอุดหนุนผู้บริโภค”

ผมเชื่อว่าคนไทยพร้อมให้โอกาสคนที่ทำธุรกิจสุจริตให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว แต่คำถามคือมีระบบการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ขยายวงกว้างอยู่ในปัจจุบันไปพร้อมกันด้วยหรือไม่?

สุดท้ายแล้วผมหวังว่าสังคมไทยมีการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกร่วมกันที่ยอมรับได้สำหรับเรื่องนี้ครับ