หากพูดถึง “บัลแกเรีย” หลายคนคงนึกถึงโยเกิร์ตเป็นอันดับแรก เพราะโยเกิร์ตที่นี่โดดเด่นด้วยรสชาติที่ดี คุณภาพสูง และเป็นอาหารที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากชนเผ่าทราเซียน หรือต้นตระกูลส่วนหนึ่งของชาวบัลแกเรียในปัจจุบัน

จริง ๆ แล้วบัลแกเรียไม่ได้มีดีแค่โยเกิร์ต แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย ทั้งธรรมชาติและสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่บ่งบอกความเป็นมาเป็นไปของผู้คนแถบถิ่นนี้ และทำให้บัลแกเรียเป็นประเทศที่สวยงามดังแดนเทพนิยาย

วันนี้เราจะพาท่านไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานแบบฉบับรวบรัดเข้าใจง่าย และชี้ให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นบัลแกเรียอย่างในปัจจุบันได้ พวกเขารอนแรมก่อร่างสร้างประเทศกันมาอย่างไร

บัลแกเรียเป็นประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป มีชายฝั่งติดทะเลดำทางตะวันออก มีพรมแดนติดต่อกับประเทศกรีซและประเทศตุรกีทางใต้ ติดประเทศเซอร์เบียและประเทศมาซิโดเนียทางตะวันออก และติดประเทศโรมาเนียทางเหนือ

คำว่า “บัลแกเรีย” น่าจะมีความหมายดั้งเดิมหมายถึงการ “ผสมผสาน” สิ่งนี้สะท้อนจากประวัติศาสตร์ที่ดินแดนแถบนี้มีชนเผ่าโบราณหลากหลายกลุ่มผลัดกันมาอาศัย เริ่มตั้งแต่ชาวธราเชียน, กรีก, โรมัน (ไบแซนไทน์), สลาฟ, บัลการ์, และ เติร์ก กลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีบทบาทในหลายสถานการณ์บ้างก็เป็นผู้ช่วงชิง บ้างก็เป็นผู้ถูกไล่ล่า แต่ที่สุดพวกเขาได้หลอมรวมกัน จนกลายเป็นชนชาติที่มีอัตลักษณ์อันเข้มแข็ง

ยุค 5,000 – 4,000 ปีก่อนคริสตกาล

มีหลักฐานว่าชาวธราเชียน (Thracian) เคยตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณเนินเขา เนเบต เทเป้ (Nebet Tepe) ซึ่งต่อมาคือเมืองพลอฟดิฟ (Plovdiv) ในประเทศบัลแกเรียในปัจจุบัน พวกเขาถูกมองเป็นกลุ่มคนป่าเถื่อนดุร้าย จนบางทีถูกเรียกว่า “พวกหมาป่าภูเขา” อย่างไรก็ตามในภายหลังพวกเขากลืนปนกับคนชาติอื่นๆ กลายเป็นหนึ่งในชนชาติที่สูญสลายไปแล้ว

ชาวธราเชียนบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณวาร์นา (Varna) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลดำของบัลแกเรีย กลุ่มคนที่อาศัยอยู่แถบนี้เป็นพวกที่มีทักษะและฝีมือในงานฝีมือดีมาก เช่น งานช่างทอง เป็นต้น ซึ่งต่อมามีการขุดค้นพบทองคำมากมายทางด้านตะวันตกขอวาร์นา

ต่อมาราวประมาณ 585 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณวาร์นา และตั้งบ้านเรือนที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น

ราว 359 – 336 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนบัลแกเรียตกอยู่ในเขตของมาซีโดเนียซึ่งเป็นนครรัฐใหญ่ของกรีก พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งมาซีโดเนีย (Macedonia) พระบิดาของอเล็กซานเดอร์มหาราช (กษัตริย์ผู้พิชิตเปอร์เซียและขยายดินแดนไปไกลถึงอินเดีย) ได้ก่อตั้งเมืองพลอฟดิฟ (Plovdiv) ในประเทศบัลแกเรีย เป็นเมืองสำคัญจนปัจจุบัน

ต่อมามาซีโดเนียเสื่อมลง อาณาจักรโรมันกลับรุ่งเรืองขึ้น ในปี ค.ศ. 100 – 200 ชาวโรมันได้เข้าปกครองบัลแกเรีย และได้สร้างอัฒจันทร์ที่เมืองโซเฟีย เมืองหลวงของบัลแกเรีย โดยชาวโรมันรู้จักในชื่อเซอร์ดิกา (Serdica)

ประมาณปี ค.ศ. 117 ชาวโรมันได้สร้างอัฒจันทร์ที่เมืองพลอฟดิฟ (Plovdiv) ต่อมาราวปี ค.ศ.441 – 447 พวกเขาถูกรุกรานโดยจอมพลคนเถื่อนนาม “อัตติลาเดอะฮัน” (Attila the Hun) อนึ่งคำว่าฮันนี้ เชื่อว่าเป็นคำเรียกเผ่าขี่ม้าเร่ร่อนจากเอเชียกลาง (ซึ่งมีหลายเผ่าหลายภาษา) พวกเขาเป็นทหารม้าที่เชี่ยวชาญซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความดุร้ายในการสู้รบและความโหดเหี้ยม ซึ่งแล่นเลยมาถึงยุโรป บุกตีปล้นเมืองเป็นที่น่าเกรงขาม

นักวิชาการเชื่อว่าพวก “ฮัน” อาจเป็นกลุ่มใกล้เคียงกับชาวซงหนูที่เคยคุกคามจีนในช่วงราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่น และถือเป็นอีกกลุ่มที่ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกอ่อนแอลง

หลังยุคอัตติลา เผ่าใต้ปกครองเขาก็แตกกระจายกันเป็นกลุ่มก๊ก สิ่งที่มีคล้ายกันคือพวกเขามักเรียกผู้นำของตนว่าข่าน หรือคากาน (ใช่แล้วใครเป็นคำเดียวกับข่าน ในชื่อเจงกิสข่านนั่นแหละ มองโกลก็รับวัฒนธรรมนี้) ประมาณปี ค.ศ.632 ข่าน คูบรัต (Khan Kubrat) ได้รวมชนเผ่าขี่ม้าที่ใหญ่ที่สุดสามเผ่าได้แก่ Kutrigur, Utugur และ Onogonduri ทั้งนี้ยังมีเผ่าต่าง ๆ อีกหลายเผ่า ทั้งหมดจึงรวมตัวกันเป็นประเทศที่ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เรียกว่า Great Bulgaria เรียกเป็นเผ่าว่า “พวกบัลการ์”

ค.ศ. 681 ข่าน อัสปารุจ (Khan Asparuch) ลูกชายของ ข่าน คูบรัต (Khan Kubrat) เอาชนะกองทัพไบแซนไทน์ (หรืออาณาจักรโรมันตะวันออก ก่อนนั้นโรมันได้แตกเป็นเป็นฝ่ายตะวันออกและตะวันตก ฝ่ายตะวันออกคือพวกที่ปกครองพื้นที่บัลแกเรียปัจจุบัน) และเข้ายึดครองส่วนหนึ่งไว้ (พูดง่ายๆ คือชิงแถบที่เป็นประเทศบัลแกเรียปัจจุบันมาจากโรมัน) พวกเขาได้ลงนามในสันติสัญญาสันติภาพ เพื่อก่อตั้งอาณาจักรบัลแกเรียแห่งแรก โดยมีเมืองหลวงคือ พลิสกา (Pliska)

พวกไบแซนไทน์แพ้บัลการ์ว่าบอบช้ำแล้ว แต่พวกเขากลับยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ใหญ่กว่า

ปีค.ศ. 717 กองทัพมุสลิมชาวอาหรับนำทหารมาปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลเมืองหลวงของไบแซนไทน์ ทั้งทางบกและทางน้ำ จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับข่านแห่งบัลแกเรียอยู่นั้น จึงขอร้องให้ ข่าน เทอร์เวล (Khan Tervel) ลูกชายข่าน อัสปารุจ (Khan Asparuch) แห่งบัลแกเรีย เข้าปราบกองทัพชาวอาหรับ

ปรากฏว่าข่านเทอร์เวลได้รับชัยชนะอย่างงดงาม จนมีผู้กล่าวว่าหากไม่มีข่าน เทอร์เวล ยุโรปในตอนนี้อาจจะเป็นมุสลิมกันไปซะส่วนใหญ่แล้ว

ตอนนั้นจักรพรรดิไบแซนไทน์ซาบซึ้งมาก ถึงกับเรียกข่านเทอร์เวลว่า “ซีซาร์” ซึ่งเป็นคำเรียกจักรพรรดิของพวกโรมัน

ค.ศ. 811 จักรพรรดิไนซ์โฟรัส ที่ 1 (Nicephorus I) รู้สึกว่าพวกบัลการ์เข้มแข็งเกินไปจนจะเป็นภัย จึงได้รวบรวมทหารจากทุกหนแห่งที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ปกครองอยู่ เข้าปล้น เมืองพลิสกา เมืองหลวงของบัลแกเรีย ศึกครั้งนี้เรียกว่า The Battle of Pliska หรือ The Battle of Varbitsa Pass แต่ด้วยความแข็งแกร่งของ ข่าน ครัม (Khan Krum) กษัตริย์บัลการ์ยุคนั้น ทำให้พวกเขาสามารถปราบกองทัพของชาวไบแซนไทน์ได้สำเร็จ รวมถึงสังหารจักรพรรดิไนซ์โฟรัส แล้วโดนตัดหัวนำกระโหลกมาทำถ้วยเครื่องดื่ม ดื่มด้วยความสะใจ มัวะ ฮ่าฮ่าฮ่า

ในปี ค.ศ. 862 กษัตริย์ราสติสลาฟแห่งโมราเวีย ได้ทูลต่อกษัตริย์ของไบแซนไทน์ให้ส่งนักบวชไปประกาศศาสนาคริสต์ในแดนตน จึงมีการส่งนักบวชสองพี่น้องชื่อซีริลและเมโธดิอุส (Cyril and Methodius) ให้ทำหน้าที่นี้

พวกโมราเวียเป็นชาวสลาฟ ซึ่งเป็นฝรั่งเผ่าหนึ่งที่อยู่ในยุโรปตะวันออกมานานแล้ว การเผยแผ่ศาสนาครั้งนี้ทำให้ศาสนาคริสต์มั่นคงในแดนสลาฟ ซีริลและเมโธดิอุสได้คิดค้นอักษรกลาโกลิติก (Glagolitic alphabet) เพื่อให้สามารถถ่ายทอดศาสนาคริสต์เป็นภาษาสลาฟได้ง่าย (อักษรละตินใช้ออกเสียงภาษาสลาฟไม่ค่อยได้) อักษรนี้ได้พัฒนามาเป็นอักษรซีริลลิกซึ่งมีใช้กันอยู่มากถึง 12 ประเทศ หลักๆ คือรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก ในลักษณะนี้ซีริลและเมโธดิอุสจึงได้ฉายาว่าเป็นผู้นำแสงสว่างสู่ชาวสลาฟ และได้เป็นนักบุญ

ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับบัลแกเรียยังไง ? …เดี๋ยวจะพูดต่อนะครับ

การเผยแผ่ศาสนาของซีริลและเมโธดิอุส ส่งผลต่อบัลแกเรียอย่างใหญ่หลวง คือบอริสที่ 1 แห่งบัลแกเรีย (ปกครอง 852 – 889) เกิดศรัทธาศาสนาคริสต์ จากการเผยแผ่ของลูกศิษย์ของซีริลและเมโธดิอุสที่มาแถวนั้น จึงเปลี่ยนศาสนา (ก่อนนี้นับถือศาสนาชนเผ่า) และกำหนดให้คริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์โธดอกซ์เป็นศาสนาหลักของบัลแกเรีย

การเปลี่ยนแปลงนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะมันทำให้พวกบัลการ์ผสมปนเปกับชาวสลาฟซึ่งอยู่มาก่อนตน ทำให้ในที่สุดแล้วพวกเขาพูดภาษาตระกูลสลาฟ ใช้อักษรซีริลลิก และปนๆ เป็นคนสลาฟไปด้วย

ถามว่าเมื่อชาวบัลการ์นับถือคริสต์ รับวัฒนธรรมฝรั่งแล้วเกิดอะไรขึ้น? คำตอบคือพวกเขาก็กลายเป็นฝรั่งไปนะสิ! (เหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดกับชาวแมกยาร์ที่สร้างประเทศฮังการีในปัจจุบัน)

ลูกของบอริสชื่อพระเจ้าไซเมียนที่ 1 (ปกครอง 893-927) เป็นมหาราชของชาวบัลแกเรีย เขารู้สึกว่าตอนนี้การเรียกตัวเองเป็นข่านนั้นมันดูไม่เจ๋งไม่ทัดเทียมฝรั่งอื่นๆ อีกแล้ว จึงอาศัยการที่ข่านเทอร์เวลบรรพชนตนเคยได้รับการเรียกว่า “ซีซาร์” (กลับไปอ่านข้อ 9) ตั้งตัวเองเป็น “ซีซาร์” เสียเลย

และเนื่องจากพวกบัลการ์เรียกคำว่าซีซาร์เพี้ยนเป็น “ซาร์” ไซเมียนที่ 1 จึงกลายเป็น “ซาร์ไซเมียนที่ 1” ต่อมาเซอร์เบีย และรัสเซียต่างรับเอาคำว่าซาร์ไปใช้เรียกกษัตริย์ของตน จึงเกิดพระเจ้าซาร์ขึ้นในสามประเทศนี้ โดยเริ่มมาจากการเรียก “ซีซาร์” เพี้ยนของพวกบัลการ์

ยุคของพระเจ้าซาร์ไซเมียนที่ 1 นับเป็นยุคทองของบัลแกเรีย โดยเขาได้ขยายอาณาเขตไปถึงทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) และทะเลอีเจียน (Aegean Sea) เป็นการขยายอาณาเขตได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้บัลแกเรียกลายเป็นรัฐที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปตะวันออกยุคนั้น

ค.ศ. 917 ซาร์ไซเมียนที่ 1 เอาชนะกองทหารไบแซนไทน์ในสมรภูมิอันคิอาลัส (Battle of Anchialus) ถือเป็นการต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดในยุคนั้น ไบแซนไทน์ก็สาละวันเตี้ยลง ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ. 927 ชาวไบแซนไทน์ยอมรับการเป็นจักพรรดิ (ซาร์) ของ ปีเตอร์ที่ 1 แห่ง บัลแกเรีย (Peter I of Bulgaria) และในตอนนั้นเขาได้แต่งงานกับหลานสาวจักรพรรดิไบแซนไทน์ ทำให้ช่วงนี้บ้านเมืองมีความสงบสุขมาก

ในปี ค.ศ. 972 – 992 เมืองหลวงของบัลแกเรียย้ายไปที่เมืองสโกเปีย (Skopje) ต่อมาในราวปี ค.ศ.997 – 1014 ในรัชสมัยของซาร์สมุยล์ (Tsar Samuil) เมืองหลวงของบัลแกเรียถูกย้ายอีกครั้งไปที่เมืองโอครีด (Ohrid) ซึ่งเมืองทั้งสองนี้ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของของประเทศมาซิโดเนีย

ในปี ค.ศ.1014 ไบแซนไทน์เตี้ยลงมานานก็ฮึดขึ้นมาได้ โดยจักรพรรดิเบซิลที่ 2 แห่งไบแซนไทน์ (Basil II of Byzantine) สามารถเอาชนะกองทัพของซาร์สมุยล์ แห่ง บัลแกเรีย และจับทหารเป็นเชลยศึกถึง 15,000 คน ต่อมาในอีกสองเดือนซาร์แห่งบัลแกเรียก็สิ้นพระชนม์ เกิดความขัดแย้งเพื่อสืบทอดอำนาจภายในขึ้น ยิ่งทำให้บัลแกเรียอ่อนแอลงอีก ภายหลังบัลแกเรียจึงสูญเสียเอกราชให้กับไบแซนไทน์ในปี 1018 (อุโฮะ!)

บัลแกเรียตกเป็นเมืองขึ้นอยู่นานร้อยกว่าปีจนในปี ค.ศ.1185 ปีเตอร์และเอเซน สองพี่น้องขุนนางบัลแกเรียได้เป็นผู้นำชาวบัลการ์ก่อจลาจลประกาศเอกราชจากไบแซนไทน์สำเร็จ จึงตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่คือเมืองเทอร์โนโว (Turnovo หรือ Tarnovo) และสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งบัลแกเรีย ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อราชวงศ์เอเซน ผู้คนเรียกอาณาจักรใหม่นี้ว่าอาณาจักรบัลแกเรียที่ 2 หรือ Second Bulgaria Empire

ราชวงศ์เอเซนนำยุคทองที่สองมาสู่บัลแกเรียด้วย ซาร์ คาโลยัน แห่งบัลแกเรีย (Kaloyan of Bulgaria) น้องชายของแอสเซน (Asen) ได้นำทหารเข้าตีกองทัพของบอลด์วินที่ 1 จักรวรรดิละติน (คือครูแสดที่มาตีไบแซนไทน์ได้แป๊บนึง) กองทัพของคาโลยันได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดและจับบอลด์วินที่ 1 ไปเป็นนักโทษที่เมืองหลวงเทอร์โนโว (Turnovo)

ในรัชสมัยของซาร์อีวาน แอสเซนที่ 2 (Tsar Ivan Asen II ค.ศ. 1218 – 1241) เขาได้ทำการขยายดินแดนไปอย่างกว้างขวางไปถึงทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) และทะเลอีเจียน (Aegean Sea) นับว่าพีกมาก ๆ

สรรพสิ่งมีขึ้นมีลง ต่อมาชาวเติร์ก (ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นเผ่าขี่ม้าเหมือนชาวบัลการ์) ได้เถลิงอำนาจขึ้นสถาปนาเป็นจักรวรรดิออตโตมัน พวกเขาตีบัลแกเรียแตกในปี ค.ศ.1396 แต่นั้นบัลแกเรียก็เสียเอกราช

หลังจากนั้นพวกออตโตมันก็ตีเมืองคอนแสตนติโนเปิลของไบแซนไทน์แตก เปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลจนปัจจุบัน ทำให้ออตโตมันแข็งแกร่งอย่างยิ่ง หลังจากโมเมนต์นี้บัลแกเรียได้เป็นส่วนหนึ่งของออตโตมันไปยาว ๆๆๆๆๆ ห้าร้อยปี (จะบอกว่าเป็นเมืองขึ้นก็ไม่ใช่ เพราะออตโตมันปกครองแบบผนวกเป็นส่วนหนึ่งเลย)

ประวัติศาสตร์บัลแกเรียห้าร้อยปีหลังจากนี้ ก็จะเหมือน time skip เพราะอยู่ใต้ออตโตมันรัว ๆ

ในเวลาต่อมาได้เกิดการจลาจลในปี ค.ศ.1598 ที่เมืองเทอร์โนโว (Turnovo) ผู้คนกว่า 12,000 คน เข้าร่วมเพื่อปลดปล่อยบัลแกเรีย โดยชิชมานที่ 3 (Shishman III ) ได้รับการประกาศให้เป็นซาร์แห่งบัลแกเรีย แต่สุดท้ายก็โดนทางการออตโตมันปราบปรามด๋อยไป

ในปี ค.ศ.1762 ไพซิอุสแห่งฮิลเลนดาร์ (Paisius of Hilendar) นักบวชชาวบัลแกเรียได้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์สลาฟ – บัลแกเรีย (Istoriya Slavyanobolgarskaya) หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของกระแสชาตินิยมบัลแกเรีย เนื่องจากมีเนื้อหาที่บอกถึงความเป็นมาทำให้ชาวบัลแกเรียรู้สึกเกิดความรักในเผ่าพันธ์ุของตน

ปี ค.ศ.1835 นีโอฟิต ริลสกี (Neofit Rilski) บาทหลวง และศิลปิน ชาวบัลแกเรีย ได้เปิดโรงเรียนสอนหนังสือขึ้น สิ่งนี้มีความสำคัญ เพราะโรงเรียนของเขาได้นำวิชาความรู้และภาษาบัลแกเรียมาสอน เป็นการช่วยกระแสชาตินิยมอย่างดี

ในปี ค.ศ.1862 จอร์จี ราคอฟสกี (Georgi Rakovski) นักปฏิวัติชาวบัลแกเรีย ได้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธเพื่อต่อต้านการปกครองของออตโตมัน และเพื่อเอกราชของบัลแกเรีย แต่ก็ด๋อย ๆ

อย่างไรก็ตามยุคนั้นออตโตมันก็อ่อนแอลง พวกเขารบแพ้รัสเซีย ในปี ค.ศ.1878 มีการลงสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treaty of San Stefano) ซึ่งประกาศให้บัลแกเรีย (ที่มีคนส่วนหนึ่งมาช่วยรัสเซียรบด้วย) เป็นพื้นที่ปกครองตนเอง สิ่งนี้ทำให้บัลแกเรียได้ลืมตาอ้าปาก หรือ time skip ไป 500 ปี

ปีถัดมาใน ค.ศ.1879 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของบัลแกเรียได้รับการรับรอง เจ้านายคนหนึ่งชื่ออเล็กซานเดอร์แห่งแบตเทนเบิร์ก (Alexander of Battenberg) เป็นเจ้าชาย (ระบอบรัฐธรรมนูญ) แห่งบัลแกเรีย และให้เมืองโซเฟีย เป็นเมืองหลวง

ในปี ค.ศ.1887 สเตฟาน สตัมโบลอฟ (Stefan Stambolov) นักการเมือง นักข่าว นักปฏิวัติ และกวีชาวบัลแกเรีย ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขาเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของบัลแกเรียให้กลับมามารุ่งเรือง และในปีเดียวกัน มีการแต่งตั้งเฟอร์ดินานด์แห่ง แซ็กซ์-โคบูร์ก-โกธา (Knyaz Ferdinand of Saxe-Coburg and Gotha) ให้ขึ้นเป็นเจ้าชายแทนอเล็กซานเดอร์ (ซึ่งถูกปฏิวัติ)

ตอนนี้ออตโตมันก็สาละวันเตี้ยลง เฟอร์ดินานด์อาศัยจังหวะนี้ประกาศอิสรภาพจากออตโตมันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1908 (ก่อนหน้านี้มีอำนาจปกครองตนเองแล้ว แต่ยังถือเป็นเมืองขึ้น) ทำให้เขาได้เปลี่ยนจากเจ้าชายเป็นซาร์เฟอร์ดินาน และตั้งอาณาจักรบัลแกเรียที่ 3 ขึ้น (แต่ตอนหลังระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้มก็เรียกว่า รัฐบัลแกเรียที่ 3 แทน)

ในปี ค.ศ.1912 เกิดสงครามบอลข่านครั้งที่ 1 เป็นสงครามระหว่างบัลแกเรีย เซอร์เบีย และกรีก สู้กับออตโตมัน ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเดิมสงครามนี้เป็นสงครามที่ขับไล่จักรวรรดิออตโตมันออกจากยุโรปไป

ภายหลังสงครามบอลข่านครั้งที่ 1 พวกชาติยุโรปตะวันออกต่าง ๆ ก็หันมาทะเลาะกันเอง พวกชาติอื่น ๆ เห็นบัลแกเรียใหญ่หน่อยจึงรุมกินโต๊ะ และมีออตโตมันกับโรมาเนียมารุมด้วย จนบัลแกเรียพ่ายแพ้เสียดินแดนไปเป็นอันมาก หลักๆ คือเสียมาซีโดเนียให้กรีซกับเซอร์เบีย เสียดินแดนทางตอนเหลือให้โรมาเนีย และเสียดินแดนทางตอนใต้ให้ออตโตมัน

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1915 – 1918 บัลแกเรียเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ทำให้ได้รับความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับอีก โดยพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ทรงแสดงความรับผิดชอบโดยสละราชบัลลังก์ และพระโอรสของพระองค์ได้ครองราชย์สืบต่อพระนามว่า พระเจ้าซาร์บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย

ในปี ค.ศ.1919 บัลแกเรียต้องชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามเพราะเป็นผู้แพ้สงคราม และด้วยสนธิสัญานิวอิลี-เซอร์-แซน (Treaty of Neuilly-sur-Seine) ทำให้บัลแกเรียต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่กรีซ ยูโกสลาเวีย และโรมาเนีย

…สาละวันเตี้ยลงรัวๆ

ในปี ค.ศ. 1923 – 1935 เป็นช่วงที่บัลแกเรียไร้เสถียรภาพอย่างมาก เกิดความขัดแย้งภายในหลายครั้งจนถึงขั้นนำไปสู่การรัฐประหาร แต่ซาร์บอริสที่ 3 ก็ยังคงรักษาอำนาจไว้ได้ และไล่ล่ากำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก

ตอนนั้นซาร์บอริสที่สามสวามิภักดิ์ใครก็ไม่สวามิภักดิ์ กลับไปสวามิภักดิ์ฮิตเลอร์ซึ่งกำลังเป็นดาวรุ่งขึ้นมาในเยอรมัน

บัลแกเรียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1941 (หลังจากวางตัวเป็นกลางในช่วงแรกของสงคราม) รัฐบาลถึงกับรับความเกลียดยิวจากนาซีมากด้วย จนมีแผนการที่จะเนรเทศชาวยิวในบัลแกเรีย แต่โดนต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมือง นักบวช และประชาชน

ในปี 1943 รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้ฮังการี โรมาเนีย และบัลแกเรียถอนตัวจากสงคราม บัลแกเรียดูทางลมเห็นว่าไม่ค่อยดีก็ยอมถอนตัวในปี 1944 …แต่สายไปแล้ว โซเวียตซึ่งกำลังได้ที ได้ประกาศสงครามกับบัลแกเรียจะเข้าสั่งสอน และขยายอำนาจ

กองทัพแดงได้เข้ายึดครองดินแดนบัลแกเรียในปี ค.ศ.1944 แล้วหนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจ จนบัลแกเรียตกอยู่ใต้คอมมิวนิสต์โซเวียต

ในปี ค.ศ.1946 มีการลงประชามติในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ และราชวงศ์ต้องออกจากประเทศในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 16 กันยายน 1946 นับเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในบัลแกเรีย

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 – 1989 บัลแกเรียปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์พรรคเดียวมาตลอด นับเป็นอีกหนึ่ง time skip

ในปี ค.ศ.1955 มติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 109 ของสหประชาชาติ ได้เสนอแนะ 16 ประเทศให้เข้าร่วมสหประชาชาติ หนึ่งในนั้นคือ “บัลแกเรีย”

ในที่สุดโซเวียตก็เสื่อมอำนาจ โดยในปี ค.ศ.1989 ประชาชนได้ออกกันมาชุมนุมขับไล่ ตอดอร์ ซีฟกอฟ (Todor Zhivkov) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

ต่อมาในปี ค.ศ.1990 เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกที่บัลแกเรีย

บัลแกเรียยุคใหม่ดำเนินนโยบายทุนนิยมประชาธิปไตย โปรตะวันตก ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.2004 บัลแกเรียเข้าร่วมกับ NATO หลังจากความพยายามทางการทูตที่ยาวนานถึง 14 ปี

ในปี ค.ศ.2007 บัลแกเรียเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU)

ปัจจุบันบัลแกเรียเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

เหตุการณ์ในอดีตต่าง ๆ มากมายได้หล่อหลอมให้บัลแกเรียในปัจจุบันเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักประเทศนี้ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร แต่คุณรู้หรือไม่

  • บัลแกเรียมีเมืองที่มีความเก่าแก่อันดับ 5 ของโลก
  • คนที่ค้นพบคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ คือชาวบัลแกเรีย
  • มีการค้นพบสมบัติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

และยังมีอะไรอีกมากมายที่น่าสนใจสำหรับประเทศนี้ เพราะบัลแกเรียเป็นพื้นที่แห่งอารยธรรม และเผ่าพันธุ์ที่หลากหลาย มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีธรรมชาติอันวิจิตร ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ควรค่าแก่การไปเยือน