ในหนังสือ “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” โดย นพ. ชาคร จันทร์สกุล สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี (2004) ที่พิมพ์กับ The Wild Chronicles มีเนื้อหาว่าด้วยการวิเคราะห์ว่าพระเจ้าตากทรงประชวรด้วยโรคทางจิตเวชหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่งในวงการประวัติศาสตร์ไทย เพราะมันเชื่อมโยงถึงความชอบธรรมของราชวงศ์จักรีในการชิงราชสมบัติจากพระองค์ท่าน

ก่อนนี้หลายท่านยังตีความว่าพระเจ้าตากไม่มีความผิดปกติทางจิต และการอ้างเรื่องความ “ฟั่นเฟือน” เป็นเพียงเหตุผลทางการเมืองเพื่อรองรับการสำเร็จโทษพระองค์

อย่างไรก็ตาม สุภาษิตว่าไว้ว่า “มีควันย่อมมีไฟ” เรื่องราวที่นำไปสู่ข้อสรุปว่าพระเจ้าตากฟั่นเฟือนนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน เหตุการณ์หนึ่งที่มีการพูดถึงกันบ่อยๆ ในการเสวนาเรื่องพระสติพระเจ้าตาก นั่นคือ “การรับสั่งเตรียมเหาะเหินเดินอากาศ” (ซึ่งก็มีข้อสรุปได้แค่ 2 อย่าง คือ พระองค์ฟั่นเฟือนจริง หรือพระองค์ทรงใช้สร้างบุญญาธิการเป็นเครื่องมือทางการเมือง)

…รายละเอียดของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามพร้อมกันครับ…

เหตุการณ์เป็นอย่างไร?

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่าในเรื่องนี้หลักฐานหลายชิ้นเล่าเหตุการณ์นี้ไว้ตรงกันหมด ทั้งหลักฐานไทยอย่างจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กับหลักฐานต่างชาติอย่างจดหมายของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส และบันทึกการเดินทางของ ดร. เคอนิก (ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันบอลติกที่เข้ามาศึกษาในสยาม) การเล่านี้มิได้เล่าเป็นฉบับเดียว แต่เล่าหลายครั้งในระยะหลายปีในช่วงปี 1779 – 1781 (พ.ศ. 2322 – 2324) แปลว่าหัวข้อนี้เป็นสิ่งที่มีการเอามาพูดกันเรื่อย ๆ ในยุคนั้น

…ดังนั้นจึงเชื่อได้ค่อนข้างแน่นอนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง…

เริ่มจาก ดร. เคอนิกที่กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า “พระปรีชาสามารถเหล่านี้ (จากการปฏิบัติกรรมฐาน) ทำให้พระองค์ทรงเชื่อว่าจะทรงเหาะได้สำเร็จในที่สุด พระองค์ทรงเล่าเรื่องที่ไม่น่าเชื่อนี้ให้ทุกคนที่เข้าเฝ้าฯ ได้ฟัง และทรงถามพวกเขาว่า พวกเขาไม่คิดว่ามันอาจเป็นไปได้หรือ และพวกเขาไม่เชื่อว่าวันหนึ่งพระองค์จะเหาะได้ใช่ไหม พวกประชาชนของพระองค์ทั้งหมด รวมถึงบรรดาหมอหลวงและพระสงฆ์ทั้งหลายได้ยอมรับแก่พระองค์ว่า เป็นไปไม่ได้ตามที่พระองค์ทรงดำริอย่างแน่นอน”

พระเจ้าตากมีการเตรียมการหลายอย่าง ทั้งสวดมนต์ ถือศีลภาวนา อดพระกระยาหาร หรือแม้แต่ดำริจะเนรเทศบาทหลวงและคริสเตียนทั้งหลายออกจากพระราชอาณาจักร เพราะมีพระสงฆ์ไปกราบทูลว่าถ้ายังมีพวกนักบวชนอกศาสนาเหล่านี้อยู่จะทำให้เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้!

และยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าตากยังมีการเตรียมการแบบยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างปราสาทเพื่อใช้เหาะ (อารมณ์ประมาณสร้างสถานที่ปิด เพื่อกั้นสิ่งรบกวนภายนอก)

โดยในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เล่าว่า “ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑,๐๐๐ ไม้แก่น ๑,๐๐๐ ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างหน้า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำร่างร้าน ไม้แก่นจะได้ทำเสาปราสาท ปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมา พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว”

หลักฐานจบเพียงแค่นี้ มิได้มีบันทึกว่าพระเจ้าตากสินทรง “บิน” จริง ๆ หรือไม่ และอีกเพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น (ปี 1782 หรือ พ.ศ. 2325) พระองค์ท่านก็ถูกรัฐประหาร

…ขั้นถัดไปจะเป็นการวิเคราะห์ว่าสิ่งนี้นับว่า “ฟั่นเฟือน” หรือไม่?…

เชื่อจริง หรือ แค่การเมือง? 

การตีความเหตุการณ์ในตอนนี้จะออกมาได้ 2 ด้านเท่านั้น ว่าพระเจ้าตากทรงเชื่อไปอย่างนั้นจริง ๆ กับพระเจ้าตากไม่ได้ทรงเชื่อ เพียงแต่ใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่าง

ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์เป็นข้อหลัง ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาอธิบายว่า มีความเป็นไปได้ว่าพระเจ้าตากอาจต้องการแสดงพระองค์เป็น “ผู้มีบุญญาธิการ” ตามคติพุทธ เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครองของพระองค์ เพราะพระองค์ก็คงทราบดีว่าพระองค์มีเชื้อจีนไม่ได้เป็นผู้ดีเก่า จึงต้องการแสดงปาฏิหาริย์บางอย่างเพื่อเรียกศรัทธา

…พูดง่าย ๆ คือ นี่เป็นกุศโลบายทางการเมืองของพระองค์ หรือเปล่า?

แน่นอนว่าการตีความไปในทำนองนี้ก็นับว่าไม่ได้ไร้เหตุผลรองรับ เพียงแต่มันเป็นวิธีการตีความแบบที่คุณหมอชาครมองว่า นี่เป็นการตัดสินแบบย้อนกลับ (reactive) เพราะทราบจุดจบอยู่แล้วว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น และพยายามตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสุด ทั้ง ๆ ที่นั่นอาจจะไม่ใช่ดำริของพระเจ้าตากสิน

เหตุผลค้านเรื่องนี้คือในช่วงนั้นสภาพบ้านเมืองยังเป็นปกติดี …เป็นช่วงว่างเว้นสงครามและเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และถ้าหากพระเจ้าตากสินมีพระทัยคิดระแวงเจ้าพระยาจักรี (ร.1) ซึ่งตอนนั้นเป็นขุนนางใหญ่ ก็สามารถหาทางลงโทษหรือปลดได้ไม่ยาก คงไม่ใช้ให้คุมทหารจำนวนมากไปทำศึกจนเป็นเหตุให้สิ้นแผ่นดินในเวลาต่อมา

ดังนั้นจึงเหลือแนวการตีความอีกแนวหนึ่ง คือ พระองค์ทรง “ฟั่นเฟือน” หรือไม่?

ก่อนอื่นอยากขอให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ป่วยอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีอาการกำเริบขึ้นมาบางช่วงเท่านั้น หลายท่านยังเข้าใจผิดว่าป่วยแล้วจะต้องแสดงอาการป่วยอยู่ตลอด ซึ่งเหตุการณ์ที่นำมาอธิบายในบทความนี้ก็ตรงกับลักษณะของอาการทางจิตเวชที่เรียกว่า “ภาวะหลงผิดคิดตนเขื่อง” (grandiosity delustion)

คนที่มีภาวะนี้มักจะมองว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น มีความพิเศษไม่เหมือนใคร และมองว่าคนที่เข้าใจตัวเองได้เป็นคนพิเศษที่มีจำนวนน้อยเท่านั้น นับเป็นความเชื่อที่ “ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง” อย่างสิ้นเชิงแถมไม่ยอมฟังเสียงแห่งเหตุผลอีก

หลังจากเรื่องเหาะเหินเดินอากาศนี้ก็มีรายงานว่าพระเจ้าตากสินบริหารผิดอีกหลายประการ เช่นลงโทษคนอย่างโหดร้ายเกินกว่าเหตุ หรือปล่อยให้มีคนอ้างพระองค์ไปกดขี่ผู้อื่น ทำให้ทั้งขุนนางและประชาชนเกลียดชัง

…ซึ่งสาเหตุทางการแพทย์ของภาวะดังกล่าว เช่น โรคบุคลิกภาพหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder) โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) โรคจิตเภท (schizophrenia) หรือผู้ใช้สารเสพติดบางชนิด

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เรื่องขุนหลวงตากนี้เป็นเรื่องที่น่าเอาใจใส่ นักปราชญ์สมัยใหม่กำลังปรักปรำราชวงศ์จักรี แต่ไม่มีอะไรจะว่านอกจากจะว่าขุนหลวงตากไม่บ้า และเพื่อชี้ให้คนเห็นว่า พระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นกบฏต่อขุนหลวงตาก” และ “ถ้าขุนหลวงตากเป็นบ้าอย่างมากมายไม่รู้วันรู้คืน พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คงออกพระโอษฐ์ขอไม่ให้ปลงชีวิต นี่ขุนหลวงตากไม่ได้บ้าถึงเพียงนั้น เป็นบ้าคลั่งอันตรายต่อแผ่นดิน”

ตำหนิว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นเป็นนักประวัติศาสตร์ school เก่า ซึ่งงานของท่านหลายอย่างก็ถูกนักวิชาการในยุคหลังแสดงหลักฐานแก้ไขไปมากแล้ว ทั้งท่านซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์จักรี ในทางหนึ่งยังเป็น “ขั้วตรงข้าม” กับพระเจ้าตากสินโดยชาติกำเนิด

จากข้อมูลข้างต้นผมเชื่อว่าหลายท่านคงเสียงแตกเช่นเดิม ว่าจะมองว่าเหตุการณ์ช่วงนี้เป็นการแสดงว่า “ภาวะหลงผิดคิดตนเขื่อง” ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณส่อว่าอาจมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ หรือจะมองว่ายังเป็นกุศโลบายทางการเมืองเช่นเดิม

เนื้อหาตอนนี้เป็นเพียงตอนหนึ่งในหนังสือ “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” ซึ่งตลอดทั้งเล่มมีการหยิบเหตุการณ์ลักษณะที่น่าขบคิดต่อรวมกันถึง 21 เรื่อง

แม้โดยตัวเนื้อหาจะมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่เนื้อแท้แล้วเป็นการมุ่งให้ความสนใจกับการวิเคราะห์สุขภาพจิตของพระเจ้าตากสินเป็นหลัก

เมื่ออ่านแล้วท่านจะเห็นว่าความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตและปัญหาทางจิตของคนไทยส่วนใหญ่ยังคลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง และอาจพบว่าตัวเองหรือคนรู้จักก็มีสัญญาณบางอย่างซึ่งคนทั่วไปอาจมองว่าไม่มีอะไร แต่ในทางการแพทย์นั่นแหละคืออาการป่วยและควรมาพบแพทย์!

แน่นอนว่าท่านอ่านแล้วอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตีความหลักฐานของคุณหมอชาคร ซึ่งก็เป็นอิสระทางความคิด

…ตลอดระยะเวลาการทำหนังสือ “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งปี คุณหมอชาครได้ค้นคว้าหลักฐานหลายแหล่ง และพบสมมุติฐานใหม่ ๆ มากมายจากการค้นคว้าดังกล่าว สิ่งเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการประวัติศาสตร์ไทย ผมซึ่งเป็นบรรณาธิการนั้นยิ่งอ่านตามมากขึ้นก็พลอยตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งไปด้วย

สุดท้ายบทสรุปของหนังสือเล่มนี้มิได้อยู่ที่เรื่อง “บ้า” หรือ “ไม่บ้า” แต่มันซับซ้อนกว่านั้นมาก…

…และบทสรุปดังกล่าวจะทำให้เราเข้าใจ “โศกนาฏกรรม” ที่แท้จริงซึ่งเกิดขึ้นกับพระองค์ท่านในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั่นเอง…

::: ::: :::

หนังสือเรื่อง “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” นี้เป็นผลงานที่ The Wild Chronicles ภูมิใจเสนอ โดย นพ. ชาคร จันทร์สกุล สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี (2004) ได้มีการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านเพื่อสกัดเอาข้อมูลที่น่าเชื่อถือนำมาวิเคราะห์พระสติของพระองค์ท่าน

หนังสือเล่มนี้มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อ “คำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคำถามหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย” หรือที่ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมีสติวิปลาสหรือไม่” ด้วยข้อมูลที่เรียบเรียงมาเป็นอย่างดี ประกอบกับหลักฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตามหาความจริง

  • ท่านที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ Line OA  https://lin.ee/fNEO1jr กดสมัครแล้วพิมพ์แจ้งว่า “สนใจหนังสือพระเจ้าตาก” นะครับ
  • อีกหนึ่งช่องทางท่านสามารถกดสั่งซื้อผ่านหหน้าเว็บได้ที่ลิงก์นี้ https://www.thewildchronicles.com/product/king-taksin-minds/