ในหนังสือ “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” โดย นพ. ชาคร จันทร์สกุล สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี (2004) ที่พิมพ์กับ The Wild Chronicles มีเนื้อหาว่าด้วยการวิเคราะห์ว่าพระเจ้าตากทรงประชวรด้วยโรคทางจิตเวชหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่งในวงการประวัติศาสตร์ไทย เพราะมันเชื่อมโยงถึงความชอบธรรมของราชวงศ์จักรีในการชิงราชสมบัติจากพระองค์ท่าน

เรามักจะเห็นคนวิจารณ์ว่าการวิเคราะห์เรื่องนี้มักติดกับดัก “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” คือเกรงว่าจะมีการใช้หลักฐานจากขั้วตรงข้ามพระเจ้าตากสินมาวิเคราะห์ ทำให้ตีความไปในทางว่าพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนทั้งที่ไม่เป็นความจริง (?)

หรือเวลามีประวัติศาสตร์กระแสรองใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วขัดต่อประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีการเชิดชูสถาบันหลักของชาติ เราก็มักจะได้ยินคนที่ไม่เห็นด้วยตอบโต้ว่า “เกิดทันยุคนั้นเหรอ?” หรือ “กลับไปศึกษามาใหม่” หรือไม่ก็ “ตามก้นฝรั่ง”

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมขอถือโอกาสนี้อธิบายกระบวนการที่คุณหมอชาครใช้ในการ “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ดูว่าเราใช้เอกสารตัวไหนบ้าง และมีการจัดลำดับอย่างไรนะครับ

กระบวนการวิเคราะห์

ในหนังสือเล่มนี้ คุณหมอชาครตั้งใจจะรวบรวมเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่มักมีการหยิบยกไปวิเคราะห์ถึงพระสติของพระเจ้าตากสินมาเรียงลำดับก่อนหลัง ควบคู่กับบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ เพื่อนำมาตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระเจ้าตากสิน ด้วยเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในปัจจุบัน

โดยคุณหมอพยายามเทียบเคียงกับ “บรรทัดฐาน” หรือ “ความปกติ” ในสังคมสมัยนั้น …เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ผิดปกติ” นั้นย่อมแตกต่างกันตามยุคสมัยและวัฒนธรรม

หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าพระเจ้าตากสินไม่ใช่ผู้ดีเก่า การไม่ยึดถือจารีตเดิมหลายเรื่องของพระองค์จึงไม่ได้เกิดจากโรคทางจิต ดังนั้นถ้าพระเจ้าตากสินกระทำผิดไปจากบรรทัดฐานในสมัยนั้น จะนำมาวิเคราะห์ต่อว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดจากความ “ฟั่นเฟือน” หรือไม่ก็ต้องเทียบไปตามหลักฐาน

คุณหมอยังประกาศด้วยว่า จะวิเคราะห์ไปตามเนื้อผ้า หรือตามสิ่งที่พระเจ้าตากสินพบเจอในเวลานั้น (reactive) ไม่ใช่วิเคราะห์ตามข้อสรุปหรือ “ธง” ที่ตั้งไว้ก่อนแล้ว (proactive)

คำถามคือ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นเอามาจากไหน?

หลักฐานที่ใช้

ขั้นตอนต่อไปคือการหาและสกัดข้อมูลประวัติศาสตร์จากหลักฐานเพื่อนำมาวิเคราะห์ ในขั้นนี้ย่อมมีคำถามตามมามากมายว่าเลือกจากอะไร? เชื่อถือได้หรือ? และที่สำคัญประโยค “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” ก็จะมาอีกตามเคย

คุณหมอชาครย่อมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี จึงได้มีการแบ่งหลักฐานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หลักฐานของฝ่ายพระเจ้าตาก, หลักฐานของฝ่ายตรงข้ามพระเจ้าตาก, และหลักฐานที่เป็นกลาง (เป็นกลางในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนไม่เคยมีเรื่องกับพระเจ้าตากนะครับ เพียงแต่ไม่ได…

[Tier C-D]

หลักฐานในระดับ C-D หรือแค่ “พอผ่าน” นี้ ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ และจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

พงศาวดารฉบับต่าง ๆ ที่ว่านี้ก็ได้แก่ พระราชพงศาวดาร ฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน, ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล และ ฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เองที่เป็นฉบับที่อยู่ใน “ประวัติศาสตร์กระแสหลักและตำราเรียน” ซึ่งเราได้เรียนรู้กันเป็นพื้นฐาน…

อีกหนึ่งหลักฐานในกลุ่มนี้คือ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

มีรายละเอียดว่าจริง ๆ ไม่ทราบผู้แต่งเหมือนกัน แต่รัชกาลที่ 5 ที่ได้รับถวายหลักฐานชิ้นนี้ทรงดำริว่าสำนวนที่ใช้เป็นของผู้หญิง และเป็นเนื้อหาของฝ่ายในโดยเฉพาะ (อารมณ์ประมาณหนังสือกอสซิป) เทียบจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ แล้วผู้แต่งน่าจะเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี” ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของรัชกาลที่ 1

พอเล่าถึงตรงนี้ผมทราบได้เลยว่าหลายท่านจะต้องมีคำวิจารณ์อย่างแน่นอน บอกว่าทำไมจึงเอาหลักฐานประเภทนี้มาวิเคราะห์ด้วย รู้ทั้งรู้ว่าผู้แต่งเป็นขั้วตรงข้ามของพระเจ้าตากสิน เข้ากับประโยค “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” แต่ก่อนที่จะวิจารณ์ ผมอยากเรียนว่าวิธีการที่คุณหมอใช้ศึกษาในตอนนี้เป็นอย่างไรนะครับ

1) คุณหมอจะวิเคราะห์ว่าหลักฐานเหล่านี้ เล่าตรงกับหลักฐานอื่นร่วมสมัยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานของชาวต่างประเทศ หรือหลักฐานอื่นๆ ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า หรือแม้แต่พงศาวดารต่างประเทศ เช่น พงศาวดารจีน

2) ถึงแม้ว่าจะเล่าไม่ตรงกับหลักฐานอื่นเลย แต่คุณหมอก็ได้พยายามวิเคราะห์ว่าข้อความส่วนใดจริง ส่วนใดเท็จ ส่วนใดน่าจะจริงแต่ถูกใส่สีตีไข่เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณหมอพบว่าส่วนใดน่าจะ “เมก” ขึ้น ในเล่มคุณหมอก็จะกาดอกจันให้ว่า “โป๊ะแตก!”

[Tier B]

หลักฐานระดับ Tier B หรือระดับดี ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งหลักฐานประเภทพงศาวดารหรือจดหมายเหตุที่บอกเล่าถึงพระมหากษัตริย์และอาณาจักร และย่อมเล่าถึงพระเจ้าตากสินโดยตรง และบันทึกไว้ละเอียดดี

ในจำนวนพงศาวดารหลายฉบับ คุณหมอได้จัดให้ฉบับฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะแต่งขึ้นร่วมสมัยกับพระเจ้าตากสิน นับเอาส่วนที่เขียนขึ้นก่อนปี 1778 (พ.ศ. 2321) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หลังจากปีนั้นสำนวนการเขียนดูเปลี่ยนไป คาดว่าอาจมีการตรวจชำระในสมัยหลัง ส่วนพงศาวดารฉบับอื่น ๆ นั้นล้วนชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น จึงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า

[Tier A]

ต่อมาคือ Tier A หรือระดับดีมาก คุณหมอจัดให้บันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยอยู่ในระดับนี้ ด้วยเหตุว่าชาวตะวันตกมักจะจดบันทึกเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดตรงไปตรงมา พบเห็นได้ยินอะไรก็บันทึกลงไปอย่างนั้น
หลักฐานกลุ่มนี้ เช่น จดหมายของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในกรุงธนบุรี ซึ่งหลักๆ คือบาทหลวงคูเด (Joseph-Louis Coudé)

หรือ “บันทึกรายวันเกี่ยวกับการเดินทางจากอินเดียสู่สยามและมะละกา” ของ ดร. โยฮัน แกร์ฮาร์ด เคอนิก (Johann Gerhard König) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันบอลติก (ชาวลัตเวียปัจจุบัน)

แน่นอนว่าหลักฐานเหล่านี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง นักประวัติศาสตร์บางคนโต้แย้งว่าชาวตะวันตกเหล่านี้ไม่เข้าใจบริบทสังคมไทยอย่างถ่องแท้ และบอกว่าหลายเรื่องก็ได้ยินมาอีกต่อหนึ่ง ทำให้มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

จดหมายของบาทหลวงคูเดยังถูกนักประวัติศาสตร์บางส่วนชี้ว่าอาจมีอคติกับพระเจ้าตากสินเพราะท่านเคยถูกพระเจ้าตากสั่งลงโทษ อีกทั้งยังมีการเขียนว่าพระเจ้าตากสินคุ้มดีคุ้มร้ายจนฝ่ายตรงข้ามหยิบไปใช้อ้างเสียอีก แบบนี้จะเชื่อได้หรือ?

แต่ผมอยากชี้ชวนให้ทุกท่านเห็นว่าบันทึกเหล่านี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรีอย่างแท้จริง อีกทั้งท่านไม่ได้เขียนให้คนไทยอ่าน คนไทยจะเชื่อหรือไม่ท่านก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร หรือถ้าจะบอกว่าคณะบาทหลวงฝรั่งเศสเป็นฝ่ายตรงข้ามพระเจ้าตากสินแล้วคณะนี้ได้ประโยชน์ตอบแทนหลังผลัดแผ่นดินแล้วหรือ?

ดังนั้นหลักฐานของชาวต่างชาติจึงมีความน่าเชื่อถือเป็นอันดับต้นๆ ในการศึกษาพระสติพระเจ้าตากนั่นเอง

[Tier S]

Tier S หรือระดับบนสุด คือ ประกาศพระราชโองการ และพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าตากสินเอง หลักฐานกลุ่มนี้ไม่มีการแก้ไข ตรวจชำระหรือดัดแปลงจากผู้มีอำนาจในสมัยต่อมา พระองค์รับสั่งไว้เช่นไรก็ยังเป็นเช่นนั้น

คุณหมอมองว่าหลักฐานประเภทนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติในพระทัยของพระองค์ได้ดีที่สุด

หลักฐานกลุ่มนี้ เช่น พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปิศาจ, พระสมุดกฎทรงถวายราชาคณะให้ถวายพระพรเตือน, หรือพระราชาธิบายเรื่องลักขณะบุญ (เป็นตำราสอนพระสงฆ์เรื่องบุญ)

…ทำไมพระองค์จึงตรากฎหมายสั่งเทวดา? พระองค์ทรงให้พระสงฆ์เตือนเรื่องอะไร? และตำราสอนพระสงฆ์เกี่ยวอะไรกับพระสติของพระองค์?…

เรื่องทั้งหมดที่ดูไม่เกี่ยวอะไรเลยนี้ คุณหมอยืนยันว่า “สิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัด” ในหลักฐานชุดนี้แหละคือหลักฐานชั้นดีในการวิเคราะห์พระสติของพระเจ้าตากครับ…

แม้ว่าหลักฐานบางชิ้นจะรู้อยู่แล้วว่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ การมีหลักฐานที่คุณภาพไม่ดี ก็ยังดีกว่าไม่มีหลักฐานอะไรให้ศึกษาเลย

ผมอยากเรียนว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ เราควรที่จะนำหลักฐานทุกๆ เรื่องขึ้นมาวิเคราะห์พิจารณา อย่าเพิ่งปัดหลักฐานของฝ่ายที่เราไม่ชอบทิ้งไปเพราะเห็นว่ามีอคติ

…เพราะอย่าลืมว่านอกจากมี “อคติเพราะชัง” ก็ยังมี “อคติเพราะรัก” ด้วยนะครับ…

นอกจากนี้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประวัติพระเจ้าตากสินนี้ หลายคนยังยึดติดอยู่กับการตามหา “พระเอก” และ “ผู้ร้าย” ไม่ต่างอะไรกับการดูหนังหรือละคร

ทั้งที่ในความเป็นจริงบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ทุกคนก็เป็นมนุษย์ปุถุชน มีโลภ โกรธ หลงกันหมด การตัดสินคนใดคนหนึ่งเป็น “ขาว” หรือ “ดำ” ทั้งหมดจึงเป็นการเอาตัวเองไปตัดสินคนอื่น และไม่ต้องแปลกใจว่าสิ่งที่ท่านตีความเป็นขาว ก็ย่อมมีคนอื่นไม่มากก็น้อยที่ตีความว่าเป็นเทาหรือดำ

สุดท้ายนี้การที่ผมยกเอากระบวนการที่คุณหมอชาครจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้ทุกท่านเห็นถึงกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบรอบคอบ และพยายามลดอคติของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการศึกษาประวัติศาสตร์

::: ::: :::

หนังสือเรื่อง “วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก” นี้เป็นผลงานที่ The Wild Chronicles ภูมิใจเสนอ โดย นพ. ชาคร จันทร์สกุล สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี (2004) ได้มีการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านเพื่อสกัดเอาข้อมูลที่น่าเชื่อถือนำมาวิเคราะห์พระสติของพระองค์ท่าน

หนังสือเล่มนี้มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อ “คำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคำถามหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย” หรือที่ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมีสติวิปลาสหรือไม่” ด้วยข้อมูลที่เรียบเรียงมาเป็นอย่างดี ประกอบกับหลักฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตามหาความจริง

  • ท่านที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ Line OA  https://lin.ee/fNEO1jr กดสมัครแล้วพิมพ์แจ้งว่า “สนใจหนังสือพระเจ้าตาก” นะครับ
  • อีกหนึ่งช่องทางท่านสามารถกดสั่งซื้อผ่านหหน้าเว็บได้ที่ลิงก์นี้ https://www.thewildchronicles.com/product/king-taksin-minds/