เวลาพูดถึงยุโรป เราก็มักนึกถึงความเจริญก้าวหน้า ความล้ำสมัยยิ่งใหญ่ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ทราบไหมครับว่า ในมุมหนึ่งของยุโรป ก็มีประเทศที่แสนสมถะแฝงตัวอยู่ …ดินแดนที่ผมจะนำมาเล่าวันนี้ มีชื่อว่า “มอลโดวา”
ถึงแม้หลายท่านจะไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้ แถมผมเกริ่นว่า “จน” แต่มอลโดวาก็ “รวย” ในแง่ของประวัติศาสตร์ มันมีความเป็นมาอันยาวนาน กว่าจะเป็นประเทศขึ้นมาได้ต้องผ่านการแย่งชิงดินแดนของชนชาติต่างๆ นับพันๆ ปี และปัจจุบัน มอลโดวาก็ยังมีความพิเศษ คือนอกจากรัฐของตัวเองมีอีก 2 ประเทศอยู่ทับซ้อนกันบนแผ่นดินนั้น!
เรื่องราวของประเทศนี้เป็นมาอย่างไร? ทำไมจึงมีความพิเศษกว่าที่อื่นใดในยุโรป? ผมจะเล่าให้ท่านฟังตั้งแต่เรื่องราวยุคก่อนคริสตกาล ผ่านสงครามตีชิงดินแดน ใต้เงาการปกครองของโซเวียต ไปจนถึงยุคปัจจุบันนะครับ
ดินแดนโบราณ
ตามที่ผมได้เคยเล่าไปในบทความก่อน มอลโดวาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ “ดนิสเตอร์” (Dniester) ซึ่งถูกมนุษย์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่โบราณนับหมื่นปีก่อนเพราะความอุดมสมบูรณ์ และด้วยภูมิศาสตร์ที่รอบๆ มีแม่น้ำอีกหลายสายทำให้มีชนเผ่ามากมายคอยเข้ามาแย่งชิงพื้นที่เป็นของตัวเอง
ช่วง 168 ปีก่อนคริสตกาลมีนักรบยิ่งใหญ่ชื่อ “บัวเรบิสตา” (Burebista) สามารถรวมรวมดินแดนโรมาเนีย, มอลโดวา, บัลกาเรียเหนือ, ยูเครนตะวันตกเฉียงใต้, ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดานูบ ไล่ไปถึงเซอร์เบียส่วนหนึ่ง ตั้งเป็น “อาณาจักรดาเซียน”
อย่างไรก็ตามปีค.ศ. 106 ดาเซียนถูกจักรวรรดิโรมันเข้าครอง จึงได้รับอิทธิพลแบบโรมันมามาก หลังจากยุคดาเซียนแล้ว ดินแดนมอลโดวาแม้ว่าจะมีพื้นฐานความเป็นโรมันอยู่ แต่ก็ถูกคนเผ่าต่างๆ แย่งกันยึดครองมาตลอดมิได้ขาด
มอลดาเวีย
ช่วงศตวรรษที่ 14 ชาติพันธุ์วลาช (Vlachs) ที่พูดภาษากลุ่มโรมานซ์ (เผ่าใกล้เคียงกับพวกอิตาลี/ฝรั่งเศส) มีผู้นำเข้มแข็งชื่อ “ดรากอส” สามารถตีแผ่นดินส่วนหนึ่งมาจากพวกตาตาร์ ได้ด้วยการสนับสนุนของฮังการี (คือตอนนั้นฮังการีกับออตโตมันกำลังแข่งกันขยายอำนาจ) โดยดรากอสได้ตั้ง “รัฐมอลดาเวีย” หรือ “มอลโดวา” ขึ้นมา
อนึ่ง ประวัติศาสตร์ตรงจุดนี้มีหลายเวอร์ชั่น บางเวอร์ชันจะเล่าว่าดรากอสเป็นแค่ขุนนางฮังการีเชื้อชาติวลาชที่มาล่าสัตว์บริเวณนั้น แล้วเห็นว่าเมืองมีชัยภูมิดี คือมีภูเขาคาร์ปาเธียนอยู่ทางทิศตะวันตก ตะวันออกเป็นแม่น้ำดนิสเตอร์ ทางใต้มีแม่น้ำดานูบและทะเลดำ จึงขอกษัตริย์ฮังการีมาสร้างเมือง แล้วพาชาววลาชมาตั้งถิ่นฐาน
นอกจากมอลดาเวีย ชาววลาชยังมีรัฐอื่นๆ ในบริเวณนั้นอีก เช่น วัลลาเชีย และทรานซิลเวเนีย พวกเขาถูกรุกรานโดยพวกออตโตมันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปรากฏมีวีรบุรุษมาสู้รบเพื่อบ้านเมืองหลายคน เช่น เจ้าชายวลาดที่ 3 หรือ “ท่านเคาท์แดรกคูล่า” แห่งวัลลาเชีย ซึ่งใช้ความเหี้ยมโหดจัดการกับศัตรู จนมีผู้ร่ำลือว่าเป็นผีดิบกินคน
มอลดาเวียเองมี “กษัตริย์สเตฟาน” เป็นผู้กล้าในการสงครามกับออตโตมันเกือบตลอดรัชกาล (1457 – 1504) จนสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ทัสที่ 4 เฉลิมพระนามให้ว่าเป็น “ตัวแทนแห่งพระคริสต์” และได้รับการเรียกขานเป็นมหาราชหลังสิ้นพระชนม์
…แม้ทั้งมอลดาเวีย วัลลาเชีย และทรานซิลเวเนียจะถูกออตโตมันเข้าครองอำนาจช่วงศตวรรษที่ 16 แต่ก็ยังมีอำนาจปกครองตัวเองอยู่พอควร ความที่สามรัฐนี้มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน ต่อมาเมื่อเกิดลัทธิชาตินิยมขึ้น จึงเกิดความชาตินิยมไปในแนวทางเดียวกันด้วย
เวลาผ่านไปถึงศตวรรษที่ 19 ประเทศยิ่งใหญ่สองแห่ง ได้แก่ “อาณาจักรออตโตมัน” ของชาวเติร์ก และ “จักรวรรดิรัสเซีย” ตีชิงเมืองต่างๆ ในภูมิภาคไปได้เป็นอันมาก โดยพื้นที่ฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำดนิสเตอร์เป็นสมรภูมิสำคัญที่ผลัดเปลี่ยนมือระหว่างออตโตมันและรัสเซียอยู่เสมอ
จนถึงปี 1812 ทั้งสองฝ่ายก็ตัดสินใจเจรจาสงบศึก เซ็นสัญญา “ข้อตกลงบูคาเรสต์” แบ่งพื้นที่กัน ข้อตกลงนี้ทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นของมอลดาเวีย ตั้งแต่ทางตะวันตกของแม่น้ำดนิสเตอร์ถึงแม่น้ำพรูตกลายเป็นพื้นที่ของรัสเซียชื่อว่า “เบสซาราเบีย” ซึ่งจะกลายมาเป็นมอลโดวาในภายภาคหน้า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รัสเซียกับออตโตมันยังสู้รบกันไม่ขาด
การกวาดล้างชาวยิว
ในสงครามรัสเซีย-ออตโตมันปี 1856 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัสเซีย มอลดาเวียและวัลลาเชียสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง และนำไปสู่การตั้งรัฐโรมาเนีย (Principalities of Romania) ขึ้นในปี 1862 ซึ่งต่อมาชาติมหาอำนาจในยุโรปอื่นๆ จะรับรองยกระดับโรมาเนียจากราชรัฐ (ปกครองโดยเจ้าชาย) เป็นราชอาณาจักร (ปกครองโดยกษัตริย์) ในปี 1881
อย่างไรก็ตาม เบสซาราเบียยังอยู่ในการครอบครองของรัสเซีย และช่วงที่โรมาเนียกำลังเจริญนั้น ดินแดนนี้ก็กำลังอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งภายใน
…เล่าย้อนช่วงปลายศตวรรษที่ 18 รัสเซียไปตีโปแลนด์มาได้ และในดินแดนแห่งนั้น มีประชากร “ยิว” มาก
แม้ช่วงนั้นนโปเลียนจะจุดประกายให้ชาติอื่นๆ ปลดปล่อยยิว (จากที่เคยถูกชาวยุโรปกดขี่มานับพันปี) แต่รัสเซียก็ยังมีความกลัวยิวอยู่มาก เลยกดขี่ข่มเหงต่างๆ
จนเรื่องราวมาถึงจุดวิกฤติ เมื่อเกิดเหตุพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองแห่งรัสเซียถูกลอบสังหารในปี 1881
ซาร์คนนี้ปฏิรูปรัสเซียหลายประการจึงเป็นคนที่ประชาชนรักมาก และเมื่อพวกเขาพบว่าหนึ่งในกลุ่มฆาตกรที่สังหารพระเจ้าซาร์เป็นยิว ประชาชนจึงทุ่มเทความแค้นไปยังยิวทั้งปวงในประเทศ …รวมทั้งที่เบสซาราเบียด้วย
จริงๆ ดินแดนแห่งนี้มีประวัติชิงชังชาวยิวมาก่อน หนังสือพิมพ์ที่คินิชิเนฟเมืองหลวงของเบสซาราเบีย มีการตีพิมพ์ข้อความโฆษณาชวนเชื่อเรื่องยิวควรถูกกำจัดอยู่เสมอ เมื่อเกิดคดีรุนแรงอะไรขึ้น ก็มักจะโทษคนยิว เช่น มีเด็กสาวคนหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย ถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลของชาวยิวแล้วไม่รอด คนก็โทษกันว่า ยิวฆ่าเด็กเอาเลือดไปบูชาซาตาน
สถานการณ์ถึงจุดแตกหักในวันที่ 6 เมษายน 1903 เมื่อบาทหลวงคริสต์นำขบวนผู้คนออกไล่ล่าคนต่างศาสนา พวกเขาต่างกู่ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “ฆ่าพวกยิว!”
ตอนนั้นมีชาวยิวเสียชีวิต 47-49 คน (บางแห่งบอกว่าอาจสูงถึง 120 คน) บาดเจ็บสาหัส 92 คน บาดเจ็บเล็กน้อยอีก 500 คน บ้านของชาวยิวถูกทำลายไป 700 หลัง ร้านรวงอีก 600 แห่งโดนปล้นสดมภ์ โดยเจ้าหน้าที่ไม่มาห้ามปรามแม้แต่น้อย
ความวุ่นวายนี้เป็นการกวาดล้างใหญ่ แบบที่เรียกว่า “โพกรม” (Pogrom) โดยรัสเซียออกมายอมรับว่ามีเหตุสลดเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นอาชญากรรมทางเชื้อชาติ หากแต่เป็นการต่อต้านเจ้าหนี้ของประชาชนต่างหาก (ชาวยิวมักทำงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน เพราะสมัยหนึ่งศาสนจักรห้ามคนคริสต์ “ให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ย” และมอบอาชีพนี้ให้ชาวยิวแทน)
อนึ่งในยุคนั้น ทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซียเกิดการโพกรมไปราว 600 ครั้ง และในคินิชิเนฟก็ยังเกิดโพกรมขึ้นอีกรอบในปี 1905 มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บอีก 56 คน ซึ่งก็มีแต่เพียงคนยิวที่ปกป้องกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเหลียวแลตามเคย
ว่ากันว่าการโพกรมที่คินิชิเนฟนี้เอง คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ชาวยิวกว่าครึ่ง (จากที่ตอนนั้นมีอยู่ราวๆ 5 ล้านคน) พากันหลบหนีออกนอกประเทศ
บางคนไปอเมริกา บางคนก็ไปร่วมกับขบวนการไซออนิสต์ของ ธีโอดอร์ เฮิร์ซล์ ที่หมายสร้างแผ่นดินอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและอาหรับจนยุคปัจจุบัน
ยุคคอมมิวนิสต์
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดุเดือด ปี 1917 รัสเซียได้เกิดการปฏิวัติโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่พยายามขึ้นเป็นใหญ่
ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจภายในรัสเซีย ประเทศอ่อนแอ เมืองที่เคยได้มาสมัยจักรวรรดิก็แตกกระจัดกระจาย โรมาเนียจึงไปนำเบสซาราเบียแยกกลับมาได้ ซึ่งตามที่บอกไปว่าเบสซาราเบียคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมอลโดวาปัจจุบันนี่เอง
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ประเทศมอลโดวาแยกจากประเทศโรมาเนียในปัจจุบันทั้งที่ร่วมรากวัฒนธรรมกันคือ เมื่อความวุ่นวายในรัสเซียสิ้นสุดลง พวกโซเวียตที่เกิดใหม่ก็เร่งตีส่วนที่แตกออกไปก่อนหน้านี้กลับหาตน และใช้วิธีการ “เคลม” หน้าด้านๆ เข้าสู้
กล่าวคือ โซเวียตสร้าง “สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองมอลโดวา” ขึ้นมาบน “ติ่ง” ติดแถวด้านตะวันออกของแม่น้ำดนิสเตอร์ (ติ่งดังกล่าวเป็นของยูเครน ไม่ได้เป็นโรมาเนียหรือมอลโดวามาก่อน ประชากรส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย/ยูเครนอยู่แล้ว)
…การแยกติ่งนี้และตั้งชื่อมันว่า “มอลโดวา” ทั้งที่ไม่ใช่มอลโดวาตามประวัติศาสตร์ก็เพื่อใช้เป็นฐานเตรียมการในการเคลมดินแดนมอลดาเวียฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนั่นเอง…
ล่วงถึงปี 1939 นาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตลงนาม “สัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป” มีเนื้อหาว่าไม่สู้รบ เป็นนัยว่าจะทำการแบ่งยุโรปตะวันออกกัน เหตุนี้โรมาเนียเลยโดนสองอิทธิพลกดดัน จำต้องยกเบสซาราเบียให้โซเวียตไป
โซเวียตได้เบสซาราเบียแล้วก็เอาส่วนหนึ่งไปมอบให้ยูเครน จากนั้นรวมพื้นที่ส่วนใหญ่เข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองมอลโดวาเดิม ก่อตั้งเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลดาเวีย” หรือก็คือพื้นที่มอลโดวาในปัจจุบันนั่นเอง
ยุคนั้นโซเวียตมักปกครองมอลโดวาด้วยการกดขี่ ผู้นำโซเวียตคือ “โจเซฟ สตาลิน” ที่ขึ้นชื่อด้านความโหดนั้น มีนโยบายส่งผู้ต่อต้านขึ้นรถไฟไปใช้แรงงานในแดนห่างไกลจำพวกคาซัคสถาน, ไซบีเรีย ฯลฯ เป็นอันมาก และได้ส่งชาวมอลโดวาไปเป็นอันมากด้วย
ต่อมาโซเวียตยังพยายามกลืนชาติมอลโดวาโดยเลิกใช้ภาษาโรมาเนีย หันมาใช้ภาษารัสเซียและตัวอักษรซิริลิค ทั้งผลักดันให้ชาวสลาฟ (หมายถึงชาวรัสเซียหรือเผ่าใกล้เคียง) ได้รับตำแหน่งสูงๆ ในราชการ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนที่มีชาวสลาฟมาก ซึ่งก็คือ “ส่วนติ่ง” ด้านตะวันออกนั่นแหละ พื้นที่ตรงนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทรานส์นิสเตรีย” ดินแดนที่ไม่มีอยู่จริง
ศักราชใหม่
ปี 1985 พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตมีผู้นำคนใหม่คือ “มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ” เขาพยายามปฏิรูปโซเวียตให้ทัดเทียมโลกเสรีแต่ไม่สำเร็จ เศรษฐกิจถึงครามตกต่ำ ประชาชนจึงพากันต่อต้านอิทธิพลโซเวียตที่อยู่ในรัฐของตน …รวมไปถึงมอลโดวาด้วย
รัฐบาลมอลโดวานำภาษารัสเซียออกจากภาษาราชการ และยกเลิกการใช้ตัวอักษรซิริลิค ทั้งประกาศตนเป็นเอกราชในวันที่ 16 สิงหาคม 1990 หลังเกิดการปฏิวัติในโซเวียต แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับทำให้เกิดความวุ่นวายสองอย่างคือ:
1) คนตรงติ่งทรานส์นิสเตรียซึ่งยังมีใจรักศรัทธาในโซเวียตไม่ยอมรับจึงก่อสงครามกลางเมืองขึ้น
2) ชาวกากาอุซ ซึ่งมีเชื้อสายเติร์ก จำนวนราว 125,000 คนในมอลโดวา ได้อาศัยความวุ่นวายดังกล่าว ประกาศแยกตัวเป็น “สาธารณรัฐกากาอุซ”
ยังไม่จบ ลากยาวไปอีกเกือบปี จนตกลงหยุดยิงกันได้ในวันที่ 21 กรกฎาคม 1992 โดยบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีของรัสเซีย (ซึ่งรับช่วงเขตอิทธิพลเก่าของโซเวียตมาดูแลด้วย) ได้เซ็นสัญญากับ มีร์เซีย สเนกูร์ ประธานาธิบดีมอลโดวาด้วยตนเอง
ใจความของสัญญามีว่า จะให้มีกองกำลังรักษาความสงบของรัสเซียและมอลโดวา (+ทรานส์นิสเตรีย) เรียกว่า Joint Control Commission อยู่ในดินแดนดังกล่าวระยะหนึ่ง …แล้วเดี๋ยวรัสเซียก็จะออกไป …ซึ่งผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่รัสเซียก็ยังอยู่ ทำให้ดินแดนแห่งนี้ยังเป็นดินแดนพิพาทจนปัจจุบัน
ทางด้านกากาอุซนั้น มีร์เซีย สเนกูร์ ได้อนุญาตให้ชาวกากาอุซตั้ง “เขตปกครองตนเองกากาเซีย” ได้ในปี 1994 และชาวกากาอุซยอมรับ เรื่องจึงจบลงโดยไม่ต้องใช้กำลัง
มอลโดวาในปัจจุบัน
จากข้อมูลธนาคารโลกในปี 2018 มอลโดวามี GDP 11.31 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไทยมี 504.99 ล้านเหรียญสหรัฐ) ถือเป็นหนึ่งในชาติยุโรปที่ “จน” ที่สุด แต่ก็ถือว่าดีกว่าตอนที่แยกประเทศออกมาใหม่ๆ ซึ่งทำให้มอลโดวาอยู่ในจุดต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line คือ รายได้น้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน/ต่อวัน) ตั้งแต่ 1992 – 2001
อุตสาหกรรมหลักของมอลโดวาคือการทำเกษตร ปุ๋ยเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และขุดแร่ ส่งออกอัญมณี อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนมากจริงๆ ของมอลโดวากลับมาจากการที่ประชาชนไปทำงานในรัสเซียแล้วส่งเงินกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่ามอลโดวายังต้องพึ่งพารัสเซียระดับหนึ่ง
กระนั้นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของมอลโดวา “ไมอา ซานดู” ก็มีแนวทางโปรยุโรป (และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศด้วย)
เมืองหลวงของมอลโดวามีชื่อว่า “คิชิเนา” (ชื่อเก่าคือคินิชิเนฟ เป็นเมืองเดียวกับด้านบน) เป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศ
จุดเด่นของเมืองคือ “อนุสาวรีย์กษัตริย์สเตฟานมหาราช” ผู้ปกป้องมอลดาเวียจากศัตรู
นอกจากนี้ยังมี “ประตูชัยคิชิเนา” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์พระคริสตสมภพ เป็นซุ้มประตูก่อสร้างเสร็จในปี 1840 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่จักรวรรดิรัสเซียสามารถชนะสงครามกับออตโตมันในสงครามปี 1828-1829
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเมืองคือ “อนุสรณ์เหตุสังหารหมู่ยิวคิชิเนฟโพกรม” ซึ่งสร้างระลึกเหตุการณ์ที่มีการฆ่า ทำร้าย ข่มขืนกระทำชำเราและทำลายบ้านเรือนของชาวยิว จนเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้กระแสเรียกร้องให้มีการตั้งประเทศอิสราเอลรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอนุสรณ์ต่อเหยื่อการกดขี่ของสตาลินชื่อ “ทางรถไฟแห่งความเจ็บปวด” (Train of Pain) ซึ่งเชื่อกันว่าในช่วงที่ดำเนินนโยบายกดขี่ระหว่างปี 1940 ถึง 1951 มีชาวมอลโดวาได้รับผลกระทบถึง 46,000 คน
ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากอนุสรณ์เหยื่อความรุนแรงแล้ว ยังมี “อนุสรณ์เปลวไฟนิรันดร์” (Eternity Memorial Complex) ซึ่งไว้รำลึกถึงทหารโซเวียตที่เสียชีวิตในแนวรบด้านตะวันออกในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะด้านที่รบกับเยอรมนีและโรมาเนีย
และ “พิพิธภัณฑ์ทหารคิชิเนา” ซึ่งเก็บรักษาวัตถุทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางทหารและศิลปะของประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงร่วมสมัย มีการจัดแสดงทั้งอาวุธ เสื้อผ้า ยุทธภัณฑ์ และเครื่องอิสริยาภรณ์ โดยเน้นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต
ไฮไลต์อีกหนึ่งอย่างคือ “โรงละครสัตว์ของรัฐคิชิเนา” ก่อสร้างขึ้นในปี 1981 ถือเป็นโรงละครสัตว์แถวหน้าที่ทันสมัยมากในเวลานั้น มีความจุถึง 1,900 ที่นั่ง ในช่วงพีคเคยมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตในสถานที่นี้ถึง 19 ครั้งในรอบปี
อย่างไรก็ตาม หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณมาจัดละครสัตว์อีก งานจึงหายไปช่วงหนึ่ง จนกลับมาเปิดบางส่วนในปี 2014
นอกจากนี้ หากออกไปจากคิชิเนาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะมีเมืองชื่อ “ฮินเซสติ” เป็นที่ตั้งของ “คฤหาสน์มานุค เบย์” (Mansion of Manuc Bey) คฤหาสน์ของคหบดีและนักการทูตเชื้อสายอาร์เมเนีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสงบศึกในสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียและออตโตมันในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นอีกหนึ่งที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไฮไลต์ของประเทศนี้
ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศ
ตามที่บอกไปว่า ในปัจจุบันมอลโดวา มี “ประเทศ” ที่ทับซ้อนภายในนั้นอีกสองแห่ง คือ “ทรานส์นิสเตรีย” และ “กากาเซีย
“ทรานส์นิสเตรีย” หรือดินแดนโซเวียตแห่งสุดท้าย ปัจจุบันปกครองด้วยประธานาธิบดีของตนเอง ทั้งมีกองทัพ ตำรวจ สกุลเงิน และทะเบียนรถของตนเองด้วย นอกจากนั้นยังมีรัฐธรรมนูญ ธง เพลงชาติ (ซึ่งก็ยังคงความคอมมิวนิสต์ไว้เต็มเปี่ยม)
เมืองหลวงของทรานส์นิสเตรียมีชื่อว่า “กรุงติราสปอล” กล่าวขานกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็นเมืองย้อนยุค เพราะมีสถานปัตยกรรมโซเวียตอยู่มาก
เมืองนี้มีการจัดพิธีสำคัญในวันที่ 2 กันยายนของทุกปีซึ่งถือเป็น “วันชาติทรานส์นิสเตรีย” (Transnistria National Day) โดยมักจะมีพิธีสวนสนามสไตล์โซเวียตอันยิ่งใหญ่
อีกเมืองสำคัญของทรานส์นิสเตรียมีชื่อว่า “ริบนิตซา” (Rîbnița) เป็นเมืองทางเหนือ อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียจากการแบ่งดินแดนของอาณาจักรโปแลนด์ – ลิทัวเนีย มีจุดเด่นคือ “ซากบังเกอร์นิวเคลียร์” จากยุคสหภาพโซเวียต สร้างขึ้นจากโครงการลับสุดยอดในปี 1985 ระหว่างสงครามเย็น
บังเกอร์นี้ถูกสร้างให้ทนทานต่อระเบิดปรมาณู มีความลึกถึง 12 ชั้น แต่ปัจจุบันถูกทิ้งร้าง… สภาพก็… ก็เหมือนอยู่ในหนังไซไฟยุคโลกล่มสลาย
ส่วนกากาเซียมีเมืองหลวงชื่อ “คอมรัต” (Comrat) มี “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์วิทยากากาอุซ” (Gagauz Museum of History And Ethnography) จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกากาอุซ
นอกจากนี้ ในเมืองชาดิร์ลุนกา (Ceadir – Lunga) ยังมี “สนามบินร้าง” เป็นสนามบินโซเวียตเก่าที่ถูกทิ้งร้างในยุคสงครามโลก ให้ผู้มาเยือนสามารถเยี่ยมชมได้
นี่เองก็เป็นเรื่องราวของประเทศหนึ่งในยุโรปที่ยากจนทางการเงิน ทว่าร่ำรวยยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ทั้งมีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศแปลกประหลาดอื่นๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ ทำให้น่าค้นหาเป็นอย่างยิ่ง
0 Comment