สุภาษิตกรีกโบราณมีอยู่ว่า “ความจริงคือเหยื่อรายแรกของสงคราม”
ในวิกฤตยูเครนนี้ย่อมมีสงครามข่าวสารซึ่งทำให้เราจะแยกข่าวจริงออกจากข่าวได้ยาก บทความนี้เจตนาเขียนขึ้นเพื่อให้ทุกท่านรู้เท่าทันสื่อทั้งสองฝ่าย ตลอดจนการใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของใคร รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่ครับ
สื่อรัสเซีย: “จริงคือเท็จ เท็จคือจริง”
ในวิกฤตยูเครน สื่อรัสเซียพยายามเสนอข่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือจะเรียกว่า “ธีม” ก็ว่าได้
ธีมแรก คือ “ยูเครนเป็นพวกโปรนาซี”
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปจากเมื่อการปฏิวัติยูโรไมดานปี 2014 มีกลุ่มชาตินิยมยูเครนขวาจัดจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการต่อต้านอดีตประธานาธิบดียานูโควิชที่ฝักใฝ่รัสเซีย
แน่นอนว่าพวกนี้ร่วมการประท้วงจริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกนี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ โดยในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2019 พวกขวาจัดได้เสียงไม่ถึง 5% ของทั้งประเทศ และไม่มีที่นั่งในสภาเลยแม้แต่คนเดียว
ดังนั้นการบอกว่ายูเครนเป็นพวกโปรนาซี จึงเป็น “การเหมารวม” ดื้อๆ ไม่รวมว่าคำว่า “นาซี” ถูกเชื่อมโยงกับความรุนแรง ความป่าเถื่อน หรือความไร้เหตุผล เป็นต้น เท่ากับว่ายูเครนไม่สมควรเจรจาดีๆ ด้วย นี่จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก (ถ้าไปกล่าวหาใครว่าเป็นนาซีมั่วๆ ในสังคมตะวันตก นี่เป็นเรื่องเลยนะครับ)
นอกจากนั้นทางการรัสเซียยังประโคมข่าวต่อไปว่ายูเครนเป็นรัฐล้มเหลวและอ่อนแอ สังคมเป็นทุรยศเกิดจลาจล เป็นหุ่นเชิดของตะวันตกและต่อต้านรัสเซีย และน่าสนใจว่า รัสเซียดูเหมือนจะจัดลำดับศัตรูของประเทศ พบว่า ยูเครนเป็นศัตรูอันดับ 2 รองจากอเมริกาเท่านั้น!
ในสุนทรพจน์วันที่ 25 ก.พ. 2022 ปูตินย้ำอีกว่าเป้าหมายของปฏิบัติการในยูเครนเป็นไปเพื่อขจัดนาซี (denazification) โดยโยงคำว่า “นาซี” กับการบูลลี่ (bullying)
สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ นาซีเป็นอุดมการณ์ขวาจัดอย่างหนึ่ง ที่มีลักษณะเด่นๆ ต่อไปนี้:
1. เน้นเรื่องชาตินิยมถึงขั้นที่ว่าต้องการรวบรวมคนเชื้อชาติเดียวกันให้มาอยู่ในประเทศเดียวกัน
2. เชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ ลำดับศักดิ์ของเชื้อชาติ มองว่าเชื้อชาติของตนคืออารยันเป็นเชื้อชาติที่สมควรได้ปกครองผู้อื่น ส่วนเชื้อชาติที่ต่ำต้อยลงมาสมควรตกเป็นทาส (เช่น สลาฟ) หรือควรถูกกำจัด (เช่น ยิว)
3. เชื่อว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม (อันเป็นการตีความความหมายของคำว่า “สังคมนิยม” ไม่ใช่ความหมายในเรื่องความเสมอภาคทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป)
4. เชื่อในลัทธิทหารและการขยายดินแดน
ปูตินจึงถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าพยายามป้ายสียูเครนมั่วซั่ว ทั้งที่ยูเครนมีประธานาธิบดีเป็นยิว และพวกขวาจัดไม่มีบทบาทเด่นชัดในสังคมเลย
ธีมที่ 2 ประเทศยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ปูตินเคยแสดงออกหลายครั้งว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นการแยกยูเครนออกจากรัสเซียจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
ในชั้นหลังปูตินยังเสริมอีกว่า ยูเครนเป็นประเทศเพิ่งเกิดใหม่ หรือกล่าวให้ชัด เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัสเซียเท่านั้น
อันนี้เป็นคำกล่าวอ้างที่ละเลยความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ จริงละ ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเคลมได้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เหมือนบรรพบุรุษที่พูดภาษาไท ในอดีตก็ได้แตกออกเป็นคนไทย ชนชาติไท (สิบสองปันนา) ไทใหญ่ ลาว หรืออาหมในปัจจุบัน เป็นต้น
ส่วนเรื่องการนับว่ารัฐยูเครนพึ่งถูกสร้างขึ้นในยุคโซเวียต ก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ คือยูเครนเคยมีรัฐของชาวคอสแซ็กซึ่งถูกเคยถูกรัสเซียยุคพระเจ้าซาร์แผ่อิทธิพลใส่ หรือเมื่อรัฐยูเครนเกิดขึ้นอีกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ถูกกองทัพแดงจากรัสเซียบุกตี
ถ้าจะบอกว่าก่อนหน้าโซเวียตนั้น ไม่มียูเครนอยู่จริง แล้วทำไมรัสเซียต้องยกทัพไปยึดยูเครนในทั้งสองโอกาสนี้?
ธีมที่ 3 คือ รัฐบาลยูเครนเลวมาก! เลวขนาดไหน ก็ถึงขี้นที่ว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียทางตะวันออกของประเทศอย่างไรล่ะ …ดังนั้นรัสเซียจะต้องเข้าไปช่วยเหลือคนชาติตัวเองในพื้นที่เพื่อหยุด “การสังหารหฤโหด”!
แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามคำของปูตินนั้น มีหน้าตาหรือรายละเอียดอย่างไร เท่าที่ผมลองค้นดูก็ไม่มีอธิบายในสื่อไหนๆ เลย มีแต่ข่าวทางการรัสเซียเตรียมเปิดการ “สอบสวน” หลุมศพหมู่ 5 แห่งในดอนบัสซึ่งค้นพบเมื่อปี 2021 (ช่วงนั้นรัสเซียเริ่มสะสมกำลังตามชายแดนยูเครนแล้ว)
ทั้งนี้เมื่อปี 2014 องค์การนิรโทษกรรมสากลเคยออกมาพูดถึงหลุมศพหมู่จำนวนหนึ่งในดอนบัสว่า ใช่ มันมีหลุมศพหมู่จริง แต่มันเป็นการประหารชีวิตแบบรวบรัดที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และบางกรณีก็เป็นอาชญากรรมสงคราม จึงยังไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าปูตินจะบอกว่าทางตะวันออกของยูเครนมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริง สู้เอาเวลาไปประกาศว่าสิ่งที่สตาลินทำต่อยูเครนในเหตุการณ์ “โฮโลโดมอร์” ที่มีการบังคับยึดเอาผลผลิตการเกษตรจากชาวยูเครน จนมีคนยูเครนอดอยากตายไปหลายล้านคนเมื่อปี 1932-1933 จนสัดส่วนประชากรในพื้นที่ผิดเพี้ยนไปหมด เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดีกว่าไหม?
เมื่อหงายการ์ดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ออกมา สิ่งเกิดตามมาก็คือ “การส่งทหารเข้าไปหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แม้ฟังแล้วจะดูดี แต่ข้ออ้างปกป้องคนชาติตัวเองในพื้นที่ประเทศอื่นนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่พบเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์ แต่ละเรื่องดูไม่จืดทั้งนั้น
อย่างเมื่อปี 1938 นาซีเยอรมนีประกาศจะเข้าไปในซูเตเดนแลนด์ของเชโกสโลวาเกีย เพื่อปกป้องชาวเยอรมันที่นั่น มันจบลงด้วยการบังคับเอาดินแดนดังกล่าวมา ตามมาด้วยการบุกเชโกสโลวาเกียทั้งประเทศในปี 1939
หรือในปี 1939 เมื่อเยอรมนีประกาศว่าจะทวงคืนเสรีนครดันซิกมาจากโปแลนด์เพื่อปกป้องชาวเยอรมันที่นั่น สุดท้ายเรื่องนี้บานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2
อีกประเด็นหนึ่งคือ เนื่องจากในยุคสมัยใหม่ไม่ยอมรับการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตแล้ว เหตุผลที่ชอบธรรมในการก่อสงครามจึงมักเป็น “การป้องกันตัวเอง” หรือ “การตอบโต้ภัยที่ใกล้จะถึง”
เพื่อการนี้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “false-flag operation” หรือการจัดฉากโบ้ยความผิดนั่นเอง ในห้วงวิกฤตยูเครน เราพบเห็นสิ่งเหล่านี้แล้วในสื่อ เช่น
1) การบอกว่ายูเครนยิงปืนใหญ่ในใส่โรงเรียนอนุบาลในดอนบัส
2) ข่าว “ทางการดอนบัส” ประกาศอพยพคนเข้าสู่ยูเครนเพื่อความปลอดภัย หลังอ้างว่ายูเครนเตรียมบุกหนัก
3) คลิปที่ออกมาว่ารัสเซียสามารถจับตัวคนร้ายชาวยูเครนที่แฝงตัวเตรียมก่อเหตุบางอย่างได้
ข่าวเหล่านี้จะเป็นข้ออ้างในการให้รัสเซียส่งกำลังเข้าไปเพื่อ “รักษาสันติภาพ”
นี่ก็เทียบได้กับกรณีไกลวิทช์ (Gleiwitz) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนเยอรมนี-โปแลนด์ ในเหตุการณ์นั้นนาซีเยอรมนีจัดฉากว่าตัวเองถูกโปแลนด์โจมตี จนอ้างเป็นเหตุบุกโปแลนด์ในปี 1939 หรือข่าวเรื่องอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงที่สหรัฐอ้างเป็นเหตุบุกอิรักในปี 2003
และหลังจากรัสเซียยกระดับเป็นปฏิบัติการเต็มรูปแบบแล้ว ยิ่งต้องระวังข่าวที่มีลักษณะป้ายสีให้จงดี มีความเป็นไปได้ว่าถ้ารัสเซียอยากยกระดับของสงครามให้หนักขึ้นหรือเลี้ยงความขัดแย้งให้อยู่ยาวๆ สื่อรัสเซียอาจลงข่าวบางอย่างเพื่อโฆษณาความชั่วร้ายของทัพยูเครน เป็นต้นว่าอาจจะอ้างการโจมตีพลเรือน, การทำทารุณ หรือการทำผิดอาชญากรรมสงคราม เพื่อให้รัสเซียดูมีความชอบธรรมมากขึ้น
ในปี 2022 มีข่าวว่ามีกลุ่มที่คอย “แหก” โฆษณาชวนเชื่อจากฝั่งรัสเซียและ “ประเทศเกิดใหม่ 2 ประเทศ” ทางตะวันออกของยูเครนแบบเรียลไทม์ ด้วยการเช็ก metadata ของไฟล์เพื่อดูว่าวันที่อัปโหลดกับวันที่ลงข่าวเป็นอย่างไร เป็นอันว่าถ้าท่านมีความรู้ความสามารถในทางคอมพิวเตอร์ก็อาจจะใช้เทคนิคนี้ประกอบการตัดสินใจเสพสื่อนะครับ
นอกจากธีมการรายงานข่าวช่วงวิกฤตยูเครนแล้ว สื่อของรัสเซียยังมีข้อควรพิจารณาต่อไปดังนี้:
1) สื่อรัสเซียส่วนใหญ่มีรัฐคุมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียทูเดย์, สปุตนิกนิวส์, ตาส (Tass) และแชนแนลวัน
ในปี 2013 ปูตินตั้งให้ดมิทรี คิเซลยอฟ เป็นบรรณาธิการของรัสเซียทูเดย์ เขาผู้นี้ค่อนหัวข้างรุนแรง และเอียงชาตินิยม เคยประกาศว่า รัสเซียสามารถเปลี่ยนอเมริกาให้เป็น “เถ้าธุลีกัมมันตรังสี” (คือจะยิงนิวเคลียร์ใส่)
อีกด้านหนึ่งสื่ออิสระของรัสเซียทยอยหายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาร์ไอเอโนวอสติ (RIA Novosti), โดจด์ (Dozhd) หรือ Lenta.ru …ดังนั้นเราควรต้องบอกตัวเองด้วยทุกครั้งว่าข่าวจากช่องรัสเซียแทบทั้งหมดนั้นได้รับความเห็นชอบจากทางการรัสเซียก่อนออกอากาศเผยแพร่
สิ่งที่นำมาเสนอก็มีตั้งแต่การยกเสียงลือเสียงเล่าอ้าง บล็อกนิรนาม รายการที่จัดฉาก ไปจนถึงคำพูดที่ตัดมาเฉพาะบางส่วน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2014 สื่อของรัฐรัสเซียออกข่าวผู้ลี้ภัยคนหนึ่งอ้างว่าลูกชาย 3 ขวบของเธอถูกทหารยูเครนฆ่า ข่าวนี้ต่อมาจะได้ชื่อเรียกว่า “เด็กที่ถูกตรึงกางเขน” แต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐาน และสื่อของรัสเซียเองก็ลบออกเองทีหลัง
หรือในช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ชายแดนโปแลนด์-เบลารุส ก็มีการออกคลิปคุณภาพต่ำกล่าวหาว่าทหารยูเครนยิงผู้ลี้ภัย โดยอ้างแหล่งข่าวท้องถิ่น อย่างไรก็ตามทหารและสำนักข่าวท้องถิ่นที่ถูกอ้างเป็น “แหล่งข่าว” กลับโวยว่าตัวเองถูกแฮ็ก!
ยังมีบทวิเคราะห์ด้วยว่าหลังการเปิดปฏิบัติการในยูเครน ปูตินจะต้องควบคุมสื่อในประเทศอย่างดีไม่ให้มีภาพความสูญเสียของทหารรัสเซีย หรือภาพครอบครัวทหารร่ำไห้กับศพ เพื่อไม่ให้กระแสสังคมในรัสเซียเองตีกลับ นอกจากนี้ปูตินยังต้องควบคุมการแสดงออกในประเทศอย่างเข้มข้น นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 ยังมีการจับกุมผู้ประท้วงต่อต้านสงครามหลักร้อยคน
2) เมื่อติดตามสื่อรัสเซีย ให้พึงระลึกถึงคอนเซ็ปต์ที่มีชื่อว่า whataboutism ซึ่งใช้มาตั้งแต่ยุคโซเวียตจนเลื่องลือ
ใจความของมัน คือ เวลาที่โซเวียตหรือรัสเซียถูกกล่าวหาอะไรจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน โซเวียตหรือรัสเซียจะโต้กลับ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลนะครับ …ตอบกลับว่า “แล้วชาติตะวันตกล่ะ? ในบ้านตัวเองจัดการเรียบร้อยดีแล้วหรือ?” (ปกติก็มักจะเล่นเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนต่างสีผิว หรือในสมัยใหม่หน่อยก็พูดถึงประเด็น woke ในอเมริกา) …ถ้าเป็นสำนวนไทยก็จะประมาณว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
เมื่อตะวันตกถูก “กระชากหน้ากาก” ออกมา (ไม่ว่ารัสเซียจะผิดด้วยเหมือนกันหรือเปล่า) ก็จะมีคนบางส่วนพร้อมที่จะเชื่อรัสเซียแทนตะวันตก อาจเป็นเพราะบางคนเคยคิดว่าตัวเอง “หลงเชื่อ” ตะวันตกมาก่อน แล้วได้รัสเซียมาช่วยทำให้ “ตาสว่าง” ดังนั้นต่อจากนี้ไปจะขอเชื่อรัสเซียแทนแล้วกัน!
…แต่ท่านผู้อ่านสังเกตอะไรไหมครับ? เวลารัสเซียบอกว่าตะวันตกว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง มันก็หมายความว่า รัสเซียเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าชาติตะวันตกสิ
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้บอกว่าสื่อตะวันตกดีนะครับ เพียงสื่อรัสเซียจะชอบมาแนว whataboutism แบบนี้
สื่อตะวันตก: “เด็กเลี้ยงแกะ”?
สื่อตะวันตกเองเคย “บ้ง” ครั้งใหญ่มาแล้วในสงครามอิรักปี 2003 ซึ่งมีการรายงานข่าวอ้างหน่วยข่าวกรองว่าซัดดัมมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) และพร้อมโจมตีอเมริกา ทำให้มีการส่งกองทัพไปบุกอิรักโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันภัยดังกล่าว
หลังจากเข้าไปหลายปีแล้วก็ยังไม่พบอาวุธ สิ่งนี้ทำให้ตะวันตกเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือมาก ดังนั้นในคราวนี้ถ้าคนจะเคลือบแคลงเจตนาหรือมองว่าเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
ในรอบนี้ที่สื่อตะวันตกประโคมข่าวกันหนักมากว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างรัสเซียและยูเครนขึ้น แม้มันจะเป็นข้อมูลที่ “ไม่ผิด” อย่างที่มีผลพิสูจน์ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีจุดประสงค์แอบแฝง ผมขอวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเจตนาสื่อตะวันตกต่างๆ ไว้ดังนี้
ข้อแรก สื่อต่างๆ อาจกำลังช่วยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
การปล่อยข่าวว่ารัสเซียกำลังเตรียมบุกยูเครนอาจมองได้ว่าเป็นการขยับตัวล่วงหน้า ก่อนที่รัสเซียจะใช้ “สงครามไฮบริด” สร้างแนวบรรยาย (narrative) ของตัวเองขึ้นมา หรือก็คือตะวันตกจะขอเป็นฝ่ายเริ่มเกมบุกในสงครามโฆษณาชวนเชื่อบ้าง
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้นจึงเห็นการออกข่าวแบบนี้ย่อมเป็นเพื่อเน้นย้ำความจำเป็นของการใช้มาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิต
ซึ่งเป็นไปได้อยู่ว่า ถ้าตะวันตกได้รับความชอบธรรมในการออกโรงในวิกฤตครั้งนี้ ก็อาจจะสามารถถือ “อาณัติ” ดังกล่าวไปใช้กับที่อื่นด้วย เช่น ในการแข่งขันกับจีนที่กำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลตะวันตกเล่นบท “ตำรวจโลก” นั้น ก็อาจเป็นพวกนายทุนคนรวยที่ต้องการเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ในประเทศอื่น เมื่อมีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน หรือการเข้าไปเอาทรัพยากรและแรงงานราคาถูก
ข้อสอง สื่ออาจต้องการพยุงความนิยมของรัฐบาล
สื่ออาจกำลังต้องการเบี่ยงเบนประเด็นบางอย่างซึ่งส่งผลต่อความนิยมของรัฐบาลที่ตนกำลังสนับสนุนอยู่ก็ได้ เพราะในช่วงนี้ผู้นำตะวันตกหลายประเทศกำลังประสบปัญหาที่ทำให้ความนิยมตกต่ำกันถ้วนหน้า
อย่างในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กำลังถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องการละเมิดกฎของตัวเองที่ไม่ให้สังสรรค์กันในช่วงโควิด สื่อสายอนุรักษนิยมที่เชียร์รัฐบาลอาจจะชูประเด็นยูเครนมาทำให้ประชาชนหันความสนใจไปที่เรื่องอื่น หรือในสหรัฐ การแบ่งขั้วระหว่างพวกอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมกำลังสุดโต่งมากขึ้นทุกทีๆ
วิกฤตยูเครนยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์ที่ดีของประเทศ ในการหาแรงสนับสนุนจากชาวโลก การพูดจาขึงขัง และขู่ผู้นำ “เผด็จการฉาวโฉ่” ว่าตนพร้อมจะลงโทษอย่างหนักถ้าตัดสินใจบุก ในแง่นี้ถ้าผลออกมาว่าปูตินไม่สั่งบุกจริง ทั้งจอห์นสันและ โจ ไบเดน ก็จะได้เครดิตว่าสามารถทำให้ปูตินยอมถอยได้ รวมทั้งประธานาธิบดี แอมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสก็จะใช้ภาพที่ตนไปเจรจากับปูตินมาเคลมได้ว่าตัวเองเจรจาจนระงับข้อพิพาทสำเร็จ
แต่เมื่อการบุกยูเครนมาถึงแล้ว ผู้นำตะวันตกต่างๆ ที่เคยขู่อะไรไว้ ก็ต้องจับตาดูแล้วว่าจะทำตามที่พูดไหม และจะกดดันอะไรรัสเซียอย่างที่หวังไว้ได้หรือไม่? ไม่อย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นข้อโจมตีตัวเองด้วยเหมือนกัน
ข้อสาม “ขายข่าว” เหตุผลข้อนี้ไม่ต้องอาศัยตรรกะที่ซับซ้อน สื่อตะวันตกไม่ใช่องค์การการกุศล สิ่งที่พวกเขาทำจะต้องพยายามขายสื่อ หาโฆษณา ทำทุกอย่างเพื่อกำไร
ธรรมดาของคน มักจะสนใจข่าวที่เน้นอารมณ์ร่วมและมีการถกเถียง (controversial) รวมถึงวัฏจักรของข่าว ข่าวเก่าไป เดี๋ยวข่าวใหม่ก็มา บางข่าวถึงจุดพีค แปบเดียวก็ดับไป ส่วนบางข่าวก็ขายได้นานหน่อย ซึ่งวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ก็คงจัดอยู่ในกลุ่มหลัง
แน่นอนว่าการรายงานของสื่อเอกชนทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข้างเดียว การบอกความจริงไม่หมด หรือการปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาดื้อๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ที่ตนพยายามผลักดัน
อย่างในสหรัฐ สื่อฝ่ายเสรีนิยมหลักๆ จะมี ซีเอ็นเอ็น, นิวยอร์กไทมส์ หรือ วอชิงตันโพสต์ ส่วนสื่อฝ่ายอนุรักษนิยม จะมี ฟ็อกซ์นิวส์ หรือ นิวยอร์กโพสต์ ที่ผ่านมาสื่อเลือกข้างบางสื่อก็ตกเป็นกรณีอื้อฉาวมาแล้วเพราะนำเสนอเรื่องข่าวเท็จเพื่อป่าวประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง เรื่องพวกนี้ รู้ไว้ใช่ว่านะครับ
เรื่องการนำเสนอของสื่อจึงยังเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ เพราะสื่อเอกชนหรือสื่อของรัฐก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันนั่นเอง หากเป็นสื่อที่รัฐบาลอุดหนุนอย่างวอยซ์ออฟอเมริกาหรือบีบีซี ก็จะทำให้สื่อต้องพึ่งพาเงินรัฐ และทำให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาควบคุมโครงสร้างและการนำเสนอ และถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดแตกหักกัน ก็จะทำให้สื่อเหล่านั้นขาดรายได้ สรุปว่าถ้าอยากได้เงินรัฐบาล ก็ต้องถูกสั่ง ไม่มีอิสระของตัวเอง
สรุปแนวทางการเสพสื่อ
จากที่ผมได้ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าการเสพสื่อฝ่ายใดก็มีโอกาสที่จะได้รับข่าวเท็จหรือโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อใดๆ จะเชื่อถือไม่ได้เลย ท่านผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณของตนประกอบการเสพสื่อ เพื่อสกัดเอาสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นความจริงออกมาให้ได้มากที่สุด
ผมยังมีแนวทางที่จะเสนอให้ทุกท่านรับไว้พิจารณา ดังนี้:
1) เลือกเสพสื่อที่มีประวัติค่อนข้างน่าเชื่อถือ: นั่นคือ สื่อที่ “โป๊ะ” ไม่บ่อย หรือมีแหล่งข่าวชัดเจน อันนี้เป็นหลักพื้นฐาน
2) หาข่าวจากหลายๆ สื่อเทียบกัน: ถ้าสื่อเขียนตรงกันก็มี “ความเป็นไปได้สูง” ว่าจะจริง ทั้งนี้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละสื่ออาจแตกต่างกันไปได้ แต่โดยรวมแล้วแก่นหลักๆ ของเรื่องน่าจะเชื่อถือได้ (แต่ก็พึงระวึงกรณีที่สื่อหลายสื่อโกหกพร้อมๆ กันนะครับ ก็เป็นไปได้อยู่) หรือถึงไม่มีสื่อใดกล่าวไว้ตรงกัน การเสพสื่อหลายๆ สื่อก็จะทำให้ท่านพอเห็นภาพมุมมองความเป็นไปได้หลายๆ ทาง แล้วท่านค่อยพิจารณาเอาทีหลังว่าฝั่งไหนน่าเชื่อถือก็ยังได้
3) แยกข้อเท็จจริง (fact) ออกจากความเห็น (opinion) ให้เป็น:
เดี๋ยวนี้สื่อส่วนใหญ่มักจะ “เบลอ” ความแตกต่างระหว่างสองอย่างนี้ทำให้คนเกิดความสับสน สิ่งใดที่เป็นความคิดเห็น บทวิเคราะห์ มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เป็นการคาดการณ์ตามประสบการณ์ของผู้เขียนเฉยๆ พึงระวังสื่อประเภทที่เอาความเห็นมานำเสนอเป็นความจริงให้มาก เพราะมักจะทำให้ไขว้เขวได้บ่อย
4) คาดเดาเจตนาหรือวาระซ่อนเร้นของสื่อให้ปรุโปร่ง: สื่อของใคร ก็ทำเพื่อประโยชน์ของคนนั้น สื่อของรัฐย่อมจะต้องออกข่าวที่ทำให้รัฐบาลดูดี หรือถ้าสื่อไหนมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคลากรหรือโครงสร้างจนน่าผิดสังเกต ก็เป็นสิ่งที่ควรระวังเอาไว้ เพราะอาจจะนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียวเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง
บทส่งท้าย
ตอนที่ผมเริ่มต้นเขียนเรื่องนี้ ปฏิบัติการของรัสเซียยังไม่เริ่ม แต่เมื่อมีปฏิบัติการบุกเต็มรูปแบบ ความจริงจะเป็นสิ่งที่หายากขึ้น โฆษณาชวนเชื่อและข่าวเท็จจะหลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย
ไม่ว่าท่านจะมีความเห็นอย่างใดในวิกฤตยูเครนรอบนี้ ผมยังเชื่ออยู่ว่าท่านที่ติดตามข่าวการเมืองและข่าวต่างประเทศย่อมอยากได้รับข่าวสารที่เป็นความจริง มากกว่าสิ่งที่เป็นเท็จ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องพยายามเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของใคร
…อย่าให้ความจริงถูกทำร้ายมากกว่านี้เลย…
0 Comment