วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ลงนามรับรองเขตโดเนตสก์และลูฮันสก์ให้เป็นประเทศเอกราช ก่อนจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเขาไปในพื้นที่ ซึ่งตามหลักทั้งพฤตินัยและนิตินัย นี่คือการที่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครน!
การกระทำที่อุกอาจนี้ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่ามันจะทำให้ รัสเซีย และพันธมิตรตะวันตก แสดงอำนาจใส่กันจนอาจบานปลายกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก หรือไปได้ถึงเป็นสงครามใหญ่ ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่รัสเซียเคยถล่มจอร์เจียจนย่อยยับในปี 2008…!
แต่อย่าลืมว่ายูเครนนั้นใหญ่กว่าจอร์เจียมาก …ทำให้ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งนั้นจะต้องส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางแน่นอน
ในบทความนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปย้อนดูจุดเริ่มต้น, ทำความรู้จักกับ โดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ สองประเทศใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นแบบใหม่แกะกล่อง, วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด, ตลอดจนอธิบายสถานการณ์แบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ไปติดตามกันเลยครับ!
โดเนตสก์ และ ลูฮันสก์
ก่อนที่เราจะเข้าสู่การวิเคราะห์ ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับดินแดน “โดเนตสก์” และ “ลูฮันสก์” ซึ่งเป็นดินแดนของยูเครน แต่เพิ่งกลายสถานะเป็นประเทศอิสระสดๆ ร้อนๆ ด้วยการรับรองของประธานาธิบดีปูติน…
โดเนตสก์และลูฮันสก์นั้น อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศยูเครน ติดกับรัสเซีย โดเนตสก์มีพื้นที่ 8,902 ตารางกิโลเมตร (ประมาณศรีสะเกษ) มีคนอยู่ราวสองล้านคน ลูฮันสก์มีพื้นที่ 8,377 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าร้อยเอ็ดนิดหน่อย) มีประชากรเกือบๆ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นพวกโปรรัสเซียเสียมาก
ทั้งสองรวมกันเรียกว่า “ภูมิภาคดอนบัส” (Donbas) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Donetskii ugolnyi bassein หรือ Donets Coal Basin แปลตรงตัวว่า “อ่างถ่านหินโดเนตสห์”
…ก็ตามชื่อนะครับสองเมืองนี้มีเหมืองถ่านหิน และแร่เหล็ก เป็นทรัพยาการสำคัญ นอกจากนี้โดเนตสก์ยังมีสโมรสรฟุตบอลชัคตาร์โดเนตสก์ (Shakhtar Donetsk) ที่โด่งดังจากการคว้าถ้วยยูฟ่าในปี 2009
ประวัติความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต้องย้อนกลับไปยัง “การปฏิวัติยูโรไมดาน” ที่ทำเพื่อขับไล่ประธานาธิบดียูเครน “วิคเตอร์ ยานูโควิช” (ซึ่งเป็นฝ่ายโปรรัสเซีย) ลงจากตำแหน่งในปี 2014
ยานูโควิชหนีออกจากประเทศไปขอความช่วยเหลือจากปูติน ซึ่งปูตินถือว่ายูโรไมดานเป็นการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเชื่อว่าเกิดจากการแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก จึงไม่รับรองรัฐบาลใหม่ของยูเครน
…และตามสเต็ป “ใครตามปูเดิ้น ใครขวางปูด้อง” ปูตินได้เริ่มทำสงครามกับยูเครน โดยส่งกองกำลังเข้าผนวกไครเมียซึ่งตอนนั้นเป็นของยูเครน …จากนั้นจึงลงประชามติและประกาศผนวกดินแดนไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย!
กองทัพยูเครนตอบโต้อะไรไม่ได้ เพราะขาดแคลนอาวุธทันสมัย ทั้งบางส่วนก็เลือกแปรพักตร์ไปอยู่กับฝ่ายรัสเซียเสียเอง (ชาวรัสเซียกับยูเครนพูดภาษาตระกูลเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานาน แต่แตกกันเมื่อโซเวียตล่มสลาย จึงไม่แปลกที่ยังมีชาวยูเครนจำนวนมากอินกับความเป็นรัสเซีย)
ถึงแม้รัฐบาลยูเครนจะพยายามเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลัง รวมถึงขอให้ชาติตะวันตกเข้ามาแสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยยูเครน แต่ด้วย “กฎของกำลัง” นั้นก็ทำให้ส่วนใหญ่ทำแค่ประณาม มิได้ยื่นมือเข้ามายุ่งกับวิกฤตครั้งนี้ เพราะกลัวอำนาจรัสเซีย
นอกเหนือจากการผนวกไครเมียแล้ว ปูตินยังให้การสนับสนุนให้ประชาชนโปรรัสเซียในจังหวัดโดเนตสก์และลูฮันสก์ให้ลุกขึ้นก่อกบฏต่อต้านยูเครน ด้วยการส่งที่ปรึกษาทางทหาร, หน่วยปฏิบัติการพิเศษ, และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองมายังพื้นที่พิพาท รวมทั้งระดมกำลังนับหมื่นมาตรึงพื้นที่ชายแดน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และสงครามข้ามชาติระหว่างประเทศยูเครน-รัสเซีย ตั้งแต่ปี 2014 นั้น
…เชื่อว่าความช่วยเหลือของรัสเซียทำให้กองกำลังฝ่ายกบฎแข็งแกร่งขึ้นเป็นอันมาก และสามารถเอาชนะกองทัพยูเครนได้ในหลายสมรภูมิ (รัสเซียปฏิเสธการรู้เห็นมาตลอด แต่ก็นะ…)
Minsk Protocol
หลังสู้รบไประยะหนึ่ง ในเดือนกันยายน 2014 ก็มีการเจรจาเพื่อหาทางออกของสถานการณ์นี้ร่วมกันของทุกฝ่ายในพิธีสารกรุงมินสก์ (Minsk Protocol กรุงมินสก์อยู่ในเบลารุส) ซึ่งมีใจความสำคัญคือการยุติความขัดแย้งระหว่างคู่สงคราม, การยอมรับสถานะพิเศษของสองจังหวัดในดอนบัส, การให้ดอนบัสมีการปกครองตนเองระดับหนึ่ง โดยมีองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) สังเกตุการณ์
จากข้อเสนอทั้งหมดนี้จะเห็นว่ายูเครนเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก นอกจากเสียอำนาจแล้วยังต้องยอมให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลในพิ้นที่พิพาท แถมยุโรปก็กลายเป็นตัวประกอบ แต่สุดท้ายยูเครนก็ต้องยอมเพราะสู้ไม่ได้ โดยข้อตกลงมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี
…อย่างไรก็ตามการสู้รบยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับรัสเซียที่แผ่อิทธิพลแทรกแซงมาเพิ่มขึ้นทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ
ต่อมาในปี 2015 มีการเจรจาพิธีสารกรุงมินสก์ครั้งที่ 2 เพื่อหาข้อยุติการความขัดแย้งอีกรอบ ซึ่งจากการเจรจาในครั้งนี้ ส่งผลทั้งสองฝ่ายยอมถอนกำลังของตัวเอง อย่างไรก็ตามมีข้อมูลระบุว่า กลุ่มกบฏได้ละเมิดข้อตกลงอยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดการสู้รบประปรายตามบริเวณข้อพิพาท จนมีทหารและพลเรือนราว 150 รายเสียชีวิต จากการปะทะ
…อนึ่งการรบนี้ดำเนินมาถึงปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน 8 ปีที่ผ่านมา ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 14,000 คน…
สถานการณ์ปัจจุบัน
เรื่องกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในปลายปี 2021 เมื่อยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ปูตินเลยออกมาส่งสัญญาณเตือนนาโต้ว่า “รัสเซียจะไม่ยอมให้ฝ่ายตะวันตกสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์และการฝึกสอนกำลังพลยูเครน”
จากนั้นจึงดำเนินมาตรการตอบโต้ทางทหาร ส่งกำลังพลนับแสนนายจากทุกเหล่าทัพ พร้อมด้วยส่งยุทโธปกรณ์หนักไปตรึงกำลังบริเวณชายแดนรัสเซีย รวมถึงดินแดนไครเมียและดอสบาส และประเทศเบลารุส
ตรงนี้รัสเซียเน้นย้ำว่าสหรัฐกำลังทำผิดสัญญาซึ่งเคยให้ไว้กับประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ ในต้นยุค 1990s บอกว่าจะไม่ขยายอิทธิพลนาโต้มาในพื้นที่อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ขณะที่ทางสหรัฐตอบโต้ว่า “สัญญานั้นเกิดขึ้นในช่วงที่สหภาพโซเวียตและกลุ่มวอร์ซอแพคยังไม่ล่มสลาย ดังนั้นตอนนี้เมื่อโซเวียตล่มสลายก็ถือว่าจบสัญญาแล้ว”
…อย่างไรก็ตามทางนาโต้ยังยินดีเจรจาผ่านการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติ และขณะเดียวกันก็ย้ำว่า “ไม่มีนโยบายส่งทหารไปยังยูเครนหากเกิดสงคราม”…
จากนั้นเป็นต้นมาความตึงเครียดก็เพิ่มขึ้นมา จนมาถึงจุดเดือดในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อปูตินเซ็นรับรองโดเนตสก์และลูฮันสก์ให้เป็นประเทศเอกราช มีนามว่า “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์” ตามลำดับ
เมื่อเซ็นรับรองเอกราชนั้น ปูตินแถลงว่า “สำหรับรัสเซีย ยูเครนไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีความผูกพันการในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาน” ดังนั้นยูเครนกับรัสเซียจึงแยกจากกันไม่ได้ และการที่ฝ่ายตะวันตก (นำโดยอเมริกา) กล้าแผ่อิทธิพลมาถึงยูเครน ทำให้ต้องรบกัน ซึ่งหน่วยข่าวกรองตะวันตกพูดเหมือนกันว่ามันอาจจะยกระดับเป็นสงครามใหญ่ ที่มีการบุกตีถึงเมืองหลวงได้
แล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป? จะเกิดความวุ่นวายแบบไหนได้บ้าง? ชาติตะวันตกจะตอบโต้อย่างไร? จะเกิดสงครามใหญ่ขึ้นจริงไหม? เราจะมาวิเคราะห์ไปด้วยกันนะครับ
การตอบโต้จากตะวันตก
จากที่ผมเคยวิเคราะห์เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ จะมีลำดับความแรงคือ:
1. มีการเจรจาอีกครั้ง ยูเครนยอมเจรจาเสียเปรียบอีก
2. รัสเซียไม่ได้บุก แต่รับรองให้เอกราชฝ่ายโปรรัสเซียในดอนบัส ซึ่งจะทำให้เกิดประเทศใหม่
3. รัสเซียบุก แต่บุกแบบจำกัด คือตีเขตดอนบัสในส่วนที่รัฐบาลยูเครนปกครองและ/หรือตีโอเดสซาเพื่อปิดทางออกทางทะเลของยูเครน (ซึ่งข้อสามนี้ผมคิดว่าแรงที่สุดที่เป็นได้)
จะเห็นได้ว่าทางการรัสเซียดำเนินมาตรการมาถึงระดับที่สองคือ รับรองให้เอกราชฝ่ายโปรรัสเซียในดอนบัส ก่อนจะเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปบริเวณข้อพิพาทในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพ
มาตรการตอบโต้ของฝ่ายตะวันตก สามารถดำเนินไปในหลากหลายรูปแบบเช่นกันคือ:
1. การตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
2. การยกเลิกการนำเข้าพลังงาน
3. ทำสงครามตัวแทนกับฝ่ายกบฏโปรรัสเซีย
4. ทำสงครามเต็มรูปแบบ!
ซึ่งผมจะค่อยๆ ไล่เรียงไปทีละหัวข้อนะครับ
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ:
มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจถือเป็นการตอบโต้ขั้นแรกที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้เพื่อกดดันให้ประเทศคู่ขัดแย้งให้หันกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาหรือยอมลดทอนความแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายลง ในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน สิ่งนี้เป็น “สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว”
หลังการลงนามของปูติน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ได้ออกคำสั่งคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทันที โดยเจาะจงว่า “ห้ามชาวอเมริกันทำการลงทุน ค้าขาย หรือจัดหาเงินทุนใหม่ในรัฐอิสระใหม่ทั้งสอง”
เช่นเดียวกับประธานาธิบดี เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสผู้ออกมาแถลงว่า การเคลื่อนไหวของปูตินถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องพบกับมาตรการคว่ำบาตรของยุโรป และจะเรียกการคว่ำบาตรนี้ว่า “มาตรการคว่ำบาตรตามสัดส่วน”
สำหรับสหภาพยุโรปได้พิจารณาสกัดกั้นการส่งออกส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต่อรัสเซีย และแช่แข็งทรัพย์สินของบุคคลและบริษัทในเครือของรัฐบาลรัสเซีย
การคว่ำบาตรนี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งยุโรปและรัสเซียแย่ลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย
การคว่ำบาตรด้านพลังงาน:
มาตรการนี้จะเป็นการยกระดับความรุนแรงจากข้อก่อน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรปประกาศว่า อาจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรด้านการนำเข้าน้ำมันและแก๊สธรรมชาติของรัสเซียตาม “ความรุนแรงของการรุกราน”
อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงต่อการดำเนินมาตรการดังกล่าว เนื่องจากประเทศยุโรปยังคงพึ่งพาการนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียเป็นปริมาณกว่า 175,00 ล้านลูกบาสก์เมตรในปี 2021 คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของแก๊สที่ยุโรปนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงการอุปโภคในชีวิตประจำวันเพราะมีราคาถูก กว่าแหล่งอื่นๆ
ดังนั้น การคว่ำบาตรด้านพลังงานจึงเป็นทางเลือกที่อาจ “เข้าเนื้อ” เห็นได้ชัดเจนจากเยอรมนี หัวเรือใหญ่แห่งสหภาพยุโรปปฏิเสธการร่วมการคว่ำบาตรด้านพลังงาน หลังรัสเซียเข้ายึดครองไครเมียเมื่อปี 2014 และยืนยันจะเดินหน้าการก่อสร้างท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม 2 ที่เชื่อมระหว่างเยอรมนีและรัสเซียต่อไป
ทั้งนี้การที่ยุโรปซื้อแก๊สจากรัสเซียเป็นการพึ่งพาอาศัยแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคโซเวียต เพราะยุโรปต้องการแก๊สราคาถูกและรัสเซียต้องการเงิน
ที่ผ่านมาการซื้อขายนี้จะอยู่เหนือการเมือง จนกระทั่งถึงยุคปูตินที่นำสิ่งนี้มาเป็นอาวุธ โดยงดส่งแก๊สให้ประเทศยุโรปที่ขัดแย้งกับตน
หากยุโรปขาดแก๊สจากรัสเซีย อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับผลกระทบหนัก ไฟฟ้าจะขาดแคลน ขณะที่การนำเข้าแก๊สทดแทนจาก สหรัฐ, ตะวันออกกลาง, และแอฟริกาเหนือนั้น จะทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมมาก ผู้คนจะไม่พอใจรัฐบาล และอาจนำสู่การจลาจล
ขณะเดียวกันหากยุโรปไม่ซื้อแก๊สจากรัสเซียแล้ว รัสเซียก็หาตลาดอื่นที่จะขายแก๊สให้เสมอเหมือนยุโรปได้ยาก และจะต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล
การลดการส่งแก๊สยังอาจกระตุ้นให้ยุโรปหันไปพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานประเภทอื่นมาใช้แทน และทำให้แก๊สธรรมชาติลดความสำคัญลงในระยะยาว ซึ่งอาจนั่นจะทำให้รัสเซียมีวิกฤตใหญ่ (เพราะทุบหม้อข้าวตนเอง) แต่ประเด็นคือยุโรปมักเสียงแตกไม่ร่วมมือกันกดดันรัสเซีย หากประเทศนี้ไม่ซื้อ ประเทศอื่นก็ยังซื้อ ทำให้ที่ผ่านมากดดันรัสเซียไม่ค่อยได้
ซึ่งหากยุโรปก้าวข้ามสิ่งนี้ไม่ได้จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากรัสเซียยังมีเงินสำรองสำหรับรองรับการขาดรายได้ระยะสั้น
หากมีการคว่ำบาตรทางพลังงานขึ้น จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ในยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกหนักกว่าข้อ 1
การทำสงครามตัวแทน:
การให้เอกราชดอนบัสทำให้ทางเลือกของยูเครนมีเพียงการยอมให้รัสเซียแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาเรื่อยๆ แบบเดียวกับที่ฝ่ายจอร์เจียเคยประสบ หรือดำเนินการตอบโต้ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายแก่กองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซีย ซึ่งอาจบานปลายสู่การเผชิญหน้าเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียและยูเครนได้
ที่ผ่านมาฝ่ายตะวันตกนำโดยอเมริกาได้พยายามช่วยเหลือยูเครนโดยเน้นการสนับสนุนการฝึกทหาร และการส่งยุทโธปกรณ์ให้ ซึ่งส่วนมากยังเป็นอาวุธเบาเช่น จรวดต่อต้านรถถังรุ่น Javelin และจรวดประทับบ่าต่อต้านอากาศยานแบบ Stinger หรือยานพาหนะสำหรับสนุนการรบอย่าง เฮลิคอปเตอร์ Mi-17
ฝ่ายตะวันตกสามารถยกระดับความช่วยเหลือยูเครนได้อีกมาก เช่นการส่งอาวุธหนักให้ หรือการช่วยเหลือทางอากาศ ซึ่งการนี้จะทำให้ยูเครนลุกเป็นไฟ อาจเกิดสงครามกลางเมืองยาวนานเหมือนที่เกิดในซีเรีย
สิ่งนี้จะทำให้โลกเกิดวิกฤต และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในระดับต่อไป คือ…
การเผชิญหน้าทางทหารเต็มรูปแบบ!
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐและชาติพันธมิตรนาโต้คอยเสริมกำลังในดินแดนของตนด้วยการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร, ยานเกราะ, รวมทั้งเครื่องบินขับไล่จำนวนหนึ่งขึ้นไปวางกำลังในประเทศหน้าด่านอย่าง โปแลนด์, โรมาเนีย, และชาติบอลติกทั้ง 3 ประเทศ (เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทูเนีย) นับเป็นการเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์เพื่อแสดงให้ว่า “พวกเขาพร้อมปกป้องชาติสมาชิก หากเหตุการณ์ในยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น”
อย่างไรก็ตามหากความขัดแย้งดังกล่าวลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบจริง กองกำลังของนาโต้ที่วางกำลังอยู่บริเวณแนวป้องกันด้านตะวันออก จะกลายทหารกลุ่มแรกซึ่งทำหน้าที่เผชิญหน้ากับรัสเซีย เพื่อรอให้กำลังจากส่วนอื่นๆ เข้ามาเสริมทัพ
การสู้รบดังกล่าวอาจจะกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และส่งผลโดยตรงต่อสเถียรภาพด้านเศรษฐกิจ, สังคม, และความมั่นคงของรัสเซียและยุโรป
สิ่งนี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียหายอย่างมาก ดังนั้นการทำสงครามเต็มรูปแบบระหว่างทั้งสองขั้วอำนาจจึงแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
…แต่ธรรมดาการสงครามนั้นสองฝ่ายจะเบ่งตัวใส่กันหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งยอมหยุด หรือยอมแพ้
ซึ่งในการนี้ถ้าไม่มีใครยอมลงให้กันเลย ทั้งสองฝ่ายก็สามารถพาตัวเองและโลกส่วนอื่นๆ เข้าสู่ห้วงหายนะได้…
เปรียบเทียบความขัดแย้งรัสเซีย-จอร์เจียในปี 2008
การเดินเกมของประธานาธิบดีปูตินในครั้งนี้ คล้ายคลึงกับในช่วงขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัสเซียและจอร์เจียเมื่อปี 2008 ยิ่ง… ตอนนั้นจอร์เจียดำเนินนโยบายเดินเข้าหาตะวันตก รัสเซียเลยสนับสนุนประชากรโปรรัสเซียในพื้นที่พิพาทเขตเซาท์ออสซีเตียและอับคาเซียให้เข้ามามีบทบาทในการต่อสู้กับกองทัพฝ่ายรัฐบาล ก่อนที่จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพกว่า 2,500 นายเข้ามาควบคุมสถานการณ์
ต่อมาในเหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดการปะทะระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกบฏจนบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ โดยรัสเซียยกทัพกว่า 70,000 นายเข้ามายังจอร์เจียในวันที่ 8.08.2008 และสามารถเอาชนะกองทัพจอร์เจียที่อ่อนแอกว่ามากโดยใช้เวลาเพียง 5 วัน อย่างไรก็ตาม รัสเซียกลับไม่ได้เข้ายึดครองจอร์เจียทั้งหมด แต่เพียงให้การรองรับเซาท์ออสซีเตียและอับคาเซียเป็น “รัฐอิสระ”
…เหตุการณ์ดังกล่าวมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนอย่างมาก โดยเฉพาะการที่รัสเซียอาศัยจังหวะวุ่นวาย เข้ามาแทรกแทรงจนลุกลามกลายเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน…
อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างจอร์เจียและยูเครนคือ “ความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์” ที่ทางยูเครนมีเหนือกว่าจอร์เจียอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันดินแดนอันกว้างใหญ่ของยูเครนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้รัสเซียจำเป็นต้องเดินหมากอย่างรัดกุมและรอบคอบ เพราะมันจะไม่ง่ายเหมือนเคสจอร์เจียแน่นอน
เรื่องราวต่อจากนี้
ทั้งหมดต้องติดตามต่อไปว่า ชะตากรรมของยูเครนจะจบลงแบบไหน นานาชาติจะกดดันรัสเซียจนล่าถอย หรือประวัติศาสตร์ของจอร์เจียจะซ้ำรอย?
ขณะนี้หลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศปรากฎว่า รัสเซียเร่งเสริมส่วนสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามตามพื้นที่พรมแดนและขีปนาวุธระยะสั้น รวมถึงมีเคลื่อนย้ายกำลังพลจำนวนมากไปซ้อมรบตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งสามารถใช้เพื่อโจมตียูเครนได้
ยังไม่มีสัญญานใดๆ บอกว่าจะพวกเขาจะหยุดความรุนแรงกันที่ระดับนี้เลย…
แล้วคุณล่ะครับ มองสถานการณ์นี้ว่าอย่างไร?
0 Comment