อารยธรรมเปอร์เซีย หรืออิหร่านนั้น เป็นอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นต้นกำเนิดด้านศิลปวิทยาการที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งเช่นกัน แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าวมาไม่น้อย

ในบรรดาศิลปะเปอร์เซียสกุลต่าง ๆ นั้นต้องนับศิลปะอิสฟาฮานเป็นยุคทอง โดยอิสฟาฮานเป็นเมืองหลวงเก่าของอิหร่านเปรียบกับไทยก็คล้ายอยุธยา และศิลปะยุคอิสฟาฮานนั้นงามวิจิตรจนได้เมืองนี้ได้รับการขนานนามว่า “ครึ่งหนึ่งของโลก” แปลว่าความสวยงามครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ที่นี่ ส่วนอีกครึ่งนั้นไปหารเฉลี่ยในที่อื่น ๆ

บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปดูว่าความเป็นมาของศิลปะในอิสฟาฮานนั้นเป็นอย่างไร? และศิลปะอิสฟาฮานจะสวยงามขนาดไหน ไปตามดูกันครับ…

อิสฟาฮาน

อิสฟาฮาน เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอายุรวมกันถึง 1,800 ปี และเป็นเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์, ภาษา, วัฒนธรรม, และสังคม

เมืองนี้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศอิหร่าน มีประชากรที่อาศัยอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคนและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากเมืองเตหะรานและเมืองแมชแฮด ซึ่งอิสฟาฮานเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยคุณค่าด้านอารยธรรมเปอร์เซีย

ขอเล่าถึงอารยธรรมเปอร์เซียแบบเข้าใจก่อน… อายธรรมเปอร์เซีย มาจากชนเผ่าเปอร์เซียหรือกลุ่มชนที่ใช้ภาษาอินโด – ยูโรเปียน ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางเหนือของทะเลดำ ต่อมาได้ขยายอำนาจไปครอบครองอารยธรรมอื่น โดยสามารถขยายอิทธิพลไปดินแดนเอเชียตะวันออกกลาง เอเชียกลาง อินเดีย อียิปต์และแถบเมดิเตอร์เรเนียน

สำหรับเมืองอิสฟาฮานแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงสำคัญที่วิจิตรงดงามของจักรวรรดิเซลจุกและจักรวรรดิซาฟาวิดที่ยิ่งใหญ่ในอิหร่าน (ค.ศ. 1050 – 1722) ทำให้ในเมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยแหล่งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมสุดตระการตา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจนมีผู้คนมาเยี่ยมไม่ขาดสายตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนลาลับขอบฟ้า…

อิสฟาฮานมีฉายาว่า “เป็นครึ่งหนึ่งของโลก” ซึ่งมีสองความหมายคือ:

1. เมืองนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นทางสายไหม ที่เป็นเส้นทางการค้าสำคัญเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน
2. เมืองนี้งดงามมากจนความงามครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ที่นี่ (อีกครึ่งหนึ่งไปเฉลี่ยกันในหมู่เมือง อื่น ๆ ที่เหลือ)

เมืองอิสฟาฮานกับศิลปะอิสลาม

ศิลปะอิสลามในอิสฟาฮานรุ่งเรืองขึ้นมาในจักรวรรดิเซลจุก ซึ่งเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ขยายอำนาจมายังดินแดนเปอร์เซียแห่งนี้ และอิสฟาฮานกลายเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของเซลจุกใน ค.ศ.1051

เนื่องจากศาสนาอิสลามมีบัญญัติห้ามจำลองรูปสิ่งมีชีวิต อย่าง คนและสัตว์ ลวดลายจึงมักนิยมเขียนลวดลายเครือวัลย์ (Arebesque) ที่ประกอบไปด้วยใบไม้ และดอกไม้

นอกจากนั้นยังมีการประดิษฐ์ตัวอักษร โดยเฉพาะอักษรอาหรับตามคัมภีร์อัลกุรอานควบคู่กับการประดับด้วยรูปเรขาคณิต อย่างเช่น สี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม แทนภาพสิ่งมีชีวิต…

สิ่งก่อสร้างสำคัญในศิลปะอิสลามมักเป็นมัสยิด (ภาษาอาหรับ) หรือ สุเหร่า (ภาษามลายู)

องค์ประกอบของมัสยิดในอิสฟาฮานมักประกอบด้วย 4 ส่วนหลักอันได้แก่ มิห์รับ (Mirab), อีวาน (Iwan), โดม (Dome), และ มินาเรต (Minaret)….

มิห์รับ (Mirab) ภาษาไทยเรียกประชุมทิศเป็นซุ้มหรือช่องเว้าที่มักจะอยู่ส่วนท้ายของอาคารใช้เพื่อเป็นจุดรวมสายตาของผู้มาประกอบพิธี…

ที่นี่จะตั้งอยู่ตรงกลางกำแพงด้านหนึ่งในมัสยิดที่เรียกว่า “กำแพงกิบลัต” เป็นเครื่องหมายชี้ทางไปสู่ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในศาสนาอิสลามนามว่า กาบะห์ ณ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมุสลิมจะต้องทำละหมาดโดยหันหน้าไปทิศทางดังกล่าว

อีวาน (Iwan) คือกรอบซุ้มประตูที่มีลักษณะโค้งและเว้า เป็นเครื่องช่วยให้มัสยิดมีความสง่างามมากขึ้น

โดม (Dome) เป็นส่วนประกอบของหลังคาครึ่งวงกลม ซึ่งโดมนั้นมีรูปทรงหลากหลาย เช่นทรงหัวหอม ทรงกลีบมะเฟือง หรือทรงลูกฟูก เป็นต้น

และส่วนประกอบสุดท้ายของมัสยิดคือ มินาเรต หรือหออะซาน (Minaret) เป็นหอที่ใช้ส่งเสียงให้สัญญาณในการสวดมนต์

สถาปัตยกรรมในจักรวรรดิเซลจุก

มัสยิดจาเมห์ หรือมัสยิดวันศุกร์ เป็นมัสยิดที่ได้รับการออกแบบในสมัยจักรวรรดิเซลจุก โดยการสร้างมัสยิดจาเมห์นั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งของจักรวรรดิ

ลักษณะอันโดดเด่นของมัสยิดจาเมห์นั้น คือเป็นหลังคาทรงโดม 2 ชั้นแห่งแรกในอาณาจักรอิสลาม

อาคารภายในมัสยิดจาเมห์ถูกตกแต่งด้วยอิฐอบสีเทาสะอาดตา ที่มีการตกแต่งด้วยสไตล์ไฮโป (สไตล์ไฮโปเป็นการผสมผสานระหว่างเสาและซุ้มประตูเพื่อเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของห้องละหมาด)

มัสยิดจาเมห์นั้น ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกที่มีอีวาน ถึง 4 ประตู ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกที่มีอีวานประตูเยอะขนาดนี้

นอกจากนั้นมัสยิดแห่งนี้ยังประกอบด้วยหออะซานทั้ง 2 ข้าง และยังมีทางเดินแบบอาเขตอยู่ 2 ข้างมัสยิด (อาเขตหมายถึงซุ้มทางเดินยาวที่มีหลังคาคลุม และมีร้านค้าอยู่ตลอดทาง)

อิสฟาฮานกับจักรวรรดิซาฟาวิด

จักรวรรดิซาฟาวิด (1502 – 1736) ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอิสมาอิล ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอิหร่านมาอย่างยาวนานถึง 203 ปี จักรวรรดิซาฟาวิดนี้นับเป็นยุคทองของศิลปะ ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตนเป็นอย่างมาก

แต่เดิมเมืองหลวงของราชวงศ์ซาฟาวิดอยู่ที่เมืองกัซวิน แต่ในสมัยชาห์ อับบาสที่ 1 ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองอิสฟาฮาน ในค.ศ. 1590 การย้ายนี้ได้มีการพัฒนาศิลปะให้แตกต่างไปจากยุคราชวงศ์เซลจุกที่เคยปกครองก่อนหน้า…

พวกเขาสร้างจัตุรัส, มัสยิด, และมัดรอซะห์ (สถานศึกษา) แต่สมัยอับบาสที่ 1 นั้น พระองค์ต้องการสร้างความมั่งคั่ง โดยการพัฒนาคมนาคมในอิสฟาฮานเพื่อความสะดวกด้านการค้าและการส่งออก ทำให้อิสฟาฮานมีการสร้างสะพาน, ถนน, และที่พักกองคาราวานขึ้นมากมาย

นอกจากนี้ในสมัยของราชวงศ์ซาฟาวิด ชาวเปอร์เซียได้ทำการค้าขายไปทั่วโลกโดยได้แผ่ขยายไปถึงประเทศไทยด้วย

มีบันทึกว่าในปี 1602 นั้นมีพ่อค้าชาวเปอร์เซียเดินทางมาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา และในสมัยพระนารายณ์ได้ทรงคณะทูตเดินทางไปสานสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิเปอร์เซียโดยเข้าพบจักรพรรดิที่พระราชวังเชเฮลโซตุน จากนั้นทำให้เปอร์เซียเริ่มมีอิทธิพลต่อกรุงศรีอยุธยามากขึ้น ถึงชั้นที่เชื่อกันว่าผังเมืองลพบุรีซึ่งพระนารายณ์ใช้เป็นที่ประทับสำคัญนั้น ก็ได้รับอิทธิพลมาจากผังเมืองอิสฟาฮาน

พระนารายณ์ราชนิเวศในสมัยอยุธยา

จะขอกล่าวถึงศิลปะอิสฟาฮานที่ปรากฏอยู่ในที่ๆ เรามักไม่ค่อยนึกถึง …นั่นคือในประเทศไทยนั่นเอง

พระนารายณ์ราชนิเวศ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1856 (พ.ศ. 2209) เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ออกราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ลักษณะของสิ่งก่อสร้างในนารายณ์ราชนิเวศนั้นได้รับอิทธิพลมาจากยุคซาฟาวิด เช่น พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทมีผังสอดคล้องกับพระราชวังอะลีคาปูในอิสฟาฮาน โดยมีลักษณะเป็น ช่องสี่เหลี่ยมแบ่งซอยเป็นชั้น ๆ และมีการทำบันไดทางขึ้นสู่ตัวอาคารซึ่งมีความซับซ้อนกว่าสถาปัตยกรรมไทยในยุคนั้น รวมถึงภายในตัวอาคารมีการเจาะช่องหน้าต่างและประตูโค้งแหลมตามความสูงของผนัง ซึ่งเป็นลักษณะของซุ้มเปอร์เซีย

สถาปัตยกรรมในจักรวรรดิซาฟาวิด

อับบาสที่ 1 ได้พัฒนาเมืองอิสฟาฮานขึ้นเป็นอันมาก โดยได้สร้างมัสยิดทั้งหมด 162 แห่ง, สถานศึกษา 48 แห่ง, และโรงอาบน้ำ 282 แห่ง

ศูนย์กลางของเมืองอิสฟาฮานอยู่ที่จัตุรัสนักช์อี ญะฮัน หรือ อิหม่าม สแควร์ (Miadan-i-Naqsh-e Jahan) เป็นลานเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่มีขนาดถึง 510*165 เมตร จัตุรัสอเนกประสงค์นี้ใหญ่มากจนสามารถใช้เป็นสนามเล่นโปโล และสนามยิงธนูได้

จัตุรัสนักช์อี ญะฮัน มีสถานที่สำคัญอยู่รอบ ๆ จัตุรัสเป็นอันมาก ได้แก่ มัสยิดชาห์, มัสยิดชีคล๊อฟฟลูเลาะห์, วังอะลีคาปู, บาซาร์ (ตลาด) คีซารี, และพระราชวังเชเฮลโซตุน นอกจากนั้นชาห์ อับบาสที่ 1 ยังออกแบบแนวของจัตุรัสให้แตกต่างจากเมืองเก่า คือตัวจัตุรัสไม่ได้หันทางตรงสู่ทิศละหมาด

มัสยิดชาห์

“มัสยิดชาห์” (บ้างเรียกว่ามัสยิดอิหม่าม หรือมัสยิดหลวง) เป็นหนึ่งในมัสยิดที่สมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่มีการสร้างมัสยิดในอิหร่านมา โดยตัวอาคารของมัสยิดนั้นประกอบไปด้วยโดมหลัก 1 โดม, ห้องโถงอเนกประสงค์ 2 ห้อง, อีวาน 4 ประตู (อิทธิพลจากเซลจุก), หออะซาน 4 แห่ง, และมัดรอซะห์ (สถานศึกษา) 2 แห่ง

เมื่อประมาณ 400 ปีก่อนชาห์ อับบาสที่ 1 ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้างมัสยิดชาห์ขึ้น โดยกำหนดให้อาคารต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะและดูสะดุดตา

ผลคือมีการสร้างมัสยิดให้หันสู่ทิศละหมาด แต่สร้างประตูทางเข้าให้มีความลงตัวเป็นชุดเดียวกับจัตุรัสนักช์อี ญะฮัน

นักเขียนชาวอเมริกัน โดนัลด์ วิเบอร์สันนิษฐานกล่าวว่า “ชีคห์บาไฮ (สถาปนิกสำคัญ) ต้องการให้มัสยิดชาห์สามารถมองเห็นได้จากทุกที่ หากจัตุรัสมีทิศทางเดียวกันกับนครมักกะห์ จะทำให้ตัวมัสยิดถูกบดบัง…”

รียกได้ว่าในยุคชาห์ อับบาสที่ 1 เป็นยุคฟื้นฟูวิทยาของโดมเปอร์เซียเลยก็ได้เพราะพระองค์ทรงให้สร้างโดมทรงกลมที่ครอบคลุมไปด้วยกระเบื้องสีสันสดใส ซึ่งมัสยิดอิหม่ามใช้กระเบื้องโมเสกถึง 475,000 แผ่น โดยใช้วิธีการทำแบบ Half Rangi title หรือเทคนิคตัดกระเบื้องสีขาวดำให้เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ และนำมาประกอบกันในรูปแบบที่ซับซ้อน จากนั้นจึงเผาใส่สีเข้าไป (กรณีนี้ใส่ไปถึง 7 สี)

การประดับตกแต่งอีวานทางเข้ามัสยิดชาห์นั้นเป็นที่สะดุดตามาก โดยเฉพาะงานกระเบื้องหลากสีสันน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อคุณเดินทางเข้ามาในประตูอีวาน ให้เงยหน้ามองด้านบนซุ้มประตู คุณจะเห็นความสวยงามของสถาปัตยกรรมแบบรวงผึ้ง หรือที่เรียกว่า “มุก็อรนัศ”…

มุก็อรนัศนี้ได้รับความนิยมสำหรับประดับตกแต่งเป็นอย่างมาก โดยมักทำเป็นรูปแบบคล้ายเปลือกหอย หรือรวงผึ้ง สร้างให้มีความลื่นไหล สามารถชักนำให้คนไล่สายตาขึ้นมองตาม มุก็อรนัศอิสฟาฮานนั้นสวยงามมากนับเป็นเอกลักษณ์สุดประณีตอีกประการหนึ่ง

ตลอดแนวอีวานยังมีการสร้างลวดลายอักษรประดิษฐ์ เพื่อจารึกข้อความสำคัญในคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นลายตัวหนังสือสีขาวเขียนบนกระเบื้องสีน้ำเงินเข้ม มีความวิจิตรสวยงามมาก

มัสยิดชีคล๊อฟฟลูเลาะห์ 

มัสยิดชีคล๊อฟฟลูเฮาะห์สร้างขึ้นในปีเดียวกับจัตุรัสนักช์อี ญะฮัน แต่มัสยิดชีคล๊อฟฟลูเลาะห์นั้นใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทำให้มีขนาดเล็กกว่ามัสยิดชาห์

ศิลปะของมัสยิดชีคล๊อฟฟลูเลาะห์นั้น มีองค์ประกอบไม่แตกต่างจากมัสยิดอิหม่ามมากนัก เนื่องจากสร้างขึ้นในสมัยของชาห์ อับบาสที่ 1 เช่นเดียวกัน แต่เอกลักษณ์อันโดดเด่นของมัสยิดชีคล๊อฟฟลู-เลาะห์ คือโดมกลางที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเปอร์เซียนบลู และสีเหลือง เป็นโดมที่มีลวดลายละเอียดสวยงามเป็นอย่างมาก…

เมื่อยามที่แสงตกกระทบไปยังตรงกลางภายในโดมนั้น จะปรากฏความสวยงามประดุจนกยูงรำแพน แสดงให้เห็นถึงความละเอียดในการออกแบบสถาปัตยกรรม และการคำนวณเส้นทางแสงอันน่าทึ่งของเปอร์เซียโบราณ

พระราชวังอะลีคาปู

พระราชวังอะลีคาปูเป็นอาคารที่มีทั้งหมด 6 ชั้น ซึ่งเป็นที่ประทับของชาห์ อับบาสที่ 1 โดยใช้ไม้และอิฐในการก่อสร้าง แต่ละชั้นตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมสวยงาม ชั้น 4 นั้นเป็นที่ประทับชมกีฬาหรืองานพิธีต่าง ๆ ของราชวงศ์ และชั้น 6 นั้นตกแต่งเป็นห้องสำหรับฟังเพลงและเล่นดนตรี

พระราชวังเชเฮลโซตุน

พระราชวังเชเฮลโซตุน หรือชื่อแปลว่าพระราชวัง 40 เสา ถูกสร้างขึ้นในสมัยชาห์ อับบาสที่ 1 โดยใช้เป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์ และใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

แท้จริงแล้วพระราชวังแห่งนี้มีเพียง 20 เสา แต่คำว่า 40 ในภาษาเปอร์เซียแปลว่า “มาก” (เช่นเดียวกับคำว่าสิบสอง และร้อยเอ็ด ในภาษาไทย ที่ใช้แทนคำว่ามากเหมือนกัน เช่น สิบสองภาษา หรือร้อยเอ็ดนคร ซึ่งไม่ได้แปลว่ามีร้อยเอ็ดนครจริงๆ แต่หมายถึงมีนครจำนวนมาก) แต่บางกระแสก็ว่าเรียก 40 เสาเพราะนับรวมกับเงาที่กระทบบนผิวของสระน้ำด้านหน้าพระราชวัง ทำให้เกิดภาพเสมือนอันสวยงามสมดุลคล้ายพระราชวังมีถึง 40 เสา

ด้านในพระราชวังตกแต่งด้วยภาพเขียนสีเฟรสโกที่สมบูรณ์ที่สุดของอิหร่าน โดยเฉพาะภาพชาห์ อับบาสที่ 1 ในชุดฉลองพระองค์สีทองสง่างาม กำลังรับรองว่าลีมุฮัมหมัดข่านแห่งเติร์กเมนิสถาน

สะพานคาจู

สะพานคาจู เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญและเก่าแก่ของอิสฟาฮาน โดยสร้างขึ้นในสมัยชาห์ อับบาสที่ 2

สะพานแห่งนี้สร้างด้วยอิฐมีความยาวถึง 100 เมตร โดยจุดประสงค์การสร้างคือใช้ข้ามแม่น้ำซายันเด เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองอิสฟาฮานตอนเหนือและตอนใต้

ลักษณะของสะพานคาจูนั้นสร้างขึ้นทั้งหมด 2 ชั้น โดยมีการออกแบบอย่างสวยงามตามลักษณะศิลปะเปอร์เซีย คือมีซุ้มประตูมากมายตกแต่งด้วยลวดลายเครือวัลย์สีน้ำเงินและสีเหลือง สะพานแห่งนี้มีพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บนกึ่งกลางของชั้นที่ 2 ของสะพาน

ยามกลางคืนสะพานคาจูจะมีการเปิดไฟสวยงาม จึงมักมีชาวเมืองมานั่งพักผ่อนพูดคุยกันท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม

นอกจากสะพานคาจูจะสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรแล้วนั้น ยังเป็นเขื่อนขนาดย่อมของเมืองอิสฟาฮานด้วย

มหาวิหารแวงค์

มหาวิหารแวงค์ เป็นโบสถ์ของคริสตจักรอาร์มีเนียนออร์ทอดอกซ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางหมู่มัสยิดในอิสฟาฮาน

“มหาวิหารแวงค์” สร้างขึ้นเพื่อชาวอาร์มีเนียนที่ลี้ภัยจากสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน โดยได้รับการต้อนรับจากชาห์ อับบาสที่ 1 เป็นอย่างดี

ตอนแรกมหาวิหารแวงค์เป็นโบสถ์ขนาดเล็กก่อนจะมีการขยับขยาย จนกลายเป็น “มหาวิหารแวงค์” ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1664

สิ่งก่อสร้างในมหาวิหารแวงค์ประกอบด้วย หอระฆัง, ห้องสมุด, และ พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรมของอาคารนี้เป็นส่วนผสมของสไตล์ซาฟาวิดในศตวรรษที่ 17 ผสมผสานกับศิลปะแบบยุโรป ซึ่งที่มีซุ้มประตูสูงและมีโดมแบบเปอร์เซีย ทางเข้าหลักของโบสถ์เป็นประตูไม้ขนาดใหญ่ และมีจุดสังเกตคือนาฬิกานี้มีคำว่า Bangkok เขียนอยู่ด้วย เพราะนาฬิกาถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ

ตัวเพดานด้านในโบสถ์ตกแต่งด้วยลวดลายเครือวัลย์สะดุดตา และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซู

หัตถกรรมในอิสฟาฮาน

อิสฟาฮานไม่ได้มีเพียงสถาปัตยกรรมอันสุดวิจิตรเท่านั้น เมืองนี้ยังมีชื่อเสียงทางงานหัตถกรรมอีกด้วย ในที่นี้จะพูดถึง งานเคลือบ, การพิมพ์แบบปั้ม, งานแกะสลักโลหะ, และการทอพรม

งานเคลือบ หรือ การลงยา (Enameling) เป็นหนึ่งในศิลปะที่ได้รับความนิยมในอิสฟาฮาน การลงยานั้นใช้เทคนิคการแกะสลักลวดลายที่ต้องการลงบนผิวโลหะก่อน แล้วค่อยทำการลงยาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

การพิมพ์แบบปั๊ม (Qalamkari) เป็นการพิมพ์แบบลงบนผืนผ้า เช่น ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม, และผ้าลินิน ซึ่งการออกแบบลวดลายมักเป็นได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ภาพวรรณกรรมเปอร์เซียโบราณ, และบทกวี

งานแกะสลักโลหะ (Ghalamzani) หรืองานแกะสลักลวดลายต่างๆ ลงบนภาชนะโลหะเป็นงานที่มีความละเอียดละออเป็นอย่างมาก โดยภาชนะส่วนใหญ่จะเป็นประเภททอง, เงิน, และทองแดง

นอกจากนั้น “พรม” ก็เป็นหนึ่งในงานฝีมือที่ขาดไม่ได้ในเมืองอิสฟาฮาน เพราะชาห์ อับบาสที่ 1 ได้ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอพรมขึ้นมาเพื่อการส่งออก

อนึ่งชาห์ อับบาสที่ 1 ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนช่างทอพรมให้พัฒนาเทคนิคการดีไซน์ที่เป็นเลิศ เช่น การใช้เส้นใยไหมแซมด้วยด้ายเงิน – ด้ายทอง เกิดเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

สีสันบนพรมล้วนเกิดจากสีธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ รากไม้ หรือใบไม้ ทำให้เราเห็นว่าสีสันบนพรมมักไม่มีสีฉูดฉาดเกินไป

พรมเปอร์เซียแบบดั้งเดิมจะมีรูปแบบและเทคนิคการถักทอเฉพาะตระกูล เช่น ลายพรมตระกูลอะมอกรู (ตระกูลดีไซเนอร์ที่ผลิตพรมให้แก่ราชวงศ์และคนชั้นสูง) นอกจากนั้นการทอพรมยังมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละเมืองด้วย

ส่วนลวดลายบนพรมนั้นมักออกแบบเป็นลวดลายเครือวัลย์ โดยเฉพาะบนพื้นพรมสีครีมกับขอบพรมสีแดง – อิฐ ทั้งหมดนี้ทำให้พรมเปอร์เซียเป็นที่ยอมรับในโลกตะวันตก และเป็นต้นแบบของ พรมเปอร์เซียอันโด่งดังอย่างที่เรารับรู้จนปัจจุบัน

บทส่งท้าย

ศิลปะในอิสฟาฮาน ถือได้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง จนนับยุคอิสฟาฮานเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของเปอร์เซีย และผลผลิตจากเมืองนี้มีอิทธิพลต่อโลกมากมายทั้งในแง่ สถาปัตยกรรม ศิลปะ หัตถกรรม และแนวความคิด

ในลักษณะนี้อิสฟาฮานจึงเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต… ที่เต็มไปด้วยคุณค่าจากดินแดนเปอร์เซียซึ่งเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

นับเป็นความงามที่หาที่เปรียบมิได้และรอให้คุณได้มาสัมผัสความตระการตาเหล่านี้ด้วยตาของตัวเองสักครั้ง…