เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียได้เริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารต่อเป้าหมายในยูเครนอย่างเป็นทางการ จากนั้นเมืองใหญ่เกือบทั้งหมดของยูเครน รวมทั้งกรุงเคียฟเมืองหลวงของประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การโจมตีของฝ่ายรัสเซีย…
สงครามครั้งนี้จะรุนแรงขนาดไหน? ทั้งสองฝ่ายน่าจะใช้ยุทธวิธีอะไร? ฝ่ายตะวันตกจะตอบโต้อย่างไร? และเป้าหมายที่แท้จริงของรัสเซียคืออะไรกันแน่? บทความนี้จะพาทุกท่านไปติดตามครับ
เกิดอะไรขึ้นในยูเครน?
ภายหลังประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศอนุมัติ “ปฏิบัติการทางทหารแบบพิเศษ” เพื่อตอบโต้ความพยายามรุกรานสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์และโดเนตสก์ โดยมีการเปิดฉากโจมตีเมืองต่างๆของยูเครนด้วยอาวุธนานาชนิด อาทิ จรวดหลายลำกล้อง, ปืนใหญ่, รวมถึงขีปนาวุธระยะใกล้ จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
จากนั้นมีข่าวว่ามีการเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินเข้ารุกล้ำยูเครนจากหลายด้าน รวมทั้งพรมแดนประเทศเบลารุส
ปูตินกล่าวว่าเขาอนุญาตให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารหลังจากที่รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่น “นอกจากการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม และรัสเซียไม่สามารถรู้สึกปลอดภัย และดำรงอยู่ได้ด้วยภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องที่เล็ดลอดออกมาจากดินแดนของยูเครนยุคใหม่”
นอกจากนี้เขายังได้กล่าวอีกว่า “ความรับผิดชอบทั้งหมดสำหรับการนองเลือด อยู่ที่มโนธรรมของรัฐบาลยูเครน” พร้อมกับประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “ห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งครั้งนี้และรัสเซียพร้อมจะทำสงครามขนาดใหญ่หากถูกคุกคาม”
ในอีกด้านหนึ่งหากติดตามสารของปูตินมาตลอด จะเห็นว่าเขามีความโรแมนติกเกี่ยวกับการสร้างอาณาจักรรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง เขาเชื่อว่ายูเครนควรเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเคยบอกว่า “ยูเครนนั้นมิใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย แต่ความเกี่ยวข้องทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ อย่างมิอาจแบ่งแยกได้”
อนึ่งยูเครนกับรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานานก็จริง แต่ควรจะนับรวมกันหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและถกเถียงได้ อย่างไรก็ตามปูตินได้ใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในความขัดแย้งดังกล่าว
ยุทธวิธีของรัสเซีย
เมื่อตัดสินใจประกาศ “ปฏิบัติการทางทหารเฉพาะกิจ” กองทัพรัสเซียจึงเริ่มต้นการโจมตีแบบสายฟ้าแล่บ ตามหลักยุทธศาสตร์ทางทหารคือ “การทำลายเป้าหมายตามจุดยุทธศาสตร์ตามเมืองสำคัญต่างๆ” ด้วยการใช้อาวุธระยะไกลอย่างจรวดหลายลำกล้องและขีปนาวุธระยะสั้น ระดมยิงใส่เป้าหมายต่างๆ รวมทั้งสนามบินของฝ่ายยูเครนจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
จากนั้นรัสเซียทำการส่งอากาศยานเข้าโจมตีระบบเตือนภัยทางอากาศของยูเครน โดยยิงจรวดรุ่น KH-31P เข้าทำลายระบบเรดาร์และที่มั่นทางทหารตามเมืองต่างๆ เพื่อลดทอนศักยภาพการทำสงครามของคู่ขัดแย้ง
เมื่อภัยคุกคามจากระบบป้องกันภัยทางอากาศลดลง รัสเซียจึงทำการส่งกำลังภาคพื้นดินที่วางกำลังอยู่ตามพรมแดนรุกผ่านชายแดนเข้าสู่จุดยุทธศาสตร์สำคัญ
การรุกสำคัญที่มีข่าวมาแล้ว มีอาทิ:
1. การรุกผ่านด่านตรวจชายแดนยูเครนและเบลารุสที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครน โดยเข้าทางประเทศเบลารุส (ซึ่งสวามิภักดิ์รัสเซีย)
2. การส่งรถถังและยานเกราะข้ามชายแดนไปยังเมืองคาร์คิฟอันเป็นเมืองใหญ่ลำดับสองของประเทศ และเขตอุตสาหกรรมหนักอันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์จำนวนมากของยูเครน ซึ่งถ้ารัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่ดังกล่าวได้จะทำให้ศักยภาพการทำสงครามในระยะยาวของยูเครนลดลงไปเป็นอย่างมาก
3. การยกพลขึ้นบกที่เมืองโอเดสซ่าอันเป็นเมืองลำดับที่สามและทางออกสู่ทะเลดำของยูเครน พร้อมส่งพลร่มเข้ายึดดินแดนดังกล่าว (ข่าวส่วนนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน)
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้น มีความใกล้เคียงสงครามที่ปูตินเคยทำสั่งสอนจอร์เจียเมื่อปี 2008 เป็นอันมาก
ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันคือ ขีดความสามารถการประสานงานและความแม่นยำในการจัดการกับศัตรูของกองทัพรัสเซียนั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อนึ่งในปี 2008 นั้น รัสเซียโจมตีเมืองหลวงของจอร์เจียพอขู่ให้เห็นฤทธิ์ แล้วรามือไปโดยมิได้ยึด แต่ในครั้งนี้ยากคาดเดาว่าพวกเขาจะหยุดที่ตรงไหน มีการวิเคราะห์ว่าพวกเขาอาจจะยึดเมืองคาร์คิฟ และโอเดสซ่า ตลอดจนดินแดนภาคตะวันออกที่มีประชากรนิยมรัสเซียมากเอาไว้ เพื่อเป็นการสั่งสอนยูเครน
หากรัสเซียทำเช่นนั้นจริง ยูเครนที่เคยได้ชื่อว่า “ตะกร้าขนมปังของยุโรป” โดยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ จะได้รับความเสียหายเป็นอย่างหนัก และจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลดลงเป็นอย่างมาก
แนวรบตะวันออกที่เสียงปืนไม่เคยสงบลง
แม้ว่าปูตินจะใช้อำนาจรับรองสถานะของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์และโดเนตสก์ให้เป็น “รัฐอิสระ” พร้อมกับส่งกำลังเข้ามาปกป้องประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงก้าวแรกสู่สงครามที่ขยายตัวขึ้น
ข่าวฝ่ายรัสเซียรายงานว่า “มีทหารยูเครนหลายนายเสียชีวิตจากการต่อสู้กับกองกำลังของลูฮันส์” และสามารถยิงเครื่องบินไร้นักบินติดอาวุธรุ่น TB-2 ตกอย่างน้อย 2 เครื่อง ขณะที่ข่าวจากฝ่ายยูเครนรายงานแบบไม่เป็นทางการ ว่ากองพลน้อยที่ 53 ของยูเครนในพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกฝ่ายศัตรูล้อมเอาไว้ ส่งผลให้การรบในบริเวณดังกล่าวยังดำเนินต่อไป
ปฏิกริยาตอบโต้จากตะวันตก
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ กล่าวประณามการโจมตียูเครนของรัสเซีย และได้ต่อสายกับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อหารือมาตรการรับมือ โดยนายเซเลนสกีขอให้ไบเดนเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องให้บรรดาผู้นำโลกออกมาประณามต่อต้านการรุกรานโจมตีของรัสเซีย และอยู่เคียงข้างประชาชนชาวยูเครน
นอกจากนั้นไบเดนยังกล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (ค่ำ 24 ก.พ. ตามเวลาประเทศไทย) จะเข้าประชุมกับกลุ่มผู้นำ G7 และพันธมิตร เพื่อเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยไบเดนยืนยันว่าเขาจะยังคงสนับสนุนช่วยเหลือยูเครน และประชาชนชาวยูเครนต่อไป
ขณะเดียวกันสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการหารือของผู้นำสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในการประชุมฉุกเฉินวันนี้ เพื่อตอบโต้ต่อความรุนแรงที่ป่าเถื่อนของรัสเซีย
ภายหลังจากที่ปูติน ได้มีคำสั่งให้กองกำลังรัสเซียยิงขีปนาวุธใส่เมืองเคียฟ และอีกหลายเมืองในยูเครน นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน หัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ปูตินอาจเป็นต้นเหตุให้มีการเกิดสงครามขึ้นในยุโรป และเขาจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
สหภาพยุโรปจะลงโทษรัสเซีย โดยการคว่ำบาตรประการต่างๆ เช่นปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดที่สำคัญ และบั่นทอนฐานเศรษฐกิจของรัสเซีย และความสามารถในการปรับปรุงให้ทันสมัย ทั้งยังจะระงับสินทรัพย์ของรัสเซียในสหภาพยุโรป และห้ามธนาคารรัสเซียมิให้เข้าถึงตลาดการเงินยุโรป
อนึ่งสหภาพยุโรปอนุมัติการคว่ำบาตรรอบแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการขึ้นบัญชีดำนักการเมืองรัสเซีย และจำกัดการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับกบฏแบ่งแยกดินแดนทั้ง 2 รัฐที่ปูตินพึ่งเซ็นยอมรับเอกราช
การประชุมหารือของสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปเกี่ยวกับมาตรการใหม่ เพื่อตอบโต้การโจมตีในวันนี้นี้จะเริ่มในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 1900 GMT เพื่อดำเนินการจัดเตรียมความช่วยเหลือชุดใหม่แก่ยูเครน
นอกจากนั้นนาย โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศยังกล่าวว่าการหารือในครั้งนี้จะเป็น “การออกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดที่เราเคยดำเนินการมา …และนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำของรัสเซียจะต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน”
แนวทางตอบโต้ของยูเครน
ภายหลังการโจมตี รัฐบาลยูเครนได้ประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนจำนวนมากต่างตื่นตกใจรีบหาที่ปลอดภัย เช่นในกรุงเคียฟ เมืองหลวง มีคนจำนวนมากลงไปหลบการปะทะในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน บ้างก็แย่งชิงกันหนีตายออกจากเมืองเป็นภาพอันน่าสังเวช
เป็นที่ทราบกันว่ากองทัพเรือของยูเครนนั้น “หมดศักยภาพ” ตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมีย เรือที่เหลืออยู่ ยากจะต่อต้านเรือรัสเซียได้
ขณะที่กองทัพอากาศของยูเครนซึ่งยังใช้เครื่องบินขับไล่ยุคสงครามเย็นเช่น Su-27 Flanker และ Mig-29 Fulcrum ก็ไม่ได้ส่งเครื่องบินเหล่านี้ขึ้นมาสกัดกั้นเครื่องบินรัสเซียที่บินมาถล่มตน โดยมีการคาดเดาว่ายูเครนอาจต้องการสงวนกำลัง ทางอากาศเอาไว้มากกว่านำมาปะทะกับฝ่ายศัตรูที่มีศักยภาพเหนือกว่ามากตั้งแต่ช่วงแรก
ขณะเดียวกันกองทัพบกยูเครนพยายามปกปิดการเคลื่อนไหวทั้งหมด แต่มีรายงานข่าวว่ามีการตอบโต้ผู้รุกรานเป็นระยะเช่น ระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครนสามารถยิงเครื่องบินจำนวน 5 เครื่องและเฮลิคอปเตอร์อีก 1 เครื่องตก รวมถึงสามารถหยุดยั้งขบวนรถถังของฝ่ายรัสเซียที่พยายามมุ่งหน้าไปยังกรุงคาร์คิฟจนสามารถทำลายยานเกราะได้ถึง 7 คัน
สิ่งนี้เป็นยุทธวิธีล่อศัตรูให้ถลำเข้ามาในเขตแดน แล้วบั่นทอนกำลังโดยตีฉาบฉวยด้วยอาวุธเบาอาทิ จรวดต่อต้านรถถังและจรวดต่อต้านอากาศยานที่ยูเครนมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ทางเลือกนี้เป็นวิธีที่กองกำลังอ่อนแอกว่าใช้ต้านกองกำลังแข็งแรงกว่า ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกเดียวที่พอจะชะลอการรุกคืบอย่างรวดเร็วของฝ่ายรัสเซียได้
ทว่าคำถามสำคัญคือ รัฐบาลยูเครนจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อกองทัพและประชาชนให้ร่วมกันต่อสู้แบบที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศว่า “ยูเครนจะต้องเป็นผู้ชนะศึกครั้งนี้”ได้หรือไม่? ทั้งๆที่เห็นอยู่ว่า รัสเซียนั้นถือไพ่เหนือกว่ามาก? นอกจากนี้หากชาวยูเครนต่อสู้จริง ก็เสี่ยงที่จะพบกับสงครามระยะยาว ซึ่งพวกเขาต้องแบกรับความบอบช้ำที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…
สุดท้ายนี้… ไม่ว่าอนาคตของสงครามจะจบลงบนโต๊ะเจรจาหรือกองซากปรักหักพัง ราคาของการรักษาความเป็นชาตินั้น ช่างมีมูลค่าสูงเหลือเกิน
0 Comment