จากสงครามที่ทุกฝ่ายเห็นว่าอาจจบในเวลาเพียงไม่กี่วัน… หลังกองทัพรัสเซียเริ่มต้นปฏิบัติการพิเศษทางทหารในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 กลายเป็นการรบซึ่งกินเวลามานานกว่า 1 เดือน จนทำให้ฝ่ายรัสเซียจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธวิธี กลับมายังเป้าหมายเดิมคือ “การคุ้มครองแคว้นดอนบาสและจัดการกับกองกำลังนาโอนาซีอย่าง กองพันอาซอฟ…”
เหตุใดรัสเซียถึงเปลี่ยนแผนการบุก? ความเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม หรือการซื้อเวลาในสงครามระยะยาวเท่านั้น? และแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา?
เราจะไปติดตามในบทความนี้กันครับ!
ทำความเข้าใจสงครามผ่านศัพท์ทางทหาร
ก่อนอื่นผมขอแนะนำคำศัพท์ด้านการทหารง่ายๆ เพื่อทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขของสงครามครั้งนี้มากยิ่งขึ้น
The Fog of war: ม่านหมอกแห่งสงคราม คือ คำอธิบายเกี่ยวกับความช่วงเวลาสับสนวุ่นวายในสงคราม ซึ่งข่าวสารที่ออกมานั้นจะสับสน เพราะคู่สงครามมักใช้จังหวะนี้ทำสงครามข่าวสาร
Pyrrhic victory: ชัยชนะที่แลกมากับความสูญเสียจำนวนมหาศาล ซึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือการทำสงครามฤดูหนาวระหว่างฟินแลนด์-สหภาพโซเวียต ที่แม้จบลงด้วยชัยชนะของฝั่งโซเวียตซึ่งแต่แลกมาด้วยสูญเสียมหาศาล
Tactical victory: ชัยชนะทางยุทธวิธี คือ การสร้างความเสียหายให้กับศัตรูได้ โดยอาจจะบรรลุหรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เคยตั้งเอาไว้ในระยะแรก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการสู้รบระหว่างกองกำลังนานาชาติในอัฟกานิสถานต่อกลุ่มตาลีบัน ที่แม้กองกำลังนานาชาติจะสามารถกุมชัยชนะในสมรภูมิได้ แต่ไม่สามารถทำลายอิทธิพลของตาลีบันสำเร็จ
Strategic victory: ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ คือการที่ฝ่ายชนะสามารถลดทอนความสามารถของฝ่ายตรงข้ามในการทำสงครามของศัตรู หรือประสบความสำเร็จที่ตั้งใจไว้แต่แรกอย่างแท้จริง ชัยชนะรูปแบบนี้สามารถมาพร้อมกับชัยชนะทางยุทธวิธีหรือความพ่ายแพ้ทางยุทธวิธีในบางจุดก็ได้ แต่คือฝ่ายชนะยังสามารถบรรลุเป้าหมายในตอนท้ายสุด
ม่านหมอกแห่งสงครามที่ยังไม่จางหาย
ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้สงครามการข่าวเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ โดยฝ่ายยูเครนนำเสนอภาพความสูญเสียจากการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนและความกล้าหาญของชาวยูเครนที่กล้ายืนหยัดต่อกรกับมหาอำนาจทางทหารของโลกอย่างรัสเซีย
นอกจากนี้ภาพความสูญเสียของกองทัพรัสเซียได้ถูกนำเสนอผ่านสื่ออย่างมาก ที่แม้จะเป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะถูกนำมาขยายผลเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเเสดงให้คนภายนอกเห็นว่าพวกเขายังสามารถยืนหยัด หากได้รับแรงสนับสนุนด้านต่างๆ
ในทางกลับกัน ฝ่ายรัสเซียกลับนำเสนอข่าวในวงจำกัดเพื่อคงภาพลักษณ์ว่า รัสเซียไม่ได้ทำสงครามเต็มรูปแบบ แต่เป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อปกป้องประชาชนในเขตดอนบาส ภาพที่ออกมาจึงเน้นไปที่การให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนในพื้นที่พิพาท ควบคู่ไปกับความสำเร็จในการทำลายเป้าหมายทางการทหารของยูเครนโดยมีเป้าหมายเพิ่มแรงสนับสนุนจากประชาชนรัสเซียเป็นหลัก
นอกจากนั้นรัสเซียยังออกมาปฏิเสธข่าวด้านลบต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัสเซียเช่น กรณีการโจมตีโรงพยาบาลเด็กอ่อนในเมืองมาริยูปอลว่าเป็นการจัดฉาก หรือปฏิเสธการสังหารหมู่ในเมืองบูชาว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเคียฟ
การสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ได้อยู่เพียงสนามรบและเวทีการทูต แต่เป็นการใช้สื่อช่วงชิงการสนับสนุน โดยในสนามนี้ฝ่ายยูเครนยังคงชิงความได้เปรียบเหนือรัสเซียที่เน้นปกปิดข่าวและนำเสนอเฉพาะจุดอยู่ไม่น้อย…
ความผิดพลาดของรัสเซีย
ในช่วงเริ่มต้นปฏิบัติการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 กองทัพรัสเซียเปิดเกมด้วยการใช้ขีปนาวุธระยะสั้นและจรวดร่อนเพื่อโจมตีพื้นที่ตามเมืองสำคัญโดยเน้นไปยังเป้าทางทหารเช่น ฐานทัพ, คลังเก็บกระสุน, สถานีเรดาร์, สนามบินของยูเครนก่อนจะส่งกำลังหลักเข้ายึดครองจากทางอากาศและภาคพื้นดิน
ความสำเร็จในครึ่งวันแรกของรัสเซียทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่า กรุงเคียฟเมืองหลวงของประเทศจะแตกในเวลาเพียง 2-3 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายรัสเซียสามารถยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลได้ในคืนแรก ก่อนจะยกกำลังเข้าชานกรุงเคียฟในวันต่อมา
แต่แล้วความสำเร็จของรัสเซียกลับต้องชะงักลง เมื่อสายส่งกำลังบำรุงไม่สามารถเดินทางมาสมทบกับกำลังรบได้ทัน อีกทั้งกองทัพยูเครนได้เลือกทำลายจุดขนส่งต่างๆอาทิ สถานีรถไฟและสนามบิน เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัสเซียใช้ประโยชน์ เมื่อเวลาผ่านไป กองกำลังยูเครนสามารถกระจายกำลังไปตามพื้นที่การปะทะต่างๆ จนสามารถหยุดการรุกคืบของฝ่ายรัสเซียได้สำเร็จ
นอกจากนี้รัสเซียยังสามารถครองน่านฟ้าได้เพียงพื้นที่ติดเขตอิทธิพลตนเองทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ ขณะที่กองทัพอากาศยูเครนซึ่งถูกมองว่าจะต้องถูกกวาดล้างภายในไม่กี่วัน กลับสามารถยืนหยัดต่อต้านการโจมตีทางอากาศของรัสเซียร่วมกับหน่วยต่อต้านอากาศยานภาคพื้นดินอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แม้จะไม่สามารถสกัดกั้นภัยคุกคามทางอากาศได้ทั้งหมดก็ตาม
ยุทธศาสตร์สงครามที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อการรบดำเนินไปกองทัพรัสเซียไม่สามารถปิดเกมยูเครนได้ตามที่คำนวนเอาไว้ จนผ่านไปหนึ่งเดือนทางกระทรวงกลาโหมรัสเซียจึงได้ประกาศ “ความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหารในเฟสที่ 1” ว่ากองทัพรัสเซียสามารถทำลายขีดความสามารถของกองทัพยูเครนจนไม่สามารถเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มกบฏในดอนบาสได้อีกต่อไป และรัสเซียกำลังจะเข้าสู่ปฏิบัติการเฟสที่ 2
รัสเซียประกาศว่าในการทำสงครามเฟส 2 นั้นพวกเขาจะทำการปรับกำลังครั้งสำคัญด้วยการถอนตัวจากสมรภูมิทางภาคเหนือของยูเครน แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการการปกป้องประชาชนในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศ แม้จะยังมีข้อกังขาว่าการถอยร่นดังกล่าวจะเป็นการลดเป้าหมายจริงหรือเป็นเพียงการปรับกำลังเพื่อรอการรุกใหญ่อีกครั้งในอนาคต
พื้นที่ซึ่งน่าสนใจที่สุดคือ เมืองมาริยูปอลซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองพันอาซอฟ (AZOV Battalion) ซึ่งมีสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นพวกนีโอนาซี และมีประวัติกดขี่ข่มเหงชาวเมือง จนรัสเซียใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ซึ่งหากรัสเซียรบชนะ ก็จะสามารถใช้เป็นข้ออ้างว่าบรรลุภารกิจที่ตั้งใจแต่แรก
กองทัพยูเครนสิ้นสภาพตามรัสเซียอ้างหรือไม่?
ภายหลังการประกาศชัยชนะในเฟสแรกกองทัพรัสเซียประกาศว่า พวกเขาสามารถทำลายขีดความสามารถของกองทัพยูเครนทั่วประเทศ โดยทำลายเป้าหมายทางทหารมากกว่า 2,200 แห่ง รวมทั้งถอนรากถอนโคนกองทัพอากาศและกองทัพเรือจนสิ้นซาก ดังนั้นกองทัพรัสเซียจึงสามารถหันไปสนใจเป้าหมายทางภาคตะวันออกแทนได้
ทว่าหากเราเข้าไปสืบค้นข้อมูลจากเว็ปไซด์ oryxspioenkop ที่นำภาพของยุทโธปกรณ์ซึ่งสูญเสียในสนามรบมาเปรียบเทียบเพื่อทำสถิติจะพบว่า “กองทัพยูเครนสูญเสียยุทโธปกรณ์ราว 684 รายการ” ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยแต่ไม่ได้ทำให้กองทัพหมดศักยภาพอย่างที่รัสเซียบอก
ขณะที่กองทัพอากาศยูเครน แม้สูญเสียอากาศยานต่างๆ เช่น Mig-29 จำนวน 4 ลำ, Su-27 จำนวน 3 ลำ, และ Bayrakta TB-2 อย่างน้อย 3 ลำ (แต่คาดว่ามีมากกว่านี้) ซึ่งทั้งหมดนี้ลดทอนศักยภาพของทัพฟ้าในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ทำให้ถึงกับสิ้นสภาพเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามการทดแทนความเสียหายของทัพฟ้านี้ทำได้ยาก เนื่องจากฝ่ายตะวันตกไม่สามารถทดแทนยุทโธปกรณ์เหล่านี้ได้เหมือนอาวุธประทับบ่า มีเพียงตุรกีเพียงชาติเดียวที่สามารถ ส่งอากาศยานติดอาวุธไร้นักบินรุ่น Bayrakta TB-2 มาเสริมทัพยูเครนอยู่เสมอ แต่อากาศยานแบบดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพียงในพื้นที่ที่รัสเซียยังไม่สามารถครองอากาศได้เท่านั้น
ในทางกลับกันกองทัพเรือยูเครนกลายเป็นเหล่าที่สูญเสียมากที่สุด โดยเสียเรือจำนวน 14 ลำรวมถึงเรือธง Hetman Sahaydachniy อันเป็นเรือฟริเกตเพียงลำเดียวของพวกเขา จนสามารถกล่าวได้ว่าศักยภาพของกองทัพเรือยูเครนนั้น เหลือเพียงหน่วยจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำและหน่วยนาวิกโยธิน โดย ณ จุดนี้ต้องป้องกันเมืองชายฝั่งไปตามมีตามเกิด
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้กองทัพยูเครนยังได้รับการสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศอยู่เสมอ โดยฝ่ายตะวันตกเริ่มส่งมอบยุทโธปกรณ์หนักขึ้นอาทิ รถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงรุ่น Pbv-501 (ฺBMP-1 ที่อัพเกรดตามมาตรฐานสวีเดน), รถถัง T-72, รถหุ้มเกราะต่อต้านกับระเบิด Bushmaster, รถหุ้มเกราะเบารุ่น HMMVW, รวมถึงเสริมอาวุธอื่นๆที่เคยส่งไปก่อนหน้านี้
พวกเขาสามารถใช้โอกาสที่รัสเซียล่าถอยจากสมรภูมิทางเหนือในเฟสที่ 1 ในการฟื้นกำลังได้
ขีดความสามารถของกองทัพยูเครน
ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม กองทัพยูเครนแสดงให้เห็นความสามารถในการรับมือกับกองทัพขนาดใหญ่ของรัสเซียที่มีอำนาจด้านการทหารเหนือกว่าอย่างชัดเจน โดยเบื้องหลังของความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการพัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การสูญเสียไครเมีย และบางส่วนของดอนบาสในปี 2014 ยูเครนเสริมสร้างกองทัพที่ประกอบด้วยทหารอาชีพพร้อมสวัสดิการ รวมถึงเงินเดือนที่เหมาะสมจนสามารถดึงดูดผู้สมัครจำนวนมากเข้ามาได้
นอกจากนี้กองทัพยูเครนยังได้รับการฝึกตามมาตรฐานตะวันตก ตั้งแต่การส่งนายทหารจากเหล่าทัพต่างๆ ไปศึกษายังสหรัฐเพื่อนำความรู้กลับเข้ามาพัฒนากองทัพ เช่นเดียวกับการเปิดรับบุคลากรตะวันตกเข้ามาปรับปรุงขีดความสามารถ
ยูเครนยังเพิ่มความเข้มข้นและขีดความสามารถของการผลิตทหารชั้นประทวนที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบังคับบัญชาในระดับหน่วยขนาดเล็กที่เหมาะสมกับการตั้งรับในประเทศ จนมาเห็นผลอย่างชัดเจนในสงครามครั้งล่าสุดนี้
ยุทโธปกรณ์ตามแบบหมดความสำคัญจริงหรือ?
จากการรบตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกิดคำถามว่ายุทโธปกรณ์ตามแบบโดยเฉพาะรถถังและยานเกราะต่างๆ นั้นหมดความสำคัญในสนามรบไปแล้วหรือไม่? เนื่องจากมีภาพขบวนรถของฝ่ายรัสเซียถูกกองทัพยูเครนที่ซุ่มอยู่ตามชายป่าและเศษซากอาคารต่างๆ ใช้จรวดต่อต้านรถถัง Javelin และ NLAW ถล่มจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากนี้ยานยนต์ทางทหารจำนวนหลายร้อยคันก็ถูกทิ้งจนกลายประชาชนยูเครนเอารถแทรคเตอร์มาลากกลายเป็นภาพล้อเลียนตามอินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตามภาพส่วนมากที่เราเห็นนั้น มักจะมาจากสมรภูมิทางภาคเหนือของประเทศที่รัสเซียไม่สามารถครองอากาศอย่างเบ็ดเสร็จ ในทางกลับกันในแนวรบด้านตะวันออกและภาคใต้ที่รัสเซียสามารถครองอากาศได้ต่อเนื่องนั้น ทัพยูเครนได้รับความสูญเสียหนักกว่ามาก
ดังนั้นจะเห็นว่ากำลังตามแบบนั้นยังมีความสำคัญต่อการดำเนินยุทธวิธีขนาดใหญ่ แม้ว่าจรวดประทับบ่าและอากาศยานติดอาวุธไร้นักบินมีส่วนสำคัญในการลดความเสียเปรียบของฝ่ายที่เล็กกว่า
รัสเซียลดการโจมตี …รัสเซียแพ้จริงหรือ?
เพื่อทำความเข้าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราขอทำการแบ่งสมรภูมิที่เกิดขึ้นขึ้นเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ แนวรบทางภาคเหนือที่ฝ่ายรัสเซียส่งกำลังเข้ามาเพื่อตีกรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครน, แนวรบภาคตะวันออกที่มีสมรภูมิสำคัญอย่าง เมืองคาร์คิฟและดินแดนดอนบาส, และแนวรบภาคใต้ที่มีสนามรบสำคัญอย่างมาริยูปอล
แนวรบภาคเหนือ:
ฝ่ายรัสเซียทำการย้ายกำลังจากทางภาคเหนือกลับเข้าสู่เบลารุสและรัสเซีย เพื่อปรับกำลังไปเสริมแนวรบทางภาคตะวันออก ทำให้ยูเครนสามารถตีโต้กองกำลังรัสเซียที่กำลังล่าถอยจากพื้นที่ จนสามารถยึดเมืองคืนแทบทั้งหมด
ทัพยูเครนยังตัดการถอยร่นของกองกำลังรัสเซียด้วยกำลังตามแบบและกองกำลังขนาดเล็กพร้อมจรวดประทับบ่า สามารถสร้างความเสียหายแก่กองทัพรัสเซียได้ในระดับหนึ่ง
จากเรื่องนี้สามารถกล่าวได้ว่ายูเครนกำลังกุมความได้เปรียบในภาคเหนือของประเทศ แม้จะยังต้องเผชิญกับการต่อต้านอยู่เป็นระยะ
แนวรบภาคตะวันออก:
การรบทางภาคตะวันออกของประเทศยังคงมีการปะทะอยู่เป็นระยะ หลังกองทัพยูเครนพยายามส่งกำลังตอบโต้เพื่อยึดครองพื้นที่คืนจากรัสเซีย อย่างไรก็ตามทางรัสเซียเองก็สามารถยึดครองเมืองทางใต้ของคาร์คิฟซึ่งเป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมทางทหารของยูเครนอย่างเมืองอีเซียมได้สำเร็จ แม้จะต้องแลกกับความสูญเสียค่อนข้างหนัก ขณะที่แนวรบในเขตดอนบาสยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ปฏิบัติการของกองทัพอากาศรัสเซียในจุดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งเว็ปไซด์ airforcemag รายงานเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วว่าปฏิบัติการของอากาศยานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 300 เที่ยวต่อวันและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าต่อจากนี้แนวรบตะวันออกจะกลายเป็นสนามรบสำคัญของทั้งสองฝ่าย และเมื่อกองทัพรัสเซียจากภาคเหนือถูกนำปรับกำลัง และนำมาช่วยจุดนี้ ยูเครนจะต้องพบงานหนักแน่นอน
แนวรบทางภาคใต้:
การรบทางภาคใต้นั้นถือเป็นสนามรบซึ่งน่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากฝ่ายรัสเซียสามารถทำการรุกคืบอย่างเชื่องช้าทว่ามีความต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักคือ “เมืองมาริยูปอล” ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างไครเมียกับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ การตีเมืองนี้จะทำให้ดินแดนทั้งสองเชื่อมเข้าหากัน
ขณะเดียวกันรัสเซียยังถือความได้เปรียบที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเทียบได้คือ มีกองเรือทะเลดำ ซึ่งสามารถปิดล้อมทางออกทะเลของยูเครนได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นหากรัสเซียสามารถควบคุมพื้นที่ตรงนี้สำเร็จก็จะทำให้รัฐบาลสามารถกลับไปตอบกับประชาชนได้ว่า “พวกเขาประสบความสำเร็จในการจัดการกับนาซีในยูเครนและครอบครองน่านน้ำได้แล้ว”
นอกจากนี้กองทัพรัสเซียยังอาศัยช่วงชุลมุนระหว่างการโต้กลับของยูเครน เดินทัพเข้าสู่เมืองครีวิริก ซึ่งเป็นเมืองผลิตเหล็กที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งบ้านเกิดของประธานาธิบดี เซเลนสกี้
สรุปว่าแนวรบทางภาคใต้นั้นยูเครนพ่ายแพ้ค่อนข้างย่อยยับมาตลอด และต้องจับตาดูว่าจะสามารถตั้งหลักสกัดกั้นการรุกคืบของรัสเซียได้ไหม
จากการพิจารณาสมรภูมิทั้งสามด้าน จะเห็นว่ารัสเซียถอยทัพแค่ด้านเหนือเท่านั้น ส่วนด้านใต้และตะวันออกนั้นยังมีการรุกตีอย่างหนักอยู่
สงครามจะจบได้เร็วไหม อย่างไร?
จากการเจรจาครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่า “ยูเครนต้องยอมรับสถานะเป็นกลาง” นั่นคือไม่เข้ากับทางนาโต้ แต่ยังไม่ได้ปิดโอกาสการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
ขณะที่ประเด็นในเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ยูเครนยินดีจะเปิดการเจรจาถึงสถานะของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ แต่ยืนยันว่าจะไม่ยินยอมเสียดินแดนให้กับฝ่ายตรงข้าม ส่วนทางรัสเซียยังคงข้อเสนอเดิมคือ ยูเครนจะต้องยอมรับสถานะรัฐเอกราชของดินแดนพิพาททั้งสอง และยอมรับว่าไครเมียคือดินแดนของรัสเซีย
เมื่อเป็นเช่นนี้การสู้รบคงจะต้องดำเนินต่อไป… เพราะแม้ทั้งสองฝ่ายจะผลัดกันประสบชัยชนะทางยุทธวิธี (Tactical Victory) ในหลายพื้นที่การรบ แต่ยังไม่มีใครได้ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ (Strategic Victory) อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่ารัสเซียนั้นมีกองทัพที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีอุตสาหกรรมการทหารที่ปลอดภัยจากการโจมตีของยูเครน ดังนั้นต่อให้รัสเซียจะดำเนินนโยบายผิดพลาดขนาดไหน แต่ยังสามารถทดแทนความสูญเสียได้ง่ายกว่ายูเครนมาก
สงครามนี้อาจดำเนินไปอีกนาน แต่หากจะจบแบบเร็วๆ ก็เป็นไปได้ โดยอาจจะออกมาในลักษณะว่าการคว่ำบาตรของตะวันตกทำให้รัสเซียตัดสินใจ “พอ” ที่การยึดเมืองมาริยูปอล และ การขยายเขตในดอนบาส
หากจบแค่นั้นตามหลักสากลจะบันทึกว่ารัสเซียชนะ แต่เป็นชัยชนะที่แลกมากับความสูญเสียจำนวนมหาศาล (Pyrrhic victory)
ในทางตรงกันข้ามฝ่ายยูเครนที่ประสบความสำเร็จทางยุทธวิธีหลายต่อหลายครั้ง แต่ต้องเสียดินแดนไปมาก อาจจะ “แพ้แบบรู้สึกเหมือนชนะ” เพราะต้านรัสเซียได้มากกว่าที่คิด และทำให้รัสเซียแย่ลงไปมากจากสงคราม
นอกจากนั้นการสามารถรักษาเอกราช, และอนาคตของประเทศที่ไม่ถูกบงการโดยรัสเซีย ก็อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่า “แค่นี้ก็เหมือนชนะแล้ว”
0 Comment