นอกจากศรีลังกาที่เศรษฐกิจ “พังทลายอย่างสมบูรณ์” ตามที่เคยลงบทความไปเร็วๆ แล้ว อีกประเทศหนึ่งที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาน่าเป็นห่วงนั่นคือ ลาว

ไม่นานมานี้มีภาพคนลาวแห่เข้าคิวรอเติมน้ำมัน พร้อมกับแห่ทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางออกนอกประเทศมากมาย ทั้งหมดนี้ทำให้หลายๆ คนออกมาแสดงความกังวล

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และสามารถนำมาเทียบกับไทยได้หรือไม่? บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันครับ

ทำความเข้าใจเศรษฐกิจลาว

ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์ปัจจุบันในลาว ผมจะขอกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจลาวสมัยก่อนเกิดปัญหาให้เข้าใจคร่าวๆ ก่อนนะครับ

ประเทศลาวมีประชากร 7.4 ล้านคน จีดีพี 17,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 (เล็กกว่าไทยประมาณ 33 เท่า)

ประชากรส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยประมาณว่าประชากรถึงร้อยละ 80 ทำเกษตรเพื่อยังชีพเท่านั้น จึงทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีข้าวกินเอง แต่ประเทศลาวมีพื้นที่เกษตรกรรมเพียงร้อยละ 4

เศรษฐกิจลาวใช้ระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งเป็นการผสมผสานระบบสังคมนิยมกับทุนนิยมคล้ายกับจีน ดังนั้นจึงมีรัฐวิสาหกิจ ควบคู่กับวิสาหกิจเอกชน และการลงทุนของต่างชาติ โดยภาคเหมืองแร่กับไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ มีประเทศส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไทย จีนและเวียดนามตามลำดับ

เศรษฐกิจลาวเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีอัตราเติบโตร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตที่มาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการขุดเจาะทรัพยากร

จีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนในลาวมากที่สุดเป็นมูลค่าประมาณ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ยอดระหว่างปี 1989-2016) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟ เช่น สายเวียงจันทน์-บ่อเต็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเข็มขัดและเส้นทาง (เส้นทางสายไหมใหม่) ของจีน

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก โดยผู้แทนยูเอ็นเคยพูดถึงนโยบายของรัฐซึ่งเป็นการสั่งการจากบนลงล่างว่า “มักไม่สร้างสรรค์ นำไปสู่ความขัดสนและยิ่งลิดรอนสิทธิของคนจนและคนชายขอบ”

และในช่วงโควิด เศรษฐกิจลาวได้รับผลกระทบในหลายด้าน คือ

(1) ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งใน 6 เดือนแรกของการระบาดทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศลดลงถึงร้อยละ 60 และทำให้สูญเสียรายได้กว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(2) ธุรกิจ SME ซึ่งเคยมีการสำรวจพบว่าร้อยละ 70 เสียรายได้เกินครึ่ง

(3) ตัวเลขการว่างงานกระโดดขึ้นจากร้อยละ 9.7 ในปี 2017 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2020 (ส่วนในช่วงโควิดไทยมีอัตราว่างงานประมาณร้อยละ 2 บวกกับ “ผู้เสมือนว่างงาน” หรือทำงานไม่ถึงวันละ 4 ชั่วโมง สูงสุดอีก 5.4 ล้านคน)

ปัญหาค่าเงินอ่อน

ตัดภาพมาในปี 2022 วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่ลาวนั้นอธิบายได้ด้วย “ค่าเงินอ่อน” เป็นปัจจัยแรก

ในช่วงปี 2020 – 2021 ที่ผ่านมา 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 8,800 – 9,500 กีบ แต่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดในเดือน ก.ค. 2022 พบว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 15,000 กีบแล้วเป็นที่เรียบร้อย หรือคิดเป็นการเสื่อมมูลค่าของเงินกีบถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว! (เทียบกับไทยที่เงินบาทอ่อนลงจาก 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการเสื่อมมูลค่าร้อยละ 20)

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐที่มีนโยบายการเงินแบบหดตัวเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้มีการดึงเงินจากตลาดอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลับเข้าสู่สหรัฐ

จริงๆ ค่าเงินกีบที่อ่อนลงนี้ควรจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของลาว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะดุลการชำระเงินของลาวติดลบมาโดยตลอด หรือพูดง่ายๆ คือลาวนำเข้ามากกว่าส่งออก โดยปัญหานี้เกิดจากโครงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนไม่ได้ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศมากเท่ากับที่เสียออกไป แถมในช่วงนี้ยังมีการถอนทุนออกไป จึงยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนลงอีก

นอกจากนี้ทุนสำรองเงินตราของลาวก็เหลืออยู่เพียง 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจรองรับการนำเข้าได้ไม่ถึง 3 เดือน และไม่เพียงพอต่อเกณฑ์ของ IMF ที่แนะนำให้ชาติต่างๆ เตรียมทุนสำรองให้พร้อมรับหนี้ระยะสั้นอย่างน้อย 4-6 เดือน ซึ่งปัญหาค่าเงินอ่อนจะนำไปสู่อีก 2 ปัญหาที่จะกล่าวถึงต่อไป

ปัญหาเงินเฟ้อ

ปัจจัยที่ 2 ที่เกิดขึ้นกับลาวในตอนนี้คือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งหลักๆ ก็มาจากค่าเงินที่อ่อนลง ทำให้ราคาสินค้านำเข้าซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่างๆ แพงขึ้นตามไปด้วย

สินค้านำเข้าที่สำคัญของลาวคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า, น้ำมันดีเซล, เครื่องจักรกล, อะไหล่-ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล, เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก, สายไฟฟ้าและสายเคเบิล, เครื่องดื่ม, อุปกรณ์สื่อสารและชิ้นส่วน, พลาสติกและเครื่องใช้ที่ทำด้วยพลาสติก, สัตว์มีชีวิต, เคมีภัณฑ์ และน้ำมันที่ถูกนำเข้าร้อยละ 100

ผลพวงจากสงครามยูเครนยังทำให้ลาวไม่สามารถนำเข้าน้ำมันได้เพียงพอ โดยมีตัวเลขระบุว่า ลาวสามารถนำเข้าน้ำมันได้เพียง 20 ล้านลิตรต่อเดือน จากความต้องการ 120 ล้านลิตรต่อเดือน ดังนั้นต่อให้มีเงินพอก็อาจจะหาซื้อไม่ได้ ปัญหาน้ำมันขาดแคลนยังส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ เป็นลูกโซ่ ซึ่งที่ผ่านมามีภาพเกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรได้เพราะรถไถไม่มีน้ำมัน หรือนักเรียนที่ไปโรงเรียนไม่ได้เพราะรถไม่มีน้ำมันมาแล้ว

ในเดือน มิ.ย. 2022 ที่ผ่านมา มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อลาวแบบปีต่อปีออกมาที่ร้อยละ 23.6 ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 22 ปี (ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 7.66 สูงสุดในรอบ 13 ปี)

สื่อของรัฐยังรายงานอีกว่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 107.1 ราคาแก๊สเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.4 และราคาทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.7 นับตั้งแต่ต้นปี ไม่รวมถึงอาคาร เครื่องปรุง เครื่องดื่ม เสื้อผ้า รองเท้า ยารักษาโรค อุปกรณ์ก่อสร้าง ยานพาหนะและอะไหล่

มีประชาชนเล่าว่าราคาอาหาร เช่น ไข่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้บางคนเลือกที่จะข้ามมาซื้ออาหารและน้ำมันในฝั่งไทยเพราะราคาถูกกว่า

ปัญหาหนี้สาธารณะ

ปัญหาที่สามที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ “หนี้สาธารณะ” เนื่องจากก่อนหน้านี้ลาวมีการกู้เงินมาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเส้นทางรถไฟและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยในปี 2021 ลาวมีหนี้สาธารณะ 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของจีดีพีในปี 2021

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับลาวคือ ลาวมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศสูงมาก โดยลาวมีกำหนดต้องจ่ายหนี้ต่างประเทศเป็นเงิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปีไปจนถึงปี 2025 ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับทุนสำรองต่างประเทศทั้งหมดในปัจจุบันบวกกับรายได้ประจำปีของลาวอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนในครึ่งปีแรกของปี 2022 ลาวยังสามารถจ่ายหนี้ต่างประเทศได้เพียง 137.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 8-9 ของหนี้ที่มีกำหนดจ่ายเท่านั้น

เฉพาะหนี้จากจีนประเทศเดียวก็ปาเข้าไป 12,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว หากเทียบเฉพาะเรื่องนี้นับว่าสถานการณ์ของลาวถือว่าแย่กว่าศรีลังกาด้วยซ้ำ คือศรีลังกายังมีเจ้าหนี้ต่างประเทศหลายประเทศ แต่ลาวมีเจ้าหนี้ใหญ่คือจีนประเทศเดียว

…ซึ่งประเด็นการเป็นหนี้จีนในสัดส่วนสูงนี้เองที่ทำให้เกิดประเด็นโจมตีว่าลาวกำลังถูก “กับดักหนี้จีน” เล่นงาน…

การเป็นหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนมากขนาดนี้ทำให้ลาวมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และยังเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือของลาวลงเหลือระดับ Caa3 (มูดดีส์) และ CCC (ฟิตช์) ซึ่งเป็นระดับท้ายๆ แล้ว

อย่างที่เรียนไปแล้ว โครงการลงทุนต่างประเทศของลาวไม่ได้สร้างรายได้เข้าประเทศมากเท่าที่ควร โดยทุกวันนี้ลาวยังต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่ประเทศ นอกจากนี้ ลาวยังประสบปัญหากับการหารายได้เข้าคลัง เพราะมีการเลี่ยงภาษีและคอร์รัปชั่นสูง

ดังนั้นการจะแก้ปัญหาหนี้สินได้ก็ต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคำถามสำหรับรัฐบาลลาวว่าจะไปหาจากไหน?

จะเป็นอย่างไรต่อ?

ทางการลาวมีมาตรการตอบสนองออกมาบ้างแล้ว เช่น การห้ามประชาชนถือครองเงินตราต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการกักตุนซึ่งทำให้ภาครัฐขาดสภาพคล่อง, การออกพันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทนสูง (ร้อยละ 20 ต่อปี จำนวน 5 ล้านล้านกีบ) เพื่อลดปริมาณเงินในระบบ และธนาคารแห่งประเทศลาวแต่ละแห่งก็ยังประกาศเพิ่มดอกเบี้ย และเตรียมเอาจริงในการปราบปรามการค้าเงินตราต่างประเทศผิดกฎหมาย

รัฐบาลลาวยังพยายามลดแรงเสียดทานในประเทศด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี และประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 1.1 ล้านกีบต่อเดือน เป็น 1.2 ล้านกีบต่อเดือนในเดือนสิงหาคม 2022 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านกีบต่อเดือนในเดือนพฤษภาคม 2023 อย่างไรก็ตาม นี่ยังถูกมองว่าเป็นมาตรการที่ช้าและน้อยเกินไป

อีกด้านหนึ่งได้มีการขึ้นภาษีหลายชนิดเป็นหลายเท่าตัว เริ่มจากภาษีออนไลน์ และพยายามติดต่อขอซื้อน้ำมันจากรัสเซียแทนไทย สิงคโปร์และเวียดนาม (เพราะรัสเซียมีต้นทุนสินค้าพลังงานต่ำกว่า) พร้อมทั้งประกาศห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้รถประจำตำแหน่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ขณะที่รัฐบาลลาวมีการขยับตัวเพื่อใช้มาตรการด้านความมั่นคงตามไปด้วย โดยมีการปรับตำแหน่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบในประเทศ อย่างไรก็ตามมาตรการทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้แต่การปรับ ครม. ก็เป็นการสลับตำแหน่งกันเท่านั้นไม่ใช่การนำคนกลุ่มใหม่เข้ามาบริหารแทน

…จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวี่แววว่าวิกฤตเศรษฐกิจลาวจะมีทางออกในเร็วๆ นี้ ด้านประชาชนลาวก็มีการแห่ทำพาสปอร์ตเพื่อออกนอกประเทศเป็นอันมาก

แม้ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศจะไม่เชื่อว่าจะมีภาพการจลาจลอย่างที่เห็นในศรีลังกาจนถึงกับทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่ความไม่พอใจของประชาชนลาวจะเป็นแรงเสียดทานลึกๆ ต่อรัฐบาลพรรคเดียวที่กุมอำนาจบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จมาช้านาน

นักวิเคราะห์มีการเสนอปรับปรุงการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ และกลไกการจัดหาเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนใหม่ และปรับปรุงการจัดการแหล่งรายได้จากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินอ่อนและหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตามรัฐบาลลาวไม่อนุญาตให้ IMF เปิดเผยรายงานข้อเสนอแนะประจำปี 2022 ต่อสาธารณะ

ด้วยภาวะเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะในปัจจุบันทำให้มาตรการใดๆ ที่จะมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้มีข้อจำกัดอย่างมาก ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป…

บทเรียนถึงประเทศไทย

จากบทความวิกฤตเศรษฐกิจทั้งที่เกิดขึ้นที่ศรีลังกาและลาวที่ผมได้นำเสนอท่านผู้อ่านแล้ว ผมขอชี้ให้เห็นบทเรียนถึงประเทศไทยอยู่ 2 เรื่อง คือ:

1) เศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะซ้ำรอยวิกฤตที่ศรีลังกาหรือลาว

ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และข้อมูลเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าเงิน อัตราเงินเฟ้อหรือหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าทั้ง 2 ประเทศที่กล่าวไปแล้ว โอกาสที่จะซ้ำรอย 2 ประเทศนี้จึงต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยยังไม่ได้เลวร้ายเท่าใดนัก แต่เริ่มมีประชาชนชาวไทยบางส่วนที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว ดังนั้นการบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากอีก 2 ประเทศนี้จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตหรือความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจริงๆ …ซึ่งนั่นนำไปสู่บทเรียนที่ 2

2) รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในวิกฤตเศรษฐกิจ

สิ่งที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 ประเทศ ถ้าจะให้บทเรียนอะไรต่อเราได้ จะเห็นว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการ “ลดทอนหรือเพิ่มผลร้ายจากพิษเศรษฐกิจโลก”

มีบางคนบอกว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดขึ้นทั่วโลก และรัฐบาลไม่มีผลใดๆ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หรือบางคนก็พูดเหมือนปลอบใจว่า ต่อให้ไทยเกิดปัญหา แต่อย่างน้อยก็ยังมีข้าวกินอยู่เพราะรู้จักทำนาเอง

…แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ลาวก็พิสูจน์แล้วว่า ในประเทศที่ประชาชนเกือบ 4 ใน 5 ทำนาเลี้ยงตัวเอง เวลาจะเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำให้คนเดือดร้อนมากได้เหมือนกัน…

ดังนั้นบทเรียนจากซีรีย์เศรษฐกิจทั้ง 2 บทความนี้จึงไม่ใช่ว่า เศรษฐกิจไทยจะไปถึงขั้นเศรษฐกิจศรีลังกากับลาวหรือไม่ แต่เป็นว่า ผู้มีอำนาจได้ลดทอนผลร้ายจากพิษเศรษฐกิจให้คนไทยได้ดีพอหรือยังครับ…