หากท่านเคยอ่านงานเขียนของผมเรื่อง “พยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ” ท่านคงจะพอทราบคร่าวๆ ถึงเรื่องสงครามกลางเมืองศรีลังกาอันยาวนานหลายสิบปี และจบลงด้วยการที่ฝ่ายกบฏพยัคฆ์ทมิฬถูกกวาดล้างจนแทบสิ้นกำลังในปี 2009

ทว่าอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรจบลงจริงๆ สักอย่างเดียว…” สงครามครั้งนั้นก็เช่นกัน

จุดจบของมันกลับมีส่วนให้เกิดหายนะครั้งใหม่ในกาลต่อมา ภัยนี้ไม่ใช่มหาสงครามประหัตประหาร แต่เป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ชาวศรีลังกาทั้งทมิฬและสิงหลเหมือนตายทั้งเป็น

เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับศรีลังกา? ในบทความนี้ผมจะพาท่านไปย้อนดูตั้งแต่ความขัดแย้งในอดีตที่ทำให้เกิดสงครามใหญ่ เรื่องของกลุ่มวีรบุรุษที่กู้ชาติและทำลายมันลงกับมือในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี รวมไปถึงความผิดพลาดของศรีลังกาที่ทำให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน…

ประวัติย่อของศรีลังกา 

ประเทศศรีลังกา เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีขนาดประมาณ 1 ใน 8 ของประเทศไทย มีประชากรราว 22 ล้านคน ร้อยละ 75 เป็นชาวสิงหล ร้อยละ 11 เป็นชาวทมิฬศรีลังกา นอกนั้นเป็นชาวมัวร์ มาเลย์ อินเดีย ชาวยุโรป และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ศรีลังกามีชัยภูมิดี เป็นท่าเรือสำคัญในการล่องเรือค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชีย มหาอำนาจต่างชาติจำนวนมากจึงหมายตา ดังนี้แต่โบราณมาบริเวณนี้จึงถูกแย่งชิงอยู่เสมอ จนกระทั่งอังกฤษมายึดเกาะทั้งหมดเป็นเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1815

เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา ก็ใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เอาใจชาวทมิฬ และกดขี่ชาวสิงหล โดยให้อิสรภาพแก่ชาวทมิฬมากกว่า ให้การศึกษาและโอกาสที่ดีกว่า ชาวทมิฬมากมายได้เข้าทำราชการ จนข้าราชการส่วนใหญ่ของศรีลังกายุคอาณานิคมนั้นเป็นชาวทมิฬ

อย่างไรก็ตาม ลัทธิอาณานิคมเสื่อมลงตามกาลเวลา ชาติใต้ปกครองพากันเรียกร้องเอกราช ศรีลังกาเองก็เช่นกัน…

พอการเมืองเปลี่ยนเป็นระบบรัฐสภาที่มีเลือกตั้งจากประชาชน ชาวสิงหลซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็โหวตชนะ เรื่องราวจึงเริ่มกลับตาลปัตร จากที่ชาวทมิฬเคยมีสิทธิพิเศษมาตลอดก็กลายเป็นฝ่ายโดนกดขี่เสียเอง และเมื่อออกมาประท้วง รัฐบาลก็จัดการพวกเขาเด็ดขาด ความคับแค้นใจนี้ส่งผลให้ชาวทมิฬบางส่วนตั้งกองกำลังต่อต้านขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งแบบสันติวิธีและใช้กำลัง

กองกำลังทมิฬอันโด่งดังที่สุด มีชื่อว่า “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” มีผู้นำคือ “เวฬุพิไล ประภาการัน” เป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ใช้วิธีการเหี้ยมโหดแบบก่อการร้าย สังหารเด็ก คนแก่ พระสงฆ์ เณร ชี ฯลฯ ไม่มีการยกเว้น

วีรกรรมเด่นๆ ของพยัคฆ์ทมิฬคือการใช้ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” สังหาร ราจีฟ คานธี ผู้นำอินเดีย กลายเป็นต้นแบบให้กลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกนำไปทำตาม

รัฐบาลศรีลังกาพยายามสู้รบกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ จนพวกทมิฬจวนเจียนจะมี “รัฐอีแลม” ของตนเอง และคงเป็นเช่นนั้น หากศรีลังกาไม่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่นาม “มหินทา ราชปักษา” ในปี 2005

…เขาผู้นี้มีนโยบายถอนรากถอนโคนผู้ก่อการร้ายให้สิ้นซาก!

พญาราชปักษาครองประเทศ

“ตระกูลราชปักษา” เป็นตระกูลชาวนาร่ำรวยทางตอนใต้ของศรีลังกา พ่อและลุงของนายมหินทาลงเล่นการเมืองมายาวนานและได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในเขตตนเรื่อยมา ลักษณะเด่นของตระกูลราชปักษาคือมีความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติเหนียวแน่น มีการส่งลูกหลานไปเรียนสูงๆ จากนั้นก็ให้กลับมาช่วยตระกูลในทางต่างๆ (คล้ายๆ ระบบกงสีของคนจีน)

พอมหินทาขึ้นเป็นประธานาธิบดีเขาก็วางญาติพี่น้องของตนในตำแหน่งสำคัญต่างๆ คนที่สำคัญที่สุดคือน้องชายแท้ๆ ชื่อ “โคตาพยา ราชปักษา” ซึ่งกลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่โหดเหี้ยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกา…

เมื่อศึกใหญ่ระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและพยัคฆ์ทมิฬเริ่มขึ้นในปี 2006 กองทัพศรีลังกาได้ทำการรบอย่างดุดัน สามารถตีชิงพื้นที่ในครอบครองของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ จนในปี 2009 ก็รุกไล่ชาวทมิฬนับแสนๆ ไปแออัดในพื้นที่ชายหาดแคบๆ ทางตะวันออก 20 ตารางกิโลเมตร เรียกว่า No Fire Zone

ตอนนั้นรัฐบาลได้กวาดล้างชาวทมิฬที่เหลือใน No Fire Zone อย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ไม่ต่างอะไรกับที่พยัคฆ์ทมิฬเคยทำกับประชาชนสิงหลเลย…

กบฏชาวทมิฬสิ้นฤทธิ์ไปในคราวนั้น และตระกูลราชปักษาก็ครองประเทศยาวนานสืบมาในฐานะวีรบุรุษที่นำพาความสงบมาสู่ชาติบ้านเมือง… พวกเขารุ่งเรืองอยู่ด้วยนโยบายชาตินิยมขวาจัดที่กดขี่ผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย และคนจำนวนมากก็พร้อมสนับสนุนเขาเสียด้วย

แต่ท่านครับ โลกแห่งความเป็นจริงมักไม่จบแบบนิทาน รัฐบาลศรีลังกาเสียเงินไปมากกับการทำสงครามกับชาวทมิฬ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของศรีลังกาจึงง่อนแง่นมาแต่บัดนั้น …นี่คือปัญหาใหญ่ที่พวกราชปักษาต้องเผชิญในกาลต่อมา

เมื่อวีรบุรุษพาชาติล่ม

ตามที่ผมบอกไป ลักษณะเด่นของตระกูลราชปักษาคือมีความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติเหนียวแน่น ดังนั้นนอกจากมหินทาและโคตาพยา และคนอื่นๆ ในตระกูลก็มีตำแหน่งในรัฐสภาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลราชปักษากำลังร่วมกันฉ้อราษฎร์บังหลวง

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่มีข้อหาดังกล่าว รัฐบาลก็บริหารงานผิดพลาดมาก กล่าวคือ ตระกูลราชปักษานั้นเป็นชาตินิยมขวาจัดซึ่งพึ่งพาแรงสนับสนุนจากกลุ่มพระสงฆ์ เนื่องจากพระสงฆ์นั้นมีแนวโน้มจะชอบรัฐสวัสดิการ “ที่ทำให้คนยากจนน้อยลง” มากกว่ารัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจทุนนิยม (ที่อาจเพิ่มความเหลื่อมล้ำ) จึงมีการพัฒนาสวัสดิการเป็นอันมาก แม้สิ่งนั้นจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้นในราคาถูกลง แต่ก็แลกกับการใช้เงินจำนวนมากมาอุ้มประชาชน

ระหว่างนี้ ศรีลังกาไปกู้เงินมาจากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น IMF, ญี่ปุ่น, หรือจีน ซึ่งจีนนี่เองได้สนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในศรีลังกามากมาย เด่นๆ ก็เช่น โรงไฟฟ้าลังคะวิชัยยะ, สนามบินมัทธาลา ราชปักษา (มัทธาลาเป็นชื่อเมือง ไม่ใช่สมาชิกตระกูลราชปักษาอีกคนนะครับ) รวมไปถึงท่าเรือฮัมบันโตตา และ เมืองท่าโคลอมโบซึ่งสองอันหลังจีนจ่ายเงินขอเช่าที่ 99 ปีพ่วงมาด้วย

ที่ให้กู้มาสร้างเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าจีนใจใหญ่หรอกครับ แต่เพราะจีนมองศรีลังกาเป็นหนึ่งใน “โครงการเข็มขัดและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือ “เส้นทางสายไหมใหม่” เพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าของตัวเอง

ซึ่งนอกจากศรีลังกาแล้วจีนได้ให้เงินประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งกู้เป็นอันมาก แล้วเข้าไปครอบครองกิจการต่างๆ เพื่อทำให้การค้าขายสะดวกขึ้น ต่อมาถูกวิจารณ์มากว่าทำให้ประเทศเหล่านี้มีปัญหาหนี้สินหัวโตและต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลจีน

(อนึ่ง เคยมีการเปิดโปงเรื่องนายมหินทารู้เห็นเป็นใจ ไปพูดกับข้าราชการศรีลังกาเองว่า “ถ้าใช้หนี้จีนไม่หมดก็ไม่เป็นไร ยกท่าเรือให้จีนไปแล้วขอยกเลิกหนี้เอาก็สิ้นเรื่อง”)

นอกจากนี้ การมาทำธุรกิจของจีน ใช่จะเป็นแบบชาติอื่นๆ ที่จ้างคนท้องถิ่นมาทำงาน โดยมีคนชาติตัวเองมาคุมเพียงจำนวนหนึ่ง แต่เป็นการนำแรงงานจีนมาทำทุกอย่างตั้งแต่ระดับแรงงานไปจนถึงผู้บริหาร ดังนั้นแทนที่ศรีลังการจะมีรายได้เข้าประเทศ และประชาชนมีงานทำ สิ่งต่างๆ ก็เลยตกเป็นของจีนหมด

…นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลโดนวิพากษ์วิจารณ์มากว่า “ขายชาติ”

ถึงจะเงินเหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตระกูลราชปักษายังดำเนินแนวทางประชานิยมอีกหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2019 ที่นายโคตาพยาหาเสียงให้ตัวเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาได้ชู “นโยบายลดภาษี” เพื่อเอาใจประชาชนอีก ทำให้พอได้รับเลือกจริงๆ มีผู้ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นนับล้านคน

…แต่เมื่อไม่มีเงินภาษีแล้ว ศรีลังกาจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน…

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

ศรีลังกาพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่ง พอเจอกับเหตุก่อการร้ายในปี 2019 ซ้ำด้วยโควิดตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเฟื่องฟูก็สูญหาย ทำให้ค่า GDP หรือมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศน้อยลงไปอีก จนในปีนั้นงบประมาณของศรีลังกาขาดดุลถึง 12.2%

นอกจากนี้ศรีลังกายังมีการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเรื้อรังซึ่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ (ทำให้ค่าเงินอ่อนหรือถูกลง และสินค้านำเข้าซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่ก็แพงขึ้นตามไปด้วย)

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายช่วงต้นปี 2022 จนคนสามารถเที่ยวศรีลังกาได้ ก็ปรากฏว่าเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวสองชาตินี้ที่เคยเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้หายไป อีกทั้งรายได้จากการส่งออกชาให้รัสเซียหลายร้อยล้านเหรียญก็หายไปด้วย

แต่ต่อให้ไม่มีสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้เช่นด้านบน ศรีลังกาก็อาจไม่รอด เพราะนอกจากนโยบายประชานิยมและการพึ่งพาทุนจีน รัฐบาลยังผิดพลาดอีกหลายประการรัวๆ

…เช่น ปี 2021 โคตาพยาได้ออกนโยบายห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยอ้างว่าต้องการเปลี่ยนให้ศรีลังกาทำการเกษตรแบบออร์แกนิค ช่วยรักษาสุขภาพของประชาชน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลต้องการลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีต่างหาก (เพราะไม่มีเงินแล้ว)

ปรากฏว่าสิ่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุแห่งความวิบัติ เพราะการไม่ใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของศรีลังกามีจำนวนน้อยลง เช่น ข้าวที่เป็นอาหารหลัก นั้นได้หายไปจากท้องตลาดถึง 20% จึงเกิดความอดอยากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมจากต่างประเทศมาชดเชย ทั้งชาที่เป็นสินค้าส่งออกหลักก็ได้รับผลกระทบอีก แม้จะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปภายหลัง แต่ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว

…สรุปยิ่งแก้ยิ่งแย่ เหมือนรัฐบาลแกล้งเขียนบทมาให้ชาติล่มสลาย…

จุดวิกฤติ

นับแต่เดือนมีนาคมปี 2022 ประชาชนศรีลังกาได้ลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล มีการสร้างแคมเปญ GoHomeGota2022 หรือ GotaGoHome เพื่อขับไล่นายโคตาพยาลงจากตำแหน่ง

นายโคตาพยาพยายามแถลงให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่ปรากฏว่าศรีลังกาไม่อาจชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ (ประมาณ 1.716 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เป็นเอกราช ทั้งที่ในปี 2022 นี้ อินเดียและจีนให้เงินช่วยเหลือและลดหนี้ให้ศรีลังการวมแล้ว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทุนสำรองก้อนสุดท้ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องกันไว้นำเข้าสินค้าจำเป็น

ผลกระทบตามมาคือศรีลังกาหมดความน่าเชื่อถือในการค้าขาย สาธารณูปโภคจำเป็นเช่นอาหาร ยา เชื้อเพลิง ล้วนขาดแคลน จะนำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่มีใครขายให้ จะผลิตเองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สุดท้ายราคาของทุกอย่างเลยพุ่งขึ้นไปสูงลิ่ว

ตัวอย่างคือ ข้าวสารราคาขึ้นไป 93% ส่วนมะพร้าวซึ่งเป็นหนึ่งในของโปรดของคนศรีลังกา ก็ขึ้นราคาจาก 50 รูปีศรีลังกา ไป 91 รูปีศรีลังกา นอกจากนั้นเงินก็ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ส่วนในด้านพลังงาน ศรีลังกาต้องตัดไฟ 13 ชั่วโมงต่อวัน และงดการขายน้ำมันแก่บุคคลทั่วไป เพื่อเก็บสำรองพลังงานที่แทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วไว้ใช้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดโรงเรียนและงดทำงานด้วย …เพื่อเป็นการประหยัดทุนทุกอย่าง

…พอไม่มีน้ำมันการขนส่งของศรีลังกาก็หยุดชะงัก ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักตาม

…สิ่งที่ตามมาคือวิกฤตอาหารและมนุษยธรรม

…ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก ชาวศรีลังกาได้รวมกันเผาบ้านของนายมหินทา ราชปักษา อดีตวีรบุรุษสงคราม แม้เขาจะยอมลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งจากการรายงาน เกิดการกวาดล้างผู้ประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 คน บาดเจ็บอีก 200 คน

ในห้วงวิกฤต รัฐบาลราชปักษาพยายามลดแรงกดดันโดยดึงนายรานิล วิกรมสิงเห ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสสายกลางขึ้นมาบริหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม

นายรานิลรับเผือกร้อนมาถืออย่างยากลำบาก สุดท้ายพอวันที่ 22 มิถุนายน เขาได้ออกแถลงการณ์ว่า “เศรษฐกิจของศรีลังกาล่มสลายลงโดยสมบูรณ์แล้ว” (completely collapsed)

บทส่งท้าย

ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ท่านคงจะเห็นว่าเรื่องราวหลายอย่างมักเวียนซ้ำเสมอ เรื่องของการ “สิ้นชาติ” ของศรีลังกาในครั้งนี้ ก็อาจรวมอยู่ในหมวดหมู่นั้นได้

สำหรับชาวทมิฬ ประภาการันคือวีรบุรุษ และวีรบุรุษคนเดียวกันนี้ พาชาติล่มสลาย

สำหรับชาวสิงหล ตระกูลราชปักษาคือวีรบุรุษ และวีรบุรุษกลุ่มเดียวกันนี้ พาชาติล่มสลาย

…แท้จริงวีรบุรุษต่างจากผู้ร้ายเพียงใด อะไรทำให้วีรบุรุษกลายเป็นผู้ร้ายได้เพียงนั้น?…

ในวิกฤตศรีลังกาปัจจุบันนี้ แม้รัฐบาลจะยังพยายามดิ้นรนขอกู้เงินมาหมุนต่อ และบากหน้าไปขอซื้อน้ำมันจากรัสเซีย (ที่ถูกชาติตะวันตกจะบอยคอตอยู่) แต่ชาวศรีลังกาสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐไปมาก และบางส่วนที่ยังพอมีเงินก็พากันหนีออกจากนอกประเทศไป ไม่ต่างกับที่เคยเกิดในช่วงสงครามกลางเมือง

จากการวิเคราะห์ ดูเหมือนทางออกเดียวของศรีลังกาคือต้องกู้เงินเพิ่มจาก IMF ส่วนอดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกชาวศรีลังกาก็ออกมาแสดงความเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องลดเงินอุดหนุนราคาสินค้าหลายอย่าง ซึ่งเท่ากับยิ่งซ้ำเติมประชาชนในช่วงเวลานี้

…มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามกลางเมืองนาน 30 ปีที่สร้างชื่อให้ตระกูลราชปักษาเสียอีก…

วิกฤตนี้จะปริวรรตไปเป็นอย่างใดนั้น มีแต่เวลาที่บอกได้…