หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับเจ้าลูกบอลทรงกลมขนาดยักษ์ที่อัดความร้อน แล้วพาพวกเราล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

ยานพาหนะหลักที่พาโดโรทีเดินทางไปยังดินแดนแห่งพ่อมดอ๊อซ หรือนวัตกรรมอากาศยานที่เกิดขึ้นมาก่อนเครื่องบิน ซึ่งถูกเรียกว่า “บอลลูน” กันมาบ้าง

แต่ในวันนี้เราจะมาดูกันครับว่า แล้วเรื่องราวของเจ้าบอลลูนที่ว่า มันไปเกี่ยวข้องกับ “เป็ด” “แกะ” “ไก่” ได้อย่างไร ?

จากโรงงานกระดาษ สู่การยกตัวด้วยก๊าซ และแม่แบบของบอลลูน

โจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน เป็นบุตรชายคนที่ 12 และคนที่ 15 ตามลำดับของทายาทในตระกูลมองต์โกลฟิเอร์ (Montgolfier) ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งหมด 16 คน

พวกเขาอาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ปิแอร์ ผู้เป็นพ่อและเสาหลักของครอบครัวนั้นเป็นเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น

ในวัยเด็กโจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน เป็นเด็กช่างฝัน และมักจะจินตนาการถึงความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์กับการทดลองเสมอ ๆ

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1782 ขณะที่ทั้งคู่กำลังช่วยงานกิจการโรงงานกระดาษของครอบครัวอยู่นั้น พวกเขาได้ค้นพบว่าการเอาความร้อนอัดเข้าไปในถุงกระดาษน้ำหนักเบา มันจะทำให้ถุงกระดาษใบนั้นลอยขึ้นไปบนอากาศได้อย่างน่าอัศจรรย์…

ต่อมาพวกเขาได้ทำการทดลองซ้ำอีกหลายครั้ง รวมถึงการนำกล่องที่ทำจากไม้น้ำหนักเบา มาหุ้มด้วยผ้าแพรแข็ง ๆ แล้วอัดลมร้อนเข้าไปด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือกล่องหรือวัตถุขนาดเล็กต่างๆสามารถลอยขึ้นไปในอากาศได้ด้วยการเติมความร้อนเข้าไป

โจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน จึงเรียกความร้อนที่ถูกเติมเข้าไปดังกล่าวว่า “ก๊าซมองต์โกลฟิเอร์” (Montgolfier Gas)

บอลลูน ยานพาหนะลอยฟ้าชนิดแรกของโลก

ภายหลังจากที่ค้นพบการยกลอยด้วยความร้อนแล้ว โจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน ได้ต่อยอดองค์ความรู้นี้ โดยการประดิษฐ์คิดค้นยานพาหนะที่จะสามารถพามนุษย์ลอยขึ้นไปบนฟ้าได้จริง ๆ เสียที แปลนต่าง ๆ ของยานพาหนะดังกล่าวถูกร่างขึ้น และถูกสร้างออกมาเป็นแบบจำลองมากมาย จากนั้นก็มีการนำไปทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1783 อากาศยานชนิดแรกของโลกอย่าง “บอลลูน” ก็ถือกำเนิดขึ้น แต่สิ่งที่นักประดิษฐ์อย่างโจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน ยังไม่มีข้อมูลเลยก็คือ เจ้าบอลลูนนี้ควรจะต้องลอยอยู่ในระดับความสูงที่เท่าไร ถึงจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร ?

ในการนี้สองพี่น้องมองต์โกลฟิเอร์จึงได้ตัดสินใจจัดงานแสดงโชว์การปล่อยบอลลูนขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1783 ที่บริเวณสวนภายในพระราชวังแวร์ซาย และจะเป็นครั้งแรกที่มีการนำสิ่งมีชีวิตลอยขึ้นไปกับบอลลูนด้วย

เป็ด แกะ และไก่: สามสหายที่ถูกเลือก

โดยในตอนแรกพระเจ้าหลุย์ที่ 16 กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ได้เสนอแนะให้สองพี่น้องมองต์โกลฟิเอร์ส่งเหล่านักโทษขึ้นไปทดสอบการลอยของบอลลูน เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดไปเลยว่ามันอันตรายต่อมนุษย์จริงไหม

แต่ทั้งโจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน ตอบปฏิเสธ โดยบอกว่าจะส่งสัตว์ 3 ประเภทขึ้นไปแทน ซึ่งสัตว์ดังกล่าวได้แก่ แกะ 1 ตัว ที่ชื่อ “มอนตาซิเอล” ไก่ 1 ตัว และเป็ดอีก 1 ตัว

ทั้งนี้สองพี่น้องให้เหตุผลว่า เพราะแกะนั้นมีสรีระวิทยาคล้ายคลึงกับมนุษย์ ส่วนเป็ดนั้นจะถูกนำมาใช้ในฐานะเป็น “ตัวแปรควบคุมการทดลอง” เพราะเป็นสัตว์ที่สามารถบินได้สูงมาก และไก่จะถูกใช้ในฐานะ “ตัวแปรเปรียบเทียบกับเป็ด” เพราะมันเป็นสัตว์ที่บินได้ต่ำมาก

ประสบการณ์กลางเวหากับบอลลูนลูกแรกของโลก

วิธีการทดลองคือ นำสัตว์ทั้งสามตัวใส่ไว้ในกรงที่แขวนไว้ใต้บอลลูน แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นไป

ตามบันทึกการทดสอบของสองพี่น้องมองต์โกลฟิเอร์พบว่า บอลลูนถูกแรงลมปะทะอย่างหนักในขณะที่กำลังบรรจุลมร้อน แต่ในที่สุดมันลอยขึ้นแบบไร้ทิศทางอยู่ประมาณแปดนาที ก่อนที่จะตกลงในพื้นที่ป่า ซึ่งห่างออกไปจากจุดปล่อยที่พระราชวังแวร์ซายราว ๆ สองไมล์

เมื่อไปถึงจุดตกของบอลลูน สองพี่น้องมองโกลฟิเอร์พบว่า สัตว์ทั้งสามตัวไม่ได้รับบาดเจ็บจากการเดินทางด้วยบอลลูนในครั้งนี้แต่อย่างใด จะมีก็แต่บาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ของไก่ที่ถูกเจ้าแกะมอนตาซิเอลเตะเพียงแค่นั้น

อีกไม่นานภายหลังจากการทดลองดังกล่าว โจเซฟ-มิเชล และ ยัค-เอเตียน มองต์โกลฟิเอร์ ก็สามารถนำมนุษย์ขึ้นไปลอยบนบอลลูนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จนนำมาซึ่งรากฐานที่สำคัญของเทคโนโลยีทางอากาศยานต่าง ๆที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงนับได้ว่า มนุษยชาติเป็นหนี้บุญคุณเจ้าสิ่งมีชีวิตทั้งสาม ซึ่งได้แก่ เจ้าแกะมอนตาซิเอล เจ้าไก่ที่โดนแกะเตะ และเจ้าเป็ด ที่ไม่เพียงแต่ช่วยนักโทษบางคนให้รอดพ้นจากการทดลองที่แสนอันตราย แต่ยังทำให้มนุษย์เรามีความมั่นใจมากขึ้นที่จะใช้บอลลูนสำหรับทำการบินในครั้งต่อ ๆ ไปอีกด้วย

… และนี่คือประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของโลกแห่งการบินครับ