“ถ้าสงสารมากนัก ก็เอากลับบ้านไปเลี้ยงสักคนสองคนสิ!”
คำพูดนี้เป็นประโยคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อตอนที่มีการเสนอข่าวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาซึ่งมีข่าวว่าพากันลี้ภัยมาประเทศไทยในปี 2015
ณ ขณะนั้นชาวไทยจำนวนมากรู้สึกตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว กลัวว่าคนเหล่านี้จะเข้ามาสร้างปัญหา ก่ออาชญากรรมด้วยประการต่างๆ วาทกรรมโจมตีผู้เห็นใจผู้ลี้ภัยจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อหยุดยั้งมิให้มีการรับคนเหล่านี้
จริงๆ ความกังวลของผู้ต่อต้านนั้นก็มีส่วนจริง ชาวโรฮิงญาเป็นมุสลิม มีเชื้อสายใกล้เคียงกับชาวบังกลาเทศ …ก็ในเมื่อบังกลาเทศ หรือชาติมุสลิมยังช่วยเหลือพวกเขาไม่มากเท่าที่ควรแล้วชาวไทยเราจะรับคนเหล่านี้เข้ามาทำไม? เหตุใดจึงไม่เอาเงินไปช่วยคนยากจนชาวไทยด้วยกันก่อนเล่า?
บทความนี้มิได้มีขึ้นด้วยเจตนาต่อต้านวาทกรรมดังกล่าว …ตรงข้าม เราจะเขียนไปอีกเรื่องหนึ่ง
…เราจะเขียนว่าการเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว และคุณเองอาจจะไม่ได้ห่างไกลจากการเป็น “ผู้ลี้ภัย” เท่าที่คุณคิด…
ทุกวันนี้เรามองสงครามเป็นเรื่องไกลตัว แต่ท่านเคยได้ยินคำว่า “Long Peace” หรือ “สันติภาพยาวนาน” หรือไม่?
สิ่งที่นักวิชาการปัจจุบันหวาดกลัวกันคือ “ยุคแห่งสันติภาพ” ที่เราอาศัยอยู่อย่างเคยชินนั้นเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษย์
ในอดีตนั้นสงครามเป็นเรื่องปกติมากกว่าตอนนี้ มันไม่มีหรอกที่ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ จะว่างเว้นจากสงครามใหญ่ไปได้ 20 – 30 ปี
แต่นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ชาติมหาอำนาจต่างๆ ก็ยังไม่เคยรบกันเองถึงขั้นแตกหักอีกเลย ดังนั้นโลกในยุคนี้จึงเป็นช่วงที่สงบสุขมากที่สุดยุคหนึ่ง นักวิชาการบางคนถึงขั้นบอกว่าในประวัติศาสตร์นี่เป็นยุคที่สันติภาพดำเนินมาเป็นเวลานานที่สุด จนดูผิดปกติ!
แต่ถามว่าในช่วงเวลาหลังสงครามโลกเป็นต้นมา เราเคยเข้าใกล้ “สงครามโลก” อีกหรือไม่? …คำตอบคือมีบ่อยครั้งกว่าที่คิด
…ในปี 1961 ที่เบอร์ลิน ทัพสัมพันธมิตร กับทัพโซเวียตที่อาวุธครบมือเคยตั้งประจันกันในระยะไม่ถึงร้อยเมตร เพราะปัญหาความขัดแย้งเรื่องการปกครองเมืองดังกล่าว …ณ ตอนนั้นหากมีใครคนใดคนหนึ่งทำกระสุนลั่นนัดเดียว …สงครามโลกครั้งที่สามก็อาจเกิดขึ้น…
…ในปี 1983 ฝ่ายโซเวียตได้รับสัญญานผิดว่าอเมริกายิงมิสไซล์ใส่พวกเขา และขั้นตอนปกติที่ควรทำหลังจากนั้นคือการยิงมิสไซล์ตอบโต้ แต่ สตานิสลาฟ เพตรอฟ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโซเวียตได้ตัดสินใจด้วย “สัญชาตญาน” ว่าสัญญานนั้นเป็นสิ่งผิด และไม่ทำการตอบโต้ …ณ ตอนนั้นถ้าเพตรอฟไม่เลือกทำตามสัญชาตญาน …สงครามโลกครั้งที่สามก็อาจเกิดขึ้น…
ในปี 2022 ซึ่งรัสเซียบุกยูเครนนั้น มีการตั้งคำถามว่ามันต่างกับการที่ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นขนาดไหน? …และนี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกเราเข้าใกล้สงครามใหญ่ที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่ง…
…สงครามไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด …ล่าสุดที่อยู่ใกล้ๆ เราก็มีที่พม่า …และถ้าใกล้กว่านั้นก็ยังมีความไม่สงบที่ภาคใต้ของไทยเราเอง
… “สันติภาพยาวนาน” นี้จะนานแค่ไหน? เราจะโชคดีไปถึงตอนใด? แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามขึ้น …แต่โดยสถิติในอดีตนั้น การที่สงครามว่างเว้นไปนานขนาดนี้นับเป็นเรื่องประหลาด…
ประหลาดจนทำให้คนในรุ่นเราท่านล้วนไม่เคยชินกับสงคราม และไม่มีไอเดียว่าจะต้องรับมืออย่างไรถ้าหากสงครามเกิดขึ้นจริง…
แล้วหากมีสงครามจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาล่ะ? โดยสถิติแล้ว สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ “เราจะกลายเป็นผู้ลี้ภัย”
ผู้ลี้ภัยคือใคร?
ถ้าคุณคือชนชั้นกลางอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ …ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากก็คือคนที่คล้าย ๆ พวกคุณนั่นแหละ
…พวกเขาอาจจะเคยเป็นครู เป็นหมอ เป็นพ่อค้า เป็นวิศวกร เป็นพนักงานเงินเดือน มีเงินเดือนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน …ซึ่งจากสถิติการเข้าถึงเพจ The Wild Chronicles พวกคุณผู้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้
…พวกเขาทุกคนมีความฝัน พวกเขาทุกคนมีภาระหน้าที่ มีปากท้องของคนรักและครอบครัวให้ดูแล เฉกเช่นเดียวกับคุณ
ถ้าเกิดสงครามขึ้น ฐานะของคุณอาจจะดีพอที่ทำให้มีเงินจ้างนักลักลอบให้พาตัวออกไปจากประเทศแม่ที่ถูกสงครามเปลี่ยนเป็นแดนนรก
…คุณอาจโชคดีไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร และไม่ต้องเสี่ยงตาย …แต่ฐานะคุณก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้คุณได้อยู่อย่างสบายเหมือนกลุ่มที่ร่ำรวยจริงๆ
…ที่นี้เรามาดูว่าอะไรอาจเกิดขึ้นถ้าคุณกลายเป็นผู้ลี้ภัยนะครับ…
เผชิญกับสภาวะครอบครัวที่แตกสลาย
แน่นอน เมื่อบ้านของคุณถูกทำลาย ชุมชนละแวกที่คุณอยู่อาศัยกลายสภาพเป็นที่ๆ ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ถนนหนทางถูกสงครามเปลี่ยนให้เป็นลานสังหาร มีผู้คนที่คุณรู้จักถูกฆ่าตายหลายคน และวินาทีที่คุณตัดสินใจหนีออกมา มันอาจจะกลายเป็นวินาทีสุดท้ายในชีวิตที่จะได้เจอหน้าครอบครัวของคุณ
ตอนนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อคุณมักจะเป็นลูก …ต่อมาเป็นคู่ชีวิต และ/หรือตัวของคุณเอง …คุณอาจจะต้องแย่งชิงทรัพยากรที่เหลือน้อยกับเพื่อนและญาติสนิทของคุณ และคุณอาจจะต้องตัดใจทิ้งพ่อแม่ที่แก่ชราไว้เบื้องหลังเพราะพวกเขาจะเป็นตัวถ่วง ลำพังแค่คุณเป็นคนที่มีร่างกายครบ 32 ก็ว่าลำบากแล้ว ลองจินตนาการดูสิครับว่า ถ้าหากคุณหรือสมาชิกในครอบครัวที่หนีภัยมาพร้อมกับคุณ เป็นคนหนึ่งที่มีความพิการ หรือต้องการการดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดจะเป็นอย่างไร?
สุดท้ายคุณจะต้อง “เลือก” ตัวเลือกที่ยากลำบากมากมาย และเมื่อผ่านการเลือกแต่ละครั้ง คุณจะเริ่มรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ของคุณเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ
เผชิญหน้ากับความเป็นความตายระหว่างเดินทาง
ไม่ว่าคุณจะสามารถจ้างนักลักลอบให้ช่วยพาคุณหนีข้ามชายแดน หรือข้ามทะเลได้ หรือจะต้องเสี่ยงข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติด้วยตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าจะเลือกทางไหน คุณเองก็ยังคงต้องเสี่ยงภัยอันตรายถึงแก่ชีวิตอยู่ดี ดั่งที่ปรากฏอยู่เสมอในหน้าข่าวต่างประเทศ
วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2021: พบผู้อพยพลี้ภัยจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 43 คน บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศจิบูติ ภายหลังจากที่พวกเขาหนีตายออกมาจากประเทศซีเรีย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตพบว่าเป็นเด็กถึง 23 คน
วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2021: มีผู้ลี้ภัยเด็กชาวอัฟกันจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 4 คน ภายหลังจากที่เรือบรรทุกผู้อพยพจำนวนกว่าร้อยคนจมกลางทะเลใกล้ชายฝั่งประเทศกรีซ
วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2021: เกิดอุบัติเหตุเรือไม้บรรทุกผู้อพยพลี้ภัยล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้ชายฝั่งของประเทศลิเบีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 102 คน และหน่วยกู้ภัยทางทะเลสามารถช่วยขึ้นมาได้เพียง 8 คนเท่านั้น
จากข้อมูลขององค์กร Euro-Mediterranean Human Rights Monitor พบว่า ภายในช่วงปี ค.ศ.2021 อย่างเดียวนั้น มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตระหว่างที่เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อมายังทวีปยุโรปจำนวน 1,838 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 5 ศพต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งอัตราการเสียชีวิตดังกล่าวสูงกว่าสถิติของปีก่อนหน้าถึง 20% … และเป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในปีถัดจะยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ต้องเจอกับความแออัดของค่ายผู้ลี้ภัย หรือสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นชิน
เมื่อคุณเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่รอดชีวิตจากการเดินทาง ปราการด่านต่อไปที่คุณต้องเผชิญในฐานะผู้ลี้ภัยก็คือ สภาพแวดล้อมใหม่ที่สภาพความเป็นอยู่เข้าขั้นแย่แบบติดลบ จากสถิติของ UNHCR พบว่า ค่ายผู้ลี้ภัยหลาย ๆ แห่งมีความแออัดมากและขาดความปลอดภัย เนื่องด้วยศักยภาพในการรับมือกับผู้ลี้ภัยของประเทศปลายทางเองที่มีน้อย
ดังเช่น ค่ายผู้ลี้ภัยที่ชื่อ คูตูพาลอง (Kutupalong refugee camp) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองคอกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ เป็นค่ายที่ได้ชื่อว่ามีความหนาแน่นมากที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขประชากรผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ราว 6 แสนคน ภายในพื้นที่ขนาด 13 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นชาวโรฮิงยาที่หนีการประหัตประหารมาจากประเทศพม่า
ผู้ลี้ภัยเขตเมือง
นอกจากค่ายผู้ลี้ภัยแล้ว คุณอาจเลือกหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ในเมือง ซึ่งมองว่าดีกว่าเพราะไม่ต้องถูกคุมขัง แต่นั่นก็อาจไม่ได้ดีเท่าที่คิด …คุณเองก็จะกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” …ซึ่งรู้ไหมว่า ในกรุงเทพเองก็มีคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่มากมาย ภายใต้ความอัตคัดในหลาย ๆ ด้าน
ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันชื่อ นาดีน คือตัวอย่างของผู้ลี้ภัยในเขตเมืองดังกล่าว เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกน้อย 3 คน สามีของเธอถูกกลุ่มตาลีบันสังหารโหดกลางลานบ้านด้วยข้อหาที่ว่าเขามีชาติพันธุ์เป็นชาวฮาซาร่า (Hazara) เชื้อชาติที่นักรบตาลีบันมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคมของประเทศอัฟกานิสถาน
กลางดึกคืนเดียวกันนั้น เธอตัดสินใจพาลูกๆวัยไม่ถึง 12 ขวบของเธอทั้ง 3 คน หนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนอย่างทุลักทุเล จนสามารถข้ามพรมแดนมายังเมืองเล็กๆ ในประเทศปากีสถานที่อยู่ติดกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากที่นั่นไม่ได้มีค่ายผู้ลี้ภัยแบบเป็นทางการ พวกเธอจึงต้องอาศัยอยู่ในห้องเช่าอันคับแคบ และว่างเปล่าที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ สมาชิกครอบครัวทั้ง 4 คนไม่มีเงินสำหรับการซื้อหาอาหาร หรือเครื่องนุ่งห่มสำหรับใช้ในฤดูหนาว ตลอดจนไม่มีเงินซื้อปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ
แม้ครอบครัวของนาดีนจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรมอย่าง UNHCR แต่มันก็น้อยนิดเกินกว่าจะดูแลปากท้องของลูกๆ ที่กำลังโตได้ นาดีนเล่าให้ฟังว่า หลายครั้งเธอต้องตักน้ำจากชักโครกมาหุงข้าวให้ลูกกิน และเอาน้ำจากแหล่งเดียวกันไปอาบให้ลูกน้อยของเธอ การที่เธอไม่สามารถทำงานได้ หรือไร้ซึ่งหลักประกันด้านสุขภาพใด ๆ ส่งผลให้ครอบครัวของเธอสลับกันมีอาการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา
ค้นพบว่าความเป็นตัวตนที่สั่งสมมาถูกลบล้าง
ไม่ใช่แค่ครอบครัวเท่านั้นที่คุณจะสูญเสีย อาชีพ ความฝัน passion ทรัพย์สิน และอนาคต ก็ล้วนหายไปพร้อมกับการตัดสินใจหนีออกจากภัยสงครามของคุณด้วย อาทิเช่น ถ้าคุณเคยเป็นนักธุรกิจใหญ่ คุณย่อมจะไม่ได้ทำอาชีพนั้นอีกในระยะอันใกล้ เพราะฝีมือการบริหารของคุณจะมีค่าน้อยลงมากในสภาพแวดล้อมใหม่ คุณอาจกลายมาเป็นคนขนผักในตลาดสด เพื่อแลกกับค่าแรงรายวันสำหรับใช้ประทังชีวิต ….นี่ยังนับว่าโชคดี หลายกรณีสถานการณ์ได้บีบให้ผู้หญิงต้องเป็นโสเภณี และผู้ชายต้องกลายเป็นโจร
คุณวิน (ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และช่วยให้ข้อมูล/ช่วยผมเขียนบทความนี้) ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาครอบครัวหนึ่งที่พักอาศัยอยู่ในแทบชานเมืองกรุงเทพ พวกเขาบอกว่า เมื่อก่อนเขาเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยภัยการเมืองเขาจึงต้องหนีมาที่นี่พร้อมกับครอบครัว ที่นี่เขากับภรรยาต้องตื่นตีสามทุกวันเพื่อมาทำงานขนผัก เด็ดพริก แลกกับค่าแรงคนละ 40 บาท/วัน และพวกเขาก็ใช้เงิน 80 บาทที่ได้นี้ สำหรับเลี้ยงปากท้องของลูกๆอีก 3 คน … ทุกวัน
เจอการไล่ล่าอย่างไม่หยุดหย่อนของสายลับ และความเสี่ยงต่อการถูกจับส่งกลับ
ใช่ว่าเมื่อคุณสามารถหลบหนีลี้ภัยออกมาจากประเทศของตนเองแล้วจะปลอดภัย จากรายงานขององค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ถูกสังหาร ลักพาตัว หรือบังคับส่งกลับประเทศต้นทาง โดยหน่วยตำรวจลับ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศผู้ให้ที่พักพิงที่ให้ความร่วมมือด้วย ดังเช่นในกรณีของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกรัฐบาลไทยบังคับส่งกลับไปประเทศจีน ในปี ค.ศ.2015 หรือผู้ลี้ภัยชาวอิหร่านที่ถูกเจ้าหน้าข่าวกรองของประเทศตัวเองคุกคาม เป็นต้น
การรอคอย ด้วยความหวังอันริบหรี่จากประชาคมระหว่างประเทศที่พยายามหาทางหยิบยื่นให้
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ที่มีอยู่เพียง 1% ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดทั่วโลก คุณก็จะได้รับการอนุญาตให้ย้ายพำนักในประเทศที่สามอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลียได้ แต่มันก็ไม่ได้สวยหรู เพราะการปรับตัวใหม่ ทั้งเรื่องสังคมและภาษานั้นเป็นสิ่งยากมากโดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้สูงอายุ มีผู้ลี้ภัยหลายคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เมื่อได้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม
และถ้าคุณกลายเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ คุณก็จำเป็นต้องอยู่ในประเทศที่เป็นผู้รับต่อไป …
…อยู่ต่อไปอย่างไม่รู้อนาคต
…และต้องอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งประเทศบ้านเกิดของคุณเกิดสันติภาพ และปลอดภัยมากพอที่คุณจะตัดสินใจเดินทางกลับไปโดยสมัครใจ …ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อใด…
ครั้งหนึ่งผมเคยพบผู้ลี้ภัยหญิงชาวยาซิดีในอิรัก ความผิดเดียวของเธอ คือหมู่บ้านของเธอถูกกลุ่ม ISIS บุกไปสังหารผู้ชายในหมู่บ้านจนหมด แล้วจับผู้หญิงและเด็กไปเป็นทาสกาม ซื้อขายเหมือนกับสัตว์ เธอถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา ถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต้องพลัดพรากจากลูกซึ่งไม่ทราบว่าถูกเอาไปทำอะไรบ้าง …และเมื่อพวก ISIS ถูกปราบไปแล้วเธอก็ยังกลับบ้านไม่ได้ เพราะบ้านกลายเป็นพื้นที่สงครามไปแล้ว …นั่นทำให้เธอต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยไปวัน ๆ อย่างไร้จุดหมาย
… และนี่คือทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณ ถ้าวันหนึ่งคุณได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยขึ้นมาจริงๆ…
…และในทั้งหมดนั้นคุณก็จะถูกมองไม่ดี เนื่องจากเพื่อนร่วมชะตากรรมของคุณบางคนที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องยอมขโมยของหรือเป็นโสเภณี …คุณจะถูกค่อนแคะแบบเหมารวมจากประชาชนประเทศที่คุณหลบภัยว่าเป็นกาฝาก เป็นภัยสังคม
…และ “ถ้าสงสารมากนัก ก็เอากลับบ้านไปเลี้ยงสักคนสองคนสิ!”
…และคุณก็อาจจะด่ำดิ่งไปเรื่อยๆ สู่อนาคตที่ชั่วร้าย หรือความตาย
ท่านที่รักครับผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์คนละแบบกับกลุ่มที่อพยพมาเพื่อหาโอกาสทางการงาน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้ เพราะพวกเขาอาจพบความตายถ้าหากว่าพวกเขากลับไป
งาน UNHCR
ท่านที่รักครับ ไม่นานนี้ผมได้รับเชิญไปงานรับประทานอาหาร Empathy Emergency Fund ของ UNHCR
เขาพูดถึงเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งจากปี 2021 ที่มีลงทะเบียนอยู่ 80 ล้านทั่วโลก
…มาปีนี้ก็ทะลุไป 100 ล้านคนแล้ว UNHCR ทำงานในพื้นที่เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง แต่ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภาวะวิกฤติฉุกเฉินนั้นมหาศาล พวกเขามีปัญหาขาดแคลนเงินทุนในการช่วยเหลือคนเหล่านี้จึงเรียกระดมอยู่เรื่อย ๆ
…พูดง่ายๆ ว่าเขาอยากให้ผมช่วยใช้เพจ The Wild Chronicles เป็นที่รับเงินบริจาคไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนั่นเอง…
…ผมทราบว่าหลายคนพอฟังเรื่องผู้ลี้ภัยก็ไม่อยากช่วย เพราะสิ้นเปลือง, หรือรับมาก็อาจสร้างปัญหาสังคม
…และใช่แล้วครับ เงินบริจาคไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มันยากที่เงินบริจาคของเราจะหยุดสงครามหรือการเข่นฆ่าได้
…แต่เงินบริจาคเหล่านั้นจะต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่กำลังลำบากถึงขีดสุดไปได้อีกหน่อยหนึ่ง
เงินนี้จะถูกนำไปซื้ออาหาร: เพราะกว่าครึ่งของผู้ลี้ภัยได้รับอาหารที่ไว้ทานทั้งวันน้อยกว่าอาหารเช้าที่ทุกคนได้ทาน นี่ทำให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อดตายไป 2 คน ในทุกๆ 1,000 คน ทุกเดือน
เงินนี้จะถูกนำไปซื้อน้ำ และเครื่องกรองน้ำ: เพราะในผู้ลี้ภัยทุกๆ 10 คน มีเพียง 4 คนที่ได้รับน้ำสะอาดเพียงพอตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีพ
เงินนี้จะถูกนำไปซื้อไฟฉายพลังแสงอาทิตย์
…เพราะ “กลางคืน” ของผู้ลี้ภัยเขตเมืองที่นอนอยู่กลางถนนนั้น …มันมืดมาก …อันตรายมาก
เงินบริจาค 100 % ของท่านไม่มีการหักค่าใช้จ่าย และจะนำไปเป็นความคุ้มครองชีวิตทุกด้าน มอบอาหาร น้ำสะอาด สร้างที่พักพิง โรงเรียน และโรงพยาบาลแก่พวกเขา
…ประเทศรวันดาซึ่งเคยมีสงครามใหญ่ บัดนี้เมื่อสงครามสงบก็เป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจากชาติอื่น
…เพราะพวกเขาได้รับความเมตตาในวันนั้น พวกเขาจึงมีอนาคตและสามารถมอบความเมตตาแก่ผู้อื่นตอบแทนได้
…และโลกเรายังคงดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความเมตตาเช่นนี้เองครับ…
ท่านสามารถร่วมบริจาคกับ UNHCR ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.unhcr.org/th/?fbclid=IwAR05lG4I22EMxPVjK0Qt0Nos25yQxtDFJOETyLPYSl6tLmdocstZzOrn_ZA
หรือสามารถร่วมบริจาคผ่านบัตรเครดิต เดบิต Line Pay หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี UNHCR Special Account เลขที่ 004-225-8596
เมื่อโอนเงินบริจาคเรียบร้อยแล้วกรุณาส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ LINE ID: @unhcrdonation
0 Comment