เมื่อพูดถึงสื่อวายใครหลายคนจะต้องนึกถึงคำว่า “Yaoi” “ชายรักชาย” หรือ “สาววาย” ท่านเคยสงสัยไหมว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มมาจากไหน ?

สื่อวายเป็นตลาดที่เติบโตมานาน และกำลังจะเป็นกระแสวัฒนธรรมใหญ่กระแสหนึ่ง ซึ่งผู้คนต่างให้ความสนใจ ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงต่างก็มาลงทุนให้กับสื่อวายมากขึ้นเรื่อย ๆ

…แล้วเรื่องวาย ๆ มันเป็นยังไงกันแน่ มันมีอะไรบ้างล่ะ ?

บทความนี้เราจะพาท่านไปทำความรู้จักกับเรื่องวายๆ และความแฟนตาซีของ Universe วาย ๆ กัน

 Yaoi คืออะไร ? 

ตามที่หลายคนเข้าใจ… ญี่ปุ่นได้นำความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชายมาจัดทำงานเขียนประเภท นวนิยาย ฟิคชั่น ไปจนถึงมังงะ โดยเรียกงานประเภทนี้ว่า “Yaoi” (やおい) หรือ “Boy love” (BL) ซึ่งภาษาไทยบ้านเราเรียกสั้น ๆ ว่า “วาย”

คำว่า Yaoi หรือ ยาโอย ถือกำเนิดขึ้นในปลายยุค 70s จากนักเขียนมังงะสองคนคือ ซากาตะ ยาสุโกะ (坂田 靖子) และ ฮัทสึ อาคิโกะ (波津 彬子) โดย Yaoi มาจากการผสมระหว่างคำสามคำได้แก่ “ยามะ นาชิ” (山[場]なし) “โอชิ นาชิ” (落ちなし) และ “อิมิ นาชิ” (意味なし) ซึ่งคำแต่ละคำมีความหมายว่า “ไม่มีจุดสำคัญ” “ไม่มีบทสรุป” และ “ไม่มีความหมาย” ทั้งสามคำนี้เมื่อรวมกันจึงมีความหมายเป็นนัย ๆ ว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป เขียนแบบไหนก็ได้ตามใจชอบ เน้น “ความฟิน” ไว้ก่อน

เวลาผ่านไปสื่อนี้วายได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยเป็นงานทางเลือกต้องแอบ ๆ อ่าน ก็เฟื่องฟูและแตกแขนงออกไปอีกมาก จนมีคำนิยามมาจำกัดความประเภทย่อยมากขึ้น เช่น:

โชเน็นไอ (Shonen-ai) เริ่มใช้ในยุค 70s เป็นประเภทย่อยแนวใหม่ของการ์ตูนผู้หญิง (Shojo Manga) ที่กล่าวถึงเรื่องราวโรแมนติกระหว่างเด็กหนุ่มหน้าสวยที่เรียกว่า “บิโชเน็น” (美少年) โดยมีคาแร็กเตอร์รูปร่างสูง ผอมเพรียว ผิวเนียน ไม่มีกล้ามเนื้อ โชเน็นไอนั้นไม่จำเป็นต้องเป็น Yaoi แต่ก็ทับซ้อนกันมาก

นอกจากนั้นยังมีคำว่า ทันบิ (耽美) เป็นวรรรณกรรมชายรักชายที่มีการใช้ภาษาสละสลวยเน้นถึงความบริสุทธิ์ มีการใช้ตัวคันจิที่อ่านยาก นอกจากแนววายแล้ว ยังมีงานเขียนที่อาจเปรียบเทียบได้ คือแนวหญิงรักหญิงที่เรียกว่า “Yuri” (百合) เป็นความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับผู้หญิงแบบใกล้ชิด ตั้งแต่ชั้นมิตรภาพไปจนถึงความโรแมนติกหรือการมีเพศสัมพันธ์

คำว่ายูริในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “ดอกลิลลี่” ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปของเด็กผู้หญิงในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีความหมายที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความงดงามในงานวรรณกรรมของญี่ปุ่น

กำเนิดสาววาย หนุ่มวาย

เมื่อมีสื่อวายแล้ว… สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นตามต่อมาก็คือเหล่าสาวกที่ชื่นชอบเรื่องชายรักชาย โดยพวกเขาถูกเรียกในชื่อของ “สาววาย” ในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า ฟุโจชิ (腐女子) หมายถึงผู้หญิงที่ชื่นชอบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย

คำว่าฟุโจชิเริ่มมีการใช้บนอินเตอร์เน็ตในปี 1990 และเริ่มกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในปี 2005 นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ชื่นชอบสื่อชายรักชายเท่านั้น ผู้ชายเองก็ชื่นชอบเช่นกันโดยพวกเขาเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “หนุ่มวาย” ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฟุดันชิ (腐男子) ซึ่งฟุดันชิไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์ แค่มีรสนิยมชอบอะไรพวกนี้เฉย ๆ

ในหมู่ของสาววายและหนุ่มวายจะมีศัพท์เฉพาะเอาไว้สื่อความหมายระหว่างในกลุ่ม นั่นก็คือคำว่า “จิ้น” ซึ่งคำ ๆ นี้ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์หรือเวอร์จิ้นแต่อย่างใด แต่มาจากคำว่า Imagine ในภาษาอังกฤษแปลว่าจินตนาการ โดยตัดทอนเหลือเพียงแค่คำว่าจิ้น ดังนั้นคำว่าจิ้นจึงมีความหมายถึงการจินตนาการในความสัมพันธ์อันโรแมนติกระหว่างผู้ชายกับผู้ชายของสาววายหนุ่มวายนั่นเอง

ทว่าในปัจจุบันคำว่าจิ้นถูกนำมาใช้ในบริบทสังคมทั่วไปมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงแค่ความสัมพันธ์ของชายรักชายเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลไม่ว่าใครก็ตามที่ดูเหมือนจะเป็นคนรักกัน ดูกุ๊กกิ๊กกัน รวมไปถึงมีเคมีที่เข้ากันได้ ก็สามารถถูกเอาไปจินตนาการต่อเป็นเรื่องราวได้

นอกจากคำว่าจิ้นแล้วยังมีคำว่า “ชิป” ที่ย่อมาจากคำว่า Relationship ซึ่งมีความหมายและหลักการใช้เหมือนกับคำว่าจิ้น โดยส่วนใหญ่คำว่าชิปมักใช้ในหมู่แฟนคลับติ่งเกาหลี โดยพวกแฟน ๆ จะจินตนาการถึงความสัมพันธ์และเคมีความเข้ากันระหว่างกลุ่มศิลปินในวงที่ตนเองชื่นชอบ และเรียกตัวเองว่า “ชิปเปอร์”

เมะ เคะ ? 

ในวงการ Yaoi หรือ Boy Love จะมีสิ่งที่เรียกว่า “เมะ” และ “เคะ” คำเหล่านี้คืออะไร?

คำว่า เมะ มาจากคำว่า “เซเมะ” (攻め) มีที่มาจากตัวคันจิที่เขียนว่า “เซเมะรุ” (攻める) หมายถึง การโจมตี ส่วนคำว่า เคะ มาจากคำว่า “อุเคะ” (受け) โดยมาจากตัวคันจิ “อุเคะรุ” (受ける) หมายถึง การตั้งรับ ซึ่งแรกเริ่มสองคำนี้ใช้ในวงการศิลปะการต่อสู้เพื่ออธิบายถึงบุคคลที่เข้าโจมตีคู่ต่อสู้ กับอีกฝ่ายที่ตั้งรับการโจมตี

ต่อมาภายหลังมีการใช้สองคำนี้ในวงการ Yaoi เพื่ออธิบายถึงบทบาททางเพศโดยเฉพาะ ‘เรื่องบนเตียง’ ของตัวละครในความสัมพันธ์ชายรักชาย โดยเมะจะหมายถึง “ฝ่ายรุก” ส่วนเคะจะหมายถึง “ฝ่ายรับ” นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ริบะ” (リバ) มาจากคำว่า “ริบะชิบุรุ” (リバーシブル) หมายถึง พลิกกลับได้ เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่สามารถผลัดกันรุกผลัดกันรับนั่นเอง

ในบ้านเราไม่ได้เรียกฝ่ายรุกฝ่ายรับเพียงแค่คำว่าเมะ เคะ เท่านั้น ยังมีการเรียกอีกหลายอย่าง เช่น พระเอก – ‘นาย’เอก โพซ้าย – โพขวา … ท่านอาจจะสงสัยว่าโพซ้ายโพขวาคืออะไร คำว่า โพ มาจากคำว่า โพสิชั่น (Position) หมายถึง ตำแหน่ง

ส่วนคำว่าซ้ายขวานั้นเป็นความหมายแฝงจากการตั้งชื่อของคู่จิ้น ตัวอย่างเช่น คู่จิ้น AB จะหมายถึง A เป็นฝ่ายรุกเพราะชื่ออยู่ข้างหน้า ส่วนนาย B เป็นฝ่ายรับเพราะชื่ออยู่ด้านหลัง ดังนั้นเมื่อเวลาจิ้นกัน A จะเป็นโพซ้าย ส่วน B เป็นโพขวา

สื่อวายมีอะไรบ้าง ?

เริ่มแรกเดิมทีสื่อ Yaoi ยังอยู่ในรูปแบบของมังงะและนวนิยาย รวมถึง “โดจินชิ” (同人誌) อันเป็นผลงานที่รังสรรค์จากจินตนาการของแฟนการ์ตูน โดยมักอิงตัวละครมาจากการ์ตูนที่ชื่นชอบ แต่งเป็นเรื่องราวเพิ่มเติมออกไปเพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าแฟนการ์ตูน โดยการ์ตูนนั้นจะเป็นการ์ตูนวายหรือไม่ก็ได้

เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น รวมถึงการแข่งขันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงที่มากขึ้นจึงทำให้มีการเพิ่มช่องทางสื่อที่หลากหลายเพื่อเป็นการดึงดูดและสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นอาทิเช่น:

ออดิโอดราม่า (Audio Dramas) ดราม่าซีดี (Drama CDs) หรือ เรดิโอดราม่า (Radio Dramas) เป็นการบันทึกเสียงของนักพากย์ชายโดยพากย์เสียงตามเนื้อเรื่องชายรักชายที่ดัดแปลงมาจากมังงะและนวนิยาย

ออดิโอดราม่าไม่ได้มีเพียงแค่สื่อของชายรักชายเท่านั้น ในการ์ตูนมังงะทั่วไปก็มีเช่นกันมักจะมาในรูปแบบของตอนพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาหลัก

อนิเมะ (Animation) สื่อชายรักชายที่มาในรูปแบบของภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวโดยดัดแปลงมาจากมังงะหรือนวนิยาย เช่น Junjou Romantica ของญี่ปุ่นเป็นเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ ของหนุ่มมหาลัยกับนักเขียนนิยายชื่อดัง หรือเรื่องปรมาจารย์ลัทธิมาร (The the founder of diabolism) ของจีน ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของเซียนยุทธภพที่เข้าสู่เส้นทางสายมารกับเซียนหนุ่มผู้ซื่อตรง และรักความยุติธรรม

ในไทยนั้นมีภาพยนตร์และซีรีส์ สื่อชายรักชายในรูปแบบที่สวมบทบาทโดยนักแสดงจริงหลายเรื่อง แต่มักนับกันว่าภาพยนตร์ชายรักชาย เรื่องรักแห่งสยาม (Love of Siam) ในปี 2550 นั้นเป็นตัวปลุกกระแส เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังกวาดรางวัลสาขาภาพยนตร์ถึง 5 สถาบัน ต่อมาในปี 2557 เกิดซีรีส์ชายรักชายเรื่องแรกในประเทศไทยในชื่อของ Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ โดยดัดแปลงมาจากนวนิยาย ซึ่งกลายเป็นการปูทางให้เกิดซีรีส์วายเรื่องอื่นๆ ในประเทศไทยตามมาจนถึงปัจจุบัน…

ความแฟนตาซีใน Universe ต่าง ๆ

การผลิตสื่อวายไม่ว่าจะเป็นในฉบับมังงะหรือนวนิยาย ผู้สร้างจะต้องออกแบบเรื่องราวให้มีความน่าสนใจ สนุกสนาน สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้กับผู้อ่าน และหนึ่งในความน่าสนใจที่น่านำเสนอนั้นก็คือความแฟนตาซีแนว Universe ต่างๆ วันนี้เราจะพาท่านไปทำความรู้จักกัน อนึ่งแนว Universe ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องชายรักชายเพียงเท่านั้น สามารถไปแนวของชายหญิงและอื่น ๆ อีกมากมาย

เริ่มจากจักรวาลที่โดดเด่นที่สุดคือโอเมก้าเวิร์ส ก่อน…

1.โอเมก้าเวิร์ส (Omega Verse)

หรือมีอีกชื่อเรียกว่า ABO Verse เป็นพล็อตนวนิยายในเซ็ทติ้งของการแบ่งชนชั้นหลัก ๆ 3 ระดับ โดยตัวละครแต่ละตัวจะมีเพศหลักเป็นชาย – หญิง แต่ความพิเศษของโลกนี้คือแต่ละคนจะมีเพศรอง ได้แก่:

อัลฟ่า (Alpha) อักษรย่อ α เป็นชนชั้นสูงสุดของสังคม มีความเป็นผู้นำ ร่างกายพละกำลัง สติปัญญา รวมถึงหน้าตามีความโดดเด่นเหนือกว่าชนชั้นอื่นในทุกๆ ด้าน สามารถทำให้ตัวละครเพศโอเมก้าท้องได้

ความพิเศษของอัลฟ่าคือจะมีกลิ่นฟีโรโมน (Pheromones) เฉพาะตัว สามารถปลดปล่อยออกมาบังคับโอเมก้าหรือเบต้าให้ยอมจำนนได้ แต่หากฝ่ายตรงข้ามเป็นอัลฟ่าเหมือนกัน พวกเขาจะปล่อยฟีโรมโมน
ข่มกัน พลังของฟีโรโมนจะขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ทางสายเลือดซึ่งสามารถข่มอีกฝ่ายที่เป็นอัลฟ่าได้

โอเมก้า (Omega) อักษรย่อ Ω เป็นชนชั้นที่อยู่ล่างสุดของสังคม ลักษณะทางร่างกายของโอเมก้ามีรูปร่างที่เล็ก มีพละกำลังด้อยที่สุดในสามชนชั้น โอเมก้าชายสามารถตั้งท้องกับอัลฟาได้ (บางเรื่องยังตั้งท้องกับเบต้าได้)

ความพิเศษของโอเมก้าคือจะมีการปล่อยกลิ่นฟีโรโมนเฉพาะตัวออกมาซึ่งเป็นกลิ่นอะไรก็ได้ตามที่นักเขียนจินตนาการ เช่น กลิ่นส้ม กลิ่นดอกไม้ ฯลฯ คือเป็นกลิ่นหอมหวานที่จะดึงดูดเหล่าอัลฟ่าให้เข้ามาหา แต่ไม่สามารถใช้กลิ่นฟีโรโมนข่มใครได้เหมือนอัลฟ่า

เบต้า (ฺBeta) อักษรย่อ β คือ ชนชั้นคนธรรมดาทั่วไป เป็นชนชั้นที่มีประชากรมากที่สุด มีพละกำลังสติปัญญาในระดับทั่วไป แต่มีพละกำลังมากกว่าโอเมก้า ซึ่งเบต้าบางเรื่องไม่สามารถรับรู้ได้ถึงกลิ่นฟีโรโมนของทั้งอัลฟ่าและโอเมก้า อีกทั้งในโลกโอเมก้าเวิร์สเบต้าเพศชายจะไม่สามารถตั้งท้องได้ คือเป็นเหมือนกับคนปกติทั่วไปชายหญิงมีลูกด้วยกัน

พูดง่าย ๆ คือในโอเมก้าเวิร์สนี้อัลฟามักเป็นคนที่ลักษณะโดดเด่น และมักเป็นฝ่ายรุก ส่วนโอเมก้าเป็นคนที่สวยงามซึ่งอัลฟาต้องแย่งชิงกัน และมักเป็นฝ่ายรับ ส่วนเบต้าคือคนธรรมดาทั่วไปแบบเราท่าน …มักเป็นตัวประกอบ…

ในจักรวาลนี้มีการหยิบยืมอาการของสัตว์ (เน้นสุนัข) มาใช้กับตัวละครเป็นอันมาก ยกตัวอย่างเช่น:

>> อาการฮีท (Heat)

เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์โอเมก้าจะมีอาการ “ฮีท” หรือเรียกง่ายๆ ว่าติดสัดในทุก ๆ เดือน เพื่อเป็นการเรียกคู่ที่เป็นอัลฟ่าให้เข้ามาหา ในช่วงนี้เป็นช่วงที่โอเมก้ามีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้มากที่สุด …ซึ่งเป็นสิ่งที่โอเมก้าไม่สามารถควบคุมได้เป็นกลไกทางธรรมชาติของโลกโอเมก้าเวิร์ส ดังนั้นเมื่อโอเมก้าเกิดอาการฮีทจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าอาการฮีทจะเบาบางลง

นั่นจึงทำให้มี “ยาระงับอาการฮีท” ของโอเมก้า มีทั้งแบบที่กินเป็นประจำทุกเดือนในรูปแบบของยาเม็ดเพื่อทำให้อาการฮีทเบาบางลง และยาแบบฉุกเฉินโดยฉีดให้กับโอเมก้าที่เกิดอาการฮีทในที่สาธารณะเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับโอเมก้า

>> อาการรัท (Rut)

เมื่ออัลฟ่ารับรู้ถึงกลิ่นฟีโรโมนของโอเมก้าในช่วงฮีทอาจจะสร้างปฏิกิริยาต่ออัลฟ่าให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อยากเข้าไปผสมพันธุ์ (ทำพันธะ) กับโอเมก้า หรือเรียกอีกอย่างว่ามีสภาวะพร้อมต่อการสืบพันธุ์ หรือที่เรียกว่าอาการ “รัท” (ติดสัดในอีกคำหนึ่ง)

ดังนั้น… ในนวนิยายโอเมก้าเวิร์สจึงมีสิ่งที่เรียกว่า “ยาระงับอาการรัท” มีจำหน่ายในรูปแบบเข็มและแบบเม็ดตามร้านขายยาทั่วไป เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถฉีดให้กับอัลฟ่าเพื่อระงับอาการรัทได้ทันที

>> การทำรัง (Nesting)

โอเมก้าจะมีอาการหนึ่งที่เรียกว่า “การทำรัง” เป็นลักษณะพฤติกรรมเมื่อโอเมก้าเกิดอาการไม่สบายใจหรือตั้งท้อง ดังนั้นโอเมก้ามักจะนำสิ่งของโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีกลิ่นของอัลฟ่าคู่รักของตัวเองหรือของคนในครอบครัวมากองไว้รอบตัว เพื่อทำรังให้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยหรือต้องการความสงบเป็นพิเศษ

>> นอต (Knot)
ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ของอัลฟ่าจะมีอาการที่เรียกว่า “นอต” หมายถึงการที่อวัยวะเพศบวมพองขึ้น และจะทำการล็อคติดกับช่องสืบพันธุ์ของโอเมก้า ซึ่งไม่สามารถเอาออกได้ง่ายๆ ต้องรอประมาณครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ระหว่างนั้นจะมีการปล่อยน้ำอสุจิออกมาเป็นระยะๆ

…พูดง่ายๆ ก็คือติดเป้งนั่นแหละ…

>> องคชาติของอัลฟาหญิง

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เป็นอัลฟ่ายังสามารถทำให้คนอื่นตั้งท้องได้ด้วยนะ… คือภายนอกพวกเธอก็ดูเหมือนมีอวัยวะสืบพันธ์ุของผู้หญิงทั่วไป แต่บริเวณช่องคลอดของอัลฟ่าหญิงจะซุกซ่อนองคชาติไว้ภายใน เมื่อต้องการจะมีเพศลัมพันธ์องคชาติจะยื่นออกมา นั่นหมายความว่าอัลฟ่าหญิงมีได้ทั้งสองเพศ

โลกของโอเมก้าเวิร์สแม้โดยผิวเผินมีชนชั้นเพียงแค่ 3 ระดับ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ชนชั้นแฝง” อยู่อีก นั่นก็คือ “อีนิกม่า” (Enigma) หรือ Dominant Alpha เป็นชนชั้นพิเศษในหมู่อัลฟ่า คือเป็นโคตรอัลฟา

อีนิกมามีความสามารถพื้นฐานเหมือนอัลฟ่า แต่ความพิเศษคือหากอีนิกมามีความสัมพันธ์กับใครจะสามารถเปลี่ยนคู่นอนให้เป็นโอเมก้าได้

…นั่นหมายความหมายว่าถ้าผู้ที่เป็นอีนิกม่ามีอะไรกับอัลฟ่า อัลฟ่าคนนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นโอเมก้า… (ฟังดูเศร้านะทั้งที่ได้เป็นอัลฟ่าแล้วแท้ ๆ ) นอกจากนี้ยังมีชนชั้นแฝงอยู่อีกมากมายแต่จะขอมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านเพียงเท่านี้แล้วกัน

>> พันธะ (Bond)

การทำพันธะ สามารถทำได้เพียงระหว่างอัลฟ่าและโอเมก้าเท่านั้น โดยอัลฟ่าจะทำการกัดหลังคอของโอเมก้าซึ่งบริเวณหลังคอของโอเมก้าจะมีต่อมที่ตอบสนองต่อน้ำลายของอัลฟ่าเมื่อทำการกัดเข้าไป สิ่งนี้เรียกว่า “การบอนด์” หรือ “การผูกพันธะ” ซึ่งรอยกัดที่เกิดบริเวณหลังคอของโอเมก้าจะไม่จางหายไป

โอเมก้าที่ผูกพันธะแล้วสามารถมีความสัมพันธ์กับคู่ของตนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น หากโอเมก้ามีสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่ใช่คู่ของตนที่ผูกพันธะแล้ว จะเกิดความรู้สึกไม่เต็มใจ ต่อต้าน วิตกกังวล เวียนหัวคลื่นไส้ ในขณะที่อัลฟ่าสามารถสร้างพันธะกับใครต่อใครก็ได้แม้ตัวเองจะมีคู่อยู่แล้วก็ตาม ช่างฟังดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย…

>> คู่แห่งโชคชะตา

ในโลกโอเมก้าเวิร์สมีสิ่งที่เรียกว่า “คู่แห่งโชคชะตา” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างอัลฟ่ากับโอเมก้า เมื่อแรกพบสบตาก็สัมผัสได้ถึงความเป็น “คู่แท้” ที่รู้สึกได้ตั้งแต่แรกพบ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยในโลกโอเมก้าเวิร์ส แต่ท่านลองนึกภาพดูนะ ถ้าทั้งสองคนมีคู่ของตัวเองอยู่แล้ว เพิ่งมาพบคู่แห่งโชคชะตามันจะเกิดอะไรขึ้น… ฟังดูยุ่งเหยิงสุด ๆ ใช่ไหม? ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของนักเขียนด้วยเช่นกัน

>> ปลอกคอ

หากโอเมก้าเกิดการฮีทในที่สาธารณะ และมีบุคคลที่เป็นอัลฟ่ามาพบเข้า สิ่งที่เกิดตามขึ้นมาคืออัลฟ่ามักเกิดอาการรัทพุ่งเข้าข่มขืนโอเมก้าโดยที่ไม่เต็มใจ แม้โอเมก้าจะขัดขืนแล้วแต่ก็ไม่สามารถสู้แรงอัลฟ่าได้อยู่ดี…
จากเหตุการณ์นี้ทำให้โอเมก้ามีสิ่งที่เรีกยว่า “ปลอกคอ” สำหรับสวมใส่ป้องกันอัลฟ่าที่จะเข้ามาทำพันธะโดยไม่เต็มใจ

นอกจากโอเมก้าเวิร์สแล้ว ยังมีเวิร์สอื่นๆ อีกไปอ่านกันต่อเลย

2. เค้กเวิร์ส (Cakeverse)

เป็นเวิร์สที่แบ่งมนุษย์ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ เค้ก (Cake) ฟอร์ค (Fork) และคนธรรมดา

กลุ่มเค้ก คือ กลุ่มคนที่มีรสชาติหวานหอมและมีกลิ่นเหมือนกับเค้ก โดยแต่ละคนจะมีรสชาติไม่เหมือนกัน เช่น รสส้ม รสช็อคโกแลต รสวนิลา ฟรุ้ตเค้ก ฯลฯ ซึ่งทุกส่วนในร่างกายของผู้ที่เป็นเค้กมีรสชาติทั้งหมดแม้กระทั่งเลือด… ทำให้ในโลกของเค้กเวิร์สนั้นผู้ที่เป็นเค้กมักจะถูกตกเป็นเป้าหมายในการทำมิดีมิร้ายของผู้ที่เป็นฟอร์คสูงมาก

ส่วนกลุ่มฟอร์ค คือ กลุ่มคนที่สามารถรับรู้ถึงรสชาติของคนที่เป็นเค้กเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่สามารถรับรู้รสชาติอื่นใด ได้เลย เช่น กินข้าว กินขนม ก็ไม่รับรู้รสชาติ ดังนั้นเวลาฟอร์คเจอกับเค้ก เมื่อได้รับรู้ถึงกลิ่นของเค้กแล้วจะทำให้เกิดอาการอยากลิ้มลองอยากกินคนที่เป็นเค้กจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งลิ้มลองยังไงนั้นก็… ลองจินตนาการดูแล้วกัน 🙂

3.เนมเวิร์ส (nameverse)

คือเวิร์สที่เป็นเหมือนโลกปกติ แต่มีความพิเศษในเรื่องของ “ชื่อคู่แห่งโชคชะตา” ซึ่งคนในเวิร์สเมื่อเดินผ่านหรือพบกับคนที่เป็นคู่แห่งโชคชะตาจะมีชื่อปรากฎบนร่างกาย เช่น ข้อมือ ลำคอ ข้อเท้า แต่ถ้ายังไม่เจอหรือในเวลาปกติก็จะไม่ปรากฎชื่อให้เห็น

4.เรนเวิร์ส (rainverse)

เป็นเวิร์สที่เหมือนกับโลกปกติ แต่มีความพิเศษในเรื่องของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา “ฝนตก” สำหรับคนที่เป็นเนื้อคู่กัน (Soulmate) เวลาฝนตกหูจะดับไม่ได้ยินเสียงคนรอบข้างนอกจากเสียงตัวเองกับเสียงของคนที่เป็นเนื้อคู่แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม

5.ฮานะฮาคิเวิร์ส (hanahaki verse)

หรือเรียกอีกอย่างว่า Hanahaki Disease เสมือนเป็นโรคของคนแอบรักข้างเดียว คำว่า ฮานะ (花) แปลว่า ดอกไม้ ส่วนคำว่า ฮาคิ (Haki) แปลว่า อ้วก ความหมายโดยรวมก็คือ อ้วกออกมาเป็นดอกไม้ ซึ่งโรคนี้ เกิดขึ้นกับคนที่แอบรักข้างเดียว โดยจะมีดอกไม้เจริญเติบโตอยู่ในปอดและหัวใจขึ้นเรื่อย ๆ

ระยะเริ่มแรกของโรคนี้คือ เมื่อเริ่มไอจะมีกลีบดอกไม้ออกมา แต่ในระยะสุดท้ายจะอ้วกออกมาเป็นดอกไม้เหมือนกับชื่อเวิร์ส Hanahaki การที่จะทำให้อาการนี้หายไป คนที่เป็นโรคจะต้องไปสารภาพรักกับคนที่แอบชอบแล้วสมหวังกับความรักถึงจะหาย หากไม่สมหวังดอกไม้จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รากของดอกไม้จะชอนไชสูบเลือดสูบเนื้อจนคนที่เป็นโรคนี้จตายลงเหลือแต่ดอกไม้เหี่ยวเฉาไม่มีพลังให้สูบแล้ว

6.คัลเลอร์เวิร์ส (colorverse)

เป็นเวิร์สที่ทุกคนเกิดมาจะมองเห็นเพียงแค่สีขาวดำเท่านั้น แต่เมื่อพบกับเนื้อคู่ของตัวเองดวงตาจะเริ่มกลับมาเห็นสีอีกครั้ง แต่หากยังหาเนื้อคู่ไม่เจอจนบรรลุนิติภาวะการมองเห็นจะเริ่มแย่ลง และดวงตามืดบอดลงไปในที่สุด อย่างไรก็ตามหากได้พบเนื้อคู่ดวงตาก็จะกลับมามองเห็นได้อีกครั้งเหมือนเดิม

นอกจากนี้ภายในแต่ละเวิร์สยังมีเงื่อนไขยิบย่อยไม่เหมือนกันจะเป็นไปตามจินตนาการของนักเขียน และยังมีเวิร์สอื่น ๆ อีกมาก แต่ ณ ที่นี้ขอเสนอไว้เพียงเท่านี้

บทสรุป

สื่อวายเป็นสิ่งที่มีมานานและแทรกซึมมาทุกสมัย จากในอดีตที่สื่อวายไม่ได้เป็นที่เผยแพร่มากนัก หรือรู้จักกันเพียงแค่ในเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อการเผยแพร่สื่อพัฒนาก้าวไกลทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้จากสื่อวายพัฒนาเรื่องเฉพาะกลุ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการจินตนาการของนักเขียนที่รังสรรค์ผลงานออกมาได้หลากหลายแนวมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของสื่อวายมักจะเป็นผู้หญิง ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสื่อประเภทนี้จึงมักสะท้อนปมของผู้หญิงด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในโอเมก้าเวิร์สนั้น เมื่อโอเมก้ามีอาการฮีทเป็นประจำทุกเดือน จึงจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อให้อาการฮีทเบาลง นั่นทำพวกเขามักจะถูกกีดกันไม่ให้ทำงานเพราะจะมีปัญหา บวกกับการที่ร่างกายอ่อนแอยังทำให้ไม่สามารถทำงานได้เท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ทำให้บางครั้งสังคมโอเมก้าเวิร์ส มองว่าโอเมก้ามีประโยชน์เพียงแค่ให้กำเนิดลูกเท่านั้น ให้คอยอยู่เฝ้าบ้านให้อัลฟ่าดูแลจะดีกว่า…

คำถามคือสิ่งนี้ต่างจากประจำเดือนของผู้หญิง หรือการตัดสินจากสังคมที่ผู้หญิงมักต้องพบหรือไม่?

ในลักษณะนี้สื่อวายจึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สามารถใช้สะท้อน และศึกษาความเป็นไปของสังคมนั่นเอง