ท่านเคยสงสัยไหมว่ารูปลักษณ์ของอาคารและเมืองต่างๆ ในยุคใหม่กับยุคเก่าดูแตกต่างกันเหลือเกิน…

นั่นเป็นเพราะสถาปัตยกรรมที่ท่านเห็นกันทั่วๆ ไป เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นหรือสมัยใหม่ ซึ่งเป็นคนละแนวกับสถาปัตยกรรมยุคก่อนหน้านั้น และในแวดวงสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ มีสถาปนิกคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกและมีชื่อเสียงมาก ชื่อของเขาคือ “เลอคอร์บูซิเย” (Le Corbusier)

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นและประวัติของเขาคนนี้มีความน่าสนใจอย่างไร? ติดตามกันได้ในบทความนี้ครับ

การมาถึงของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

หากเราลองดูสถาปัตยกรรมแบบเก่า เราคงมองเห็นว่าสิ่งก่อสร้างจะดูเน้นความสง่างาม อลังการ และโอ่โถง รวมทั้งมีแนวคิดเรื่องการแสวงหาความงามแบบคลาสสิก เช่น เรื่องความสมมาตร ความกลมกลืน และมีระเบียบ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ “ความงดงาม” โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา (อารมณ์ประมาณว่าคนยุคไหนสมัยไหนเห็นก็มีแนวโน้มบอกว่าสวย และอยากอนุรักษ์เอาไว้)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาเปลี่ยน แนวคิดคนก็เปลี่ยน…

สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ในอดีตล้วนตอบสนองผู้มีอำนาจหรือไม่ก็ใช้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ดังนั้นวังและศาสนสถานจึงมีการประดับตกแต่งที่สวยงามอลังการ กินพื้นที่กว้างขวาง ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบนี้เช่น แบบกอธิค ซึ่งใช้สร้างมหาวิหารแบบคริสต์หลายที่รวมทั้งนอเทรอดามในกรุงปารีสนั่นเอง

ต่อมาเกิดแนวคิดชื่อว่า โมเดิร์นนิซึม (Modernism) ที่เปลี่ยนความคิดจาก “ศิลปะรับใช้ผู้มีอำนาจ” ไปเป็น “ศิลปะรับใช้ผู้คน” แทนการกำเนิดของแนวคิดโมเดิร์นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม และหากจะนิยามต่อไป ก็คือก็เกิดพร้อมกับแนวคิดที่ว่าควรสร้างเครื่องจักรอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสุงสุด

เกิดคำถามที่ว่าฟังก์ชันของชิ้นหนึ่งนั้นคืออะไร? เราควรทำของชิ้นนั้นให้เป็นไปตามฟังก์ชันของมัน และตัดสิ่งอื่น ๆ ไป เพื่อให้ได้สิ่งของที่มีราคาถูกและผลิตได้มาก …แนวคิดนี้เข้ากับคอนเซปต์ “มินิมัล” น้อยแต่มาก แต่ในขณะเดียวกันก็ลดทอนส่วนอารมณ์ความรู้สึกออกไป (brutalize)

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นยังมีความเป็นสากลของตัวเอง ในแง่ที่ว่าไม่ขึ้นอยู่กับภูมิภาคต่าง ๆ เพราะอย่าลืมว่าสิ่งก่อสร้างยุคเก่า ๆ ก็มักจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพราะวัสดุก่อสร้างและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่มักจะมีความแตกต่างกันออกไป

ตรงข้ามกับอาคารสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นจากส่วนประกอบต่าง ๆ หรือเรียกว่า มอดูล ที่ผลิตสำเร็จรูปมาจากโรงงาน เช่น กระจกเปลือยหรืออิฐบล็อก ด้วยวิธีนี้จึงทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้การก่อสร้างไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะวัสดุจากในท้องถิ่นอีกต่อไป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงหลังๆ อาคารในหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มดูหน้าตาคล้ายกันจนเริ่มแยกไม่ค่อยออก

แนวคิดโมเดิร์นยังตอบโจทย์ “ศิลปะรับใช้ผู้คน” ด้วยการพัฒนาสิ่งก่อสร้างสำหรับให้คนในชุมชนใช้สอยได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้พัฒนาอาคารสาธารณะต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด ศาลาว่าการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัญหาของสังคมสมัยใหม่ยังอยู่ที่การขาดแคลนพื้นที่ เพราะประชากรมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าอาคารต่าง ๆ จะมีขนาดเล็กลงในแนวราบ พื้นที่ใช้สอยน้อยลง และในขณะเดียวกันตึกหลายแห่งจะพยายามสร้างให้สูงขึ้นแทน

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นยังมีการแตกแขนงออกไปเป็น “Brutalism” (น่าจะแปลเป็นไทยประมาณว่า “ลัทธิไร้อารมณ์”) ซึ่งสิ่งก่อสร้างภายใต้แนวคิดนี้มักจะเป็นคอนกรีตหรืออิฐเปลือย ทรงเหลี่ยม และมีสีโทนเดียว ซึ่งอาจเห็นได้ตามเคหะสาธารณะหรือสถานที่ราชการในสมัยก่อน แม้กระแสนี้เริ่มจากในอังกฤษแต่ก็นิยมไปถึงสหภาพโซเวียตด้วย

สำหรับเหตุผลที่แนวคิดโมเดิร์นในทางสถาปัตยกรรมเฟื่องฟูขึ้นนั้นก็มาจากการฟื้นฟูบูรณะบ้านเมืองหลังสงครามโลก รวมทั้งการกระจัดกระจายของเหล่าอาจารย์จากสถาบันเบาเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งเป็นสถาบันศิลปะอันมีชื่อเสียงมีแนวคิดดังกล่าว

อาจารย์ที่ต้องหลบหนีส่วนใหญ่มักเป็นคนยิวในเยอรมนีที่ต้องหนีการกดขี่จากนาซี การกระจายตัวของพวกเขาได้พาศิลปะแบบโมเดิร์นให้แพร่กระจายไปทั่วโลก

…พวกเขามีส่วนสำคัญในการทำให้โมเดิร์นนิซึมกลายเป็นงานกระแสหลักของโลก ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งสะท้อนของยุคสมัยปัจจุบันที่เราอาศัยกันอยู่นั่นเอง…

เลอคอร์บูซิเย

หากถามว่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นมาจากไหน? ชื่อของ “เลอคอร์บูซิเย” (Le Corbusier) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส – สวิส มักถูกจดจำว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกใหญ่ของสถาปัตยกรรมแนวนี้ โดยเป็นหนึ่งในสถาปนิกคนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 การันตีด้วยผลงานมรดกโลกของยูเนสโกถึง 17 รายการ และเท่าที่ผมลองสอบถามสถาปนิกดู เขาก็บอกว่าอาคารแทบทั้งหมดในโลกปัจจุบันนี้ล้วนได้รับอิทธิพลความคิดมาจากเลอคอร์บูซิเย แม้ว่าจะมีการต่อยอดรูปแบบสถาปัตยกรรมหลังจากยุคโมเดิร์นก็ตามที

เลอคอร์บูซิเยเป็นนามแฝงของชาร์ล-เอดัวร์ ฌานแร-กรี (Charles-Édouard Jeanneret-Gris) เกิดในสวิสเซอร์แลนด์ มีพ่อประกอบธุรกิจนาฬิกา ในชั้นประถมเขาออกจากโรงเรียนมาเรียนเคลือบและสลักหน้าปัดนาฬิกา แต่เขามีความสนใจในงานศิลปะวาดภาพ ทำให้ครูของเขาชี้ทางให้เขาไปเป็นสถาปนิก

ตั้งแต่อายุยังน้อยเขาจึงตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ ฝึกวาดภาพไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เรียนสถาปนิกแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย

แต่ถึงอย่างนั้นโลกก็ไม่อาจเก็บงำพรสวรรค์ของเขาได้โดยตั้งแต่อายุ 20 ปี เลอคอร์บูซิเยได้เริ่มทดลองออกแบบสิ่งก่อสร้างในท้องถิ่น และยังตระเวนไปตามประเทศยุโรปต่างๆ เพื่อฝึกงานกับสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เช่น ออกุสเตอ เปอร์เร (Auguste Perret) ผู้บุกเบิกการก่อสร้างด้วยคอนกรีต และปีเตอร์ เบเรนส์ (Peter Behrens) ผู้ชำนาญด้านเครื่องกลและอุตสาหกรรมยุคใหม่

ในระหว่างการเดินทางเขารวบรวมข้อสังเกตที่ได้จากที่ต่าง ๆ มาตกผลึก เช่น การไปแถบทัสคันของอิตาลีทำให้เกิดแนวคิด individual living cell หรือพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัว รูปทรงเรขาคณิตจากแถบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งยังรวมถึงการใช้แสงเงาธรรมชาติและการใช้ภูมิทัศน์ให้เป็นเหมือนฉากหลังของงานสถาปัตยกรรม

แนวคิด individual living cell นี้ เข้าใจได้ว่าเป็นแนวคิดที่ต้องการแบ่งพื้นที่อาคารให้คนใช้สอยกันได้ตามขนาดที่พอเหมาะกับคน ๆ หนึ่งใช้งาน ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของแนวคิดของคอนโดมีเนียมหรืออพาร์ตเมนต์นั่นเอง โดยแต่ละชั้นจะมีการจัดแบ่งเป็นสัดส่วนและมีพื้นที่ให้กับส่วนกลางใช้ (เทียบกับปัจจุบันก็คงเป็นพวกร้านสะดวกซื้อ สระว่ายน้ำ หรือฟิตเนส)

ต่อมาเลอคอร์บูซิเยได้สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างวิลลาซาวอย (Villa Savoye) ซึ่งมีชื่อเสียงมากจนรัฐบาลฝรั่งเศสยังประกาศให้เป็นอนุสรณ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติขณะตัวเลอคอร์บูซิเยยังมีชีวิตอยู่

ความสำคัญของวิลลาซาวอยคือแม้มันจะเป็นอาคารรูปทรงประหลาด ดูจากภายนอกไม่สวย แถมหน้าต่างยังดูเตี้ย ๆ ผิดปกติไปอีก แต่ที่เขาออกแบบมาอย่างนั้นเพื่อให้เจ้าของบ้านที่เป็นคนพิการนั่งล้อเข็นได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง! หน้าต่างจึงให้อยู่ในระดับสายตาระดับคนนั่ง ไม่ใช่คนยืน

ดังนั้นนี่จึงเป็นการสะท้อนแนวคิดศิลปะรับใช้ผู้คน ได้เป็นอย่างดี เพราะในกรณีนี้วิลลาซาวอยได้พยายามตอบโจทย์ของเจ้าของให้ดีที่สุด

เลอคอร์บูซิเยเคยกล่าวไว้ว่า “บ้านเป็นเครื่องจักรสำหรับอยู่อาศัย” (A House is a Machine for Living In) ดังนั้นผลงานที่เขาออกแบบจึงมีลักษณะแบบเครื่องจักร หมายความว่า เน้นประโยชน์ใช้สอย และมีประสิทธิภาพ แต่ละชิ้นส่วนของบ้านจะต้องมีหน้าที่เฉพาะที่ช่วยส่งเสริมการทำหน้าที่ของมัน เช่น จัดให้แสงผ่านเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ

ผลงานสำคัญอีกอย่างของเลอคอร์บูซิเยคือ เลอมอดูลาร์ (Le Modular) ซึ่งเป็นหลักความสอดคล้องกับสัดส่วนมนุษย์ โดยเป็นการกำหนดขนาดของอาคารหรือห้อง ให้อยู่ในระดับที่คนใช้ประโยชน์ได้ ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ซึ่งยังขยายไปรวมถึงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ห้องให้อยู่ในระยะหยิบจับได้สะดวก

ซึ่งนอกจากงานสถาปัตยกรรมแล้ว แนวคิด Le Modular ยังมีการนำไปประยุกต์ใช้กับงานออกแบบ อย่างเก้าอี้ LC4 ที่ออกแบบมาพร้อมกับแนวคิดว่า จะนั่งท่าไหนก็สบายตัว เพราะรูปร่างของมันรองรับสรีระของมนุษย์

…ซึ่งท่านจะเห็นว่าแนวคิดนี้ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักการออกแบบสมัยก่อน อย่างมหาวิหารนอเทรอดามที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ แม้มีขนาดใหญ่โตแต่เวลาคนเข้าไปจะอยู่แค่ระดับพื้นดินเท่านั้น ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปไม่มีอะไรเลยนอกจากอากาศ!

และเมื่อเลอคอร์บูซิเยแก่ตัวลง เขายังได้รับความไว้วางใจให้ร่วมออกแบบจัณฑีครห์ (Chandigarh) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ดังนั้นผังเมืองที่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ บวกกับอาคารราชการที่สำคัญ อย่างศาลสูง อาคารรัฐสภา และอาคารสำนักเลขาธิการจึงมาจากการออกแบบของเขา

การออกแบบเมืองนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่าการจราจรของเมืองนี้จะไม่ติดขัด และจะเกิดอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าที่อื่น ๆ

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาได้ออกแบบเมืองให้เป็นตารางสี่เหลี่ยมหลาย ๆ อัน ในสี่เหลี่ยมแต่ละอันก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อน ดังนั้นคนจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนไกล ๆ เพื่อไปใช้ชีวิตประจำวัน เป็นการสร้างความสะดวก และเป็นการลดปัญหาการจราจรนั่นเอง

สำหรับที่ว่าเมืองนี้เกิดอุบัติเหตุทางรถน้อยนั้นเป็นเพราะเขาออกแบบมาให้พื้นที่อยู่อาศัยไม่อยู่ติดกับถนนใหญ่ แต่อยู่ในตารางสี่เหลี่ยมซึ่งจะมีถนนเล็ก ๆ แทน ดังนั้นยานพาหนะที่อยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยจึงขับขี่ด้วยความเร็วต่ำลง

…งานออกแบบเช่นนี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าอินเดียจะไม่ค่อยร่ำรวยหลังจากเพิ่งได้รับเอกราชไม่นานนัก…

ผลงานของเขาถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อตอบสนองความต้องการในโลกยุคใหม่ เมื่อมีประชากรมากขึ้น ทำให้แนวคิดเรื่องการออกแบบอาคารที่ลดการประดับตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยถูกนำไปเป็นแบบอย่างของเคหะสาธารณะในหลายประเทศ ซึ่งเอื้อทั้งต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและคนเดินถนน

ดังนั้นผลงานอาคารทรงเหลี่ยม ตึกระฟ้าที่ติดแผ่นกระจก หรือบ้านเป็นหลัง ๆ ที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นมรดกความคิดของสถาปนิกอันเลื่องชื่อผู้นี้เอง…