สำหรับการเลือกตั้งในสหรัฐ ไม่ว่าจะกี่ครั้ง ๆ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโลกและเป็นที่จับตาอยู่ทุกที และในปี 2022 นี้ก็เช่นกัน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ประเด็นร้อนในการเมืองอเมริกาคงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ แต่ก็มีเรื่องสิทธิทำแท้งและสิทธิปืน …ไม่รวมถึงอดีตประธานาธิบดีผู้ไม่แคร์สื่ออย่างโดนัลด์ ทรัมป์ที่มีโอกาสประกาศลงแข่งเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ด้วย

มีการคาดการณ์มากมายว่าพรรคเดโมแครตจะต้องเสียสภาล่างให้กับพรรครีพับลิกัน แต่การแข่งขันในสภาสูงยังคงดุเดือดอยู่ จนต้องใช้เวลานับผลหลายวันหลังจากนั้นกว่าฝุ่นจะหายตลบ

เลือกตั้งกลางสมัยคืออะไร 

ก่อนที่จะเข้าเรื่องผมขอเท้าความพื้นฐานสำหรับติดตามข่าวการเลือกตั้งของสหรัฐกันหน่อยนะครับ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2022 ที่ผ่านมานั้นตรงกับช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งมาได้ราว 2 ปีจากวาระ 4 ปี (เริ่มปี 2021 จบที่ปี 2025) หรือก็คือ “กลางสมัย” ของประธานาธิบดีนั่นเอง

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีการเลือกตั้งที่เป็นที่จับตาหลัก ๆ ประกอบด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้ว่าการรัฐ (บวกกับการเลือกตั้งซ่อม ถ้ามี) นอกจากนี้ยังมีการออกเสียงในกฎหมายของรัฐ คล้าย ๆ กับการลงประชามติที่เรียกว่า “ballot measures” ด้วย

สำหรับ ส.ส. ของรัฐบาลกลางสหรัฐนั้นมีทั้งหมด 435 ที่นั่ง จัดสรรให้ 50 รัฐตามสัดส่วนประชากรจากการทำสำมะโนทุกๆ 10 ปี วาระดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี …ใช่ครับ วาระแค่ 2 ปี เรียกได้ว่าเลือกตั้งกันบ่อยมาก

ส.ว. ของสหรัฐมีทั้งหมด 100 ที่นั่ง มาจากรัฐละ 2 คนเท่า ๆ กัน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ถึงกระนั้นก็มีการเลือกตั้งทุก 2 ปีพร้อมกับ ส.ส.

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีการกำหนดให้แบ่ง ส.ว. ออกเป็น 3 กลุ่ม (class) ให้มีวาระเหลื่อมกัน สำหรับส.ว. ชุดปัจจุบัน Class I มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2018 Class II มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2020 และการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งสำหรับ ส.ว. Class III ชุดใหม่

ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนั้นมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยจัดการเลือกตั้งหลายช่วง โดย:

  • 36 รัฐและ 3 ดินแดนจัดการเลือกตั้งตรงกับการเลือกตั้งกลางสมัย
  • 11 รัฐ และ 2 ดินแดนจัดการเลือกตั้งตรงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
  • ส่วนอีก 5 รัฐจัดการเลือกตั้งนอกตาราง (off-year)

ประเด็นร้อนเลือกตั้ง 2022 

ประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิทธิทำแท้ง สิทธิปืน คนเข้าเมืองและประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่มีการวิเคราะห์กันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะให้ความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน และผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ลากยาวมาตั้งแต่หลังโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2022 พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ในประเด็นนี้ผู้สมัครพรรครีพับลิกันต่างหาเสียงว่าจะลดงบประมาณรายจ่าย พยายามดึงงานจากจีนกลับมายังสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลน และขยายกำลังการผลิตน้ำมันและแก๊สเพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น…อย่างไรก็ตาม นโยบายทางเศรษฐกิจของรีพับลิกันไม่ใช่สิ่งที่คนให้ความสนใจมากนัก เชื่อว่ายังไงคนก็โหวตพรรครีพับลิกันเพื่อลงโทษไบเดนมากกว่า

ขณะที่ผู้สมัครพรรคเดโมแครตยืนยันผลงานของไบเดน และบอกว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตจากรากหญ้า ไม่ใช่ตกจากบนลงล่าง รวมทั้งชูผลงานในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิอากาศ สาธารณสุขและการยกเลิกหนี้การศึกษา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่น ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิทำแท้งที่ศาลสูงสุดสหรัฐได้กลับคำตัดสินในคดีโรกับเวด (Roe v Wade) ทำให้สิทธิทำแท้งไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป (แปลว่ารัฐต่าง ๆ สามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งได้) ผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ผลโหวตในรัฐต่าง ๆ ก็ออกมาว่าหลายรัฐไม่เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามทำแท้ง แม้แต่รัฐสีแดง (คือรัฐที่มักออกเสียงให้พรรครีพับลิกันที่มีนโยบายต่อต้านสิทธิทำแท้ง) หลาย ๆ รัฐด้วย

ในเรื่องนี้พรรครีพับลิกันไม่ค่อยมีจุดยืนที่หนักแน่นมากนัก ในขณะที่พรรคเดโมแครตได้ชูประเด็นคุ้มคอรงสิทธิสตรีในการเลือกยุติการตั้งครรภ์และการคุมกำเนิดมาเป็นตัวเลือกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนใจประเด็นนี้

ประเด็นต่อมาคือปัญหาผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง ซึ่งในปีนี้มีคนเข้าเมืองจากเม็กซิโกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้สมัครพรรครีพับลิกันหลายคนเลือกหาเสียงด้วยการต่อต้านนโยบายของไบเดนโดยระบุว่าปล่อยให้คนเข้าเมืองมามากเกินไป

ถัดมาคือเรื่องของการศึกษากับอัตลักษณ์ (หรือกล่าวได้ว่าความหลากหลายทางเพศกับเชื้อชาติ) พรรครีพับลิกันกำลังผลักดันให้การศึกษาในโรงเรียนปลอดจากเรื่องเชื้อชาติและเพศ ควรปล่อยให้ผู้ปกครองเป็นผู้อบรมสั่งสอนเอง ขณะที่พรรคเดโมแครตตอบโต้ว่าพรรครีพับลิกันกำลังเซ็นเซอร์เสรีภาพในการแสดงออก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิปืน ซึ่งสหรัฐยังคงมีปัญหาการกราดยิงในที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคเดโมแครตสนับสนุนให้มีการคุมเข้มการครอบครองปืนมากขึ้น รวมทั้งการสั่งห้ามอาวุธจู่โจม (ปกติหมายถึงปืนกึ่งอัตโนมัติและการปรับแต่งอื่นๆ) ขณะที่พรรครีพับลิกันหาเสียงว่าจะปกป้องสิทธิของประชาชนตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2

และสุดท้ายคือเรื่องประชาธิปไตย โดยพรรคเดโมแครตหาเสียงว่าผู้สมัครพรรครีพับลิกันหลายคนมีพฤติกรรมอย่างการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 อย่างเปิดเผย รวมทั้งมีการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ และมีความคิดสุดโต่งซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย

…ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มากก็น้อย…

เดโมแครตครองวุฒิสภาอีกสมัย

ก่อนการเลือกตั้งมีการคาดการณ์ผลล่วงหน้าว่าที่นั่ง ส.ว. ในครั้งนี้น่าจะสูสีมาก และผลก็ออกมาเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

โดยก่อนการเลือกตั้ง พรรคเดโมแครต (กับ ส.ว. อิสระที่ประชุมกับพรรคเดโมแครต) กับพรรครีพับลิกันมีที่นั่ง ส.ว. อย่างละ 50 ที่นั่ง แต่ถือว่าพรรคเดโมแครตครองสภาสูงเพราะรองประธานาธิบดีเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในกรณีเสียงเท่ากัน

ผลการเลือกตั้งเท่าที่ออกมาพบว่าพรรคเดโมแครตกลับมาได้ 50 ที่นั่ง โดยสามารถพลิกได้ที่นั่งในรัฐเพนซิลเวเนียเป็นอันมาก ส่วนพรรครีพับลิกันมี ส.ว. 49 ที่นั่ง ทั้งนี้การเลือกตั้งในรัฐจอร์เจียจะต้องไปตัดสินในรอบสองในเดือนธันวาคม (ในการเลือกตั้งรอบนี้ผู้สมัครฝ่ายเดโมแครตนำอยู่ร้อยละ 49.4 ต่อ 48.5)

พรรคเดโมแครตจึงได้กลับมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอีกสมัย และถ้าชนะในรัฐจอร์เจียอีกก็จะยิ่งทำให้หายใจคล่องขึ้น และที่ผ่านมามี ส.ว. เดโมแครตที่ออกเสียงข้างรีพับลิกันอยู่ 1 คน หากชนะก็จะตัดปัญหาออกเสียงสวนมติพรรคได้

รีพับลิกันครองสภาล่าง แต่ต้องนับจนถึงรัฐสุดท้าย

ก่อนการเลือกตั้งมีการคาดการณ์ว่าพรรครีพับลิกันมีโอกาสชนะในสภาล่างมากกว่า เนื่องจากสาเหตุที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยก่อนหน้านี้ พรรคเดโมแครตมีที่นั่งมากกว่าอยู่ 222 ต่อ 213 ที่นั่ง (เกิน 218 ที่นั่งจะเป็นเสียงข้างมาก)

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2022 มีการประกาศออกมาว่าพรรคเดโมแครตได้ 211 ที่นั่ง และพรรครีพับลิกันได้ 218 ที่นั่ง แปลว่ายังไม่ประกาศผลอีก 6 ที่นั่ง …สรุปว่าแม้พรรครีพับลิกันได้ครองสภาล่าง แต่ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน

แม้ผลที่ว่าพรรครีพับลิกันจะชนะในสภาล่างจะไม่น่าแปลกใจ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้อย่างการที่พรรครีพับลิกันจะชนะอย่างถล่มทลายหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ “คลื่นสีแดง” (Red wave) นั้นกลับไม่เกิดขึ้น

…ส่วนสาเหตุจะเป็นอย่างไรนั้นจะมีการนำบทวิเคราะห์มาให้ทุกท่านรับชมในช่วงหลังนะครับ

…ผลนี้นับว่าน่าผิดหวังสำหรับพรรครีพับลิกัน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งกลางสมัยปี 2018 ในครั้งนั้นพรรคเดโมแครตสามารถพลิกกลับมาได้ถึง 41 ที่นั่ง ส่วนในครั้งนี้พรรครีพับลิกันไม่น่าจะพลิกกลับมาได้เกิน 15 ที่นั่ง

ถึงกระนั้นพรรครีพับลิกันจะชนะมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบทำให้พรรคเดโมแครตของไบเดนไม่สามารถผลักดันกฎหมายต่างๆ ได้อย่างอิสระ และต้องมีการประนีประนอมกับพรรคตรงข้ามนั่นเอง

พรรคเดโมแครตได้เก้าอี้ผู้ว่าการรัฐเพิ่ม

แม้ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจะเป็นตำแหน่งที่มีผลเฉพาะในท้องถิ่นรัฐนั้นๆ แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญในการตัดสินว่ารัฐนั้นกระแสความนิยมของพรรคใดมาแรงมากกว่ากัน ซึ่งจะมีผลต่อการวิเคราะห์การเมืองในระดับชาติต่อไป

ก่อนการเลือกตั้งพบว่ามีผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกันอยู่ 28 คน จากพรรคเดโมแครต 22 คน

ผลการเลือกตั้งรอบนี้ปรากฏว่าพรรคเดโมแครตสามารถคว้าเก้าอี้ได้เพิ่มสุทธิ 2 ที่นั่ง ทำให้มีผู้ว่าการรัฐอยู่ 24 ต่อ 26 คน ที่น่าสนใจคือรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ที่มี vote margin พลิกกลับมารุนแรงถึง 62 และรัฐแมรีแลนด์ที่พลิกกลับมาถึง 40

Ballot Measures ที่น่าสนใจ

นอกจากผลการเลือกตั้งจะเป็นที่จับตาแล้ว การออกเสียงต่อกฎหมายสำคัญๆ ก็เป็นที่จับตาเช่นกัน โดยมีบางประเด็นที่สื่อจับตามองอย่างมาก เช่นเรื่องสิทธิทำแท้ง โดยผลปรากฏว่ามีหลายรัฐที่ผู้ออกเสียงเห็นชอบกับการเพิ่มสิทธิทำแท้งหรือคัดค้านการห้ามทำแท้งเป็นความผิดทางอาญา แม้แต่ในรัฐสีแดง

อย่างรัฐเคนตักกีที่ออกเสียงไม่เห็นชอบกับการระบุในรัฐธรรมนูญของรัฐว่าไม่คุ้มครองสิทธิทำแท้ง (ร้อยละ 52.4 ต่อ 47.6) และรัฐมอนแทนาที่ออกเสียงไม่เห็นชอบให้นับทารกที่คลอดออกมาเป็นบุคคลแม้จะไม่มีชีวิตรอด (ร้อยละ 52.6 ต่อ 47.4)

ขณะที่การออกเสียงเรื่องกัญชาถูกกฎหมายพบว่ามีบางรัฐเห็นชอบ แต่บางรัฐไม่เห็นชอบ โดยรัฐที่เห็นชอบได้แก่ แมรีแลนด์ มิสซูรีและโคโลราโด ส่วนรัฐที่ไม่เห็นชอบ ได้แก่ อาร์คันซอ นอร์ทดาโกตาและเซาท์ดาโกตา

นอกจากนี้ยังมีการออกเสียงในเรื่องเศรษฐกิจและสวัสดิการ เช่น

  • รัฐเซาท์ดาโกตาเห็นชอบให้ขยายขอบเขตของเมดิเคต (Medicaid) (คล้ายๆ กับผู้ป่วยยากไร้ของไทย) เพื่อช่วยบุคคลยากจน
  • รัฐอิลลินอยส์บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิเข้าร่วมสหภาพแรงงานในรัฐธรรมนูญของรัฐ
  • รัฐแอริโซนาเห็นชอบการจำกัดหนี้สินด้านการแพทย์
  • รัฐนิวเม็กซิโกเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนความมั่งคั่งในการสนับสนุนโรงเรียนเด็กอ่อนและสถานเลี้ยงเด็ก
  • รัฐเนบราสกาเห็นชอบให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงจาก 9 เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐภายใน 4 ปี

สรุปไฮไลต์การเลือกตั้งสหรัฐ 2022

ในการเลือกตั้งสหรัฐ 2022 มีความเคลื่อนไหวต่างๆ มากมายตามแต่สื่อแต่ละสำนักจะมุ่งให้ความสนใจ แต่ผมจะขอสรุปบางประเด็นที่น่าจับตาสำหรับการติดตามข่าวการเมืองสหรัฐต่อไปดังนี้นะครับ

1) อนาคตทรัมป์ไม่ค่อยสู้ดีนัก

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หลังจากพ่ายแพ้ในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2020 ยังถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในพรรครีพับลิกันอยู่พอสมควร และได้ประกาศลงรับเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 แล้ว

อย่างไรก็ตาม สื่อการเมืองที่เป็นกลางอย่างโพลิติโกชี้ว่าบรรดาผู้สมัครต่าง ๆ ที่ทรัมป์เปิดตัวสนับสนุนนั้น หากนับเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันสูสี (Toss up หรือ Lean Republican) พบว่ามีผู้ที่เขาสนับสนุนชนะ 9 คนจาก 18 คน หรือแปลว่าชนะเพียงครึ่งเดียว

…ซึ่งอาจตีความได้ว่าความนิยมของเขาอาจไม่ได้ช่วยโน้มน้าวใจคนได้มากอย่างที่เขาคิด

ที่ผ่านมาความสำเร็จของทรัมป์เกิดจากความเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า แต่ผลการเลือกตั้งที่ไม่เกิด “คลื่นสีแดง” อย่างที่ทรัมป์ลั่นไว้ บวกกับการกระพือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสอบสวนธุรกิจและพฤติกรรมของเขา และการโจมตีคู่แข่งสำคัญอย่างดีแซนติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ทำให้คนเริ่มเบือนหน้าหนี

“คนที่เคยโหวตให้ทรัมป์ เป็นคนที่ไม่สังกัดพรรคเสียเยอะ เป็นคนออกเสียงครั้งแรก หรือพวกคนหาเช้ากินค่ำก็เยอะ ซึ่งตอนนั้นพวกเขายอมมองข้ามข้อเสียของทรัมป์ แต่นับตั้งแต่การโหวตครั้งดังกล่าวหลายคนที่ผมไปคุยด้วยที่เป็นคนที่โหวตรีพับลิกันครั้งแรกกลับไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะเลือกทรัมป์อีกรอบแล้วเพราะเขาไม่ยอมวางมือแบบสง่างาม เขาเสียทุนการเมืองไปเยอะมากระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020 [การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบก่อน] กับวันที่ 6 มกราคม [วันที่เกิดการจลาจลที่อาคารรัฐสภา] ซึ่งเป็นการทำตัวเองโดยไม่จำเป็นทั้งนั้น” หัวหน้าสาขาพรรครีพับลิกันแห่งหนึ่งในรัฐไอโอวากล่าว

ผลโพลของยูกอฟในช่วงเลือกตั้งกลางสมัยพบว่าดีแซนติสมีคะแนนนำทรัมป์ในหมู่คนเลือกพรรครีพับลิกันและไม่สังกัดพรรครอบแรกอยู่ประมาณร้อยละ 10

…ในพรรครีพับลิกันกำลังเกิดการแข่งขันระหว่างทรัมป์กับดีแซนทิสอย่างดุเดือด…

2) “กำแพงสีน้ำเงิน” กลับมา?

“กำแพงสีน้ำเงิน” (Blue Wall) เป็นศัพท์ในทางการเมืองสหรัฐ หมายถึง รัฐที่เป็นฐานเสียงพรรคเดโมแครตอย่างเหนียวแน่น 18 รัฐ ซึ่งโหวตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 1992

…ยกเว้นปีเดียวคือปี 2016 ซึ่งมีรัฐกำแพงสีน้ำเงินโหวตให้โดนัลด์ ทรัมป์ 3 รัฐ และมีส่วนทำให้เขาชนะการเลือกตั้งในปีนั้น

แต่ถ้าจะบอกว่าทรัมป์เคยเป็นคนทำลายกำแพงสีน้ำเงินแล้วไซร้ ในการเลือกตั้งรอบนี้ก็ถือได้ว่ากำแพงสีน้ำเงินได้กลับมาอีกครั้งแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะในรัฐมิชิแกน วิสคอนซินและเพนซิลเวเนียก็ดี ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ว. และผู้ว่าการรัฐก็ดี นอกจากนี้ยังมีปรากฎการณ์น่าจับตาอย่างรัฐมิชิแกนที่พรรคเดโมแครตสามารถกุมทั้ง 2 สภาและผู้ว่าการรัฐ (trifecta) ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี

…พรรคเดโมแครตจึงมองการเลือกตั้งในปี 2024 อย่างมั่นใจมากขึ้น…

3) การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่มีผล

ทุก ๆ 10 ปี ตามกฎหมายเลือกตั้งสหรัฐจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามประชากรที่มีการสำรวจ ซึ่งมีการกำหนดให้คนที่แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็นนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งหรือกลุ่มอิสระ โดยถ้าเป็นนักการเมืองก็มักจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้ตัวเองได้เปรียบที่มีคำเรียกว่า gerrymandering

สื่อโพลิติโกได้รายงานผลการเลือกตั้งแบ่งตามผู้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังนี้

สำหรับเขตเลือกตั้งที่พรรครีพับลิกันแบ่งเขตใหม่ พรรครีพับลิกันชนะใน 131 จาก 173 เขต (ร้อยละ 75.7)

  • ในเขตที่พรรคเดโมแครตแบ่งเขตใหม่ พรรคเดโมแครตชนะใน 37 จาก 43 เขต (ร้อยละ 86.0)
  • ในเขตที่องค์กรอิสระแบ่งเขตใหม่ พรรคเดโมแครตชนะใน 72 จาก 108 เขต (ร้อยละ 66.7)
  • และในเขตที่ศาลแบ่งเขตใหม่ พรรคเดโมแครตชนะใน 57 จาก 99 เขต (ร้อยละ 57.6)

…ซึ่งผลกระทบจากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่แบบนี้ จะมีผลต่อไปจนกว่าจะแบ่งเขตใหม่หลังสำมะโนปี 2030…

4) ไม่เกิดคลื่นสีแดง

เหตุผลที่คลื่นสีแดงไม่เกิดขึ้นและคนโหวตให้รีพับลิกันน้อยกว่าที่คาดแม้ว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจนั้น สาเหตุย่อมหนีไม่พ้นคนออกเสียงที่เป็นหญิงและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจกับกรณีที่ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินในคดี Roe v Wade

สำหรับประเด็นนี้ พรรคเดโมแครตพยายามหาเสียงด้วยการเสนอทางแก้ไขเดี่ยวกับการดูแลกรณีแท้งบุตร และข้อยกเว้นโทษในกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา การมีเพศสัมพันธ์กับญาติสนิท (incest) และกรณีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมารดา ในขณะที่พรรครีพับลิกันมักจะเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นนี้โดยสิ้นเชิง ผลน่าจะทำให้คนออกเสียงที่อินกับประเด็นนี้มีตัวเลือกแค่ตัวเดียว

โดยเอ็กซิตโพลของเอพีเปิดเผยว่าคนออกเสียงราวร้อยละ 60 ระบุว่าไม่พอใจกับคำตัดสินดังกล่าว นอกจากนี้ประเด็นสิทธิทำแท้งยังเป็นปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งใน battleground state ที่สำคัญอย่างมิชิแกนและเพนเซเวเนีย (พรรคเดโมแครตชนะทั้งคู่) จึงสรุปได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิทำแท้งที่ผลช่วยให้คนแห่กันโหวตเดโมแครตกันมากกว่าที่คาดไว้

และยังรวมถึงคนหนุ่มสาวซึ่งส่วนใหญ่เอียงไปทางเดโมแครตที่ออกมาใช้สิทธิกันเป็นจำนวนมาก จึงช่วยให้พรรคเดโมแครตชนะในหลายการเลือกตั้งที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะใน battleground state ด้วย

สรุปสุดท้ายคือพรรคเดโมแครตได้ครองสภาสูงสหรัฐ พรรครีพับลิกันได้ครองสภาล่าง

ส่วนในระดับผู้ว่าการรัฐและการเลือกตั้งท้องถิ่นพบว่าพรรคเดโมแครตสามารถทำผลงานตีตื้นพรรครีพับลิกันขึ้นมาได้

…ทั้งหมดนี้คือสีสันการเลือกตั้งสหรัฐปี 2022 นั่นเองครับ…