เมื่อพูดถึง “ประเทศโรมาเนีย” ความคิดแรกๆ ของหลายๆ ท่านก็คงจะไม่พ้น “ท่านเคาท์แดรกคูล่า” ผีดิบดูดเลือดที่ออกล่าเหยื่อโดยการกัดคอ สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนทั่วโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้สื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งหนัง, เกม, การ์ตูน ฯลฯ นำไปสร้างปีศาจร้ายในแบบของตน

…แต่ท่านทราบไหมครับว่า จริงๆ แล้ว โรมาเนียไม่มีผีดิบดูดเลือด! ท่านเคาท์แดรกคูล่าที่คนเรียกขานกันก็เป็นเพียงคนธรรมดา

…และทราบไหมครับว่า แม้ไม่มีผีดิบ แต่ประวัติศาสตร์ของโรมาเนียนั้นเลือดสาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันตั้งอยู่บนดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีการแย่งชิงอยู่เสมอ

บทความนี้ผมจะเล่าเรื่องราวของโรมาเนียตั้งแต่ยุคโบราณก่อนเป็นประเทศ, ความเป็นจริงของท่านเคาท์แดรกคูล่า, โรมาเนียยุคที่สู้เพื่ออัตลักษณ์, เรื่องราวในยุคคอมมิวนิสต์, และความเป็นอยู่ทุกวันนี้

ยุคโบราณ

จากหลักฐานทางโบราณคดี บริเวณประเทศโรมาเนียในปัจจุบันมีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่หลายหมื่นปีก่อน เพราะเป็นดินแดนที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน

อย่างไรก็ตาม เพิ่งมีการบันทึกถึงอารยธรรมแถบนั้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกช่วง 440 ปีก่อนคริสตกาล โดยอยู่ในบันทึกของ เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวกรีก

ช่วงเวลานั้น บริเวณดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “ดาเซีย” และเนื่องจากดาเซียมีขนาดใหญ่มาก (ถ้าเทียบปัจจุบันคือโรมาเนีย, มอลโดวา, บัลกาเรียเหนือ, ยูเครนตะวันตกเฉียงใต้, ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดานูบ ไล่ไปถึงเซอร์เบียส่วนหนึ่ง) ดินแดนดังกล่าวเลยมักแตกเป็นก๊กเล็กๆ รบพุ่งกันเอง จนกระทั่งมีนักรบยิ่งใหญ่ชื่อ “บัวเรบิสตา” (Burebista) สามารถรวมรวมดินแดน ตั้งเป็น “อาณาจักรดาเซียน” ขึ้นมาในช่วง 168 ปีก่อนคริสตกาล

ครั้นบัวเรบิสตาตาย อาณาจักรดาเซียนก็แตกเป็นก๊กเล็กๆ ใหม่ ก่อนจะถูกตีชิงเป็นของจักรวรรดิโรมันในปีค.ศ. 106 ทำให้ดาเซียได้รับอิทธิพลแบบโรมันมามาก คนพื้นเมืองกลายเป็นพูดภาษาตระกูลเดียวกับพวกโรมันไปหมด

ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจลง ดาเซียก็ถูกรุกรานทั้งจากพวกเยอรมานิค, เซลติค และโกธ ซึ่งพวกหลังสุดนี้บุกชิงดาเซียสำเร็จในปี 275

ชาวโกธอาศัยและปกครองดาเซียอยู่ถึงประมาณศตวรรษที่ 4 ก็โดนชาวฮันบุกมาตี ตามมาด้วยการรุกคืบของกษัตริย์ชาเลอมานชาวแฟรงค์ (ต้นตระกูลฝรั่งเศส) ในปี 971 จากนั้นก็ถูกรุกรานโดยเผ่าอื่นๆ เช่นสลาฟ, เติร์ก, ฮังการี เรียกว่าเปลี่ยนมือไปมาอยู่ตลอดในระยะเวลาหลายร้อยปี

แดรกคูล่า

ช่วงศตวรรษที่ 14 ชาววลาช (Valchs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลโรมานซ์ ซึ่งใกล้เคียงกับพวกอิตาลี/ฝรั่งเศส ได้ตั้งรัฐของตัวเองขึ้น เช่น โมลดาเวีย (มอลโดวา) และวัลลาเชีย และที่วัลลาเชียนี่เอง คือจุดเริ่มต้นของตำนาน “ท่านเคาท์แดรกคูล่า” อันโด่งดัง

“วลาด ดรากูล่า” หรือ “พระเจ้าวลาดที่ 3” ย้อนไปวัยเด็กเขาต้องเผชิญกับความวุ่นวายของการแก่งแย่งอำนาจระหว่างสองอาณาจักรที่ต้องการพื้นที่ของพวกเขา คือออตโตมันกับฮังการี

วลาดกับน้องชายถูกสุลต่านออตโตมันจับเป็นตัวประกัน เพื่อให้พระเจ้าวลาดที่ 2 หรือ “วลาด ดรากูล” พ่อของพวกเขามิคิดต่อต้าน อย่างไรก็ตามพระเจ้าวลาดที่ 2 ก็ไปสนับสนุนกษัตริย์ฮังการีมาตีกับออตโตมัน (อนึ่ง ดรากูล่า แปลว่า บุตรของดรากูล)

กระนั้นสุดท้ายพระเจ้าวลาดที่ 2 ก็กลับมาสวามิภักดิ์ออตโตมัน ยอมส่งส่วยให้ทุกปี เป็นเหตุให้ วลาด กับน้องชายรอดมาได้ แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้พวกฮังการี ที่ยกทัพมาตีวัลลาเชียในปี 1447

พระเจ้าวลาดที่ 2 ถูกสังหารในความวุ่นวายดังกล่าว แม้วลาดจะเป็นทายาทโดยชอบธรรม แต่ทางฮังการีกลับตั้งญาติคนอื่นขึ้นมาปกครองแทน ทำให้เขาต้องหนีไป

อย่างไรก็ตามฮังการีได้กลับมาสนับสนุนวลาดให้ตีชิงบัลลังก์คืนในปี 1456 ซึ่งเมื่อเขาขึ้นครองราชย์แล้วก็ไล่เก็บกวาดคนที่มีส่วนรู้เห็นในการตายของบิดา และแแย่งทรัพย์สินของคนเหล่านั้นมาเป็นของตนเอง

วลาดยังส่งส่วยให้กับสุลต่านออตโตมันแบบสมัยบิดา ทำให้โดนพวกฮังการีประณามว่าเป็นคนคิดไม่ซื่อ และพยายามสนับสนุนญาติของเขาขึ้นมาแทนอีกหน

อย่างไรก็ตามได้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันในฮังการี เป็นโอกาสให้วลาดเริ่มสะสมอำนาจของตัวเอง เขาแผ่อิทธิพลไปยังโมลดาเวียและทรานซิลเวเนีย

…ตอนนี้เองมีเรื่องเล่ากันว่า หมู่บ้านใดที่เขาบุกไปถึงไซร้ เขาจะจับชาย หญิง และเด็ก ที่ต่อต้านไปสังหารโดยการใช้เหล็กแหลมแทงสวนจากทวารขึ้นมาทะลุคอ (อึ๋ย…)

พอวลาดมีอำนาจมากเขา ก็แข็งขืนต่อออตโตมัน ไม่ส่งส่วยตามปกติอีกต่อไป แถมยังฆ่าคนที่ออตโตมันส่งมาตามตัวเขาด้วย จากนั้นเขาเริ่มดำเนินการรบพุ่งกับพวกเติร์กออตโตมันในปี 1462 กลายเป็นสงครามใหญ่

…สุดท้ายวลาดสู้ไม่ได้ เขากับพรรคพวกจึงต้องหลบหนี แต่ในการหนีนั้นก็เขาได้ใช้วิธีแบบ scorched-earth หรือเผาบ้านเมืองรายทางไม่ให้เหลือ เพื่อที่ทัพสุลต่านจะนำไปใช้อะไรไม่ได้

…บันทึกกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เหลือหลังถูกเผาคือ ร่างของคนที่โดนเหล็กแหลมเสียบเป็นจำนวนมาก สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง

วลาดยังพยายามสู้รบกับออตโตมันอีก แต่อย่างไรก็ไม่ชนะ จนเสียชีวิตลงในเดือนมกราคม ปี 1477 อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเขาตายอย่างไรแน่ บางคนว่าวลาดตายในสนามรบ บางคนว่าเขาโดนลอบสังหาร และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าศพของเขาอยู่ที่ไหน…

ความโหดเหี้ยมของ วลาด แดรกูล่า ทำให้คนเล่าลือกันว่าเขาเป็นปีศาจ และต่อมา บราม สโตรเกอร์ นักเขียนเรื่องสยองขวัญ นำเรื่องราวของบุคคลนี้ไปเขียนนิยายผีดิบแวมไพร์ที่ตีพิมพ์ในปี 1897 ชื่อเรื่อง “แดรกคูล่า” กลายเป็นตำนานสยองขวัญเรื่อยมา

ใต้อำนาจออตโตมัน

ออตโตมันเข้าครองอำนาจในบริเวณโรมาเนียปัจจุบันทั้งหมดในปี 1541 อย่างไรก็ตาม สำหรับวัลลาเชีย มอลดาเวีย ทรานซิลเวเนีย ก็ยังมีอำนาจปกครองตัวเองอยู่ มีเจ้าชายฮังการีที่ไม่ใช่สายหลัก (คือไม่ใช่สายฮาพส์บวร์ค ซึ่งต่อมาจะก่อตั้งอาณาจักรออสเตรีย) ลงมาเป็นเจ้าเมือง ตั้งราชสำนักในทรานซิลเวเนีย

ปี 1594 วัลลาเชีย, มอลดาเวีย, ทรานซิลเวเนีย เข้าร่วมกับสันนิบาติศักดิ์สิทธิ์ของพระสันตะปาปาเคลเมนไทน์ที่ 8 เพื่อต่อต้านออตโตมัน โดยมี “พระเจ้าไมเคิลผู้กล้าหาญ” ขึ้นมาเป็นประมุขของทั้งสามรัฐในปี 1600

อย่างไรก็ตามเขาถูกอำนาจรอบๆ บีบให้ต้องสละตำแหน่ง แต่พระเจ้าไมเคิลผู้กล้าหาญก็เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของโรมาเนียมาโดยตลอด

เวลาผ่านไปถึงศตวรรษที่ 19 “จักรวรรดิรัสเซีย” ที่เริ่มเข้มแข็งตีชิงเมืองต่างๆ แข่งกับออตโตมัน ทั้งสองสู้รบกันหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พื้นที่บริเวณโรมาเนียปัจจุบันมีการผลัดเปลี่ยนมือไปมาเสมอ

ในปี 1848 ขณะรัสเซียมีอำนาจ มอลดาเวีย วัลลาเชีย และทรานซิลเวเนีย ได้อาศัยความวุ่นวายร่วมมือกันก่อการปฏิวัติ ซึ่งแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้คนทั้งสามรัฐเกิดความรู้สึกชาตินิยมร่วมกันอีกครั้ง เพราะมีภาษาและอารยธรรมคล้ายกัน

ปี 1856 รัสเซียแพ้การสู้รบกับออตโตมัน ทำให้มอลดาเวียและวัลลาเชียอาศัยจังหวะร่วมกันตั้งตัวเป็นเอกราช นำไปสู่การตั้งรัฐโรมาเนีย (Principalities of Romania) ขึ้นในปี 1862 …ทั้งนี้ในตอนนั้นทรานซิลเวเนียยังมีชาวฮังกาเรียนมีอิทธิพลอยู่ เลยไม่ได้มาร่วมตั้งรัฐด้วย

ผู้ปกครองของโรมาเนียมีชื่อตำแหน่งว่า “ดอมนิตอร์” มีศักดิ์เป็น “เจ้าชาย” ผู้ปกครองคนแรกชื่อ “อเล็กซานดรู ไอโอน คูซา”

คูซาโดนปฏิวัติในปี 1866 จากนั้นจึงมึ เจ้าชายคารอล จากราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น (ราชวงศ์เดียวกับปรัสเซีย และเยอรมันในเวลาต่อมา) ตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นมาแทน

หลังสงครามรัสเซีย-ตุรกีปี 1877-1878 รัสเซียกลับชนะ สามารถขับไล่อิทธิพลออตโตมันออกไปจากโรมาเนีย ชาติมหาอำนาจยุโรปต่างๆ ลงนามสนธิสัญญาเบอร์ลินปี 1878 รับรองเอกราชของโรมาเนีย

ต่อมาในปี 1881 มีการยกระดับโรมาเนียจากราชรัฐ (ปกครองโดยเจ้าชาย) เป็นราชอาณาจักร (ปกครองโดยกษัตริย์) เจ้าชายคารอลจึงกลายเป็น “พระเจ้าคารอลที่ 1″ ไป

ท่ามกลางภัยสงคราม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โรมาเนียต้องการดินแดนทรานซิลเวเนียจากจักรวรรดิออสเตรียฮังการี เพราะถือเป็นดินแดนแต่โบราณของตน จึงเอียงเข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร (นำโดยฝรั่งเศสและรัสเซีย) และเมื่อถูกบีบคั้นจึงประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง (นำโดยเยอรมนี ออตโตมัน และออสเตรียฮังการี) ในปี 1916

โรมาเนียไม่ประสบความสำเร็จในสงครามนัก และถูกบีบให้ออกจากการสู้รบอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สามารถพลิกกลับมาทำเกมในช่วงปลายสงครามได้ เมื่อฝ่ายพันธมิตรชนะ พวกเขาจึงชนะไปด้วย และสามารถผนวกดินแดนทรานซิลเวเนียตลอดจนเบสซาราเบีย (เป็นดินแดนของมอลดาเวียที่เสียไปให้รัสเซียตั้งแต่ช่วงที่ตีกับออตโตมัน) รวมเข้ากับประเทศโรมาเนีย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โรมาเนียใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 (เป็นผลกระทบต่อๆ มาจากเศรษฐกิจสหรัฐ ลามมาถึงยุโรป) ซึ่งทำให้คนตกงานและเกิดการหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง จนกระทั่งมาฟื้นตัวในช่วงกลางทศวรรษ 1930s

ช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวนั้น ระบอบประชาธิปไตยของโรมาเนียก็ยังไม่มั่นคงเท่าไร ทำให้เกิดเผด็จการแบบฟาสซิสต์มีอิทธิพลขึ้น อย่างไรก็ตามกษัตริย์ในขณะนั้นคือ “พระเจ้าคารอลที่ 2” ก็ยังสามารถประคับประคองไม่ให้พวกนิยมนาซีขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

สถานการณ์มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939 ทำให้โรมาเนียต้องเสียดินแดนดินแดนเบสซาราเบียทางเหนือของประเทศให้แก่โซเวียต และเสียดินแดนทรานซิลเวเนียให้ฝ่ายเยอรมัน

กษัตริย์โรมาเนียตอนนั้นอ่อนแอ ถูกบังคับสละราชสมบัติ และผลัดแผ่นดินเป็นพระเจ้าไมเคิลที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์รัชกาลสุดท้ายของโรมาเนีย ส่วนอำนาจปกครองประเทศตกเป็นของ “อียอน อันตอเนสกู (Ion Antonescu) ซึ่งตั้งตนเป็น “คอนดูคาทอร์” (Conducător แปลว่า “ท่านผู้นำ” คล้ายกับฟือเรอร์ของเยอรมัน)

อันตอเนสกูเข้าร่วมฝ่ายอักษะเต็มตัว และร่วมบุกสหภาพโซเวียตกับนาซี อย่างไรก็ตามสถานการณ์พลิกผันในแนวรบด้านตะวันออก ทำให้ในปี 1944 พระเจ้าไมเคิลที่ 1 ประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะ เพราะเห็นท่าว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องชนะสงครามในที่สุด

ถึงกระนั้นสหภาพโซเวียตก็ลงโทษโรมาเนียด้วยการบังคับให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และถือโรมาเนียเป็นประเทศข้าศึกที่ถูกยึดครอง ต่อมาโซเวียตยังบังคับให้โรมาเนียต้องมีนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ และคงทหารไว้ในประเทศแม้สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว

รัฐคอมมิวนิสต์ช่วงต้น

ในปี 1947 ผู้นำคอมมิวนิสต์โรมาเนียนาม “เกออร์เก เกออร์กีอู-เดจ” (Gheorghe Gheorghiu-Dej) บังคับเปลี่ยนโรมาเนียมาเป็นสาธารณรัฐ และเริ่มการปฏิรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยึดกิจการเป็นของรัฐ และการใช้ระบบนารวม นอกจากนี้ยังถูกบังคับให้ต้องส่งทรัพยากรไปฟื้นฟูบูรณะสหภาพโซเวียตหลังสงครามด้วย

ช่วงนี้ระบอบคอมมิวนิสต์โรมาเนียถูกจดจำว่ามีการกดขี่ผู้เห็นต่างอย่างหนัก โดยมีการกวาดล้างด้วยตำรวจลับ การบังคับย้ายชาวนา รวมทั้งมีคุกปิเตช (Pitești) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ขึ้นชื่อกในเรื่องการจับศัตรูการเมืองมาล้างสมอง ด้วยการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ไปทั่วยุโรปตะวันออก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในโรมาเนียจะถือได้ว่ามีมายาวนานเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปตะวันออก

ในขณะเดียวกัน สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์โรมาเนีย คือ ผู้นำของพวกเขายังพยายามดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากโซเวียตหลายประการ โดยถึงแม้ว่าจะต้องเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ แต่ก็มีอิสระจากการถูกสั่งการในหลายเรื่อง และยังสามารถผลักดันกองทัพโซเวียตในประเทศออกไปได้ด้วย

นอกจากนั้นผู้นำโรมาเนียยังคัดค้านแผนของกลุ่มเศรษฐกิจโคมีคอนในการเปลี่ยนโรมาเนียเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ดำเนินนโยบายเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานแทน และต่อมามีการปรับเปลี่ยนให้ลดการควบคุมเศรษฐกิจลงบางส่วนเพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนอีกด้วย

เชาเชสกู

ในปี 1965 นาย “นิโคไล เชาเชสกู” (Nicolae Ceaușescu) ขึ้นเป็นผู้นำแทนเกออร์กีอู-เดจ ในช่วงแรกเขาเป็นผู้นำที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม เพราะสามารถทำให้สินค้าไม่ขาดแคลน และยังผ่อนคลายการกดขี่เมื่อเทียบกับผู้นำในค่ายโซเวียตคนอื่นๆ

นอกจากนั้นเขายังสามารถเล่นเกมถอยห่างจากอิทธิพลโซเวียต แล้วไปคบกับจีนและชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น เยอรมนีตะวันตกหรืออิสราเอล (ทำให้ชาติตะวันตกไม่ค่อยวิจารณ์โรมาเนียมากนัก)

ผลงานของเขาในทางที่ดีจะเป็นเรื่องการขยายกรุงบูคาเรสต์ ทำให้ชนชั้นล่างมีที่อยู่อาศัย ประชากรมีการศึกษาดีขึ้น สิทธิสตรีดีขึ้นและอายุขัยประชาชนยืนยาวขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ออกนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการห้ามทำแท้งและคุมกำเนิด ส่งผลให้มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง มีปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ ตลอดจนปัญหาเด็กกำหร้าและเด็กไร้บ้าน

อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆ ของเขาได้สร้างหนี้สินกับต่างชาติจำนวนมาก ในทศวรรษ 1980s เชาเชสกูพยายามลดหนี้ด้วยการออกมาตรการรัดเข็มขัดอย่างโหด ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก (แม้ว่าจะช่วยให้จ่ายหนี้ได้มากก็ตาม)

เมื่อมีเสียงต้นจากประชาชน แทนที่เชาเชสกูจะเลือกเปลี่ยนนโยบาย เขากลับหันไปกดขี่ประชาชนอย่างหนัก มีการสอดแนมประชาชน โดยเฉพาะการดักฟังโทรศัพท์ นอกจากนั้นยังมีการเซ็นเซอร์และการสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล

…และในขณะที่ความเป็นอยู่ของประชาชนกำลังย่ำแย่ เชาเชสกูก็ไม่หยุดดำเนินโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ รวมทั้งใช้ทรัพยากรเอื้อประโยชน์แก่ครอบครัวและบริวาร

สถานการณ์ดังกล่าวสุกงอมในปี 1989 เกิดการประท้วงใหญ่จนสามารถปลดเชาเชสกูลงจากตำแหน่งได้ในที่สุด เขาถูกจับพร้อมภรรยา และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยศาลที่ค่อนข้างเตี้ย (อารมณ์เหมือนแก้แค้นมากกว่า)

…การตายของเขาเป็นข่าวดังทั่วโลก

…มันแสดงภาพผู้นำที่มีจุดเริ่มต้นเป็นที่รักของประชาชน กลับตายอย่างทุเรศในฐานะทรราช…

ยุคหลังคอมมิวนิสต์

โรมาเนียยุคหลังคอมมิวนิสต์เปลี่ยนมาใช้ระบอบประชาธิปไตยและระบบตลาดเสรี อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองหลายๆ อย่างยังคงอยู่ โดยเฉพาะมีการประท้วงระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ต่างๆ อีกทั้งประเทศยังคงมีปัญหาคอร์รัปชันและเศรษฐกิจ

ถึงกระนั้นตามปัจจุบันประชาชนโรมาเนียยากจนน้อยลงและคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยได้ชื่อว่าเป็นประเทศ unseen ที่น่าไปเที่ยวแห่งหนึ่ง เช่น กรุงบูคาเรสต์เมืองหลวงของประเทศโรมาเนีย มีการขนานนามเมืองว่าเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” เพราะมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ผสมผสานกับความไฮเทคอย่างลงตัว

ในเมืองมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย เช่น “อาคารรัฐสภาโรมาเนีย” มีพื้นที่อาคารถึง 365,000 ตารางเมตร ตัวอาคารสร้างจากหินอ่อน 1 ล้านคิวบิกเมตร ภายในประกอบด้วยคริสตัลอีก 3,500 ตัน โลหะอีก 700,000 ตัน น้ำหนักเกือบ 4.1 พันล้านกิโลกรัม ทำให้เป็นอาคารที่หนักที่สุดในโลก

ตัวอาคารรัฐสภาก่อสร้างแบบศิลปะสังคมนิยมและนีโอคลาสสิกโมเดิร์นในสมัยของ นิโคไล เชาเชสกู เนื่องจากแฝงลัทธิบูชาตัวบุคคล ทำให้มีความหรูหราฟุ้งเฟ้อ

ภูมิภาคทรานซิลเวเนียเองก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนที่สนใจตำนานลึกลับ เพราะต้องการไปเยี่ยมชม “ปราสาทบราน” ซึ่งโปรโมทกันว่าเป็นที่พำนักของวลาด แดรกูลา (อนึ่ง จริงๆ ตามประวัติศาสตร์ที่อยู่ของวลาดคือ “ปราสาทโปนารี” แต่ปัจจุบันเหลือเพียงซาก)

ส่วนปราสาทบรานเป็นพระราชวังของราชวงศ์โรมาเนีย ก่อนจะถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยึดเป็นของรัฐ และปัจจุบันรัฐบาลโรมาเนียได้ยกปราสาทนี้ให้แก่ทายาทโดยธรรม (เชื้อพระวงศ์ไร้บัลลังก์ตระกูลฮับส์บัวร์ก) มีการเปิดทัวร์แบบมีไกด์ และด้านล่างหุบเขามีพิพิธภัณฑ์มีชีวิตซึ่งอนุรักษ์หมู่บ้านชาวนาโรมาเนียในละแวกปราสาท

นอกจากนี้ยังมีปราสาทสวยงามอีกแห่งหนึ่ง คือ “ปราสาทเปเลส” ก่อตั้งขึ้นในรัชกาลพระเจ้าคารอลที่ 1 เป็นพระราชวังฤดูร้อนและสถานที่ล่าสัตว์ มีสไตล์เดียวกันกับปราสาทนอยชวานชไตน์ในรัฐบาวาเรีย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของเรื่องเจ้าหญิงนิทรา

บทส่งท้าย

โรมาเนียเป็นประเทศที่ไม่ได้น่าสนใจแต่เพียงเรื่องราวของผีดิบแดรกคูล่า แต่เพราะผ่านอะไรมาหลายอย่าง เริ่มจากการต่อสู้กับข้าศึกต่างศาสนา มาจนถึงการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทั้งฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์

พวกเขายังผ่านยุคเผด็จการที่ควบคุมชีวิตประชาชน และมีการโค่นเผด็จการนั้นด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดที่ขัดแย้งกับความสวยงามที่พบเห็น สร้างเรื่องราวน่าค้นหาสำหรับนักเดินทางจากทั่วโลก