“อุซเบกิสถาน” หนึ่งในประเทศจากเอเชียกลาง เป็นประเทศหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกัน เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตและอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางที่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในหน้าข่าวสารต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้กลับมีความน่าสนใจที่ถึงแม้จะไม่ได้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ไม่ซ้ำใคร แต่ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทางแพร่งของอาณาจักรใหญ่กว่ารอบๆ และตั้งอยู่บน “เส้นทางสายไหม” ก็ได้ทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาเป็นลูกผสมที่กลายมาเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งไป
แต่ความเป็นมาของอุซเบกิสถานจะเป็นอย่างไรบ้าง? ติดตามได้ในโพสต์นี้เลยครับ
มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อุซเบกิสถานอายุกว่า 7 หมื่นปี แต่คนกลุ่มแรกที่ได้ชื่อว่ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้คือ “ชาวไซเทียน” (Scythian) ซึ่งเป็นชนเร่ร่อนขี่ม้าพูดภาษาตระกูลอิหร่าน และมีถิ่นกำเนิดในยูเครนและตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียปัจจุบัน
ต่อมามีอารยธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ได้แก่ “แบ็กเทรีย” (Bactria) และ “ซ็อกเดีย” (Sogdia) ทั้งสองเป็นอาณาจักรของคนที่พูดภาษาตระกูลอิหร่านเช่นกัน และนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ต่อมาสองอารยธรรมนี้อยู่ในการปกครองของจักรวรรดิอะคีเมนิดจากเปอร์เซีย
ในยุคก่อนคริสตกาลยังมีเหตุการณ์ทูตจางเชียนแห่งราชวงศ์ฮั่นมาเปิดเส้นทางสายไหมไปถึงจีน รวมถึงการพบกับชาว “เยว่ชื่อ” นอกจากนี้ยังมีการตั้งเมืองสำคัญๆ ในอุซเบกิสถานอย่าง “บูคารา” (Bukhara) และ “ซามาร์คานด์” (Samarkand) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางสายไหมด้วย
สำหรับเมือง “บูคารา” นี้เป็นเมืองที่ปรากฏในมหากาพย์ “ชาห์นาเมห์” (Shahnameh) ของอิหร่าน และเกิดขึ้นในยุคที่เปิดเส้นทางสายไหมแล้ว ส่วนในทางโบราณคดีชี้ว่าเมืองนี้กำเนิดขึ้นในช่วงประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ. และเกิดขึ้นในส่วน “อาร์คแห่งบูคารา” (Ark of Bukhara) ซึ่งเป็นป้อมปราการของเมืองเป็นส่วนแรก
ต่อมาในช่วง 300 ปีก่อน ค.ศ. กองทัพมาซิโดเนียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกมาพิชิตอาณาจักรเปอร์เซีย รวมถึงพื้นที่แบ็คเทรียและซ็อกเดีย หลังจากนั้นอาณาจักรนี้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และส่วนซ็อกเดียนี้กลายมาเป็นอาณาจักรของตนเองบางทีเรียก “อาณาจักรกรีก-แบ็กเทรีย” (เป็นอาณาจักรที่มี “พระเจ้ามิลินท์” นั่นเอง)
หลังจากยุคอาณาจักรกรีก-แบ็กเทรีย ได้เข้าสู่ยุค “จักรวรรดิกุษาณะ” (Kushan Empire) ซึ่งเป็นอาณาจักรของชาว “เยว่ซื่อ” ที่จางเชียนไปพบ โดยเยว่ซื่อเป็นคนพูดภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แปลว่าไม่ใช่กลุ่มเดียวกับตระกูลภาษาอิหร่านก่อนหน้านี้ อาณาจักรนี้มีกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงเช่น “พระเจ้ากนิษกะ”
ในยุคอาณาจักรกรีก-แบ็กเทรียและจักรวรรดิกุษาณะเป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธที่อยู่ได้พื้นที่มาตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ผสมกับวัฒนธรรมกรีกที่เข้ามาภายหลัง เกิดเป็น “ศิลปะคันธาระ” ขึ้น และศาสนาพุทธผสมกรีกสไตล์นี้เองที่ถูกส่งต่อไปยังจีนและญี่ปุ่นต่อไป ปัจจุบันยังคงหลงเหลือสถานที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ในเมืองเตอร์เมซ (Termez) ที่เป็นอดีตเมืองหลวงของแบ็คเทรียด้วย
หลังจากยุคของอาณาจักรกรีก ได้เข้าสู่ยุคอาณาจักรของชาวอิหร่านอีกครั้งซึ่งได้แก่ “จักรวรรดิพาร์เธียน” (Parthian Empire) และ “จักรวรรดิแซสซานิด” (Sassanid Empire)
กลุ่มคนที่เข้ามาแทนที่แซสซานิดคือกลุ่มชนเร่ร่อนเตอร์กิก (Turkic) ต่างๆ ซึ่งเตอร์กิกนี้เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์-ภาษาในเอเชียและยุโรป ส่วน “เติร์ก” (Turk) ที่อาศัยอยู่ในตุรกีเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเตอร์กิกนี้ ดังนั้นจึงถือได้ว่าคนเตอร์กิกจากเอเชียกลางกับคนเติร์กจากตุรกีเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวดองกัน แม้จะอยู่ห่างไกลกันมาก …กลุ่มคนเตอร์กิกที่เข้ามานี้จะกลายมาเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอุซเบกิสถานแทนชาวอิหร่านนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 11
ก่อนจะเข้าสู่ยุคอิสลามซึ่งมีการเผยแผ่พร้อมกับการขยายอาณาจักรอิสลามมายังเอเชียกลางในช่วงศตวรรษที่ 7 พร้อมกับตั้ง “จักรวรรดิซามานิด” (Samanid Empire) …ทำให้ศาสนาอิสลามกลายมาเป็นศาสนาหลักในพื้นที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมในพื้นที่ยังคงผสมผสานแบบเปอร์เซียที่อยู่มาก่อน
ด้วยที่ตั้งของบูคาราที่เป็นเมืองบนเส้นทางสายไหมจึงทำให้ยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปวิทยาการ จึงเป็นที่กำเนิดของนักวิชาการมุสลิมคนสำคัญหลายคนในยุคทองของอิสลาม รวมทั้ง “แอวิเซียนนา” (Avicenna) ที่เป็นปราชญ์ด้านการแพทย์ที่ดังไปถึงโลกตะวันตกนั่นเอง
ล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 13 “เจงกิสข่าน” นำทัพม้ามองโกลยาตราเข้ายึดครองพื้นที่เอเชียกลางรวมถึงอุซเบกิสถาน ทำให้พื้นที่แถบนี้ได้รับผลกระทบทั้งการถูกฆ่าฟันหรือทำลายเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก
หลังจากเจงกิสข่านเสียชีวิตและจักรวรรดิมองโกลแตกออกเป็นส่วนๆ ส่วนเอเชียกลางได้อยู่ในมือของลูกชายคนที่ 2 ของเจงกิสข่าน แต่ต่อมาได้สูญเสียอำนาจให้กับผู้นำท้องถิ่นชื่อว่า “ติมูร์” (Timur) ได้ก่อตั้งอาณาจักรเรียกว่า “จักรวรรดิติมูริด” (Timurid Empire) ช่วงศตวรรษที่ 14-16
ซึ่งกษัตริย์ติมูร์นี้เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงในด้านฝีมือการรบ สามารถขยายอาณาเขตไปได้กว้างไกลตั้งแต่เอเชียกลางไปจนถึงอินเดียและตะวันออกกลาง และกลายเป็นผู้นำมุสลิมที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุคนั้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับขนานนามว่าเป็น “มหาผู้พิชิตจากเผ่าเร่ร่อนคนสุดท้าย” ผู้อ้างสิทธิ์เป็นทายาทของเจงกิสข่านผ่านทางบิดา ราชวงศ์ติมูริดยังมีความสำคัญในการอุปถัมภ์ศิลปวิทยาการจนเกิด “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการติมูริด” (Timurid Renaissance) นับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะแบบเปอร์เซียครั้งสุดท้าย และยังเป็นต้นราชวงศ์โมกุลในอินเดียอีกต่อหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปจักรวรรดิติมูริดได้อ่อนแอลงจากความขัดแย้งภายใน “ชาวอุซเบก” ซึ่งเป็นเผ่าเตอร์กิกเร่ร่อนเผ่าหนึ่งได้เข้ามาชิงพื้นที่เอเชียกลางไปได้” …และแน่นอนคำว่าอุซเบกนี้เป็นที่มาของชื่ออุซเบกิสถานในปัจจุบันนั่นเอง
ชาวอุซเบกมีไปตั้ง “รัฐข่านบูคารา”, “รัฐข่านคีวา” (Khiva) และ “รัฐข่านโกกอน” (Kokand) ทั้งหมดเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายใน การรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือ และการทำสงครามจนตกเป็นเมืองขึ้นเปอร์เซียทางใต้ ช่วงนี้การค้าบนเส้นทางสายไหมยังลดลงด้วย เพราะชาติตะวันตกเลือกค้าขายทางทะเลแทน ทำให้พื้นที่เอเชียกลางยากจนลง
สุดท้ายในศตวรรษที่ 19 พื้นที่อุซเบกิสถานจึงกลายเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งต้องการพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ การได้พื้นที่ส่วนนี้ทำให้รัสเซียเกิดขัดแย้งกับอังกฤษที่เข้าควบคุมอินเดีย พื้นที่เอเชียกลางจึงเป็นพื้นที่ทำสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจที่เรียกว่า “Great Game”
การเข้ามาของรัสเซียยังมีผลทำให้มีการปลูกฝ้ายเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยทางรถไฟที่มีการขนชาวรัสเซียเข้ามาในพื้นที่ และหลังการปฏิวัติรัสเซีย รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้สั่งเพิ่มการผลิตฝ้ายจากพื้นที่เอเชียกลางซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
เมื่อเข้าสู่ยุคสหภาพโซเวียตมีการขีดเส้นแบ่งประเทศใหม่โดยโจเซฟ สตาลิน ซึ่งแบ่งเอเชียกลางออกเป็น 5 ประเทศตามเชื้อชาติใหญ่ๆ รวมทั้งอุซเบกิสถาน นับเป็นการแบ่งประเทศตามแนวคิดชาตินิยมที่ไม่เคยมีมาก่อนในเอเชียกลาง การแบ่งนี้นับว่าสร้างความขัดแย้งในหมู่ชาติเอเชียกลางทั้งห้า และอาจมองได้ว่านี่คือสไตล์ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในอินเดีย
อุซเบกิสถานผ่านช่วงเวลาเดียวกับประวัติศาสตร์โซเวียตอื่นๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ประชาชนถูกเกณฑ์ไปรบให้กับรัสเซียเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ, ผ่านการกวาดล้าง Great Purge ในยุคสตาลิน และมีการย้ายโรงงานจากยุโรปมาลงในพื้นที่ช่วงสงคราม การเข้ามาของคนงานโรงงาน อีกทั้งนโยบายของสตาลินที่ย้ายคนที่อาจเอาใจฝักใฝ่ฝ่ายอักษะมารวมกันในอุซเบกิสถาน รวมทั้งชาวเกาหลี เชเชนและตาตาร์ไครเมีย
แม้หลังการเสียชีวิตของสตาลินจะมีการแต่งตั้งผู้นำที่เคยถูกกวาดล้างกลับเข้ามาใหม่ แต่นโยบายรับวัฒนธรรมรัสเซียยังคงเป็นเงื่อนไขในการกลับเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาล นอกจากนี้อุซเบกิสถานยังมีผู้นำที่ขึ้นชื่อเรื่องการแบ่งพรรคพวกจากเผ่าต่างๆ
ในช่วงปลายยุคโซเวียต มีการกวาดล้างผู้นำอุซเบกิสถานในข้อหาคอร์รัปชัน แต่กลับทำให้แนวคิดชาตินิยมอุซเบกรุนแรงขึ้นแทน ซึ่งผสมโรงกับการบังคับผลิตฝ้ายขนานใหญ่ การกดขี่วัฒนธรรมแบบอิสลาม การขาดการลงทุนเพื่อหางานให้กับประชากรอุซเบกที่เพิ่มขึ้น บวกกับการเลือกปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์อุซเบกในกองทัพโซเวียต
หลังอุซเบกิสถานได้รับเอกราชในปี 1991 ได้ประธานาธิบดีคนแรกชื่อ “อิสลาม คาริมอฟ” ทางการได้ใช้นโยบายยกชาติพันธุ์อุซเบกเป็นใหญ่ทำให้ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มอพยพออกไปกันมาก นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นชุดเดิมในช่วงปลายยุคโซเวียตยังปกครองประเทศแบบเป็นเผด็จการและกดขี่ประชาชนคล้ายเดิม แต่ต้องผ่อนลงบ้างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากตะวันตก
และหลังคาริมอฟเสียชีวิตในปี 2016 “ซัฟแกต มิร์ซิโยเยฟ” ได้เป็นประธานาธิบดีสืบต่อมา เขาได้มีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เปิดเสรีเศรษฐกิจและปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก แม้ว่านักวิจารณ์จะยังบอกว่าเขาเป็นเผด็จการอยู่มากก็ตาม
…และทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์อุซเบกิสถาน ประเทศหนึ่งในเอเชียกลางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้กันนะครับ
#TWCCulture #TWCCentralAsia
0 Comment