“โตเกียวโอลิมปิก 2020” นั้นกำลังจะเริ่มต้นในเดือนหน้าแล้ว นักกีฬาบางประเทศก็เริ่มบินไปเก็บตัวที่ญี่ปุ่น ท่ามกลางเสียงต่อต้านของประชาชนเจ้าบ้าน หลายคนไม่อยากให้จัดงานนี้ขึ้นเพราะสถานการณ์โควิดยังไม่ซาลง และกรุงโตเกียวยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

ทว่านี่ไม่ใช่เพียงปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางสู่โตเกียวโอลิมปิกของแดนอาทิตย์อุทัย…

ต่อไปนี้คือ 10 เรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่การประกาศตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจนถึงตอนนี้ มีทั้งเรื่องน่ากังขา (ข้อ 1) ปัญหาเก่าๆ (ข้อ 4) เรื่องที่ร้ายแรงที่สุด (ข้อ 7) เรื่องใต้สะดือ (ข้อ 9) และปัญหาที่คนเป็นเจ้าของประเทศกลับไม่อาจตัดสินใจ (ข้อ 10)

“พอเถอะ อย่าจัดโอลิมปิก”
“ยกเลิกโตเกียวโอลิมปิกซะ”
“ดับไฟคบเพลิงโอลิมปิกเหอะ!”

ทั้งหมดนั่นเป็นตัวอย่างเล็กๆ จากป้ายที่คนโตเกียวออกมาถือเดินขบวนประท้วงการจัดแข่งขันกีฬา ซึ่งถ้าย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครเชื่อว่าอนาคตจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ เพราะการแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวนั้นเป็นความฝันอันสวยงามเหลือเกิน

โตเกียวโอลิมปิก 2020 สามารถดึงความสนใจให้ทั้งโลกเฝ้าติดตามตั้งแต่การแสดงในพิธีปิดโอลิมปิกริโอ ณ ประเทศบราซิลเมื่อปี 2016 ที่ใช้ตัวละครชื่อดังจากป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่น เช่น ฮัลโหลคิตตี้ กัปตันซึบาสะ หรือ แพคแมน มารวมตัวกัน

นอกจากนั้นยังมีฉากนายกฯ ญี่ปุ่น ณ ขณะนั้นอย่าง ชินโซ อาเบะ แปลงร่างเป็นลุงมาริโอ้ ที่ลงท่อวาร์ปของโดราเอม่อนไปยังริโอ เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก

…การรวมมิตรครั้งนี้ ทำให้เด็กที่เติบโตมาในยุคช่องเก้าการ์ตูนและเครื่องเกมกดอย่างหลายท่าน ตื่นเต้น และมั่นใจว่าโอลิมปิกครั้งนี้มันต้อง “สุโก้ย” แน่นอน!

…แต่แน่ล่ะครับ อย่างที่ทุกคนเห็นกันว่าในวันนี้ มหกรรมกีฬาที่ควรจะ “เจ๋ง” ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ดูท่าจะ “เจ๊ง” อย่างหนักที่สุด จากนี้จะขอพูดถึงปัญหาหลายอย่างที่ถาโถมมาในการแข่งขันครั้งนี้ ประดุจสวรรค์กลั่นแกล้งญี่ปุ่น…

(1) ข้อกล่าวหาใช้เงินใต้โต๊ะซื้อสิทธิ์เจ้าภาพ

เพียงแค่ตอนคัดเลือกตัวแทนก็มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะมีการสืบพบว่าญี่ปุ่นอาจจะได้สิทธิ์การจัดงานโอลิมปิกมาอย่างไม่โปร่งใส จากหลักฐานการโอนเงินจากสถาบันการเงินในญี่ปุ่นจำนวนราวๆ เกือบ 50 ล้านบาท เข้าบัญชีบริษัทของลูกชายที่ปรึกษาสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ ซึ่งเคยทำงานในคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อยู่นาน และยังมีอิทธิพลกับองค์กรมาก

ญี่ปุ่นซึ่งมีภาพลักษณ์ของความหยิ่งในศักดิ์ศรี ซื่อสัตย์ ทำอะไรตรงไปตรงมา ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ทันที และประกาศว่าจะร่วมมือกับตำรวจฝรั่งเศสซึ่งเป็นหน่วยงานที่ค้นพบความผิดปกติของบัญชีอย่างเต็มที่

IOC เองก็กล่าวว่าพร้อมให้ทางฝรั่งเศสเข้ามาคุยด้วยเช่นกัน

ผ่านไปหลายปีจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบว่าญี่ปุ่นใช้เงินใต้โต๊ะจริงไหม แต่บอกได้ว่า ผลลงเอยของมันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ญี่ปุ่นอยากได้นัก ดังจะกล่าวในข้อต่อไป

(2) ข้อขัดแย้งทางด้านดีไซน์

แน่นอนว่าสนามกีฬาในการนี้ต้องปัง ญี่ปุ่นจึงถึงกับลงทุนจ้างสถาปนิกชื่อดังนาม ซาฮา ฮาดิด ผู้เคยฝากผลงานไว้กับสนามลอนดอนโอลิมปิก 2012 ให้มาออกแบบสนามกีฬาใหม่

ซึ่งเธอก็ออกมาเป็นสนามกีฬาที่มีหลังคาทรงโค้งโฉบเฉี่ยวเป็นเอกลักษณ์

…พอแบบออกมาแล้ว หลายคนกลับมองแล้วว่ามันเหมือนเต่า…

แม้กระทั่งสถาปนิกญี่ปุ่นผู้ออกแบบสนามกีฬาสำหรับโตเกียวโอลิมปิก 1964 ยังให้สัมภาษณ์กับ BBC ด้วยความฉุนเฉียวว่า “ผมบอกเลยว่ามันประหลาด หลายคนก็พูดแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง” เขามองว่าพวกคนใหญ่คนโตแค่อยากจะโชว์ฉากหน้าล้ำๆ แต่ตัวอาคารเอาไปใช้จริงได้ไม่ดี เพราะหลังคาโค้งๆ จะบังแสงระหว่างแข่งขัน แถมยังสิ้นเปลืองงบสร้างให้ซับซ้อนอีกต่างหาก

…เลยออกแบบใหม่มาเป็นสนามแบบนี้ ไม่เหมือนเต่าแล้ว เซฟๆ…

สุดท้ายทางการก็ยอมถอนไอเดียสนามกีฬาดังกล่าวทิ้ง แต่ก็ไม่วายมีปัญหากับดีไซน์ของสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะโลโก้ที่แรกสุดดูเหมือนจะไปก๊อบปี้โลโก้โรงละครในเบลเยี่ยม จนถูกเปลี่ยนมาเป็นโลโก้ปัจจุบัน

หรืออย่างชุดอาสาสมัครที่ออกแบบเหมือนชุดเสื้อฮัปปิโบราณ กับหมวกกันแดดของอาสาสมัครจัดงานที่ออกแบบมาเหมือนหมวกฟางแบบดั้งเดิม แต่แทนที่คนจะมองว่าดูดี กลับโดนชาวเน็ตนำไปล้อว่าเชย …ยากที่จะเอาใจทุกคนจริงๆ

(3) ย้ายที่ทำกินประชาชน

การจัดโอลิมปิกนั้นต้องเคลียร์พื้นที่สำหรับการสร้างสาธารณูปโภค เช่น สนามกีฬาแห่งใหม่ เพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลกให้ได้รับความสะดวกสบาย

ในมุมกลับกัน มันทำให้ชาวโตเกียวบางส่วนลำบาก เพราะโดนย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินออกจากแหล่งเดิม ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เป็นผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมานานนับสิบๆ ปี

แม้แต่ตลาดปลาประมูลปลาซึคิจิอันเก่าแก่ที่อยู่ของมันมาตั้งแต่ปี 1935 ยังถูกย้ายไปย่านโทโยสุในปี 2018 ถึงแม้จะห่างจากเดิมไม่มาก แต่คนในตลาดเดิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งเศร้าทั้งเสียดายที่จะต้องย้ายเพราะผูกพันกับพื้นที่มานาน และมันกลายเป็นภาพจำของนักท่องเที่ยวหลายๆ คนไปแล้วด้วย

(4) ประธานจัดงานจอมเหยียด

ความหัวโบราณชอบยกตนเป็นใหญ่ของผู้ชายญี่ปุ่นนั้นเลื่องลือมาก เราจึงมักได้ยินข่าวผู้หญิงญี่ปุ่นถูกปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียมหรือโดนกีดกันจากตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่เรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่กับงานใหญ่ระดับนานาชาติเช่นโอลิมปิกก็ยังมีเหตุเช่นนี้ให้เห็น

เดือนกุมภาพันธ์ 2021 นายโมริ โยชิโระ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกวัย 83 ปี (ซึ่งเคยเป็นนายกด้วยในปี 2000) หลุดปากวิจารณ์ว่าการที่พวกผู้หญิงมาเข้าประชุมด้วยนั้นทำให้กระบวนการยืดเยื้อ มากคนมากความ ว่าง่าย ๆ ก็คือผู้หญิงพูดมากเกินไปนั่นเอง

ทัศนคติเหยียดเพศของเขาสร้างความไม่พอใจและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจากแฟนกีฬา อาสาสมัครผู้จัดงาน สปอนเซอร์ใหญ่อย่างโตโยต้า ชาวเน็ตทั้งในและนอกญี่ปุ่น รวมไปถึงภรรยา ลูกสาวและหลานสาวของนายโมริเอง ที่ต่างดุเป็นเสียงเดียวกันว่าทำไมเขาพูดจาใส่ผู้หญิงไม่ดีอีกแล้ว

สุดท้ายเจ้าตัวเลยต้องออกมาขอโทษกับสื่อ และจำใจลาออกจากตำแหน่งไปในที่สุด โดยมีนางฮาชิโมโตะ เซโกะ อดีตนักกีฬาโอลิมปิกหลายสมัย มารับตำแหน่งแทน

(5) นักกีฬาข้ามเพศแข่งได้เหรอ?

เมื่อทาง IOC และองค์กรกีฬาต่าง ๆ อนุมัติให้ ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬายกน้ำหนักชาวนิวซีแลนด์ที่แปลงเพศจากชายมาเป็นหญิง สามารถเข้าแข่งกับนักกีฬาหญิงแท้ได้ หลังผ่านตรวจปริมาณฮอร์โมนเพศชายว่าไม่มากไปกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มันก็ทำให้เกิดดราม่าขึ้นทันที

นักกีฬายกน้ำหนักหญิงคนอื่น เช่นตัวแทนเบลเยียมได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้เธอจะสนับสนุนเพศทางเลือก แต่มันต้องไม่กระทบใคร

การตัดสินใจนี้ดูไม่ยุติธรรมต่อทั้งวงการกีฬาและนักกีฬาหญิงคนอื่นๆ เพราะผู้หญิงข้ามเพศนั้นยังมีสรีระบางส่วนแบบผู้ชาย โดยเฉพาะมีมวลกระดูกที่หนาแน่นกว่า ทำให้ยกน้ำหนักได้เยอะกว่า

เรื่องนี้เป็นที่โต้เถียงกันในวงการกีฬามายาวนาน เพราะมันถูกมองได้จากหลายๆ มุม คนแปลงเพศก็อยากได้สิทธิเช่นหญิงแท้ แต่คนเป็นหญิงแท้ก็รู้สึกว่านี่คือความไม่เท่าเทียมทางกายภาพ …เราจึงต้องติดตามดูกันต่อไป

(6) งดขายหนังสือโป๊

“ภาพลักษณ์” เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ

สิ่งไหนที่ญี่ปุ่นทำเป็นปกติ แต่โลกไม่ชอบ ญี่ปุ่นก็พร้อมเปลี่ยน เช่นการวางขายหนังสือโป๊ในร้านสะดวกซื้อ…

ปกติแล้ว สิ่งพิมพ์วาบหวิวเป็นของที่หาได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น

วางเด่นหราตำรวจไม่จับ ไม่ต้องรอพนักงานกระซิบถามว่าโป๊ไหมพี่? แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชาติอื่นยอมรับ ญี่ปุ่นเลยยอมเปลี่ยนตัวเอง …ไม่ขายแล้วจ้า!

ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นอย่าง 7-Eleven และ Lawson ต่างประกาศร่วมมือกันงดขายนิตยสารวาบหวิว เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2019 เพราะช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวจัดงานกีฬาสำคัญถึงสองงานคือรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 และโตเกียวเกมส์ 2020

…นั่นทำให้หนุ่มญี่ปุ่นต่างโอดครวญบนโซเชียลอย่างรวดร้าวไปตามๆ กัน (ก็นะ…)

(7) โควิดบุกประเทศ!

แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นการระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบหนักในหลาย ๆ แง่ ไม่ว่าจะเป็น…

> เศรษฐกิจพัง: บริษัทโฆษณาและธุรกิจท่องเที่ยวต่างคาดหวังว่าการจัดโอลิมปิกจะช่วยสร้างเงินทดแทนรายได้ที่หายไปในช่วงโควิด แต่การเลื่อนการจัดออกไปถึง 1 ปีก็ทำให้หลายธุรกิจขาดทุนย่อยยับ

>> งานกร่อย: แน่นอนว่าการจัดการแข่งขันในท่ามกลางสถานการณ์โควิดจะต้องมีกฎที่เข้มงวด แต่กฎบางข้อก็ทำให้โอลิมปิกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกฎห้ามชาวต่างชาติเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งถึงจะมีการถ่ายทอดสดให้ชมแต่ก็ทำเอาแฟนกีฬาที่อดใจรอมานานผิดหวังไปตาม ๆ กัน

>> เสี่ยง “ไวรัสโอลิมปิก” : ถึงจะมีมาตรการป้องกันเข้มงวด แต่การที่เจ้าหน้าที่และนักกีฬาจากกว่า 200 ประเทศเดินทางเข้าสู่ญี่ปุ่นก็สร้างความกังวลไม่น้อย

ประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่นเองได้เตือนว่าถ้าจะจัดการแข่งขึ้นจริงก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่หรือการเกิดไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โตเกียวโอลิมปิกขึ้นนั่นเอง

(8) งบประมาณพุ่งไม่หยุด

การที่โอลิมปิกล่าช้านั้นทำให้งบบานปลาย ทั้งจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิด ค่าบำรุงหมู่บ้านนักกีฬาและโครงสร้างต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ ค่าปรับแก้สัญญาต่างๆ รวมถึงค่าจ้างพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว

นี่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มเงินขึ้นรวมกว่า 1.64 ล้านล้านเยน (4.65 แสนล้านบาท)

…แต่ความจริงนั้น งบของญี่ปุ่นได้บานปลายมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้ว เพราะพวกเขากะเล่นใหญ่ สร้างสนามแข่งขันกีฬาใหม่ สร้างทางรถไฟเชื่อมจากท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่งไปที่สถานีรถไฟโตเกียว …ลงทุนกับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหุ่นยนต์, ระบบขนส่งอัตโนมัติ ฯลฯ

ขณะที่ที่ประชุมการตรวจสอบบัญชีแห่งชาติของญี่ปุ่นเผยว่า น่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 3 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโอลิมปิกของเมืองโตเกียวอีกราวๆ 2 พันกว่าล้านบาท

แม้ผู้ว่าฯ โตเกียว จะออกมาบอกว่า เงินส่วนนี้จะนำไปสร้างที่พักครบวงจรให้แก่นักกีฬาพาราลิมปิก, ฝึกอาสาสมัครที่จะมาช่วยงานกีฬา, และอื่นๆ แต่ประชาชนก็ไม่พอใจ และเรียกร้องให้ผู้จัดการแข่งขันกีฬาให้ความโปร่งใสด้านการเงินมากกว่านี้

(9) เว้นระยะห่างแต่มีถุงยางให้

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับโควิดทำให้ญี่ปุ่นโดนชาวเน็ตนานาชาติแซวหนัก เพราะในคู่มือไกด์บุ๊กผู้เข้าร่วมโตเกียวเกมส์ระบุว่าทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตร ตามมาตรการ Social Distancing แต่เจ้าภาพดันแจกถุงยางอนามัยให้นักโอลิมปิกและเจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านนักกีฬาซะอย่างนั้น ตกลงจะเอายังไงครับพี่?

การแจกถุงยางอนามัยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (อย่างไม่เป็นทางการแต่ทุกคนรู้กัน) ของโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1988 เพราะนักกีฬาที่แข่งแพ้วันแรกๆ ไม่มีอะไรทำ เลยมักจะดำเนินกิจกรรมสานสัมพันธ์ ซึ่งในคราวนี้ ญี่ปุ่นก็เตรียมถุงยางไว้ถึง 160,000 ชิ้น พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมด้วยการใส่ลวดลายงานศิลปะสไตล์อุคิโย-เอะ หรือภาพพิมพ์ญี่ปุ่นโบราณจากศตวรรษที่ 17-19 ลงบนถุงยางที่แจกอีกต่างหาก

สุดท้ายทางญี่ปุ่นออกมาแก้เกี้ยวผ่านสื่อว่า ที่แจกเนี่ยให้เอากลับไปเป็นที่ระลึกเฉยๆ อย่าใช้เลย พวกเราต้องรักษามาตรการเข้มงวด นักกีฬาจะกอดกันก็ไม่ได้ แปะมือยังไม่ได้เลย เราจริงจังนะ! (ครับ…)

(10) ทำไมยกเลิกโอลิมปิกไม่ได้?

เรื่องที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นซึ่งส่วนมากสุภาพอ่อนน้อมกลับต้องออกมาเดินขบวน คือการที่ไม่สามารถยกเลิกโอลิมปิกครั้งนี้ได้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และหลายที่บนโลกรวมทั้งญี่ปุ่นเองก็ยังอยู่ในสถานการณ์เป็นตาย

…เมื่อนายโทมัส บาคห์ ประธาน IOC ออกมาสัมภาษณ์ว่า ต้องมีผู้เสียสละเพื่อให้งานโอลิมปิกเกมส์เป็นจริงมันก็เหมือนน้ำมันราดเข้ากองไฟ เพราะชาวญี่ปุ่นมองว่า “ผู้เสียสละ” ที่นายบาคห์หมายถึงคือประเทศเจ้าภาพอย่างพวกเขา เพราะพวกเขาต้องเสี่ยงรับคนนอก ที่ไม่รู้จะมาทำให้โรคระบาดเลวร้ายลงหรือเกิดการกลายพันธุ์มากขึ้นไหม

ผู้คนจำนวนมากก็ออกมาต่อต้านการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างเปิดเผย (ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติของญี่ปุ่น) และแม้จะมีโพลหลายฉบับเผยว่าคนญี่ปุ่นกว่า 60 – 80% เห็นว่าควรจะยกเลิกหรือเลื่อนโอลิมปิกไปก่อนเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิต แต่อำนาจตัดสินใจว่าจะจัดหรือยกเลิกโอลิมปิกกลับอยู่ที่ IOC…

ตามกฎหมายแล้ว IOC เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์การจัดโอลิมปิก ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศที่ IOC จ้างให้จัด

ต่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นอยากจะยกเลิกแทบขาดใจก็ทำไม่ได้ เพราะมันจะผิดสัญญาที่สองฝ่ายตกลงกัน …หากญี่ปุ่นยกเลิก ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาลในระดับประเมินไม่ได้ เพราะไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงดราม่าบางส่วนระหว่างการเตรียมจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเจ้าภาพต้องฝ่าฟันมาตลอดเพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นได้จริง แม้จะไม่รู้อนาคตเลยก็ตามว่ามันจะสำเร็จหรือไม่

แต่เราอาจเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นชนชาติที่ไม่เคยยอมแพ้ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย พวกเขาก็สามารถยืนหยัดขึ้นมาได้ใหม่ และยังพัฒนาตนเองไปได้ไกลกว่าเดิม ดีกว่าเดิมเสมอ

ดังนั้นเราคงรอมาลุ้นกันครับว่าโตเกียวเกมส์ 2020 จะสำเร็จลุล่วงด้วยดีหรือจะมีเรื่องไม่คาดคิดอะไรทำให้จะต้องเลื่อนหรือยกเลิกโอลิมปิกไปอีกหรือเปล่า

…แล้วญี่ปุ่นในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป…

つづく