วันที่ 1 ก.ค. 2021 เป็นวันครบรอบ 100 ปีการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคที่เปลี่ยนจีนจากประเทศเกษตรกรรมล้าหลังมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และกำลังหายใจรดต้นคออเมริกา

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านย้อนดูประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่เรื่องเหมาเจ๋อตุงเอาชนะสงครามกลางเมือง, การปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง, และปิดท้ายด้วยสีจิ้นผิงที่มาท้าทายบัลลังก์หมายเลข 1 ของโลก

ยุคก่อตั้งจนถึงสงครามต้านญี่ปุ่น

แนวคิดมาร์กซิสต์ได้แพร่เข้าสู่ประเทศจีนในปี 1919 จากเหตุการณ์ “ความเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” ซึ่งเป็นการประท้วงของกลุ่มที่ไม่พอใจการเสียดินแดนให้ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

แม้วันที่ 1 ก.ค. 1921 จะถูกกำหนดให้เป็นวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แต่จริงๆ แล้วประชุมกันครั้งแรกวันที่เท่าไหร่นั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะบ้านเมืองยังสับสนวุ่นวายแบ่งออกเป็นขุนศึกก๊กต่างๆ

ผู้ก่อตั้งพรรคเป็นปัญญาชนสองคนชื่อ เฉินตู๋ซิ่ว (Chen Duxiu) และหลี่ต้าเจา (Li Dazhao) โดยได้รับความช่วยเหลือจากพรรคบอลเชวิคของโซเวียต

ในปี 1922 ผู้แทนบอลเชวิคเสนอให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมกับจีนคณะชาติ หรือพรรคก๊กมินตั๋งของซุนยัตเซ็นเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงจากภายใน

พวกคอมมิวนิสต์จึงร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง ตั้งเป็น “แนวร่วมที่หนึ่ง” (First United Front) ในการยกทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึกก๊กต่างๆ และรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น

ซุนยัตเซ็นเสียชีวิตในปี 1925 และเกิดการต่อสู้ภายในพรรคก๊กมินตั๋ง จนกลุ่มฝ่ายขวาของเจียงไคเช็กได้ครองความเป็นใหญ่ในปี 1927

หลังจากนั้นพรรคก๊กมินตั๋งได้ตัดความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ และรบกัน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองจีนที่กินเวลายืดเยื้อกว่า 20 ปี

ช่วงนี้เองที่เหมาเจ๋อตุงแสดงความสามารถโดดเด่นโดยเป็นผู้นำ “การเดินเท้าทางไกล” (The Long March) ในปี 1934 ซึ่งเขาได้พาทหารชาวนาหลายแสนคนรบไปถอยไป พร้อมซื้อใจประชาชนไป จนทำให้พวกก๊กมินตั๋งระส่ำระสาย

สงครามกลางเมืองระยะแรกยุติลงในปี 1936 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งพักรบแล้วหันมาจับมือ ตั้งเป็น “แนวร่วมที่สอง” (Second United Front) ต่อสู้กับญี่ปุ่นที่รุกรานจีนจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945

และในปีเดียวกันนี้ เหมาได้เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ยุคการเปลี่ยนแปลงด้วยกำลัง

หลังญี่ปุ่นยอมจำนน จีนได้เข้าสู่สงครามกลางเมืองรอบใหม่ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพลิกจากฝ่ายที่ด้อยกว่ามาชนะได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาคอร์รัปชั่นภายในของก๊กมินตั๋งทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยม

ในปี 1949 เหมาประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะเจียงต้องอพยพไปยังเกาะไต้หวัน

ในช่วงแรกๆ เหมาได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนและปัญญาชนขนานใหญ่

ในปี 1958 เขาเริ่มนโยบาย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” (Great Leap Forward) ซึ่งเป็นนโยบายเร่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม

ทว่าการลดจำนวนเกษตรกรแล้วไปเพิ่มแรงงานอุตสาหกรรมอย่างกะทันหันนี้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้มีผู้อดอยากเสียชีวิตหลายสิบล้านคน

เหมาเสียความนับถือในหมู่ผู้นำพรรคพอสมควร จึงสั่งหยุดนโยบายนี้ในปี 1962

ในปี 1966 เหมาเริ่มนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยอ้างว่าทำเพื่อปราบศัตรูของชนชั้นกรรมาชีพที่ยังเหลืออยู่

มีการปลุกระดมกลุ่มเยาวชนเรียกว่า “เรดการ์ด” (Red Guard) ให้คอยสอดส่องศัตรูของการปฏิวัติ ซึ่งพวกนี้ได้ออกไปกดขี่คนที่เชื่อว่ายังอินกับวัฒนธรรมเดิมอย่างโหดร้าย

นักวิจารณ์ระบุว่าเหมาใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างในการปราบคู่แข่งทางการเมืองของตัวเอง โดยช่วงนี้อำนาจรัฐตกอยู่ในมือ “แก๊งสี่คน” (Gang of Four) ซึ่งมีภรรยาของเหมาเป็นหัวหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวยาวนานถึงปี 1976 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย สมาชิกพรรคหลายคนถูกกวาดล้าง

ในปัจจุบัน นโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม นับเป็นบาดแผลที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามไม่กล่าวถึง เพราะต้องการจำกัดการวิจารณ์ตัวเหมาไว้

หตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดพลิกผันของสงครามเย็น คือ การแตกคอระหว่างจีนกับโซเวียต (Sino-Soviet split) ประมาณปี 1956 ถึง 1966 สืบเนื่องจากเหมานั้นเป็นผู้นับถือในตัวสตาลิน แต่นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตคนถัดมา กลับประณามลัทธิสตาลินเสียเอง นอกจากนั้นจีนและโซเวียตยังดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ขัดกันด้วย

ความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียตนี้เป็นเหตุให้อเมริกาสามารถแทรกแซงฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยในปี 1972 เหมายอมให้การต้อนรับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำโลกเสรี

ยุคเปิดประเทศ: จากสังคมนิยมสู่ทุนนิยมโดยรัฐ

หลังสามารถเอาชนะกลุ่มแก๊งสี่คนได้ เติ้งเสี่ยวผิงและฮั่วกั๋วเฟิง ทายาทการเมืองของเหมาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคสายปฏิรูป ได้ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา

ต่อมาเติ้งประกาศนโยบาย “ปฏิรูปเศรษฐกิจจีน” ซึ่งเป็นการเปิดประเทศสู่ตลาดโลก

รายละเอียดของการปฏิรูปเศรษฐกิจประกอบด้วย:

1) การยกเลิกระบบนารวม

2) การเปิดรับการลงทุนต่างประเทศ (รวมทั้งการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ)

3) การอนุญาตให้ผู้ประกอบการตั้งธุรกิจได้

4) การโอนกิจการของรัฐและมอบสัมปทานให้แก่เอกชนบางส่วน

5) การยกเลิกการควบคุมราคา

6) การยกเลิกนโยบายและกฎระเบียบที่กีดกันการค้า (ยกเว้นภาคธนาคารและปิโตรเลียมที่รัฐจีนยังผูกขาด)

นอกจากนี้เติ้งยังได้แก้ไขปัญหาที่ประเทศเผด็จการอื่นๆ เผชิญ นั่นคือการคอร์รัปชั่นจากการที่ผู้นำอยู่ในอำนาจนานเกินไป

เขาให้มีการจำกัดวาระผู้นำ เพื่อถ่ายโอนอำนาจระหว่างผู้นำรุ่นต่างๆ อย่างสันติ

ผลของการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มโต แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งภายในพรรค ทั้งจากสมาชิกสายลัทธิเหมาที่มองว่าเติ้งเปิดเสรีเศรษฐกิจมากเกินไป และสมาชิกสายกลางที่อยากให้เติ้งเปิดเสรีทางการเมืองมากกว่านี้

ขณะที่ภาคประชาชนก็รู้สึกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ขาดความชอบธรรมเพราะหันเหจากแนวทางสังคมนิยม และมีปัญหาการคอร์รัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกมาก

นี่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ในปี 1986 และ 1989

ซึ่งการประท้วงปี 1989 นี้เอง ได้นำไปสู่การปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

“การสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน” นี้ยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและโดนเซ็นเซอร์หนักที่สุดในจีนจนถึงปัจจุบัน

ยุคม้ามืด

เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วอีกเป็นเวลา 20 ปี ในสมัยของเจียงเจ๋อหมินและหูจิ่นเทาซึ่งดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเติ้ง

ช่วงทศวรรษ 1990s มีการโละพนักงานรัฐวิสาหกิจถึง 40 ล้านคนและมีการโอนทรัพย์สินจากของรัฐให้แก่เอกชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ต่อมาปี 2001 จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก เป็นการเปิดช่องทางการค้ากับต่างชาติมากขึ้นอีก

และในปี 2003 จีนได้ประกาศหลักการ “สามตัวแทน” (Three Represents) ซึ่งมีการยอมรับนายทุนเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ

…นี่นับว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถอยู่รอดมาได้เพราะนายทุนและระบบทุนนิยมนั่นเอง

หลังหูขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2002 เขาพยายามแก้ไขปัญหาสังคมที่จีนเผชิญเนื่องจากผู้นำก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยประกาศหลัก “การพัฒนาด้วยหลักวิทยาศาสตร์” (Scientific Outlook on Development) และหลัก “สังคมนิยมที่กลมกลืน” (Harmonious Socialist Society) เพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในปี 2008 นั้นเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคหลังเติ้งมีความละเอียดอ่อนเรื่องการเปิดเสรีทางการเมือง

แม้พวกเขาพยายามสร้างความชอบธรรมแก่ตัวเองว่าสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนได้ดี

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเกรงกลัวต่อปัญหาความชอบธรรมของพรรคอยู่ตลอด ดังตัวอย่างที่หูประกาศอบรมสมาชิกพรรคจำนวน 70 ล้านคนให้มีความภักดีมากขึ้นในปี 2005

ยุคขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่

สีจิ้นผิงสืบตำแหน่งเลขาธิการจากหูในปี 2012 หลังจากนั้นก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายประการทั้งภายในและภายนอก

สีริเริ่มโครงการปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจังตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่ๆ ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอันมาก

แต่นักวิเคราะห์มองว่าเขาได้ใช้ข้ออ้างปราบคอร์รัปชันทำลายคู่แข่งทางการเมือง เพื่อล้มล้างระบบของเติ้งที่ป้องกันไม่ให้อำนาจตกอยู่ในมือผู้นำคนเดียวมากเกินไป

และในปี 2018 สีได้ยกเลิกกำหนดวาระตำแหน่งผู้นำ ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งจนสิ้นชีวิต

สีมีนโยบายเถลิงจีนเป็นมหาอำนาจแข่งขันกับอเมริกาตรงๆ

โดยลงทุนมหาศาลกับโครงการ “เส้นทางสายไหมใหม่” เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนกับทั่วโลก

แม้จีนจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากในกว่า 60 ประเทศ แต่หลายประเทศก็ออกมาโจมตีว่าการลงทุนนั้นเป็นการสร้าง “กับดักหนี้” ให้ประเทศเล็กต่างๆ ต้องยอมพึ่งพาจีน

นอกจากนี้จีนยังขัดแย้งกับโลกเสรีด้วยประเด็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายใน ได้แก่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ, การปราบปรามการแสดงออกในฮ่องกง, และการปฏิบัติต่อมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง

หรือเรื่องภายนอกอย่างการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้, หรือ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

…และแน่นอน ล่าสุดคือ เรื่องโควิด-19

ในช่วงสีเป็นผู้นำนี้ จะเห็นจีนมีท่าทีแข็งกร้าวในการตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ ของฝ่ายโลกเสรี

แสดงถึงการชิงความเป็นใหญ่ระหว่างจีนกับอเมริกาที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ

จีนมีการควบคุมพฤติกรรมประชาชนของตนเองอย่างเข้มงวด โดยใช้ระบบเครดิตสังคม (social credit) รวมทั้งใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามาสอดแนมประชาชนด้วย

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความภาคภูมิใจเสมอว่าได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถกุมอำนาจได้แม้ต้องผ่านพ้นภัยพิบัติ, การต่อสู้ภายใน, และแรงกดดันจากภายนอกมากแค่ไหนก็ตาม

แต่สื่อตะวันตกชี้ให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีจุดอ่อนหลายประการ เช่น เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจชะลอตัว ความนิยมของประชาชนต่อพรรคคอมมิวนิสต์จะเสื่อมลงทันที

…เศรษฐกิจจีนยังต้องพึ่งพาภาคเอกชนในการเติบโตอีก แต่การที่รัฐบาลพยายามเข้าแทรกแซงภาคเอกชนจะทำให้การเติบโตดังกล่าวค่อยๆ ชะลอตัวลงในที่สุด

นอกจากนี้จีนยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และโอกาส ระหว่างคนชนบทกับคนเมือง

กระแสการต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังปรากฏออกมาเป็นระยะๆ เช่น กระแสออนไลน์ “ถ่างผิง” (Tang Ping) ที่พวกเยาวชนแสดงความไม่พอใจต่อผลตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับงานหนัก

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการจีนต้องสั่งลบโพสต์กว่า 2 ล้านโพสต์ที่มองว่านำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน

พรรคคอมมิสต์จีนยังมีปัญหาอื่นๆ ต้องเผชิญ เช่น ความคาดหวังของประชาชนสูงขึ้น, ปัญหาประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวัยทำงาน (มาจากนโยบายลูกคนเดียวในอดีต,) และการขาดการเปิดเสรีทางการเมือง

และนี่คือเรื่องราวประวัติศาสตร์โดยย่อของพรรคการเมืองอันยิ่งใหญ่นี้…

ข้ามพ้นสิ่งต่างๆ ไปแล้ว สุดท้ายผู้ที่จะตัดสินว่าผลงาน 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างไรก็คือชาวจีนนั่นเอง…