วันนี้ 21 กันยายน เป็นวันเพ็ญเดือนแปดตามปฏิทินจันทรคติ หรือก็คือวันไหว้พระจันทร์ประจำปี 2021 อันเป็นธรรมเนียมการฉลองที่สืบต่อมายาวนานนับพันปีในแถบเอเชีย ซึ่งจุดเด่นของเทศกาลนี้ ย่อมเป็น “ขนมไหว้พระจันทร์” หรือ “เยว่ปิง” (月餅) ที่ไม่ว่าคนไทยเชื้อสายจีนหรือเชื้อสายไหนๆ จะอินกับการไหว้พระจันทร์หรือไม่ ส่วนมากก็มักรู้จักและเคยลองกินมาแล้ว
ขนมไหว้พระจันทร์นี้ถูกปรับให้เข้ากับท้องถิ่นที่คนจีนตั้งรกราก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันจะมีความหลากหลายจนเปรียบได้ว่าเป็นการประชันความคิดสร้างสรรค์ของคนจีนดั้งเดิมในประเทศและจีนโพ้นทะเลยุคใหม่ เช่น ที่ฮ่องกง, ไต้หวัน, มาเลเซีย รวมถึงไทย
ในโอกาสพิเศษนี้ ผมเลยได้รวบรวมขนมไหว้พระจันทร์สุดแปลกจำนวน 12 ชนิดจากทั่วเอเชีย มาให้ทุกท่านได้ชมกันนะครับ มีขนมไหว้พระจันทร์ที่ “อิหยังวะ” ที่สุด (ข้อ 3 และข้อ 4) ขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูหราที่สุด (ข้อ 8 และ 9) ขนมไหว้พระจันทร์สำหรับคนรักสัตว์ (ข้อ 11) และขนมไหว้พระจันทร์ที่มีความหมายจื๊ดที่สุด (ข้อ 12)
วันไหว้พระจันทร์ปีนี้ ผมได้รวบรวมขนมไหว้พระจันทร์สุดแปลกจำนวน 12 ชนิดจากทั่วเอเชีย มาให้ทุกท่านได้ชมกันนะครับ
มีขนมไหว้พระจันทร์ที่ “อิหยังวะ” ที่สุด (ข้อ 3 และข้อ 4) ขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูหราที่สุด (ข้อ 8 และ 9) ขนมไหว้พระจันทร์สำหรับคนรักสัตว์ (ข้อ 11) และขนมไหว้พระจันทร์ที่มีความหมายจี๊ดที่สุด (ข้อ 12) ตามไปดูกันได้เลย
1) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ชานมไข่มุก
“ชานมไข่มุก” หรือ Boba Tea มีจุดกำเนิดในไต้หวันช่วงยุคปี 80s ก่อนจะแพร่หลายไปยังทั่วเอเชียและทั่วโลก ยิ่งในยุคโซเชียล ร้านชายี่ห้อต่างๆ ก็แข่งกันพัฒนาสูตร สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่หน้าตาก็ดี รสก็อร่อย จนได้รับความนิยมไปตามๆ กัน
…เรียกว่าตอนนี้ไม่ว่าถามคนเอเชียหรือฝรั่ง ก็ต่างรู้จักชานมไข่มุกด้วยกันทั้งสิ้น
จากผลสำรวจของ Grab ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2018 พบว่าตลาดชานมไข่มุกโตขึ้น 3,000% จากปีก่อน และคนอาเซียนดื่มชานมไข่มุกกันเฉลี่ยคนละ 4 แก้วต่อเดือน
ให้ทายว่าประเทศที่ดื่มชานมไข่มุกเยอะที่สุดคือประเทศไหน… ใช่ครับ ประเทศไทยเรานี่เอง! คือเฉลี่ยแล้วดื่มกันคนละ 6 แก้วต่อเดือน ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 5 แก้วต่อเดือน
แน่นอนว่าเป็นกระแสขนาดนี้ ก็ไม่พ้นมีคนหัวใส นำชานมไข่มุกมาทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งก็มีทั้งที่ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย
และแน่นอน ไทย ครองอันดับหนึ่งกินชานมเยอะทั้งที ผู้ผลิตไทยย่อมไม่พลาด เช่น สตาร์บัคส์ไทย ก็มีขนมไหว้พระจันทร์บราวน์ชูการ์มิลค์ทีกับเขาด้วย
2) ขนมไหว้พระจันทร์รสหม่าล่า
ไม่กี่ปีมานี้ วงการอาหารเอเชียได้เกิดความฮิต “หม่าล่า” ขึ้น คล้ายๆ กับตอนกระแสชาโคล, มันม่วง และไข่เค็ม คือเราจะพบมันได้ในอาหารทุกชนิด ทั้งของคาวของหวาน
แน่นอนว่าขนมไหว้พระจันทร์เลยมีไส้หม่าล่ากับเขาด้วยเหมือนกัน!
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจกับหม่าล่าก่อน…
หม่าล่าเป็นเครื่องปรุงรสจากมณฑลเสฉวนของจีน ซึ่งมีรสของมันตามชื่อที่แปลว่า “เผ็ดชา” โดยเชื่อว่านอกจากอร่อย ยังบำรุงสุขภาพด้วย
ซึ่งเมนูฮิตที่จีนอันหนึ่งซึ่งมักปรุงด้วยหม่าล่า (หรือที่แต่ก่อนบ้านเราเรียก “ผัดพริกเสฉวน”) คือ กุ้งน้ำจืด วันหนึ่งเลยมีคนนำกุ้งหม่าล่านี้ไปทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีแบบที่ใส่ชีสยืดเพิ่มลงไปด้วยนะ กลายเป็นกระแสดังขึ้นมาในหมู่คนจีนช่วงปี 2017 เลยทีเดียว
3) ขนมไหว้พระจันทร์ผักชี
พูดถึงกระแสแล้ว ผมว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินข่าวว่ามีช่วงหนึ่งคนญี่ปุ่นเกิดนิยม “ผักชี” บ้านเราขึ้นมา เพราะเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดี แถมการกินยังล้ำหน้าเราไปมาก คือกินกันเป็นกำๆ และนำไปทำเมนูหลากหลายอย่างจนคนไทยยังตะลึง ไม่ว่าจะเป็น ซอสผักชี, สลัดผักชี, โซดาผักชี, น้ำแข็งไสผักชี ฯลฯ
ถึงขั้นนี้แล้ว ก็แน่นอนว่า “ขนมไหว้พระจันทร์ผักชี” ก็มีเหมือนกัน!
อย่างไรก็ตาม ขนมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่เป็นร้าน Mr. Coriander ของไต้หวัน ที่จับกระแส “ผักชีฟีเวอร์” มาผลิตเมนูผักชีต่างๆ ออกมาแล้วมากมายก่อนหน้านี้
ทางร้านได้จับมือกับ Qiu Xi ฮ่องกง ทำขนมไหว้พระจันทร์สีเขียวหน้าตาสวยงามออกมา (แต่รสชาติเป็นยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง)
4) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เต้าหู้ยี้
หากท่านผู้อ่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ผมเชื่อว่าต้องเคยได้กิน “เต้าหู้ยี้” กันมาแล้วสักครั้งในชีวิต แต่หลายคนอาจร้อง “ยี้” ด้วยกลิ่นและรสของมัน
…แล้วถ้ามีคนนำมาทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์ล่ะ จะกล้ากินกันไหมครับ?
ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เต้าหู้ยี้ หรือ “ฟู่รู่ปิง” (腐乳饼) เป็นขนมไหว้พระจันทร์ชื่อดังของกวางตุ้ง ทำเป็นชิ้นเล็กๆ ไส้ในประกอบไปด้วยเต้าหู้ยี้, กระเทียม, หมู, ถั่ว และวัตถุดิบอื่นๆ กล่าวกันว่ามันมีสัมผัสนุ่มและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน
ชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วโพ้นทะเลเวลากลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ชอบซื้อสิ่งนี้มาเป็นของฝาก เพราะนับเป็นของขึ้นชื่อ ไม่มีที่ไหนในจีนเหมือน
5) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เส้นเล็กหอยขม
ถ้าเมื่อกี้ว่าแปลกแล้ว อันนี้แปลกได้อีกครับ เพราะนี่คือ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เส้นเล็กหอยขม หรือ “หลัวซือเฝิ่น” (螺蛳粉) ซึ่งเป็นสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อของเมืองหลิวโจว หลัวซือเฟินประกอบด้วยเส้นเล็กต้มในน้ำซุปหอยขมกับกระดูกหมู ปรุงด้วยน้ำมันพริกและเครื่องเทศ
ในปี 2014 มีการตั้งโรงงานหลัวซือเฝิ่นกึ่งสำเร็จรูปขึ้น จากนั้นมันก็ถูกส่งขายไปทั่วประเทศ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ
ยิ่งในช่วงล็อคดาวน์โควิดปี 2020 ที่คนจีนโหยหาอาหารข้างทางแต่ออกไปซื้อไม่ได้ ยอดขายก็ยิ่งสูงเข้าไปอีก ทำให้ในปีนั้น ผู้ผลิตหลัวซือเฝิ่นรายหนึ่ง ลองทำขนมไหว้พระจันทร์ไส้เส้นเล็กหอยขมออกมาขาย ซึ่งเป็นที่พูดถึงในเว็บเว่ยป๋อของจีนถึง 320 ล้านครั้งเลยทีเดียว
6) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เนื้อสันใน
“บีฟเวลิงตัน” เป็นเมนูเนื้อสันใน หุ้มด้วยแป้งเพสตรี (อารมณ์เดียวกับแป้งพาย) ถือเป็นอาหารไฮโซที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
บ้างก็ว่าเป็นเมนูเก่าแก่ของฝรั่งเศสนาม filet de bœuf en croûte (แปลตรงตัวคือ เนื้อสันในห่อแป้ง) บ้างก็ว่าเป็นเมนูที่ทำขึ้นมาเป็นเกียรติแก่ดยุคแห่งเวลลิงตันที่มีชัยเหนือนโปเลียนในศึกวอเตอร์ลู
ในปี 2020 ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ เชฟ ฟีบี ชาน เจ้าของร้าน Phoebe’s Kitchen ในฮ่องกง ทำบีฟเวลิงตันให้ครอบครัวทาน แล้วเธอก็นึกขึ้นได้ว่า นอกจากขนมไหว้พระจันทร์ อาหารที่คนฮ่องกงนิยมก็คือเจ้าเนื้อห่อแป้งนี่
เชฟชานจึงลองผิดลองถูก นำสองเมนูนี้มาผสมกัน สร้างเป็นขนมไหว้พระจันทร์แบบพิเศษ ปรากฏว่ามันได้รับความนิยมถล่มทลาย
แม้จะถูกคนบนเน็ตวิพากษ์ และถูกผู้ใหญ่ฮ่องกงจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าไม่ให้เกียรติวัฒนธรรมตัวเอง แต่เชฟชานยืนยันว่าทำไปด้วยความเคารพ
ในปี 2021 ขนมไหว้พระจันทร์บีฟเวลิงตันของเธอขายหมดไปเป็นที่เรียบร้อย แถมยังมีร้านอาหารเจ้าอื่นๆ นำไปทำตามด้วย (แน่นอนว่าในไทยก็มีกับเขาเหมือนกัน)
7) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ฟัวกราส์
ถ้าเนื้อสันในว่าหรูแล้ว อันนี้ก็เป็นอีกขั้น เมื่อมีผู้นำ “ฟัวกราส์” หรือ ตับห่าน อาหารสุดหรูของฝรั่งเศสที่ได้มาจากการขุนห่านให้อ้วนพี ไขมันพอกตับเยอๆ จะได้ตับออกมานุ่มๆ กลายมาเป็นวัตถุดิบในการทำขนมไหว้พระจันทร์
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ขนมไหว้พระจันทร์บีฟเวลลิงตันจะทำโดยใช้เนื้อทั้งชิ้น แต่ฟัวกราส์จะตัดแบ่ง แล้วเอาไปผสมกับไส้อื่นๆ เช่น ถั่ว ไม่ได้เต็มแน่นทั้งก้อน
ดังนั้นใครที่คาดหวังจะได้กินตับห่านนุ่มๆ ห่อด้วยแป้ง คงจะต้องผิดหวังเสียหน่อย แต่กระนั้นหลายร้านที่ขายเมนูนี้ก็ได้รับความนิยมจนมีผู้ต่อแถวยาวออกไปนอกถนนเลยทีเดียว
8) ขนมไหว้พระจันทร์ไส้คาร์เวีย
ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ หลายๆ แบรนด์ก็มักจะยังเข้ามาร่วมทำขนมไหว้พระจันทร์ในแบบของตนเอง ผสมผสานสินค้าเดิมของตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมจีน เพื่อดึงดูดตลาดคนเชื้อสายจีนยุคใหม่ๆ และคนอื่นๆ ที่สนใจกินขนมตามเทศกาล…
หนึ่งในนั้นก็คือ Royal Caviar Club ที่ฮ่องกง ซึ่งปกติจะเน้นขายคาร์เวียและแชมเปญชั้นดีจากการคัดสรรค์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
ปีนี้ร้านก็ได้ทำเมนูขนมไหว้พระจันทร์ไส้คาร์เวียร์ครีมชีส และไส้คาร์เวียวานิลลามาดากัสกาออกมาให้ลิ้มลอง โดยโฆษณาว่าเป็นสูตรน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ ทั้งยังได้วิตามิน B12 จากคาร์เวียร์อีก หรูหราและรักสุขภาพในคำเดียว
9) ขนมไหว้พระจันทร์ทองคำแท้
ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเคยเห็น “โดนัททองคำ” ของร้านขนม Karrat ในไทยที่เรียกเสียงฮือฮากันมาแล้วด้วยการปิดทองคำแท้แบบกินได้ไว้บนหน้าโดนัททั้งชิ้น ทั้งยังมีเมนูมาการองหุ้มทองออกตามมาให้คนได้ตื่นเต้นกันอีก
แน่นอนว่าพอเทศกาลไหว้พระจันทร์มาถึง ร้านก็เลยทำขนมไหว้พระจันทร์ทองคำแท้ออกมาด้วย พร้อมโฆษณาว่าเป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูที่สุดในไทย
ซึ่งนอกจากจะเป็นทอง ไส้ในก็ยังเป็นช็อกโกแลตชั้นดีที่แตกต่างกัน 3 รส เรียกว่าไฮโซจริงๆ
10) ขนมไหว้พระจันทร์ครัวซองต์
หนึ่งในกระแสของกินดังเร็วๆ นี้ เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “ครัวซองต์” ที่ไม่ว่าร้านขนมไหนๆ ก็ต้องทำออกมา
เชฟชาวมาเลเซีย แอน ลี แห่งร้านขนมสไตล์ฝรั่งเศส Être Patisserie เลยจับเอาเอกลักษณ์ของครัวซองต์ฝรั่งเศส มาผสานกับความเป็นจีนตามเชื้อสายของเธอ ทำเป็นขนมไหว้พระจันทร์เสียเลย
ขนมไหว้พระจันทร์ครัวซองต์ มีทรงเหมือนลูกบากศ์ มีไส้ในต่างกัน 3 ไส้ คือ ไข่เค็ม, ชาอู่หลงลิ้นจี่ และ ถั่วแดงงาดำ
อาจถือว่าไส้ดูธรรมดาไปเล็กน้อย แต่เรื่องการนำขนมสองอย่างมาผสมกันได้ลงตัว ต้องถือว่าความคิดสร้างสรรค์เกินร้อยจริงๆ
11) ขนมไหว้พระจันทร์สำหรับสัตว์เลี้ยง
หลายๆ คนมักรักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกเหมือนหลาน พอกินอะไรก็อยากให้มันกินด้วย หลังๆ มานี้จึงมีการผลิตอาหารหรือขนมต่างๆ ที่สัตว์สามารถกินได้ด้วยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น เค้ก, คุกกี้ หรือแม้กระทั่งช็อกโกแลตเทียม ซึ่งไม่เป็นพิษกับสัตว์
ปีนี้ โรงแรม Hyatt Centric Victoria Harbour ฮ่องกง จับมือกับบริษัทผลิตอาหารสัตว์ Meal Rical ผลิตขนมไหว้พระจันทร์สำหรับน้องหมาขึ้นมาจำนวน 3 ไส้ ได้แก่ แซลมอน, เนื้อกวาง และเนื้อม้า บรรจุในแพคเกจพิเศษลายสุนัขสุดน่ารัก จาก Petstudio HK
โดยนอกจากนี้ยังมีร้านขนม Ali Oli ที่ฮ่องกง ผลิตขนมไหว้พระจันทร์สำหรับสัตว์เลี้ยงออกมาเช่นกัน แต่เป็นไส้อกไก่ ทานได้ทั้งสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ
12) ขนมไหว้พระจันทร์นัดประท้วงที่ฮ่องกง
ปิดท้ายกันด้วยการ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” เพราะความเชื่อหนึ่งของขนมไหว้พระจันทร์ก็คือ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งข้อความนัดหมายการลุกฮือในวันเพ็ญเดือนแปดของชาวจีนฮั่น ต่อราชวงศ์หยวนที่เป็นชาวมองโกล ซึ่งกดขี่คนจีนที่อยู่มาแต่เดิมอย่างหนัก
ในปี 2019 ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองในฮ่องกง ร้านขนมบางร้าน ได้ทำขนมไหว้พระจันทร์ที่ด้านบนเป็นตัวอักษรเขียนว่า “ประชาชนชาวฮ่องกง”, “ไม่ยอมถอย ไม่ยอมแพ้”, “เราจะสู้ไปด้วยกัน” ฯลฯ ออกมาวางขาย เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีน
…ทั้งในปีต่อๆ มา ยังมีการส่งต่อภาพขนมไหว้พระจันทร์ที่มีกระดาษข้อความแฝงไว้ด้านในออกไปทั่วอินเตอร์เน็ตด้วย
สรุป
ขนมไหว้พระจันทร์ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลาย เข้ากับความนิยมของยุคสมัยนั้นๆ จากขนมในพิธีไหว้เจ้า กลายมาเป็นขนมที่ใครๆ ก็เข้าถึงและลิ้มรสได้ ทั้งยังนำไปดัดแปลงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวานได้อีกด้วย
ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ในอนาคตเราก็น่าจะได้เห็นขนมไหว้พระจันทร์แปลกๆ อีกหลายแบบออกมาวางขายทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ รอบภูมิภาคเอเชีย
ซึ่งการพัฒนาของมัน แม้แง่หนึ่งอาจเปลี่ยนภาพจำของเทศกาลไป แต่มันก็จะไม่มีวันเชย เพราะยังมีผู้ผลิตสร้างสรรค์มันอยู่เรื่อยไปนั่นเอง
0 Comment