ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มต้นยุทธการล้างแค้นกลุ่มอัลเคดาซึ่งมีสัมพันธุ์กับตาลีบัน ได้ส่งเครื่องบินมาโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน ปีนั้นคร่าชีวิตชาวอเมริกันเกือบ 3,000 ราย ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
…อย่างไรก็ตาม สงครามที่ผู้นำสหรัฐฯ คาดหวังให้เป็นสมรภูมิระยะสั้น กลับกลายเป็นการต่อสู้ที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปี และกลายเป็นสิ่งที่นำโลกเข้าสู่วังวนความขัดแย้งในรูปแบบการก่อการร้าย ซึ่งยังคงดำเนินมาจนปัจจุบัน…
ทาง The Wild Chronicle ขอนำท่านกลับไปดูว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง? สหรัฐพลาดตรงไหน? อัลเคดาสำเร็จและล้มเหลวอย่างไร? ตาลีบันกลับมาได้อย่างไร? เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง? มาร่วมแสวงหาคำตอบกันได้เลยครับ
จุดเริ่มต้นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช พยายามกดดันรัฐบาลเอมิเรตอิสลามอัฟกานิสถาน ดำเนินการส่งตัว “อุซามะฮ์ บินลาดิน” (ต่อไปจะเรียกว่าบินลาเดน) พร้อมผู้ติดตามมารับโทษยังสหรัฐฯ ได้ถูกรัฐบาลตาลีบันปฏิเสธ เนื่องจากการส่งตัวแขกคนสำคัญภายใต้การดูแลของพวกเขาผิดต่อหลักจารีต
เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงอนุมัติการส่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามของซีไอเอ (CIA SAD) จำนวนหนึ่งลักลอบเข้าไปยังจังหวัดปัญจะชีร์ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของอามัด ชาด มาซูส อดีตขุนศึกผู้ล่วงลับเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการบุกอัฟกานิสถาน
ปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน
ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา สมาชิกหน่วยปฏิบัติการพิเศษจากทีม 595 (ODA 595) แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ จำนวน 12 นาย เดินทางมาถึงอัฟกานิสถานเพื่อประสานงานกับกองกำลังของนายพล อับดุล ราชิด ดอสดูม ขุนศึกคนสำคัญแห่งกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือ ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษ จะรุกรานอัฟกานิสถานภายใต้ปฏิบัติการ “เสรีภาพยั่งยืน” (Operation Enduring Freedom) ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001
ยุทธการโทราโบรา
หลังประสบความสำเร็จจากการขับไล่อิทธิพลของกลุ่มตาลีบันออกจากกรุงคาบูล นายทหารระดับสูงของสหรัฐฯ ได้มุ่งเป้าไปยังเทือกเขาโทราโบรา (Tora Bora) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงคาบูลติดกับชายแดนปากีสถาน เนื่องจากเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวคือแหล่งซ่องสุมของบินลาเดน พร้อมด้วยกองกำลังติดอาวุธราว 2,500 คน และยุทโธปกรณ์อื่นๆ อาทิยานเกราะและปืนต่อสู้อากาศยานเหลือใช้จากยุคสงครามเย็นอีกจำนวนหนึ่ง
ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2001 กองกำลังเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยหน่วยพิเศษระดับยอดฝีมือจากชาติตะวันตกราว 70 นาย กับกองกำลังท้องถิ่นหลายร้อยคน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกำลังทางอากาศได้เริ่มต้นปฏิบัติการไล่ล่าบินลาเดน แต่กลับเผชิญหน้ากับการต้านทานอย่างหนักจากฝ่ายตั้งรับตลอดเวลา 2 อาทิตย์ แม้จะสามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามกว่า 200 ราย แต่ไม่สามารถจับกุมบินลาเดน ที่หนีผ่านชายแดนไปยังอัฟกานิสถานได้สำเร็จ
สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน
ภายหลังจากความล้มเหลวในการตามล่าบินลาเดน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นการก่อตั้งประเทศอัฟกานิสถานขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อ “สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน” พร้อมแต่งตั้งให้ ฮามิด คาไซ อดีตสมาชิกกลุ่มมูจาฮีดีน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับขุนศึกกลุ่มต่างๆ เป็นประธานาธิบดี เพื่อสร้างรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตามแนวคิดของสหรัฐฯ
ยุทธการอนาคอนดา
ในเดือนมีนาคม ปี 2002 กองทัพสหรัฐฯ เปิดเกมรุกฆาตกลุ่มขั้วอำนาจเก่าแบบถอนรากถอนโคนด้วยการเปิดยุทธการอนาคอนดา (Operation Anaconda) ด้วยกำลังรบเต็มรูปแบบ จนสามารถสังหารนักรบตาลีบันและอัลเคดาอย่างน้อย 500 คน ถือเป็นความสำเร็จทางยุทธวิธีอย่างงดงาม แต่ภูมิประเทศของอัฟกานิสถานช่วยให้อีกฝ่ายสามารถหนีข้ามชายแดนไปยังปากีสถานได้สำเร็จ
การสู้รบอย่างหนักหน่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2008
สหรัฐฯ พยายามทุ่มกำลังจำนวนมหาศาล เข้ากวาดล้างกลุ่มตาลีบันในระหว่างปี 2003 ถึง 2005 ด้วยการใช้กำลังรบตามแบบ ก่อนจะเริ่มส่งมอบความรับผิดชอบในบางพื้นที่อาทิ ทางใต้ของประเทศให้กับกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยอังกฤษและประเทศสมาชิกอื่นๆอาทิ แคนาดา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เอสโตเนีย, และกลุ่มสแกนดิเนเวียรวมกันกว่า 7,000 นาย ในปี 2006
จากนั้นในปี 2007 รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการเพิ่มจำนวนทหารเข้าไปอีก 3,500 นาย โดยรายงานระบุว่าสหรัฐฯ มีกำลังพลเกือบ 20,000 นายในปี 2008
การขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหาร
ในปี 2009 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหารด้วยอากาศยานโจมตีไร้คนบังคับ (UCAV) เข้าโจมตีเป้าหมายลึกเข้าในปากีสถาน (หลังกระทำอย่างลับๆล่อๆตั้งแต่ปี 2004)
..อย่างไรก็ตาม… ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2009 เมื่อเครื่องบินขับไล่ F-15E จำนวน 2 ลำ ซึ่งถูกเรียกจากกองกำลังภาคพื้นดินของเยอรมัน ทำการถล่มรถบรรทุกเชื้อเพลิงที่ถูกกลุ่มตาลีบันยึดเอาไว้ ทว่าการโจมตีดังกล่าวกลับคร่าชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างน้อย 90 ราย และกลายจุดเริ่มของกระแสการตั้งคำถามต่อต้านปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน
ปฏิบัติการสังหารบินลาเดน กับความหวังในอนาคตของอัฟกานิสถาน
…และแล้วโอกาสที่เฝ้ารอก็มาถึง… เมื่อทางซีไอเอสสามารถติดตามข้อมูลจากคนสนิทของบิน ลาเดน จนสามารถสืบสาวไปยังบ้านหลังหนึ่งในปากีสถาน ที่ถูกสร้างอย่างแน่นหนาและมีรั้วรอบขอบชิด อีกทั้งไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ แม้กระทั่งการเผาขยะยังกระทำในรั้วบ้าน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเชื่อว่ามันคือที่กบดานของเป้าหมายที่พวกเขาต้องการตัว
ทางการสหรัฐไม่รอช้า… สั่งเตรียมพร้อมปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยทีมสังหารระดับมือพระกาฬจากหน่วยเดฟกรู (Devgru) และนักบินชั้นครูจากกองบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (160th SOAR) ที่มีสมยานามว่า “ผู้ย่างกรายยามราตรี” หรือ Night Stalkers พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์รุ่นล่าสุดซึ่งถูกออกแบบให้สามารถลดการตรวจจับได้ เพื่อภารกิจสำคัญนี้
ก่อนตัดสินใจลงมือหลังเที่ยงคืนของวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 จนสามารถสังหารบินลาเดน พร้อมผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นทัั้งหมด ก่อนจะเก็บหลักฐานทั้งหมดขึ้นเฮลิคอปเตอณ์ พร้อมกับนำศพไปทิ้งในทะเล เพื่อไม่ให้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือแรงบันดาลใจกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในอนาคต
สถานการณ์ที่คุกกรุ่นขึ้น
ปี 2010 ถือเป็นช่วงเวลาซึ่งเกิดการโจมตีมากที่สุดในช่วงเวลาของการต่อสู้อันยาวนาน โดยรายงานระบุว่าเกิดการโจมตีขึ้นถึง 1,500 ครั้ง ส่งผลให้กองกำลังนานาชาติ ดำเนินการไล่ล่าสมาชิกกลุ่มตาลีบันด้วยมาตราการเด็ดขาดด้วยการจู่โจมที่กับดานนับครั้งไม่ถ้วน จนสามารถจัดการกับเป้าหมายกว่า 900 ราย
การกลับมาของตาลีบัน
ในปี 2015 กลุ่มตาลีบันก็สามารถรวบกำลัง พร้อมจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองกำลังรัฐบาลอัฟกันและสหรัฐฯอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการโจมตีเป้าหมายเปราะบางอาทิ การจู่โจมโรงแรมฮีเทลในกรุงคาบูล โดยเน้นเป้าหมายชาวต่างชาติ รวมถึงการโจมตีรัฐสภาควบคู่ไปกับการเปิดแนวรบตามแบบ ด้วยการเปิดแนวรบในเขตเฮลมานระหว่างปี 2015 ถึง 2018
นอกจากนี้กองทัพสหรัฐฯ ยังต้องรับมือกับการเติบโตขึ้นของกลุ่มไอซิสสาขาอัฟกานิสถานที่แข็งแกร่งขึ้น ไปพร้อมๆดำเนินการเจรจาเพื่อหาข้อยุติการสู้รบ แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
นโยบายใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี Donald Trump ผู้ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน (American First)” พยายามถอนกำลังจากทั่วทุกมุมโลกกลับมายังแผ่นดินแม่ของสหรัฐฯ ส่งผลให้การเจรจาสงบศึกกับกลุ่มตาลีบัน เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 ก่อนจะเริ่มบรรลุข้อตกลงบางส่วนได้ในปี 2019 เมื่อตัวแทนทั้งสองฝ่ายกำหนดข้อตกลงในการถอนทหาร โดยฝ่ายตาลีบันให้สัญญาว่า “จะดูแลไม่ให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งส่องสุมของกลุ่มก่อการร้าย” ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในสัญญาดังกล่าวที่กรุงโดฮา ประเทศการ์ตา ในอีกหนึ่งปีต่อมา
จุดจบ… สู่การเริ่มต้นครั้งใหม่
…ในปี 2021 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มการถอนทหารอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนคำทัดทานของรัฐบาลอัฟกันที่เริ่มสูญเสียพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วจนท้ายที่สุดกรุงคาบูลก็ตกอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มตาลีบันในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2021 หลังประธานาธิบดีอัชราฟ กานี หนีออกจากประเทศ ถือเป็นบทส่งท้ายของสงครามที่กินเวลาเกือบ 20 ในอัฟกานิสถาน…..และการกลับมาของกลุ่มตาลีบันในฐานะ “ผู้ชนะสงคราม”
บทสรุป
สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ มีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จคือการสามารถจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้แต่กลับมีความล้มเหลวในการสร้างอัฟกานิสถานเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของสหรัฐฯ เนื่องจากขาดความเข้าพื้นฐานที่ว่า
“…อัฟกานิสถานนั้นคือแผ่นดินที่รวมชนหลายเผ่า ซึ่งปกครองตามระบบโบราณ ส่งผลให้ยากที่จะใช้ระบบสมัยใหม่เข้ามาควบคุมการจัดการผลประโยชน์ได้…”
ขณะเดียวกันกองกำลังอัฟกันแทบไม่มีประสบการณ์การรบในช่วง 10 ปีแรกของสงคราม และถูกฝึกอย่างผิดวิธี ทำให้กองกำลังดังกล่าวไม่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
…นี่ยังต้องนับการคอร์รัปชันในทุกระดับทำให้กองทัพที่ขาดประสบการณ์อยู่แล้ว ไร้ประสิทธิภาพเข้าไปอีก
สุดท้ายอัฟกานิสถานคือบทเรียนราคาแพงของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าแสนยานุภาพทางทหารที่แข็งแกร่งของตน จะสามารถพิชิตกลุ่มก่อการร้ายได้อย่างเด็ดขาด แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับการสู้รบที่ไม่จบสิ้นตลอดระยะเวลา 20 ปี จนตัดสินใจถอนตัวเช่นเดียวกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่ไม่สามารถหาประโยชน์ต่อไปจากการสู้รบในสุสานจักรวรรดิ…
ท้ายที่สุด ผมต้องขอขอบคุณ คุณโย จากเพจ TAF ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลดีๆ มากมาย เกี่ยวกับ “20 ปี จาก เหตุการณ์ 9/11 จนถึงการกลับมาของตาลีบัน” ในวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาครับ
0 Comment