ท่านผู้อ่านคิดว่าบทสรุปของวีรบุรุษควรเป็นอย่างไร?
บ้างอาจคิดว่าเป็นจุดจบที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ อยู่ท่ามกลางเสียงสรรเสริญ
หรืออาจพลีชีพในที่รบ มีเรื่องราวความกล้าหาญ ถูกเล่าขานให้ลูกหลานฟังรุ่นสู่รุ่น
แต่เรื่องของชายที่เราจะพูดถึงในวันนี้ แม้จะเป็นถึงวีรบุรุษสงครามที่ช่วยเหลือคนหลายล้านชีวิต และมอบมรดกแสนล้ำค่าไว้แก่โลก หากตัวเขากลับมีกลับมีบั้นปลายชีวิต อันโดดเดี่ยว เจ็บปวด และน่าสลด
…ทั้งหมดเพียงเพราะว่าเขารักผู้ชาย…
เนื่องในโอกาสวันที่ 23 มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของอัจฉริยะผู้นี้ อีกทั้งยังเป็นเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ
The Wild Chronicles ขอเชิญทุกท่านมารู้จักกับบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ และชายผู้เป็นกำลังสำคัญที่นำอังกฤษไปสู่ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง
…เหนือสิ่งอื่นใด คือชายผู้รู้จักรัก ไม่ต่างจากเราทุก ๆ คน
ชื่อของเขาคือ “อลัน ทัวริ่ง”
ประวัติย่อ
ทั้งพ่อและแม่ของ “อลัน ทัวริ่ง” พบรักกันขณะที่ทำงานอยู่ที่บริติชราช (อินเดียในยุคอาณานิคม) เด็กชายทัวริ่งเติบโตภายใต้การดูแลของลุงในกรุงลอนดอน และเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำชายล้วนอันดับต้น ๆ ของประเทศอังกฤษ
ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของทัวริ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างเคมบริจด์ และกลายมาเป็นนักคณิตศาสตร์เต็มตัว
ทัวริ่งเรียนจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเมื่ออายุเพียง 22 ปี และยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน “เฟลโลว์” หรือ กลุ่มคณาจารย์คนสำคัญในมหาวิยาลัยเคมบริจด์ ซึ่งโดยปกติสมาชิกจะมีแต่ผู้ที่เรียนจบปริญญาเอกแล้ว
ทัวริ่งก็เข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา สาขาคณิตศาสตร์
ขณะร่ำเรียนหนังสือ ทัวริ่งได้ศึกษาตรรกศาสตร์ ปรัชญา และวิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptology)
เขาเริ่มคิดค้น เครื่องคำนวน (Universal Computing Machine) ที่สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ดีกว่ามนุษย์เสียอีก โดยเพียงใส่โจทย์เลขเข้าไปเป็นชุดคำสั่งก็จะได้คำตอบออกมาอย่างง่ายดาย เจ้ากลไกนี้เองที่กลายมาเป็นโมเดลของคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน
สงครามมาเยือน
สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี ในปี 1939
โดยทัวริ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วม “สถาบันวิจัยการเข้ารหัสของรัฐบาล” (Government Codes and Cypher School) ซึ่งเป็นองค์กรถอดรหัสของสหราชอาณาจักร ณ เบลชลีย์ ปาร์ค
ณ เวลานั้น เยอรมนีกำลังใช้เครื่อง “อีนิกมา” หรือเครื่องป้องกันความลับทางการสื่อสารที่หน้าตาคล้ายเครื่องพิมพ์ดีด สร้างรหัสลับที่ซับซ้อนจนกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรพากันส่ายหน้า
และถึงแม้โปแลนด์จะเคยออกแบบกลไก ‘บอมบา’ ที่สามารถถอดรหัสอีนิกมาได้ แต่เมื่อเยอรมันเปลี่ยนรูปแบบรหัสในปี 1940 กลไกนั้นก็ไร้ประโยชน์
ตัวอย่างหลักการทำงานของอีนิกมาคือ หากกดแป้นตัวอักษรหนึ่ง จะมีโอกาสแสดงได้เป็น 2 ตัวอักษรที่ต่างกัน หรือหากการกดอักษรที่ต่างกัน 2 ตัว ก็อาจแสดงผลออกมาเป็นตัวอักษรตัวเดียวกันได้
ที่สำคัญวงล้อตัวอักษรของเครื่องอินิกมานั้นขยับเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการเข้ารหัสใหม่ ทำให้มีโอกาสเพียงหนึ่งใน 158.962 ล้านล้านล้านเท่านั้นที่จะสามารถเดารหัสได้ถูกต้อง ฝ่ายเยอรมันจึงเชื่อมั่นว่าไม่มีทางที่ศัตรูจะล้วงความลับได้เด็ดขาด
แต่เกมก็พลิกอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักถอดรหัส “Hut 8” ที่ประกอบไปด้วยทัวริ่ง, และทีมงานระดับหัวกะทิจากทั่วอังกฤษกว่า 200 ชีวิตสามารถเล็งเห็นจุดอ่อนของเครื่องอินิกมาและร่วมกันสร้างกลไกแกะรหัสแบบใหม่ได้สำเร็จ
เครื่องนี้มีชื่อว่า “บอมเบ” คล้ายคลึงกับชื่อเครื่องต้นแบบของโปแลนด์
โดยหลักการทำงานของเครื่องนี้คือการเลียนแบบเครื่องอินิกมาเพื่อให้นักถอดรหัสตีความตัวอักษรจากเครื่องต้นแบบได้
ตลอดช่วงสงคราม ทัวริ่งและทีมได้สร้างเครื่องบอมเบกว่า 200 เครื่อง ทำให้พวกเขาสามารถถอดรหัสและแปลข้อความลับของทหารเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 15 นาทีต่อข้อความ ทำได้มากถึง 3,000 รหัสต่อวัน
สิ่งนี้ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเจาะข้อมูลแผนปฏิบัติการของฝ่ายเยอรมันได้โดยง่าย
นอกจากนี้ทีม Hut 8 ยังได้ทำการหยุดยั้งและหลบเลี่ยงการโจมตีของเรืออู หรือ เรือดำน้ำเยอรมัน ด้วยการถอดรหัสตำแหน่งและเวลาที่เรืออูจะเข้าโจมตีกองเรือพาณิชย์ขนเสบียง อาวุธและสินค้าต่างๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้อังกฤษรอดพ้นจากวิกฤตขาดแคลนอาหาร
ทั้งเครื่องมือและปฏิบัติการถอดรหัสของ Hut 8 ต่างเป็นส่วนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่สอง
มีการวิเคราะห์ว่าหากทัวริ่งและทีมไม่สามารถถอดรหัสของฝ่ายเยอรมันสำเร็จ ฝ่ายสัมพันธมิตรอาจยกพลขึ้นบกล่าช้าไปมากกว่าหนึ่งปี
และการที่สงครามโลกครั้งที่สองจบเร็วขึ้นนี้ สามารถช่วยชีวิตผู้คนมากถึง 14 – 21 ล้านราย
หลังสงคราม
หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ทัวริ่งก็ยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาในการถอดรหัสให้กับรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งยังทำงานวิชาการทั้งในสาขาคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลงานโดดเด่นของเขาคือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยในปี 1950 ทัวริ่งได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับระบบซอฟแวร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ และได้เสนอแนวคิดที่มีชื่อว่า “การทดลองของทัวริง” (Turing Test, Imitation Game) ซึ่งใช้สำหรับทดสอบว่าปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถที่จะเลียนแบบความคิดและบทสนทนาให้เหมือนมนุษย์ได้มากเพียงใด
นอกจากนี้เขายังสร้างโมเดลที่ใช้คำสั่งการพิมพ์พื้นฐานอย่างเดินหน้า, ถอยหลัง, เขียน, และ ลบได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคปัจจุบัน
โดนจับเพราะเป็น “เกย์”
แม้จะเป็นถึงวีรชนสงครามที่ช่วยหลายล้านชีวิตให้รอดพ้นความตายและยังเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก แต่ในปี 1952 ทัวริ่งก็ถูกจับกุมในข้อหา “กระทำอนาจาร” เพียงเพราะเขามีคู่รักเป็นผู้ชาย
ชีวิตรักของทัวริ่งถูกเปิดเผยหลังจากเขาแจ้งความกับตำรวจว่าขโมยขึ้นบ้าน แล้วเมื่อตำรวจสืบสาวลึกลงเรื่อย ๆ กลับค้นพบว่าเขามีคู่รักหนุ่มชื่อ “อาร์โนลด์ เมอร์เรย์” ที่รู้จักกับหัวขโมย
…และในเวลานั้น การเป็นเกย์ถือว่าผิดกฏหมายของสหราชอาณาจักร…
ทัวริ่งถูกนำตัวขึ้นศาลในมณฑลเชชเชอร์ และยอมรับโทษ โดยเขาได้รับสองตัวเลือก คือถูกจำคุก หรือยอมเข้ารับการ “บำบัด” เป็นเวลาหนึ่งปี
…ทัวริ่งเลือกอย่างหลัง เพราะอย่างน้อยทางเลือกนี้จะทำให้เขาสามารถทำงานวิชาการต่อไปได้
…แม้กระนั้นทัวริ่งก็ไม่สามารถกลับเข้าทำงานในหน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักร (ที่เคยเป็นฝ่ายออกปากเชิญทัวริ่งร่วมงานเอง) …เพราะว่าเป็นเกย์
บำบัดการเป็นเกย์
วิธีบำบัดการเป็นเกย์ในยุคนั้นคือการ “ทำหมัน” โดยทัวริ่งถูกบังคับให้รับฮอร์โมนเพศหญิงเข้าร่างกายเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม เพราะในเวลานั้นยังเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยลดความต้องการทางเพศได้
การบำบัดนี้นอกจากทำให้ทัวริ่งหมดสมรรถภาพทางเพศ และมีผลข้างเคียงทำให้หน้าอกของเขาขยายขึ้นแล้ว ยังมีรายงานว่าอาจเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า
ความตาย
สองปีหลังจากชีวิตพังทลาย ทัวริ่งก็จบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวและทรมาน
แม่บ้านพบร่างไร้ชีวิตของทัวริ่งอยู่บนเตียงของเขาเอง ข้างเตียงมีเพียงแอปเปิ้ลที่ทานไม่หมดวางทิ้งไว้
มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุการตายของทัวริ่งไปต่างๆ ส่วนใหญ่สรุปไปในทางว่าเกิดจากความหมดอาลัยตายอยากหลังถูกบังคับให้รับฮอร์โมนจนร่างกายและจิตใจพังพินาศ
…ไม่นับความกดดันจากสังคมที่รังเกียจพฤติกรรมชายรักชาย ทั้งหมดผลักดันให้ทัวริ่งตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยแอปเปิ้ลอาบไซยาไนด์ หวังจะหลับไหลไม่ตื่นมาพบโลกที่โหดร้ายอีกต่อไป
แต่บ้างก็แย้งว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วันทัวริ่งยังร่าเริงแจ่มใสไม่แสดงอาการซึมเศร้าใดๆ บางทีนักวิทยาศาสตร์อย่างทัวริ่งอาจเพียงแต่เผลอไผล ทำการทดลองผิดพลาดจนถึงแก่ชีวิต หรือเผลอจุ่มแอปเปิ้ลในไซยาไนด์ ไม่ได้มีเงื่อนงำอะไรไปมากกว่านั้น
…บ้างก็คิดว่านี่อาจเป็นการ “ปิดปาก” ทัวริ่ง ไม่ให้แพร่งพรายความลับทางราชการ
อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลลูกนั้นไม่เคยถูกตรวจสอบว่ามีไซยาไนด์อยู่จริงหรือไม่
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ทัวริ่งก็จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 40 ต้นๆ …ในฐานะ “อาชญากร”…
กอบกู้ศักดิ์ศรี
เมื่อปี 2009 มีผู้คนรวมตัวกันเพื่อเริ่มรณรงค์ให้ทัวริ่งได้รับการอภัยโทษย้อนหลัง และแม้จะนายกอังกฤษในเวลานั้นจะยอมรับว่าทางการได้ปฏิบัติกับทัวริ่งอย่างเลวร้ายและแถลงกล่าวขอโทษทัวริ่ง แต่ก็ยังไม่มีการอภัยโทษ
ในปี 2011 มีความพยายามรวบรวมรายชื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ทัวริ่งอีก โดยหาได้ถึง 34,000 ชื่อ
แต่มันก็โดนปัดตกเพราะเหตุผลที่ว่าคดีของทัวริ่ง “เป็นการตัดสินโทษที่เหมาะสมแล้วสำหรับยุคนั้น”
หลังจากผลักดันอยู่หลายปี ในที่สุดฝ่ายนักรณรงค์ก็ได้รับชัยชนะ ทำให้ทัวริ่งได้รับการอภัยโทษย้อนหลังในเดือนธันวาคมปี 2013 นับเป็นเวลาถึง 59 ปี หลังเขาเสียชีวิต
ในปี 2017 อังกฤษได้บังคับใช้กฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายอลัน ทัวริ่ง” (Alan Turing Laws) เป็นกฎหมายสำหรับล้างมลทินให้แก่คนที่ถูกกล่าวหาหรือตัดสินให้มีความผิดฐานรักเพศเดียวกันกว่า 65,000 รายทั้งยังช่วยลบประวัติอาชญากรรมให้ทั้งคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และเสียชีวิตไปแล้ว
นอกจากนี้ ในวันนี้ หรือวันที่ 23 มิถุนายน 2021 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของทัวริ่ง ธนาคารแห่งอังกฤษยังได้พิมพ์ธนบัตร 50 ปอนด์ที่มีรูปของอลัน ทัวริ่งเข้าสู่ตลาด
ธนบัตรใหม่นี้ถูกออกแบบเพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีของวีรชนที่ถูกโลกมองข้ามนานค่อนศตวรรษ
วีรบุรุษที่น่าสงสารผู้นี้ ถูกลืมเลือน ถูกรังเกียจ ถูกบีบคั้นให้ตายอย่างทรมาน และถูกตีตราเป็นอาชญากร เพียงเพราะมีหัวใจรักผู้ชายด้วยกัน…
แต่ที่สุดแล้วความยุติธรรมก็ปรากฏ…
ทุกวันนี้โลกได้จดจำ “อลัน แมธิสัน ทัวริ่ง” ในฐานะนักวิชาการผู้ไขรหัสเหล็กของเยอรมัน และช่วยชีวิตคนนับล้าน
ในที่สุด เขาก็ได้ยืนเคียงข้างวีรชนสงครามผู้กล้าหาญอย่างสมเกียรติเสียที…
…สุขสันต์วันเกิดนะครับ คุณอลัน…
…ขอให้เรื่องราวของคุณเป็นเครื่องเตือนใจมนุษย์ทั้งหลายว่า จงอย่ากดขี่กันเองด้วยรสนิยมทางเพศอีกเลย…
0 Comment