ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด หลายคนอยากฉีดวัคซีนยี่ห้อนั้น ไม่ชอบวัคซีนยี่ห้อนี้ พยายามเลือกเฟ้น ทำทุกทางให้ได้ฉีดยาในแบบที่ตัวเองพึงใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ปลอดภัยจากโรคได้มีประสิทธิภาพที่สุด มันก็มีกลุ่มคนในโลกนี้ที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้ออะไร ผลิตที่ใด ผลการวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์จะออกมาบอกว่าอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน พวกเขาก็ยืนยันคำเดียว…

“ไม่ฉีด!”

บทความนี้จะมาพูดถึงคนหกกลุ่มที่ไม่อยากฉีดวัคซีน และเหตุผลของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มที่เป็นสายเสรีนิยม (กลุ่มที่ 1) กลุ่มที่เป็นสายอนุรักษนิยม (กลุ่มที่ 3) กลุ่มที่สงสัยแบบมีเหตุผลที่สุด (กลุ่มที่ 5) และกลุ่มที่อิหยังวะที่สุด (กลุ่มที่ 6)

กลุ่มที่ 1: เชื่อว่าวัคซีนกระทบเสรีภาพ

หลายคนคงจะเคยได้ยินว่า ในต่างประเทศ เวลาประกาศล็อกดาวน์ทีไร ก็จะมีคนออกมาคัดค้านว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ

พวกเขาไม่ได้ไม่เข้าใจเรื่องคุณประโยชน์ของวัคซีน แต่มองว่ารักเสรีภาพในการเลือกมากกว่า

ในตอนที่มีโควิดระบาดนั้น บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นแล้วไม่หายก็ตายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ห้ามคนออกมาดำเนินชีวิตตามปกติ สั่งปิดนั่นปิดนี่ตามใจได้ยังไง ประเทศประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นคนตัดสินใจสิ

พอวัคซีนออกมา ก็เหตุผลคล้ายๆ กัน ทำไมไม่ให้พวกเขาเลือกว่าจะฉีดวัคซีนดีไหม จะนำอะไรใส่ร่างกายนี่ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของ นี่มันเป็นการบังคับใช้อำนาจของรัฐบาลชัดๆ ถ้าเกิดครั้งนี้ เออออ เดี๋ยวคราวหน้านักการเมืองก็อาจจะเอามาเป็นกรณีอ้าง บังคับเรื่องอื่นๆ ที่หนักกว่านี้เข้าไปอีก ฉะนั้นพวกเขาเลยเลือกที่จะไม่ฉีดซะเลยดีกว่า

แม้ฟังดูร่วมสมัยมาก ทว่าการต่อต้านวัคซีนโดยอ้างเสรีภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับโรคโควิด แต่เริ่มมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 ที่อังกฤษออกกฎหมายให้ผู้ปกครองต้องพาลูกๆ ไปฉีดวัคซีน ตอนนั้นถึงขั้นมีคนตั้งกลุ่มสันนิบาตต่อต้านวัคซีนในลอนดอนเพื่อ “พิทักษ์เสรีภาพ” แก่ประชาชนที่ “โดนคุกคาม” กันเลยทีเดียว

กลุ่มที่ 2: เชื่อว่าวัคซีนเป็นสิ่งชั่วร้าย

คนกลุ่มนี้เชื่อว่า “โควิดที่ว่าแน่ ก็ยังไม่แย่เท่าวัคซีน” ซึ่งความเชื่อแบบนี้ก็มีมาตั้งแต่วัคซีนยุคแรกๆ เช่น การปลูกฝี กันโรคฝีดาษ ซึ่งต้องใช้หนองฝีวัวมาปลูก ทำให้คนรู้สึกรังเกียจกันไม่น้อย จนมีบาทหลวงออกมาพูดว่า นี่มันเป็นงานของปีศาจ

พวกเขามองว่า แทนที่วัคซีนจะป้องกันอาการ กลับมีส่วนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ถึงจะมีโอกาสน้อย แต่คนพวกนี้ก็ต่อต้าน ทั้งหยิบแง่มุมบางอย่างมาโจมตี เช่นบอกว่าวัคซีนมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่ผสมน้ำแล้วกลายเป็นฟอร์มาลีน) แต่องค์กรยาต่างๆ พิจารณาแล้วว่าระบบในร่างกายคนเรายังผลิตฟอร์มาลดีไฮด์ในแต่ละวัน มากกว่าในวัคซีนที่โดนกล่าวหาด้วยซ้ำ

บทความวิชาการที่คนต่อต้านวัคซีนกลุ่มนี้อ้างถึงบ่อยๆ คือเรื่อง “วัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมัน ทำให้เด็กเป็นออทิสติก” ของศัลยแพทย์ชาวอังกฤษในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง เดอะ แลนเซต ในปี 1997

แม้หลังจากนั้นจะมีผลการทดลองแย้งออกมามากมาย จนนายแพทย์คนนั้นโดยยึดใบประกอบโรคศิลป์ และบทความโดนถอด แต่คนมากมายก็ยังเชื่อว่าวัคซีนสำหรับทุกโรคเป็นสิ่งชั่วร้ายอยู่ดี พอมาถึงโควิด พวกเขาเลยขอเลือกติดโควิดแล้วตายไปดีกว่าจะต้องรับสิ่งเลวทรามแบบนั้นเข้าตัว

กลุ่มที่ 3: มีเหตุผลทางศาสนา

ในกฎหมายของศาสนายิวกล่าวว่า “ไม่ควรทำอะไรที่เสี่ยงจะให้ผลร้ายแก่ร่างกาย” ดังนั้นการฉีดวัคซีนเลยเป็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะอาจมีผลข้างเคียงได้หลายประการ แม้จะมีผู้นำศาสนา หรือ แรบไบ ออกมาพูดตั้งแต่สมัยไข้ทรพิษระบาดว่า ถึงวัคซีนอาจมีอันตรายถึงชีวิต ก็ควรจะฉีด หรือตอนโปลิโอเอง แรบไบอีกท่านก็ออกมากล่าวว่า หากวัคซีนพัฒนาจนน่าเชื่อถือ ก็ไม่ต้องห่วง

ทว่าชาวยิวอนุรักษนิยม หรือที่เรียกว่า “ฮาเรดิ” บางส่วนที่หัวรุนแรงมากๆ ก็ไม่ฟัง

พวกฮาเรดินี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักตีความสิ่งต่างๆ ตามคัมภีร์มากกว่าผลประโยชน์ของสังคม เช่นฮาเรดิในอิสราเอลนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ปิดโรงเรียน ฮาเรดิก็ยังจะเปิดโรงเรียนสอนศาสนา เพราะเห็นการศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการรับใช้ชาติ (ถึงขั้นนำมาอ้างไม่เกณฑ์ทหารได้ ทั้งๆ ที่โดยทั่วไปคนอิสราเอลต้องโดนบังคับเกณฑ์ทุกคน)

เรื่องวัคซีนก็เช่นกัน หลายกลุ่มต้องถูกบังคับ จึงจะยอมฉีด

ชาวมุสลิมสายเคร่งบางส่วนเองก็ไม่อยากฉีด เนื่องจากตีความว่าช่วงเดือนรอมฎอนหรือเทศกาลถือศีลอดนั้น ไม่ควรนำอาหารหรือน้ำเข้าร่างกายก่อนพระอาทิตย์ตก ซึ่งการฉีดวัคซีนก็มีแต่ช่วงเช้าถึงเย็น กลางคืนไม่มี ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจไม่รับวัคซีน เพราะศีลจะได้ไม่ขาด

ในอังกฤษ เหล่าอิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามประชุมกันแล้วได้ข้อสรุปว่า วัคซีนไม่ได้ทำให้ศีลอดเสื่อม เพราะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ใช่เส้นเลือด หรือระบบย่อยอาหารในร่างกาย นอกจากนี้อิหม่ามยังเสริมด้วยว่า “หากเสี่ยงไม่ฉีด ก็อาจติดโควิด ซึ่งทำให้ป่วย แล้วก็จะถือศีลอดไม่ได้”

แพทย์ที่เป็นชาวมุสลิมก็ออกมาพูดเช่นกันโดยอ้างคัมภีร์อัลกุรอาน ใจความว่า “ช่วยชีวิตตัวเองนั้นเท่ากับช่วยมนุษยชาติ” ดังนั้นการปฏิบัติตัวเป็นมุสลิมก็ควรมารับวัคซีนด้วย ซึ่งการนี้ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไป

กลุ่มที่ 4: เห็นว่าวัคซีนไม่จำเป็น

จริงๆ คนพวกนี้แบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือพวกมองโลกในแง่ดี และพวกมองโลกในแง่ร้าย…

คนที่มองโลกในแง่ดี คิดว่าวัคซีนไม่ใช่สิ่งจำเป็น ทุกสิ่งเป็นครรลองของธรรมชาติ เพราะเดี๋ยวโลกก็จะฟื้นคืนตัวเอง คนมีภูมิคุ้มกันหมู่ โรคร้ายหายไป และเพียงแค่พวกเขารักษาความสะอาด กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ หรือกินอาหารเสริม เช่น น้ำมันงา กระเทียม แม้กระทั่งสารฟอกขาว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองอยู่แล้ว

หรือไม่เช่นนั้นก็ปล่อยให้ร่างกายติดโรคไป ตัวเองจะได้มีภูมิต้านทานขึ้นมาตามธรรมชาติทันที ซึ่งพวกเขามักมองข้ามความจริงว่า เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดโรคแล้วตาย หรือปอดเสียหาย มีผลเสียระยะยาวแก่สุขภาพ มีมากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงซะอีก

ส่วนคนอีกจำพวกมองในแง่ร้าย พวกเขาคิดว่าการฉีดวัคซีนไม่จำเป็นเพราะหากไวรัสจะระบาด เราก็ห้ามมันไม่ได้ จะระงับมันก็ไม่ได้ นี่เป็นกลไกของโลกอันแสนโหดร้าย

บ้างก็ยกเคสคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วยังติดโควิดเสียชีวิตได้ขึ้นมา (เช่น กรณีอาจารย์แพทย์ชาวอินเดียจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในนิวเจอร์ซี) แล้วบอกว่าบางทีมันก็เป็นดวง ถ้าคนมันจะตาย ต่อให้ฉีดวัคซีนก็ตาย …ชีวิตเรามีแค่นี้ …สิ้นหวังแล้ว…

กลุ่มที่ 5: เชื่อวัคซีนออกมาเร็วไป

ปกติคนกลุ่มนี้ไม่ได้ต่อต้านการฉีดวัคซีน ยังเต็มใจและศึกษามากเป็นพิเศษเสียด้วยซ้ำ แต่มาถึงคราวโควิด พวกเขาเกิดไม่เชื่อใจขึ้นมา เพราะ “วัคซีนผลิตออกมาเร็วเกินไป”

…โดยปกติแล้ว กว่าจะมีวัคซีนออกมาสู่สาธารณชน ใช้เวลานานมาก อาจเป็นสิบปี (หรือบางครั้งก็หาวัคซีนไม่ได้เลยจนโรคระบาดหายไปเอง เช่น เมื่อครั้งกาฬโรคระบาด) แต่เพียงไม่ถึงปีวัคซีนโควิดก็ออกมาสู่สาธารณชน แถมออกมาหลายยี่ห้อด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีคนสงสัยว่า มันใช้ได้จริง หรือเป็นเพียงยาผีบอก

บทความทางการแพทย์ให้เหตุผลในทางเดียวกันว่า ที่วัคซีนพัฒนาได้เร็วขนาดนี้ เป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ร่วมมือกันต่อสู้โรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะอย่างพร้อมเพรียงกัน

นอกจากนั้น ข้อกำหนดบางอย่างหรือขั้นตอนบางประการที่ยุ่งยากต่อการทดลองก็ได้รับการผ่อนปรน เงินทุนพัฒนาตัวยาที่ปกติต้องระดมกันนับปีก็ไหลมาเทมาให้ใช้ไม่ขาดสาย ทั้งการพัฒนาวัคซีนโควิดก็มีแต้มต่อ เพราะตัวโรคมีต้นกำเนิดเดียวกับไวรัสซาร์ส ซึ่งมีผลการวิจัยรองรับอยู่แล้ว การทำงานตรงจุดนี้จึงง่ายกว่าโรคอุบัติใหม่อื่นๆ

ทั้งนี้ การผลิตวัคซีนโควิดของทางฝั่งอเมริกายังนำวิทยาการ mRNA ซึ่งมีการทดลองช่วงระยะหนึ่งแล้วมาใช้งาน โดย mRNA จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนเลียนแบบไวรัสโคโรนา จากนั้นร่างกายก็จะเรียนรู้ว่าเซลล์โปรตีนนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น ต่างจากวัคซีนทั่วๆ ไปที่ใช้โปรตีนของไวรัสโดยตรง ไม่ก็ใช้ตัวไวรัสที่อ่อนกำลังลงแล้ว ซึ่งทำได้ยากกว่า และเปลืองกว่า เพราะสังเคราะห์ขึ้นแบบ mRNA ไม่ได้

ถึงจะฟังดูดีเหมือนทีมฮีโร่รวมตัวกันปราบเหล่าร้าย แต่แน่ล่ะว่าทีมฮีโร่ก็มีพลาดบ้าง คนธรรมดาไหนเลยจะเพอร์เฟกต์ไปได้ ดังนั้นจึงยังมีประชากรโลกมากมายยังตั้งข้อสงสัยต่อวัคซีน และขอรอดูให้แน่ใจว่าได้ผลจริง ถึงเวลานั้นพวกเขาอาจจะเปลี่ยนใจ ซึ่งนั่นก็ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลทีเดียว

กลุ่มที่ 6: บิล เกตส์ อยู่เบื้องหลังทั้งหมด!

กลุ่มนี้เราพูดถึงทฤษฎีสมคบคิด และทฤษฎีที่ดังๆ คือทฤษฎี บิล เกตส์…

จำที่ บิล เกตส์ ประธานบริษัทไมโครซอฟต์เคยปาฐกถา TEDTalks หัวข้อ “เรายังไม่พร้อมสำหรับการระบาดครั้งต่อไป” (The next outbreak? We’re not ready) ได้ไหมครับ? เนื่องจากแกออกมาพูดแบบนั้นล่วงหน้าตั้งแต่มีนาคม 2015 คนก็เลยเชื่อว่าบิล เกตส์ อยู่เบื้องหลังโรคระบาดคราวนี้แน่ๆ เพื่อจะได้ให้งบคนไปผลิตวัคซีน …แล้วเอาไปขายปั่นกำไร? …แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก…

คนที่เชื่อทฤษฎีนี้ บอกว่าเป้าหมายของ บิล เกตส์ คือการผลิตไมโครชิปแฝงไปกับวัคซีน แทรกซึมไปติดตามตัวเราต่างหาก!

ต้นตอความเชื่อเรื่องไมโครชิป เริ่มมาจากที่บิล เกตส์ ให้สัมภาษณ์ตอนเกิดโรคระบาดขึ้นแล้วเพียงว่า ในอนาคตควรมีใบรับรองแพทย์แบบดิจิตัล จะได้รู้ว่าฉีดวัคซีนหรือยัง หรือเพิ่งไปตรวจโควิดมาใช่ไหม หรือใครเคยเป็นแล้วรักษาหายเรียบร้อยบ้าง

ไม่มีอะไรพูดถึงไมโครชิปสักนิด แต่คนก็ตีความเชื่อมโยงว่า …เนี่ย ทุกอย่างมันไปในทางเดียวกัน ต้องใช่แน่ๆ แผนการเจ้าพ่อคอมพิวเตอร์ต้องเป็นงี้ชัวร์

เรื่องนี้เป็นกระแสดังมาก จนลูกสาวคนโตของ บิล เกตส์ ออกมาแสดงความเห็นแบบตลกๆ ในโพสต์ที่เธอไปฉีดวัคซีนว่า ว่าพ่อน่าจะผลิตไมโครชิปใส่วัคซีนได้จริงๆ จะได้ส่งข้อมูลความฉลาดของพ่อเข้าสมองหนูบ้าง

กรณี บิล เกตส์ รวมทั้งทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ เช่น ที่ว่าพวกเดโมแครตปล่อยไวรัสให้ทรัมป์เสียคะแนนนิยม หรือบริษัทยาหาเรื่องขายวัคซีนนั้น นักวิจัยวิเคราะห์บอกว่า ยิ่งมีเหตุการณ์ใหญ่ คนบางส่วนที่พร้อมเชื่อทฤษฎีสมคบคิดก็ยิ่งต้องการคำอธิบายที่ดราม่ามากๆ ตาม

ถ้าต้นเรื่องมันธรรมดาไป มันก็ดูไม่เข้าที จำเป็นต้องมีคนใหญ่คนโตอยู่เบื้องหลัง มีองค์กรลับแฝงตัวตั้งใจจะมาทำร้ายมวลมนุษยชาติ อะไรที่มันเกิดขึ้นได้ง่ายๆ สำหรับพวกเขายิ่งไม่น่าเชื่อยิ่งน่าเชื่อ

สรุปแล้ว การที่ใครสักคนเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งในยามปกติ ก็อาจต้องยอมรับ ว่าเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ควรก้าวก่ายกันและกัน

แต่ในสถานการณ์การระบาดของโรคร้ายเช่นนี้ การไม่รับวัคซีนก็มองได้ว่า เหมือนเขามาก้าวก่ายคนอื่นหรือไม่?

เพราะหากปฏิเสธการฉีดยาแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบกับสังคมโดยรวม พวกเขาอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคร้ายยังคงมีที่ไว้ฟักตัว กลายพันธุ์ และแพร่กระจาย ทำให้สังคมคืนสู่ความปกติไม่ได้เสียที

นี่จึงเป็นคำถามว่า ในกรณีแบบนี้ควรมีการบังคับให้ทุกคนฉีดยาหรือไม่? โดยมันถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อในภาพรวมนั้นมันเป็นเรื่องของโลกทั้งโลก

เชื้อโรคร้ายไม่เลือกเป้าหมาย ไม่เลือกสถานที่ ดังนั้นยิ่งคนร่วมมือกันเท่าไหร่ ก็จะกำจัดมันได้เร็วขึ้นเท่านั้น

เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และเหตุการณ์ฉุกเฉินของสังคมเช่นเหตุการณ์นี้ คุณล่ะคิดเห็นแบบไหน คิดว่าควรฉีดวัคซีนหรือเพราะอะไร? แล้วมีความเห็นอย่างไรต่อการขอความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้?