Trigger Warning: มีเนื้อหากล่าวถึงการฆ่า ข่มขืนกระทำชำเรา และลักพาตัว
เมื่อปี 2014 เกิดเหตุกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งบุกเข้าโรงเรียนประจำในเมืองชิบอก ประเทศไนจีเรีย และลักพาตัวเด็กสาวกว่า 276 ชีวิตไปอย่างอุกอาจ จับเด็กเหล่านี้ไปข่มขืน บังคับให้เปลี่ยนศาสนา เพื่อเป็นเมียทาสของพวกกลุ่มก่อการร้าย
เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก จนมีแคมเปญ “Bring back our girls!” กลายเป็นไวรัลโด่งดัง
กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้มีชื่อว่า “โบโกฮาราม”
พวกเขากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายที่ฉาวโฉ่อันดับต้นๆ ของโลก ภายใต้สัญลักษณ์หนังสือเปิดขนาบด้วยปืน AK ประดับมีด พร้อมกับธงสีดำโบกไสว
ในไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ (เขียนในเดือน มิ.ย. 2021) พึ่งมีข่าวครึกโครมว่า อบูบาคาร์ เชเคา ผู้นำกลุ่มเสียชีวิต
การตายของเขาจะนำสู่ความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มก่อการร้ายนี้หรือไม่?
ก่อนจะหาคำตอบนั้นผมจะขอพาท่านผู้อ่านทุกท่านมาเรียนรู้ประวัติย่อ ๆ ของกลุ่มดังกล่าวนะครับ…
โบโกฮารามมิได้ผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายที่น่าหวาดกลัวที่สุดในโลกเพียงชั่วข้ามคืน ตรงกันข้าม เริ่มแรกนั้นโบโกฮารามเป็นเหมือนตัวแทนของความกล้าที่ก้าวขึ้นตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ และเป็นผู้แสวงหาความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยซ้ำ
…ทุกสิ่งเริ่มมาจากชายนักสอนศาสนาคนหนึ่ง…
บิดาแห่งโบโกฮาราม
“โมฮัมหมัด ยูซุฟ” เป็นครูสอนศาสนาที่ยึดหลักคัมภีร์อัลกุรอ่านอย่างเคร่งครัด เขาเป็นที่รักในหมู่ชาวบ้านยากจนในรัฐบอร์โน ไปจนถึงรัฐใกล้เคียงที่อยู่ทางตอนเหนือของไนจีเรีย
ยูซุฟยังเป็นคนหนึ่งที่กล้ากล่าวโทษรัฐบาลไนจีเรียว่าเปิดทางให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เข้ามาเอาเปรียบคนยากคนจนในตอนเหนือและยูซุฟก็ยิ่งเป็นที่เคารพเมื่อเขาแสดงออกว่าจะเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับบรรดาชาวมุสลิมเอง
ในปี 2002 ยูซุฟก่อตั้ง “แนวร่วมประชาชนเพื่อแบบแผนแห่งการเป็นสาวกทางวัฒนธรรมและจีฮัด” หรือ Jama’atu Ahlis Sunna Lidda’awati wal-Jihad (JAS, “Group of the People of Sunnah for Preaching and Jihad”) และเป็นที่รู้จักในนาม “โบโก ฮาราม” ซึ่งเป็นภาษาของชนเผ่าเฮาซาในไนจีเรีย แปลว่า การศึกษาแบบตะวันตกนั้นเป็นบาป
โบโกฮารามภายใต้การนำของยูซุฟมีแนวคิดตามแบบสะลาฟีย์ หรือศาสนานิยมที่สุดแสนเข้มงวด ซึ่งสะลาฟีย์นั้นต้องการให้ชาวมุสลิมนิกายอื่น ๆ เปลี่ยนกลับมาใช้วิธีปฏิบัติทางศาสนา และหลักศีลธรรมตามมุสลิมรุ่นแรก ที่เชื่อกันมีความบริสุทธิ์
ยูซุฟต้องการสร้างรัฐอิสลามที่เคร่งครัดในกฎหมายชะรีอะห์ และต้องการยับยั้งอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามในช่วงแรกเขาและผู้ติดตามยังเผยแพร่ความเชื่อด้วยสันติวิธี
แม้กลุ่มนิกายเล็ก ๆ นี้จะดำเนินการภายใต้ความสงบ พวกเขาก็ไม่อาจพ้นสายตาระแวดระวังของรัฐบาลไปได้
ในปี 2003 รัฐบาลไนจีเรียส่งทหารไปกวาดล้างผู้สนับสนุนกลุ่มโบโก ฮาราม ถึงขั้นฆ่าล้างชนพื้นเมืองเฮาซา – ฟูลานีเกือบทั้งหมู่บ้าน โดยชนพื้นเมืองเหล่านี้ เป็นชุมชนปลูกพืชเลี้ยงปศุสัตว์และทำการค้าขาย และเป็นกลุ่มผู้ศรัทธากลุ่มสำคัญของยูซุฟ
เหตุนองเลือดที่กระทำการโดยรัฐบาลนี่เองได้จุดประกายไฟคลุ้มคลั่ง โหมให้กลุ่มโบโก ฮาราม ละทิ้งสันติวิธี และเริ่มตอบโต้ด้วยความรุนแรงเป็นครั้งแรกในปี 2009 โดยได้บุกยึดสถานีตำรวจ จากนั้นจึงฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและขโมยอาวุธไป
จากนั้นความรุนแรงก็ทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็ว โบโกฮารามแสดงเจตนารมณ์ชัดแจ้งที่จะโค่นล้มรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นไม่ให้โบโกฮารามก่อตั้งรัฐอิสลามตามต้องการ
แต่หลังจากโบโกฮารามเริ่มการจลาจลได้ไม่นาน ยูซุฟก็ถูกรวบตัวได้ในปีเดียวกัน
ในคลิปเสียงขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ (มุสลิม) เข้าจับกุมเขานั้น ได้มีการตั้งคำถามกับเขามากมาย เช่น เหตุใดยุซุฟถึงต่อต้านความรู้ตะวันตกทั้งที่พระอัลเลาะห์สนับสนุนการหาความรู้? ทำไมยุซุฟจึงใส่กางเกงหากเชื่อว่าการใส่เสื้อผ้าตะวันตกเป็นบาป? และทำไมเขาจึงมีคอมพิวเตอร์และรถยนต์ในครอบครองแถมยังกินดีอยู่ดี ทั้งที่เขาบังคับให้ลูกศิษย์และผู้ติดตามขายสมบัติทิ้งและกินแต่อินทผาลัมกับน้ำเปล่า?
แต่ยูซุฟก็บอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่เรื่องผิดบาปแต่อย่างใด โดยอ้างอิงการตีความอัลกุรอานในแบบของเขาเอง เช่นเขาอ้างว่าการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี (จากตะวันตก) ถ้าใช้เพื่อพระเจ้าแล้ว ถือว่าต่างจากการยอมรับวัฒนธรรมตะวันตก ส่วนกางเกงแบบฝรั่งที่เขาใส่นั้นทำจากผ้าฝ้ายซึ่งคือผ้าของพระเจ้า
ท้ายที่สุด ยูซุฟถูกยิงดับที่หน้าสำนักงานตำรวจ โดยตำรวจชี้แจงว่า ยุซุฟพยายามหลบหนีจึงต้องยิง…
…อย่างไรก็ตามการสิ้นชีพของยูซุฟกลับก่อให้เกิดความรุนแรง และเหตุนองเลือดมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวนัก
อบูบาคาร์ เชเคา ผู้กุมบังเหียน โบโกฮาราม คนที่สอง
แม้ดูเหมือนโบโกฮารามควรล่มสลายลงหลังการตายของ ยูซุฟ แต่ความจริงแล้วกับตรงกันข้าม เพราะนายอบูบาร์คา เชเคา คนสนิทของยูซุฟ ได้ปรากฏตัวขึ้นในคลิปวิดิโอของโบโกฮารามในปี 2010 และอ้างตนเป็นผู้สืบทอดอำนาจ
นายเชเคา เคยป่าวประกาศว่า ชาวมุสลิมคนใดที่ยอมอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันกับพวกนอกศาสนาแต่โดยดีนั้นไม่ใช่มุสลิมที่แท้จริง เพราะถือเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้วัฒนธรรมตะวันตก เช่น การใส่เสื้อผ้าแฟชั่น หรือการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยก็ล้วนถูกมองว่าเป็นบาป ด้วยเหตุนี้เอง โบโกฮารามจึงสังหารประชาชนที่ไม่ใช่พวกตน ไม่เลือกหน้าทั้งคริสต์และมุสลิม
ต่อมากลุ่มโบโก ฮาราม ก็ได้ยกระดับการก่อการไปเข่นฆ่าผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา และนักการเมืองที่กล้าวิจารณ์การกระทำผิดร้ายแรงของโบโกฮาราม
การสังหารหมู่
โบโกฮารามมีประวัติก่ออาชญากรรมหลายครั้ง โดยสถานที่ที่ถูกโจมตีบ่อยๆ นั้นมีตั้งแต่ สถานีตำรวจ, สถานที่ทำการของกองทัพ, ไปจนถึงที่ทำการไปรษณีย์, ป้ายรถเมล์. จนกระทั่งตลาดธรรมดา ๆ
นอกจากนี้ โรงเรียน และ มหาวิทยาลัยก็มักจะเป็นตกเป็นเป้าโจมตีสำคัญ เช่นในปี 2013 ที่โบโกฮารามบุกเข้าไปที่หอพักนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัยกุจบา ณ รัฐโกเบ ก่อนจะไล่ยิงนักศึกษาและคณาจารย์เสียชีวิตกว่า 50 คน
หนักเข้าโบโกฮารามก็เหิมเกริมบุกเข้าตีเมือง มีรายงานจากเหตุโจมตีเมืองโกวซาเมื่อปี 2014 มีระบุว่าสมาชิกโบโกฮารามขับมอเตอร์ไซค์ไล่ล่าคนที่พยายามจะหนีทุกซอกตรอกถนน และไล่ฆ่าเฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะถูกลักตัวเอากลับค่ายไปทำต่ำช้า
นี่คล้ายกับเมื่อเมืองมาดากาลีถูกโจมตีในปีเดียวกัน มีผู้รอดชีวิตให้การว่าพวกโบโก ฮารามจับประชาชนเพศชายมานั่งรวมกัน และใช้เพียงมีดไล่ปาดคอผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมกองกำลังไปเรื่อยๆ
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์มาดากาลีในวันนั้นให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ผมนั่งนับว่าโดนฆ่ากันไปกี่คน เพราะอยากรู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงคราวของผม” เขาหลบหนีออกมาได้เพราะใช้โอกาสตอนที่นักฆ่ากำลังลับมีดที่ทื่อหลังเฉือนคอผู้คนก่อนหน้าเกือบ 30 ราย
แต่เหตุการณ์ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือการบุกยึดเมืองบามา ในรัฐบอร์โน ตอนนั้นโบโกฮารามไม่เพียงแต่ถล่มตึกรามบ้านช่องและสถานที่ราชการเสียสิ้นซาก แต่ยังทำลายเรือนจำจนทำให้ผู้ต้องขังกว่า 100 คนหลบหนีออกมาได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน ส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สิ่งที่น่าเป็นกังวล และสร้างความหวาดผวามากที่สุดคือ แม้ว่ารัฐบาลไนจีเรียจะเทหมดหน้าตัก โดยส่งทั้งทหารบกและทหารอากาศรวมหลายพันนายไปปราบ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดโบโกฮารามได้
แค่ในระยะเวลาครึ่งปีของ 2013 นั้น มีคนเสียชีวิตจากเงื้อมมือโบโกฮารามรวมกว่า 1,200 คน
ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพ
โบโกฮารามเริ่มใช้หน่วยระเบิดพลีชีพ (suicide bombers) ตั้งแต่ช่วงปี 2011 โดยเป้าหมายแรกคือสถานีตำรวจในรัฐอบูจา ประเทศไนจีเรีย ซึ่งก่อเหตุไม่กี่วันหลังจากผู้กำกับนายหนึ่งเคยกล่าวว่าจะกวาดล้างกลุ่มโบโกฮารามให้สิ้นซาก
อีกเหตุการณ์หนึ่งโบโกฮารามได้ส่งหน่วยระเบิดพลีชีพเข้าโจมตีอาคารของ UN ในรัฐอบูจา จนต้องปิดเพื่อปรับปรุงไปยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งจากทั้งสองเหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 40 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 100 ราย
การลักพาตัว
ภายใต้การนำของนายเชเคา กลุ่มโบโกฮารามยังบุกเข้าลักพาตัวเด็กทั้งหญิงชายออกจากโรงเรียน
หนึ่งในนั้นคือคดีการลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงกว่า 276 รายไปเมื่อปี 2014
โดยเหยื่อที่ถูกลักพาตัวไป บ้างก็ถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ก่อการร้าย หรือถูกซื้อขายเป็นทาสกาม พวกเธอโดนขืนใจนานหลายเดือนติดต่อกัน รวมทั้งโดนรุมข่มขืนเพื่อผลิตทายาทมาเป็นทหารโบโกฮารามในอนาคต
กลุ่มโบโกฮารามยังออกมาเผยตัวว่าเป็นผู้ลักพาตัวเด็กนักเรียนชายอีกกว่า 300 รายเมื่อปี 2020
โบโกฮารามฝึกให้เหยื่อทั้งชายและหญิงใช้อาวุธ และส่งออกไปรบราฆ่าฟันในภารกิจของตน ผู้หญิงและเด็กบางคนยังถูกใช้เป็นมือระเบิดพลีชีพ เพราะเป็นกลุ่มที่มักจะไม่ถูกสงสัยในสายตาผู้ตรวจสอบความปลอดภัย โดยมือระเบิดพลีชีพที่เด็กที่สุดที่โบโกฮารามเคยใช้ คือเด็กหญิงที่มีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น
การทำเรื่องชั่วช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ ทำให้ในปี 2014 มีการขนานนามกลุ่มโบโกฮารามว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก
พันธมิตรกับ ISIS
ในเดือนมีนาคมปี 2015 เชเคาได้สาบานตนเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม ISIS ทำให้กลุ่มโบโกฮารามถูกขนานนามใหม่เป็น “ISWAP” หรือ ISIS สาขาแอฟริกาตะวันตก (The Islamic State West Africa Province)
ทว่ารวมตัวกันได้ไม่นาน ISIS และ ISWAP ที่นำโดยเชเคาก็มีเรื่องผิดใจกัน เพราะการที่เชเคาเน้นใช้เด็ก ๆ เป็นมือระเบิดพลีชีพ หรือการเข่นฆ่าชาวมุสลิมด้วยกันเองนั้น เป็นแนวทางที่กระทั่ง ISIS ยังรับไม่ค่อยได้
ในที่สุดศูนย์บัญชาการ ISIS จึงผลักดันให้นายอาบู มูซาฟ อัลบาร์นาวี โฆษกโบโกฮาราม และบุตรชายยูซุฟอดีตผู้นำ ขึ้นเป็นหัวหน้าแทนเชเคาในปี 2016 เมื่อมี ISIS หนุนหลัง อัลบาร์นาวีก็เริ่มวิจารณ์เชเคาไม่ยั้ง ทั้งเรื่องการสังหารไม่เลือกหน้า ทั้งเรื่องที่นายเชเคาได้อยู่ดีกินดี ต่างจากครอบครัวของผู้ติดตามที่อยู่อย่างอดอยาก
ด้านนายเชเคาก็ไม่ยอมยกตำแหน่งให้ง่าย ๆ และปล่อยคลิปวิดิโอยืนยันว่าตนยังเป็นผู้นำของโบโกฮารามเช่นเดิม
ต่อมาอัลบาร์นาวีและเชเคาต่างยกเอาคัมภีร์อัลกุรอานมาอ้าง และหาว่าฝ่ายตรงข้ามนอกรีต
หลังจากเล่นสงครามประสาท และพยายามดิสเครดิตกันและกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดกลุ่มโบโกฮารามก็แตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอัลบาร์นาวี ใช้ชื่อ ISWAP และฝ่ายของนายเชเคาที่กลับไปใช้ชื่อ JAS ดังเดิม (โลกยังเรียกโบโกฮารามทั้งคู่)
ทั้งสองกลุ่มนี้ทำสงครามกลางเมืองกันอย่างดุเดือด…
จุดจบของเชเคา
แม้เชเคาขึ้นชื่อว่าเป็นชาย “ตายบ่อย” โดยมีรายงานว่าเขาเสียชีวิตอย่างน้อย 5 ครั้ง ในระยะ 12 ปี ไม่ว่าจะจากการถูกยิงระหว่างการปะทะ ยิงทางอากาศ หรือจะบาดเจ็บสาหัสจนถึงแก่ชีวิต เขาคนนี้ก็เคยผ่าน “การตาย” ด้วยเหตุเหล่านี้มาทั้งหมด ซึ่งครั้งหนึ่งในปี 2014 กองทัพไนจีเรียได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสามารถสังหารนายเชเคาได้แล้ว เขาก็ปรากฏตัวในคลิปวีดีโอและเอ่ยปากเยาะเย้ยเหล่าทหารไม่นานหลังจากนั้น
แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าเขา “ระเบิดตัวตาย” หลังจากต่อสู้กับ ISWAP อย่างดุเดือด บันทึกเสียงจากผู้นำกองกำลังคู่ปรับหรืออัลบาร์นาวีถูกเผยแพร่ออกมา โดยนักข่าวรอยเตอร์รายหนึ่งอ้างว่าได้ฟังมากับตัว แต่ไม่เปิดเผยว่าได้บันทึกมาอย่างไร (อย่างไรก็ตามคนที่มีความคุ้นเคยกับนายอัลบาร์นาวี ยืนยันว่าเป็นเสียงของเขาจริง)
โดยเนื้อหาในบันทึกเสียงมีอยู่ว่า หลังจากที่ ISWAP ได้ต่อสู้กับฝ่ายของนายเชเคา ณ ฐานที่ตั้งของโบโกฮารามบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย และไล่ล่าตามนายเชเคาจนพบตัว นายเชเคาก็กดระเบิด จบชีวิตตัวเองลง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในคลิปเสียงนั้น อัลบาร์นาวีกล่าวว่าตนได้หยิบยื่นข้อเสนอให้เชเคา “กลับใจ” เสีย ทว่านายเชเคาตอบกลับว่าเขายอมตายเสียดีกว่า “เป็นตัวตลกขณะยังมีชีวิต”
ล่าสุด สำนักข่าว AFP รายงานยืนยันว่า มีคลิปวิดิโอจาก บาคูร่า โมดู ผู้ประกาศตนเป็นผู้นำคนใหม่ ของกลุ่มโบโกฮาราม และแถลงการณ์ว่าจะแก้แค้นกลุ่ม ISWAP ให้แก่เชเคาผู้สิ้นชีพอย่าง “นักบุญ”
…สรุปว่าครั้งนี้ตายจริงๆ แล้ว
การตอบโต้ของรัฐบาลไนจีเรีย นานาประเทศ และกลุ่มอื่น ๆ
รัฐบาลไนจีเรียเฝ้าหาวิธีปราบโบโกฮารามหลายรูปแบบ เช่น ตัดสัญญาณโทรศัพท์ใน 3 รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อปิดกั้นช่องทางสื่อสารและยับยั้งการกดใช้ระเบิดแสวงเครื่อง
แต่รัฐบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการทหารเป็นอย่างมาก แม้แต่วิทยุและรถหุ้มเกราะซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานก็มีไม่เพียงพอ รัฐบาลไนจีเรียจึงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างชาติในการจัดการกับกลุ่มติดอาวุธที่นับวันก็ยิ่งร้ายกาจขึ้น
รัฐบาลหลายชาติเริ่มเพิ่มโบโกฮารามเข้าบัญชีรายชื่อองค์กรก่อการร้ายต่างชาติตั้งแต่ช่วงปี 2012 มีกองทัพจากทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก และ จีน ตลอดจนกองกำลังพันธมิตรแอฟริกา ฯลฯ ส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ไนจีเรีย โดยมีการช่วยฝึกซ้อมรบ, และส่งกำลังเสริมให้พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์
กรณีลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงจากชิบอกนั้น ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และสหรัฐฯต่างก็อาสาส่งทหารเข้าตามหาช่วยเหลือเหยื่อ
ในเดือนมีนาคม 2021 UN ก็ได้สมทบเงินทุนจำนวนหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวไนจีเรียในรัฐทางเหนือที่ตกเป็นเหยื่อการก่อความไม่สงบโดยโบโกฮารามตลอด 11 ปีผ่านมา
นอกจากนี้ประชาชนชาวไนจีเรียที่มีความคับแค้นส่วนตัวได้มีการจัดตั้งกลุ่มนักล่าโบโกฮารามที่ให้ความร่วมมือกับกองทัพในการต่อกรกับกลุ่มติดอาวุธ นักล่าเหล่านี้ชำนาญเส้นทางในผืนป่า และมีทักษะแกะร่องรอยจากการล่าสัตว์ ทำให้นักล่าเหล่านี้สามารถจับสมาชิกโบโลฮาราม และปลดปล่อยเหยื่อให้เป็นอิสระได้จำนวนมาก
เพียงระยะ 2014 ถึงต้น 2015 โบโกฮารามได้สังหารประชาชนคนธรรมดาไปกว่า 5,500 ราย และตั้งแต่เชเคาขึ้นบัญชาการ ก็มีผู้คนเสียชีวิตไปทั้งสิ้นกว่า 30,000 ราย
ผู้บริสุทธิ์และเด็กๆ หลายล้านชีวิตในไนจีเรียต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ขัดแย้งจนกลายเป็นคนพลัดถิ่น บางส่วนก็ทำได้เพียงหลบหนีไปยังแคเมอรูน ชาดและไนเจอร์ ซึ่งยังเป็นพื้นที่การก่อความไม่สงบของโบโกฮารามนั่นเอง
สิ่งที่ยังเป็นคำถามค้างคาอันหนึ่งก็คือ หลัง อบูบาคาร์ เชเคา เสียชีวิต จะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มก่อการร้ายนี้หรือไม่?
…หรือโบโกฮารามจะผงาดขึ้นอีกครั้งภายใต้ผู้นำคนใหม่อย่างบาคูร่า โมดู และเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด?
0 Comment