อิหร่าน ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าผู้สนใจอารยธรรมเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่และดินแดนต้นกำเนิดของนิกายชีอะห์ แต่ ณ เกาะแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิหร่าน กลับมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดเหล่านักเดินทางที่แตกต่างออกไป

ครั้งหนึ่ง เกาะเกชม์ (Qeshm Island) เกาะขนาดใหญ่ในช่องแคบฮอร์มุซ เคยเป็นจุดแวะพักที่สำคัญของเส้นทางสายเครื่องเทศ พื้นที่แห่งนี้จึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ผสมปนเปกันไปทั้งอาหรับ เปอร์เซีย แอฟริกัน และอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะแห่งนี้ยังเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี และใช้ภาษาอาหรับในชีวิตประจำวัน

ชาวเกาะเกชม์ มักเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า บันดาริ (Bandari) ที่หมายถึง ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองท่า โดยวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวบันดาริ สะท้อนออกมาผ่านเครื่องแต่งกายอย่างเด่นชัด อันจะเห็นได้จากผู้ชายพื้นเมืองมักจะสวมเสื้อผ้าสไตล์อาหรับ ในขณะที่ผู้หญิงพื้นเมืองมักจะสวมอาภรณ์หลากสีสันชวนสะดุดตา และปกปิดร่างกายของพวกเธอด้วยชาดอร์ที่ทำจากเนื้อผ้าน้ำหนักเบา เพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นของเกาะแห่งนี้ ซึ่งนั่นไม่เพียงแค่บ่งบอกรสนิยมทางการแต่งตัวเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวบันดาริอีกด้วย

อีกหนึ่งจุดเด่นของเครื่องแต่งกายของชาวบันดาริที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คงหนีไม่พ้น “หน้ากากบอร์เกห์” (Boregheh) ที่ผู้หญิงชาวบันดาริหลายคนสวมใส่กันมายาวนานหลายศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้ากากรูปทรงคิ้วหนาและมีหนวด ที่เชื่อกันว่า ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอุบายหลอกให้ศัตรูที่สอดแนมจากระยะไกลเข้าใจผิดว่าพวกเธอเป็นทหารชาย เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของเกาะเกชม์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงต่อการรุกรานมาโดยตลอด

ทว่าผู้หญิงชาวเกาะแห่งนี้มิได้จำกัดการสวมใส่แค่เพียงรูปทรงดั้งเดิมเท่านั้น ทุกวันนี้ลักษณะภายนอกที่หลากหลายของหน้ากากบอร์เกห์ยังถูกใช้เพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคม สถานภาพการสมรส ไปจนถึงนิกายของศาสนาอิสลามที่พวกเธอนับถืออีกด้วย เช่น ผู้หญิงชีอะห์จะสวมหน้ากากสีแดงทรงสี่เหลี่ยม ในขณะผู้หญิงซุนนีจะสวมหน้ากากสีดำหรือคราม ปักด้วยด้ายสีทองและมีรูปทรงเรขาคณิตน้อยกว่า โดยด้ายสีทองของผู้หญิงซุนนียังสามารถบ่งบอกได้ด้วยว่า เธอแต่งงานแล้ว

นอกจากหน้ากากบอร์เกห์จะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาและวัฒนธรรมแล้ว สตรีชาวเกาะยังมองว่า มันยังช่วยปกป้องดวงตาและผิวหน้าของพวกเธอจากแสงแดดอันรุนแรงในแบบที่ผู้อาศัยบริเวณชายฝั่งต้องเผชิญ

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมปฏิบัตินี้กำลังค่อยๆ หายไป เนื่องจากหญิงสาวบนเกาะเกชม์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มพากันละทิ้งประเพณีการสวมหน้ากากนี้ โดยหันมาสวมเพียงแค่ผ้าคลุมหน้าหรือเผยให้เห็นผิวหน้าของพวกเธอในที่สาธารณชนอย่างไร้สิ่งปกปิดใดๆ

แต่ถึงกระนั้น ผู้หญิงชาวบันดาริบางส่วนก็มองเห็นโอกาสจากหน้ากากบอร์เกห์อันเป็นเอกลักษณ์ที่พวกเธอสวมใส่ จนนำไปสู่โครงการศิลปะเพื่อการอนุรักษ์ที่อาศัยความเชี่ยวชาญในงานตัดเย็บหน้ากากที่เดิมเคยปักด้วยมือ แต่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยจักรเย็บผ้า หันมาผลิตผลงานเพื่อสร้างรายได้ให้พวกเธอเอง

แถมอาจช่วยต่ออายุให้ หน้ากากบอร์เกห์ ยังคงความเป็นสัญลักษณ์ที่ชวนให้จดจำของเกาะเกชม์ไปได้อีกนาน