ถ้าท่านผู้อ่านยังพอจำได้ ซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักถูกตัดสินประหารชีวิตนั้นเพราะ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชนกลุ่มน้อยเคิร์ด โดยมีคดีใช้อาวุธเคมีเป็นหนึ่งในคดีหลัก
คนที่รับคำสั่งของซัดดัมไปดำเนินการเรื่องนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องของซัดดัมเอง เขาคือ อาลี ฮัสซาน หรือมีสมญาว่า “Chemical Ali” (อาลีนักเคมี) และ “Butcher of Kurdistan” (จอมเชือดแห่งเคอร์ดิสถาน) บทความนี้จะพาท่านไปติตดามประวัติของชายผู้ซึ่งเป็น “ตัวที่เลวที่สุด” ในระบบซัดดัม …ผู้ซึ่งคิดว่าซัดดัมนั้น “นุ่มนิ่มเกินไป” และยังเชื่อว่าตนกระทำแต่สิ่งถูกต้องจนวาระสุดท้ายของชีวิต
“Chemical Ali” มีชื่อจริงว่า อาลี ฮัสซาน (Ali Hassan) เป็นลูกพี่ลูกน้องของซัดดัม ฮุสเซน
ชายผู้นี้คือคนใกล้ชิดที่ซัดดัมไว้ใจ เคยดำรงตำแหน่ง รมต. กลาโหม, รมต. มหาดไทย, หัวหน้าหน่วยข่าวกรองอิรัก และผู้ว่าการคูเวต (ที่ถูกยึดครอง) ในสงครามอ่าว
บางทีคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เขาเจริญก้าวหน้าในยุคสงครามได้ คือคุณสมบัติที่เรียกว่า “การมองไม่เห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์”
อาลีเกิดประมาณปี 1941 (เอกสารระบุไม่ตรงกัน) ณ เมืองตีกริตซึ่งห่างจากกรุงแบกแดดเมืองหลวงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 140 กิโลเมตร
เขาเกิดในครอบครัวยากจน ได้รับการศึกษาไม่สูงนัก ต่อมาเริ่มต้นทำงานเป็นทหารชั้นประทวนมีหน้าที่ขี่มอเตอร์ไซค์คอยส่งสารให้กับกองทัพอิรักอยู่ถึง 9 ปี
ในปี 1968 ซัดดัมญาติของเขาได้ทำรัฐประหารจนมีอำนาจขึ้นในอิรัก เรื่องนี้กลายเป็นเหมือนบุญหล่นใส่หัวอาลี
เขาใช้เส้นสายจนเติบโตในการงานอย่างรวดเร็วยิ่ง
…อาลีได้เลื่อนจากนายทหารเป็นผู้ช่วย รมว. กลาโหมอิรัก, และต่อมาได้ยศเป็นนายพลในเวลาไม่กี่ปี…
จากนั้นเขายังได้เป็นหัวหน้าสำนักงานความมั่นคงของรัฐบาล …หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นคนคอยทำงานสกปรกให้ซัดดัม
อาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่าพรรคบาธของเขามี “วิสัยทัศน์ประชาธิปไตยและมีมนุษยธรรม ไม่เชื่อในสงคราม การสังหารหมู่ เผด็จการรวบอำนาจ การกดขี่ แต่การกระทำของสมาชิกบางคนในพรรคกลับนำความอับอายมาให้พรรค”
ทัศนคติของอาลีปรากฏชัดเจน จากเทปบันทึกเหตุการณ์ปี 1979 ที่ซัดดัมเรียกประชุมสมาชิกพรรคบาธแล้วแจ้งว่ามี “คนทรยศ” พยายามก่อรัฐประหารในพรรค
ตอนนั้นมีการประกาศชื่อ และมีเจ้าหน้าที่ลากคนออกจากห้องประชุมไปทรมานไม่ก็ยิงทิ้งทีละคนๆ เป็นที่สยดสยองอย่างยิ่ง
อาลีบอกกับซัดดัมถึงเรื่องดังกล่าวว่า “สิ่งที่นายทำในอดีตมันดี สิ่งที่นายจะทำในอนาคตก็ดี แต่มีปัญหาเล็กๆ จุดนึง คือนายมันนุ่มนวลเกินไป เมตตาเกินไปมาตลอด”
ในปี 1980 ซึ่งเป็นปีที่เปิดฉากสงครามอิรัก-อิหร่าน อาลีได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของอิรัก
เขาคอยดูแลความสงบภายในประเทศด้วยความโหดเหี้ยม จนแผ่นดินสงบราบคาบเป็นที่พอใจของซัดดัม
หลังมีเหตุพยายามลอบสังหารซัดดัมในปี 1983 (ซึ่งไม่สำเร็จ) อาลีก็จับคนในเมืองที่เกิดเหตุมาฆ่าตายหลายสิบคน เนรเทศคนอีกหลายพันคน และรื้อทำลายเมืองที่เกิดเหตุทั้งเมืองจนราบเป็นหน้ากลอง ตามหลัก “การลงโทษร่วมกัน”
ในปี 1987 เขายังได้แสดงความอำมหิตในการสั่ง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวเคิร์ดอิรัก โดยไม่เลือกวิธี ทั้งปล้น ฆ่า ข่มขืน และใช้อาวุธเคมีในเหตุการณ์ “ปฏิบัติการอัลอันฟาล” ซึ่งต่อมาจะได้เป็นความเจ็บปวดที่หล่อหลอมอัตลักษณ์ชาติเคิร์ดขึ้นมา
ชื่อเสียฉาวโฉ่ของเขายังมีต่อมาในเหตุการณ์การรุกรานคูเวต ปี 1990
ตอนนั้นซัดดัมได้แต่งตั้งอาลีให้เป็นผู้ว่าราชการ “จังหวัด” คูเวต ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 19 ของอิรัก (ก่อนหน้านั้นอิรักมี 18 จังหวัด)
อาลีใช้วิธีปกครองตามแบบที่เขาถนัดคือการสั่งประหารชีวิต บังคับ ทรมาน ปล้นสะดม และกดขี่ผู้ต่อต้านในคูเวตอย่างป่าเถื่อน
อาลีได้เป็นผู้ว่าราชการเพียง 3 เดือนก็ถูกซัดดัมปลดเพราะโหดเกินไปจนดูแล้วน่าจะเป็นการ “เรียกแขก” ทัพพันธมิตรของอเมริกา มากกว่าการทำให้คูเวตสงบ
เมื่ออาลีกลับมาอิรักก็พอดีตรงกับเหตุการณ์การลุกฮือปี 1991 ซึ่งซัดดัมมอบหมายให้เขาปราบกบฏชีอะห์อีกคำรบ
อาลีทำอะไรโหดๆ แนวเดิม …มีคลิปที่เขาสั่งการให้นักบินเฮลิคอปเตอร์อิเผาสะพานพร้อมกับกบฏที่เฝ้าอยู่ และห้ามกลับมาถ้าปฏิบัติภารกิจไม่สำเร็จ
แต่ถึงอย่างนั้นอาลีก็เคยสารภาพว่า ยังกลัวซัดดัมอยู่ เพราะถ้าซัดดัมเกิดไม่ไว้ใจขึ้นมา เขาเองก็อาจโดนกำจัดได้!
ในปี 1995 เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหลังถูกจับได้ว่าลักลอบส่งออกธัญพืชให้อิหร่าน (แต่ต่อมาก็กลับมาดำรงตำแหน่งสูงได้ใหม่)
ในปี 1996 มีเหตุการณ์ที่หลานชายของอาลี 2 คน ซึ่งเคยแปรพักตร์ไปอยู่จอร์แดนได้เดินทางกลับประเทศอิรัก หลังได้รับคำมั่นจากซัดดัมว่าจะไม่ผูกใจพยาบาท
…แต่เมื่อทั้งสองกลับมาแล้วก็ถูกซัดดัมสั่งฆ่าทันที!
อาลีนั่นแหละเป็นคนนำการโจมตี เขายิงปะทะกับหลานนาน 13 ชั่วโมงจนฆ่าสำเร็จ
ว่ากันว่าอาลีเองเป็นคนลั่นกระสุนใส่ศีรษะของหลาน!
เมื่ออเมริกานำกำลังมาโค่นซัดดัมในปี 2003 อาลีเป็นคนที่สหรัฐต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งรองจากซัดดัม
โดยในกองไพ่บุคคลที่ทางการต้องการตัว 52 คนนั้น มีอาลีอยู่ในตำแหน่งคิงโพดำ (ซัดดัมอยู่ในตำแหน่งเอซโพดำ)
เมื่ออาลีถูกจับกุม เขาได้บอกฝ่ายอเมริกาว่าขอไถ่โทษโดยจะฆ่าซัดดัมให้
นอกจากนั้นถ้าอเมริกายอมไว้ใจเขา เขารับปากว่าสามารถปกครองอิรักให้สงบราบคาบในฐานะรัฐบริวารที่เชื่อฟังอเมริกาทุกอย่าง
ไม่ว่าเขาคิดทำจริง หรือพูดเอาตัวรอดก็ตาม แต่แน่นอนว่าทางการอเมริกาไม่เชื่อ…
อาลีถูกนำมาพิจารณาคดี โดยเขาถูกตั้งข้อหาหนัก 3 ข้อหา ทั้งอาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิร์ด
ในระหว่างการไต่สวน อาลีไม่แสดงความสำนึกผิดใดๆ โดยบอกว่า “ผมเป็นคนออกคำสั่งให้กองทัพทำลายหมู่บ้านและเคลื่อนย้ายชาวบ้าน กองทัพเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามคำสั่ง ผมไม่แก้ต่างให้ตัวเอง ผมไม่ยอมขอโทษ ผมไม่ได้ทำอะไรผิด”
สุดท้ายศาลตัดสินประหารชีวิตเขาในปี 2007 จากความผิดรวม 8 กระทง
มีการประหารชีวิตอาลีด้วยการแขวนคอในปี 2010 ศพเขาถูกนำไปฝังในสุสานครอบครัวซัดดัม
นี่นับเป็นการปิดฉากชีวิตของชายที่สร้างบาดแผลใหญ่หลวงในใจของเหยื่อทั้งหลาย โดยเฉพาะชาวเคิร์ดอิรักตราบนานเท่านาน
0 Comment