เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา จีนได้ขอสมัครเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการ แบบ “ไม่มีปี่มีขลุ่ย” ทำให้ไต้หวันเกรงว่าการยื่นขอสมัครของตนจะได้รับผลกระทบไปด้วย กลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน ที่ดูจะระอุขึ้นเรื่อยๆ ในหลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้หลายฝ่ายยังจับตามองท่าทีของสหรัฐ ซึ่งโจ ไบเดนแสดงท่าทีว่าต้องการจำกัดการขยายอิทธิพลของจีน หลังยอมสละหมากอัฟกานิสถานไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อมาทุ่มเทงบประมาณให้กับสมรภูมิด้านเอเชีย-แปซิฟิกอย่างเต็มที่

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปติดตามความคืบหน้าในประเด็นนี้ พร้อมกับเท้าความไปถึงความตกลงการค้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, ความพยายามขยายอิทธิพลของจีนเพื่อเข้ามาแทนที่อเมริกาในภูมิภาค, และท่าทีของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไต้หวันที่มีต่อเรื่องนี้กันครับ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2021 รัฐมนตรีพาณิชย์จีน “หวังเหวินเทา” ยื่นจดหมายขอสมัคร CPTTP อย่างเป็นทางการต่อรัฐมนตรีพาณิชย์นิวซีแลนด์ “เดเมียน โอคอนเนอร์”

ฝั่งหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของรัฐจีน ระบุว่า นี่เป็นการตอกย้ำ “ความเป็นผู้นำทางการค้า” ของจีน และทำให้ “สหรัฐรู้สึกถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ”

ทางด้านสหรัฐยังไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ โดยจนถึงขณะนี้รัฐบาล “โจ ไบเดน” ยังไม่มีนโยบายด้านการค้าที่ชัดเจนต่อภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้า ซึ่งรวมถึงการกำหนดลดอุปสรรคในภาคบริการและการลงทุน, ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ, รวมทั้งการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

CPTPP มีผู้ลงนามแล้ว 11 ประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโกและนิวซีแลนด์ในปี 2018 นับเป็นความตกลงที่สำคัญ เพราะประเทศสมาชิกมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นถึง 13.4% ของจีดีพีโลก

CPTPP นี้พัฒนามาจากความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐในสมัยอดีตประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” เป็นตัวตั้งตัวตีจัดทำขึ้นเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลการค้าของจีน

อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2017 ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออก โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ชาวอเมริกันตกงานจากการแข่งขันจากนอกประเทศ ทำให้อีก 11 ประเทศคู่เจรจาที่เหลือต้องเดินหน้าปรับข้อตกลงกันเอง โดยตัดข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ออก แต่เนื้อหาที่เหลือส่วนใหญ่ยังคงเดิม

การเข้า CPTPP ของจีนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีน เพิ่มเติมจากที่จีนเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก่อนหน้านี้ ซึ่ง RCEP มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน 10 ชาติ + จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีการลงนามเมื่อปี 2020

อนึ่ง RCEP นับเป็นความตกลงการค้าแรกที่มีจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นสมาชิกด้วยกัน และนักวิเคราะห์ยังมองว่า RCEP ส่งผลทำให้ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นและส่งเสริมบทบาทผู้ออกกฎระเบียบของจีนในเวทีภูมิภาค

ทั้งนี้จีนได้เดินสายวิ่งเต้นให้ประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย พิจารณารับจีนเป็นสมาชิก CPTPP โดยพยายามชี้ชวนให้เห็นศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจสองประเทศจากความร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงต้องจับตาดู เพราะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียนั้นเสื่อมลงจากการที่ทั้งสองฝ่ายทำสงครามการค้ากัน

อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังมีข่าวว่าออสเตรเลียจับมือกับอังกฤษและสหรัฐตั้งพันธมิตร AUKUS เพื่อส่งมอบเรือดำน้ำนิวเคลียร์มาถ่วงดุลจีน

ด้าน “หวังเหม่ยฮัว” รัฐมนตรีเศรษฐการไต้หวัน ออกมาระบุว่าการขอสมัครของจีนครั้งนี้ “ไม่มีปีมีขลุ่ย” และมองว่าประเทศสมาชิก CPTPP อื่นๆ น่าจะยอมรับจีนยาก

เชื่อว่า นโยบายของจีนหลายเรื่องขัดกับหลักการเศรษฐกิจเสรีและขาดความโปร่งใส เช่น การสั่งห้ามนำเข้าสินค้า “แบบไร้เหตุผล” และจีนอาจไม่ผ่านมาตรฐานหลายๆ อย่างของ CPTPP ซึ่งถือว่าสูงสำหรับจีน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคลังสมอง (think tank) ชั้นนำของไต้หวันออกมาเร่งรัดรัฐบาลให้รีบสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ก่อนจีน เพราะเกรงว่าถ้าจีนได้เข้าเป็นสมาชิกก่อนจะกีดกันไต้หวันไม่ให้ได้เป็นสมาชิก

นอกจากนี้ยังระบุว่ารัฐบาลไม่ควรตั้งความหวังว่าจะได้เข้า RCEP เพราะเชื่อว่าจีนจะคัดค้านอย่างแน่นอน

สำหรับเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP นั้นจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบ “อย่างเป็นเอกฉันท์” จากประเทศสมาชิกเดิม

ส่วนในทางปฏิบัติประเทศที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกใหม่มักจะต้องเข้าหาประเทศสมาชิกเก่าทีละประเทศ และหารือเกี่ยวกับอุปสรรคก่อนรับเป็นสมาชิกเสียก่อน

การขอสมัครเข้า CPTPP นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับจีน ด้านนักวิเคราะห์ในจีนเองยังมองว่าจะต้องมีการปฏิรูปภายในประเทศอย่างยากลำบากพอๆ กับการสมัครเข้าองค์การการค้าโลกของจีนเมื่อปี 2001

จีนต้องลดการควบคุมเศรษฐกิจจากภาครัฐ, ยกระดับสิทธิแรงงานและสหภาพแรงงาน, ลดการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ, เปิดให้ข้อมูล “ไหลบ่าอย่างเสรี” และเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมแข่งขันในเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ประเทศต่างๆ หลายประเทศยังมีเหตุผลที่จะต่อต้านจีน นอกจากความสัมพันธ์กับออสเตรเลียที่เสื่อมลงแล้ว ญี่ปุ่นยังประกาศจะสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไต้หวัน

ส่วนเม็กซิโกกับแคนาดาอาจถูกบังคับด้วยข้อตกลงการค้าสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ที่ระบุว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งเจรจาการค้ากับประเทศที่ไม่ใช้ระบบตลาด สมาชิกอื่นสามารถยกเลิกข้อตกลงฝ่ายเดียวได้ (แปลว่าสหรัฐพร้อมยกเลิกข้อตกลงหากทั้งสองประเทศไปตกลงการค้ากับจีนนั่นเอง)

… …

การขอเข้าร่วม CPTPP ของจีนแม้ด้านหนึ่งถูกมองเป็นประเด็นความขัดแย้งกับไต้หวัน แต่แท้จริงมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

หากจีนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP สำเร็จ จะทำให้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าที่ครอบคลุมประชากรกว่า 25% ของโลก และมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30% ของโลก จะทำให้มันกลายเป็นความตกลงทางการค้าที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด กินตลาดขนาดใหญ่ที่สุดความตกลงหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาแทนอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรัฐบาลไบเดนยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อภูมิภาคนี้เสียที

ขณะเดียวกันการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของ CPTPP นั้นก็ถือเป็นความท้าทายต่อจีนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิทางปัญญา, สิทธิแรงงาน, การแข่งขันทางการค้า, หรือการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จีนมีปัญหามาตลอด ยังต้องติดตามดูอีกยาวๆ กว่าจีนจะสามารถปรับตัวได้จริงหรือไม่

ประเทศไทยเองเป็นประเทศหนึ่งที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วม CPTPP ยังต้องประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบให้ดี และต้องจับตามองการเคลื่อนไหวนี้ของจีนอย่างรอบคอบ