หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นสี่เขต โดยแต่ละเขตปกครองโดยชาติพันธมิตร ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต
ในตอนนั้นโซเวียตปกครองเยอรมันตะวันออก และอีกส่วนหนึ่งของเมืองควบคุมโดยฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ฝั่งเบอร์ลินตะวันตก หรือเยอรมันตะวันตก
ชาวเยอรมันตะวันออกไม่ชอบระบอบการปกครองแบบใหม่ จึงทำให้ผู้คนหลบหนี 2,000 คน ต่อวันในช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ.1961 อพยพเข้าเยอรมันตะวันตก เยอรมันตะวันออกเห็นแบบนั้นจึงสั่งให้ปิดพรมแดนด้วยลวดหนามทันที
เมื่อมีการวางลวดหนามปิดพรมแดน ย่อมต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษาความสงบ
คอนราด ชูมันน์ (Conrad Schumann) เกิดที่แซกโซนี (Saxony) รัฐทางตะวันออกของเยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอายุราว 18 -19 ปี จากนั้นได้ไปสมัครเป็นตำรวจรัฐของเยอรมันตะวันออก และเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นประทวนที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นตำรวจปราบจลาจลอย่างมาก
เขาได้อาสาไปควบคุม ดูแลรักษาความสงบ ในละแวกกำแพงเบอร์ลินช่วงวันที่สามของการก่อสร้าง โดยเขาได้รับมอบหมายให้คุ้มกันพื้นที่ตรงหัวมุมถนน ถนนเบอร์เนาเออร์ (Bernauer Strasse) และ ถนนรัปปิเนอร์ (Ruppiner Strasse) เขาเดินไปมาอย่างกระวนกระวาย สูบบุหรี่ และบางครั้งก็ดันลวดหนามสูงสองฟุตลงมา
ขณะนั้นกำแพงเป็นเพียงรั้วลวดหนามเตี้ยๆ ทั้งยังมีผู้คนจากฝั่งเยอรมันตะวันตกมาชุมนุมคัดค้านการสร้างกำแพง นักข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียงอึกทึกของผู้คนฝั่งตะวันตก ทำให้ตำรวจหนุ่มใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
พฤติกรรมของเขาดึงดูดความสนใจของช่างภาพสื่อมวลชนที่เฝ้าตามชายแดนอย่าง ปีเตอร์ ไลบิง (Peter Leibing) ช่างภาพวัย 19 ปีกำลังยืนอยู่ฝั่งเบอร์ลินตะวันตก
กว่าหนึ่งชั่วโมงที่ไลบิงยืนเฝ้าดูชูมันน์
เวลา 16.00 น. ชูมันน์สะบัดบุหรี่ทิ้ง โดยชาวเบอร์ลินตะวันตกคนหนึ่งร้องว่า “มาเลย!” เขาออกวิ่งและกระโจนข้ามสิ่งกีดขวางอย่างช่ำชอง สะบัด สลัด ปืนของตัวเองทิ้งกระทบพื้น แล้วมุ่งหน้าวิ่งต่อ
แล้วเขาก็ข้ามฝั่งมายังเยอรมันตะวันตกได้สำเร็จ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจอดรถรอรับเขาอยู่แล้ว
โดยผู้ที่บันทึกเหตุการณ์นี้ได้คือไลบิงและภาพของไลบิงทำให้ชูมันน์โด่งดังในทันที (มีผู้บันทึกวีดีโอไว้เช่นกัน) เขาเป็นเจ้าหน้าที่เยอรมันตะวันออกคนแรงที่ทำแบบนี้ ทั้งยังเป็นต้นแบบให้ทหาร หรือ ตำรวจ ของเยอรมันตะวันออกที่ไม่ชอบการปกครองโดยโซเวียต ทำตามเขา
แต่ชีวิตของชูมันน์ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อเขาตัดสินใจแปรพักตร์มาเยอรมันตะวันตก ทำให้ครอบครัว ญาติพี่น้องของเขา รังเกียจเดียดฉันท์กับการกระทำที่เขาตัดสินใจไปแล้ว
แม้ในปี ค.ศ. 1989 เยอรมันทั้งสองฟากฝั่งได้รวมกันเป็นหนึ่ง กำแพงเบอร์ลินถูกพังทลาย แต่ชูมันน์ก็เลี่ยงที่จะไปหาญาติพี่น้อง สหาย และพ่อแม่ของเขา
ด้วยความรู้สึกผิดต่อครอบครัว
ส่งผลให้เขาเกิดความเครียดมาก จนกระทั่งเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า หนักเข้าทุกวัน ทุกวัน และทุกวัน
จนทำให้เขาตัดสินใจลาลับโลกด้วยการฆ่าตัวตาย แขวนคอตัวเองในสวนผลไม้ใกล้เมืองคิปเฟนเบิร์ก (Kipfenberg) ในบาวาเรียตอนบนด้วยวัย 56 ปี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1998
0 Comment