โตเกียวโอลิมปิกกำลังจะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้แล้ว ท่ามกลางภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีกหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นจากมหกรรมกีฬาที่น่าตื่นเต้นที่สุด กลายเป็นทุลักทุเลมากที่สุด

แม้คนญี่ปุ่นจะเรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขันครั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกกลับไม่ยอม จะเลื่อนก็ทำไปแล้วครั้งหนึ่ง และกลัวจะไปชนโอลิมปิกฤดูหนาวปีหน้า

…ญี่ปุ่นเลยต้องเป็นหนังหน้าไฟ จัดการแข่งขันปีนี้แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก…

บทความนี้เราจะมาดูไปด้วยกันครับว่า โควิดส่งผลกระทบอะไรบ้างกับโอลิมปิกครั้งนี้…

สถานการณ์โควิดที่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน

รายงานสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 17 ก.ค.) จากสำนักข่าว NHK ระบุว่า ยอดรวมสะสมผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 838,396 ราย เสียชีวิต 15,046 ราย (ส่วนไทยมียอด 122,097 ราย เสียชีวิต 3,341 ราย) โดยในเมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) มีผู้ป่วยสะสมเพิ่ม 3,103 ราย และแน่นอนว่า จังหวัดที่มีผู้ติดมากที่สุดคือโตเกียว

ในกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจด้วยกัน ญี่ปุ่นถือว่าฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างช้า เทียบกับอังกฤษฉีดไปได้ 53% แคนาดา 49% และสหรัฐฯ 48% แต่ญี่ปุ่นฉีดได้เพียง 20% เท่านั้น น้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง แถมยังมีปัญหาแพ้วัคซีนอีก

(คนญี่ปุ่นแพ้วัคซีนง่ายมากเป็นปกติอยู่แล้ว แม้กับวัคซีนโรคอื่นๆ ที่มีศึกษามานานจนใช้กันทั่วโลก ญี่ปุ่นก็ยังมีเคสคนฉีดแล้วมีปัญหาต่างๆ)

เศรษฐกิจถดถอย

ก่อนจะเกิดโควิด เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ทรงๆ มาตั้งแต่การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2011 ที่ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ดังนั้นการได้สิทธิ์จัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จึงเป็นหนึ่งในความหวังที่รัฐบาลและประชาชนญี่ปุ่นคิดว่าจะช่วยทำให้ประเทศกลับมาคึกคักได้

น่นอนว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น… โควิดส่งผลกระทบทำให้โอลิมปิกต้องจัดแบบไม่มีผู้ชม ขายตั๋วไม่ได้ นักท่องเที่ยวไม่มา สินค้าเกี่ยวกับการแข่งขันก็ต้องซื้อออนไลน์ แถมยังมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิด ค่าบำรุงหมู่บ้านนักกีฬาและโครงสร้างต่างๆ ค่าปรับแก้สัญญาที่เลื่อนมาหนึ่งปี รวมถึงค่าจ้างพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มเงินไปอีก

รวมค่าใช้จ่ายตอนนี้ประเมินว่ามีกว่า 1.64 ล้านล้านเยน (เกือบ 5 แสนล้านบาท) เข้าไปแล้ว

…หรือต่อให้ไม่มีโอลิมปิก โควิดก็ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 4.8% ในปี 2020 ที่ผ่านมา เรียกว่าเสียรายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

เราอาจไม่ค่อยเห็นญี่ปุ่นมีการประท้วงให้บ่อยนัก แต่เช่นเดียวกับทั่วโลก เมื่อรัฐบาลจัดการโควิดไม่ได้ประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมร้องขอคือ “หยุดจัดโอลิมปิกซะ”

แม้รัฐบาลอยากยกเลิกเพียงใด แต่อำนาจการตัดสินใจดันขึ้นอยู่กับ IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์การจัด หาใช่ญี่ปุ่นที่เป็นเพียงลูกจ้างไม่ หากรัฐบาลจะยกเลิกสัญญา ต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาล ดังนั้นสู้จัดไปให้จบๆ ดีกว่า

แต่ทางประชาชนมองว่าแล้วหลังจากนั้นล่ะ? พอคนจากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศมารวมตัวกันในญี่ปุ่น มันก็เสี่ยงจะเกิดการรวมตัวของเชื้อ ดีไม่ดีคงจะมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีก แบบนี้มันก็ไม่จบน่ะซิ พวกเขาจึงเดินหน้าประท้วงต่อ ท่ามกลางการเมินเฉยของ IOC และความกระอักกระอ่วนของรัฐ

ปัจจุบัน รัฐบาลของนายซุงะ โยชิฮิเดะ มีความนิยมจากประชาชน 29.3% ซึ่งโดยทั่วไปในญี่ปุ่น หากรัฐบาลคะแนนนิยมต่ำกว่า 30% นายกก็มักจะยุบสภา/ลาออก

…แม้นายกซุงะจะหมดเทอมตุลาคมนี้แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ก็มีสิทธิ์จะยุบสภาก่อน

ความแตกแยกระหว่างประเทศ

เป้าหมายของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคือ การสร้างสันติภาพผ่านการแข่งขันกีฬา แต่ดูท่าโอลิมปิกครั้งนี้จะทำไม่ได้เช่นนั้น ซ้ำร้ายยังจะให้ผลตรงกันข้าม โดยจะขอยกตัวอย่างสั้นๆ ดังนี้…

คู่แรกคือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่เกาหลีเหนือขอไม่ส่งนักกีฬามาร่วมแข่งขันเพราะกังวลเรื่องไวรัส ทำให้ทางเกาหลีใต้รู้สึกเสียใจกับสิ่งนี้ เพราะหวังให้การจัดแข่งขันโอลิมปิกเป็นเวทีให้สองชาติเข้ามาคุยรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันได้

อีกคู่หนึ่งคือญี่ปุ่นเจ้าภาพกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ญี่ปุ่นขอให้อินเดียและอีก 5 ชาติที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดหนักๆ ได้แก่ ศรีลังกา มัลดีฟ เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ต้องตรวจโควิดทุกวันก่อนการแข่งขัน 7 วัน ขณะที่ชาติอื่นตรวจแค่ 2 ครั้งก่อนการแข่งขัน 4 วันพอ

เรื่องนี้ทำให้มีดราม่าจากคนอินเดียออกมาบอกว่า ญี่ปุ่นปฏิบัติกับพวกเขาไม่เท่าเทียม

นอกจากนี้ยังมีดราม่านักกีฬาทีมชาติเกาหลีแขวนป้ายผ้าบริเวณระเบียงห้องพัก บนป้ายอ้างถึงคำพูดของนายพลอีซุนชิน แม่ทัพเรือสมัยราชวงศ์โชซอนที่เคยรบชนะญี่ปุ่นมาก่อน

เกาหลีทำเช่นนี้เปรียบเหมือนหยามกันถึงถิ่น ทำให้มีชาวญี่ปุ่นนำธงอาทิตย์อุทัยของกองทัพออกมาแสดงการประท้วง ซึ่งสุดท้าย IOC ก็สั่งให้เกาหลีนำป้ายผ้าลง เพราะโอลิมปิกมีบทบัญญัติว่าห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้เกาหลีจึงให้ญี่ปุ่นงดใช้ธงกองทัพด้วยเช่นกัน

…จากความร้อนแรงทางการเมืองโลกตอนนี้ น่าจะมีเรื่องอื่นๆ เกิดตามมาเรื่อยๆ จนกว่าจะจบการแข่งขันเลยทีเดียว

โตเกียวโอลิมปิกจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคมศกนี้ ปัจจุบันที่เผยแพร่บทความนี้ (19 ก.ค.) มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเท่าที่เปิดเผยออกมาแล้ว 10 ราย เป็นนักกีฬาฟุตบอลจากแอฟริกาใต้ 2 ราย (บางแหล่งว่า 3 ราย) นักกีฬายูกันดา 2 ราย ที่เหลือเป็นคนขับรถและสตาฟต์อื่นๆ

เราต้องมารอดูไปด้วยกันว่าญี่ปุ่นจะพาการแข่งขันครั้งนี้จะฝ่าโควิดไปได้ไหม และมันจะจบลงอย่างไร

つづく