“การปฏิวัติวัฒนธรรม” ดูเหมือนเป็นหัวข้อที่คนจีนซึ่งผ่านพ้นมันมา มักไม่อยากพูดถึง เพราะมันเป็นความทรงจำทั้งเจ็บปวด และสับสน

มันคือเหตุการณ์ที่เหล่าเด็กวัยรุ่นพากันลุกขึ้นยืน! แล้วออกไปจับคนแก่ที่กำลังดื่มน้ำชามาตบหัว! จับครูที่สอนตำราขงจื้อมาทุบตี! แล้วเข้าทำลายโบสถ์วิหาร หรืออะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกทุนนิยมศักดินาอันชั่วร้าย!

…หลังเหมาเจ๋อตงได้ถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น เขาก็ทำการปราบปรามนายทุน เชิดชูกรรมาชีพ แม้สร้างสิ้งดีงามไว้มากมาย แต่ก็บริหารพลาดหลายอย่าง จนมีคนอดตายนับล้านคน
เหตุนี้ทำให้เหมาหวาดกลัวการเสียอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ จึงแก้เกมโดยการสนับสนุนให้เยาวชนที่ถูกล้างสมองมานานให้รักตนลุกขึ้นมาปราบศัตรูทางการเมือง

…กลายเป็นแคมเปญอันยิ่งใหญ่ชื่อ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในปี 1966

…แคมเปญซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าจีนไปตลอดกาล…

จุดเริ่มต้นของเหมาเจ๋อตง

เหมาเจ๋อตงเกิดในปี 1893 ในครอบครัวชาวนาที่มีอันจะกิน เขาเริ่มสนใจแนวคิดฝั่งซ้ายตั้งแต่สมัยเรียน

ต่อมาเมื่อแนวคิดสังคมนิยมมาร์กซิสต์เบ่งบานในประเทศจีน เหมาก็ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายประการกระทั่งเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 1921

เหมาโดดเด่นขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จากการเป็นผู้นำ “การเดินทัพทางไกล” (The Long March) ในปี 1934

เขาได้พาทหารชาวนาและกรรมกรหลายแสนคนเดินทางฝ่าอันตรายไปตั้งหลักยังจุดยุทธศาสตร์ทางตะวันตก รวมระยะทาง 25,000 ลี้ เผชิญภูมิศาสตร์ยากลำบากทุกรูปแบบ แม้จะต้องเสียกำลังพลไปนับหมื่น แต่ความทรหดอดทนของเหมาและคณะซื้อใจประชาชนได้มาก

…ในที่สุดเหมาก็นำพรรครบชนะจีนคณะชาติ ประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 1949 นับแต่นั้นจีนแผ่นดินใหญ่ก็ถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์…

คอมมิวนิสต์แบบจีน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา พยายามส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกด้าน ภายใต้หลักการ “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) ซึ่งเขามองว่า ต่างกับระบบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกเป็น “ประชาธิปไตยเก่า” (Old Democracy) ที่มีไว้เอื้อนายทุน

เหมาดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนอย่างหนัก

ต่อมาเขายังเริ่มนโยบาย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” (Great Leap Forward) ซึ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมในปี 1958

ทว่าการลดจำนวนเกษตรกรแล้วไปเพิ่มแรงงานอุตสาหกรรมอย่างกระทันหัน และการให้นโยบายผิดพลาด (ยกตัวอย่างเช่น การสั่งให้ประชาชนฆ่านกกระจอก เพราะมันขโมยข้าว …แต่พอนกกระจอกตายกันมาก พวกแมลงศัตรูพืชที่ขาดศัตรูตามธรรมชาติก็มาทำลายพืชผลหนักกว่าเก่า) ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้มีผู้อดอยากเสียชีวิตหลายสิบล้านคน

เหมาเสียความนับถือในหมู่ผู้นำพรรคและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง แม้จะสั่งหยุดนโยบายไปในปี 1962 แต่อำนาจเหมายังไม่มั่นคงเหมือนเก่า

เขารู้สึกไม่มั่นคงเลยเลยสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนที่ถูกล้างสมองให้รักตน ออกมาปราบศัตรูทางการเมืองภายใต้แคมเปญ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในเดือนสิงหาคม ปี 1966 โดยอ้างว่าเป็นการจัดการศัตรูของชนชั้นกรรมาชีพ

เรดการ์ดและแก๊งสี่คน

เยาวชนที่ลุกฮือขึ้นมานั้น เรียกว่าพวก “เรดการ์ด” (Red Guard) มีไอเทมประจำตัวคือหนังสือ “คติพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตง” หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “หนังสือปกแดง” ซึ่งรวมรวมแนวคิดของเหมาไว้

เรดการ์ดได้ออกไปกดขี่คนที่ (เชื่อว่า) ยังอินกับวัฒนธรรมเดิมอย่างโหดร้าย โดยมุ่งขจัด “สี่สิ่งเก่า” อันได้แก่ แนวคิดเก่า, วัตนธรรมเก่า, พฤติกรรมเก่า, และประเพณีเก่า ซึ่งเอื้อนายทุน ทำให้จีนล้าหลัง เพื่อสร้าง “สี่สิ่งใหม่” ขึ้นมาแทน

ในทางปฏิบัติไม่ว่าใครก็สามารถถูกกล่าวหาว่า “เป็นพวกล้าหลัง” ได้ แค่ใช้ของที่ดูฟุ่มเฟือย, อ่านหนังสือขงจื้อ, หรือไหว้เจ้าก็ถูกจับกระทืบได้หมด

พวกเรดการ์ดใช้ข้ออ้างดังกล่าวกำจัดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่เหมาไม่เชื่อใจ

คนที่เคยร่วมเป็นร่วมตายเดินทัพทางไกลมาด้วยกันก็ยังโดน เรียกว่าสหายเก่าของเหมานั้นใครไม่โดนรังแกคือแปลก

ขณะเดียวกัน อำนาจรัฐตกอยู่ในมือของกลุ่มคนใกล้ชิดเหมาที่เรียกว่า “แก๊งสี่คน” (Gang of Four) อันประกอบด้วย เจียงชิง, เหยาเหวินหยวน, จางชุนเฉียว และหวังหงเหวิน

เจียงชิงคนนี้เป็นภรรยาของเหมา และมีศักดิ์เป็นหัวหน้าแก๊ง

เจียงชิงเคยเป็นดาราหนังที่แย่งเหมามาจากภรรยาเก่า ทำให้เหล่าผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ชอบเธอนัก และบังคับให้เจียงชิงต้องทำตัวโลว์โปรไฟล์อยู่หลายปี สร้างความเจ็บแค้นแก่เธอยิ่ง

พอเหมาให้อำนาจเจียงชิงในการจัดการศัตรูทางการเมืองของเขาอย่างล้นเหลือ เธอก็นำกลุ่มเยาวชนหัวรุนแรงจัดการผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อชำระแค้น

หนึ่งในนั้นคือ “เติ้งเสี่ยวผิง” ซึ่งถูดถอดยศไปทำงานระดับล่าง และลูกชายเขาถูกทำร้ายจนพิการ

อีกคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปฏิวัติวัฒนธรรมคือ สีจิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 10 ขวบเศษ

ตอนนั้นมีกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงมาบุกบ้านสี ตำหนิว่าพ่อของเขาซึ่งเคยมีตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่จงรักภักดีพอ แม่ถูกบังคับให้ด้อยค่าพ่อต่อหน้าสาธารณะชน พ่อถูกจับไปใช้แรงงานและต่อมาถูกขังคุก พี่สาวของสีเครียดจนฆ่าตัวตาย ส่วนตัวสีเองนั้นก็ถูกส่งไปทำงานในมณฑลที่ห่างไกล

…แล้วประเทศจีนก็กลายเป็นดินแดนมิคสัญญี…

สิ่งที่เกิดขึ้นในปฏิวัติวัฒนธรรม

ปัญญาชนในยุคนั้นที่ยังนับถือสี่สิ่งเก่าแม้เพียงเล็กน้อยจะโดนประณาม, เข่นฆ่า, คุมขัง และทรมาน ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีการละเว้นว่าเป็นผู้นำศาสนา

เช่น ปันเชนลามะ ภิกษุชั้นสูงของทิเบตก็ยังโดนประจานต่อสาธารณะ มีนักบวชถูกส่งไปใช้แรงงาน แม้แต่คนทำอาชีพครู อาจารย์ ก็โดนลูกศิษย์ทุบตี ทำให้การเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นอันชะงัก

สำหรับสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรม ถ้าเบาๆ หน่อยก็จะโดนเปลี่ยนชื่อ เช่น “ถนนไช่เอ้อ” ที่ตั้งชื่อตามนายพลสมัยซุนยัตเซ็น ก็โดนเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเรดการ์ด”

แต่ถ้าหนักขึ้นมา ก็ไม่พ้นการถูกทำลาย ทั้งวัด, โบสถ์, มัสยิด ของที่เกี่ยวกับศาสนาล้วนจัดอยู่ในหมวดเป็นความเชื่อโบราณ แม้แต่หลุมศพของขงจื๊อ, สุสานจักรพรรดิ ฯลฯ ก็ไม่เว้น สิ่งที่รอดมามักเป็นของที่รัฐบาลปกป้องไว้เอง

เรดการ์ดยังบุกเข้าไปในบ้านของผู้มีอันจะกิน เพื่อทำลายภาพเขียน หนังสือ วรรณกรรมต่างๆ บ้างก็ทำลายข้าวของที่พวกเขามองว่ามีความเชื่อเก่า เช่นเฟอร์นิเจอร์ และสัตว์เลี้ยง ทั้งยังฆ่าล้างประชาชนไปเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเหมาได้สั่งให้หน่วยงานรักษากฎหมายทั้งตำรวจทหารไม่ต้องไปยุ่งกับเรดการ์ด จึงไม่มีใครห้ามความโกลาหลนี้

แม้กระทั่ง “หลี่มิน” ลูกสาวของเหมาที่เกิดกับภรรยาเก่าก็ไม่วายโดนเรดการ์ดนำไปขู่เข็ญทรมาน บังคับให้วิจารณ์ตนเองว่าใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนพวกทุนนิยม

จากนั้นเธอถูกจับไปใช้แรงงานทำการเกษตรอยู่หลายปี เชื่อกันว่าอาจเป็นฝีมือของเจียงชิงและลูกสาวที่เป็นหัวหน้าทีมปฏิวัติวัฒนธรรมกลาง

ด้านเจียงชิงเข้ามามีบทบาทเป็นคนเซนเซอร์งานศิลปะทั้งหมด และเธอก็ทำไปแบบสุดโต่ง ทำให้เกิดศิลปะแนวใหม่ที่มองโลกเป็นขาว/ดำ

…ชาวนาและชนชั้นแรงงานทั้งหมดเป็นคนดี ส่วนชนชั้นนายทุนทั้งหมดเป็นคนเลว…

ซึ่งเอาจริงก็เป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะเจียงชิงเคยเป็นดาราหนัง ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามาก่อน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

การปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำ เพราะแรงงานทุกคนนับเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ได้ค่าจ้างใกล้กันหมด ดังนั้นขยันไปก็ไม่ได้อะไรเพิ่มเติม คนจึงไม่มีจิตใจจะทำงาน

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศอื่นๆ ก็ย่ำแย่ลง โดยพวกเรดการ์ดบุกไปสถานทูต,ฝรั่งเศส, อินโดนิเซีย เผารถทูตมองโกเลีย และแขวนป้ายประจานมิสซังอังกฤษ

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มทูตอังกฤษยังต้องหลบหนีหลังสถานทูตถูกเผา ท่ามกลางเสียงของผู้ชุมนุมภายนอกที่ตะโกนดังลั่นว่า “ฆ่ามัน! ฆ่ามัน!”

ภายหลังเหมาแก่ตัวลงมาก เริ่มคุมความรุนแรงเรดการ์ดไม่อยู่จนกลัวจะย้อนมาทำร้ายตนเอง จึงส่งพวกนักศึกษาเหล่านี้ไปใช้แรงงานในต่างจังหวัดร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ

เหมาได้สั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้ามามีบทบาทแทน ทำให้จีนอยู่ภายในอิทธิพลทางการทหารอยู่พักใหญ่

จุดสิ้นสุดการปฏิวัติ

ในที่สุดเมื่อเหมาเสียชีวิตในปี 1976 พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่อดทนมานานก็ร่วมกันปฏิวัติโค่นล้ม จับแก๊ง 4 คนและผู้เกี่ยวข้องมาขึ้นศาล แล้วยก เติ้งเสี่ยวผิง สมาชิกพรรคสายปฏิรูป ขึ้นเป็นผู้นำแทน

เติ้งดำเนินการปฏิรูปประเทศจีนให้เป็นทุนนิยม ตามคำกล่าวอันโด่งดังว่า “แมวขาวหรือดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี”

…การปฏิรูปของเติ้งทำให้จีนเจริญรุ่งเรืองจนมีฐานะมหาอำนาจของโลก อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้…

ด้านจิงเชียงถูกตัดสินประหาร แต่ต่อมาได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

กระนั้นเธอต้องอยู่อย่างคับแค้นใจ เพราะเจียงชิงเกลียดเติ้งและระบบทุนนิยมมาก บอกว่าเขาเป็นปีศาจที่มาทำลายแผ่นดินจีน เป็นพวกลัทธิแก้ จะทำให้ประเทศล่มจม

ปี 1991 เจียงชิงตัดสินใจผูกคอตาย แต่ก่อนจากไปได้เขียนจดหมายก่นด่าเติ้งไม่หยุด

สิ่งที่ยังหลงเหลือ

จากการปฏิวัติวัฒนธรรม คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 500,000 – 2,000,000 คน (ตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนญี่ปุ่นบุกนานกิงคือราว 300,000 คน) อีกทั้งยังมีผู้ถูกจองจำหรือส่งไปใช้แรงงานอีกนับล้าน

ถึงประวัติศาสตร์จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวมาเกือบ 60 ปี แล้ว แต่ร่องรอยบางอย่างของมันก็ยังอยู่ ทั้งในใจของทั้งผู้รอดชีวิต และผู้กระทำเอง…

หยู เซียงเจิน อดีตเรดการ์ดคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตอนแรกเธอไปเป็นเรดการ์ดเพราะอยากปกป้องประธานเหมา และรู้สึกนับถือประธานฯ มากกว่าพ่อแม่

ช่วงแรกๆ ก็ตื่นเต้นดี เพราะเชื่อว่าทำสิ่งที่ถูกในการจัดระเบียบคน แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เรดการ์ดเริ่มบุกเข้าบ้านคนอื่น เข่นฆ่าทรมานคน สุดท้ายเธอเลยหนีออกมา

“ดีที่ฉันไม่ได้ทุบตีใครตอนนั้น เพราะถ้าฉันทำ คงรับตัวเองไม่ได้” เธอกล่าว

หยูเขียนบล็อกลงอินเตอร์เน็ต เพื่อบำบัดตัวเอง และบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะอยากให้ลูกหลานได้รู้ความจริง จะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำสอง

มีทั้งผู้เข้ามาชื่นชมเธอ นับถือเป็นอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนสาปแช่งเธอ ว่าทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เสื่อมเสีย แต่เธอยืนยันว่าที่ทำไป เป็นการช่วยพรรคให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ

ในมุมหนึ่ง เพราะการปฏิวัติวัฒนธรรมนี่เอง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เรียนรู้ว่าต้องกุมอำนาจในมือไว้ให้มั่น มิเช่นนั้นหากมีความแตกแยกในพรรค หรือการลุกฮือจากประชาชน ล้วนทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย

ดังนั้นผู้นำประเทศยุคต่อมา จึงพยายามทำให้คนในประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านการสร้างค่านิยมของชาติที่เข้มแข็งผ่านการปกครองแบบเบ็ดเสร็จจากผู้นำสูงสุด

ในช่วงไม่นานนี้ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนปัจจุบัน ได้พยายามจัดระเบียบกิจการต่างๆ ของประเทศ

สีมีเป้าหมายหลักคือเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติ ขจัดอิทธิพลของต่างประเทศ และหันมาสร้างเสริมความชาตินิยม ให้ทุกสิ่งอยู่ในการดูแลของรัฐบาลจีน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ทั้งนี้ รัฐได้ออกกฎยิบย่อยต่างๆ ไปจนถึงขั้นต้องให้เด็กประถมทุกคนเรียนเรื่องแนวคิดของสี 14 ประการ, ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 เล่นเกมเกินสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง, ห้ามเขียนนิยายผี ฯลฯ

ทุกอย่างในเวลานี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ามันใกล้เคียงจะเป็นปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหม่เข้าไปทุกที…

…น่าสนใจว่า สีจิ้นผิงจะนำข้อผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งนั้นมาพัฒนาแนวทางการปกครองประเทศให้ดีกว่ายุคเหมาได้หรือไม่