ในโลกทุกวันนี้สังคมได้เปิดกว้างรับความคิดที่แตกต่างกันมากขึ้น รวมทั้งคนรุ่นใหม่ก็กล้าแสดงออกมากขึ้นจนกลายไปขัดกับค่านิยมบางอย่างที่สังคมอาจยึดถือกันมานาน

และความขัดแย้งระหว่างค่านิยมที่แตกต่างกันนี้เองจึงกลายมาเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่ดุเดือด ในเมื่อคนสองกลุ่มขึ้นไปเห็นไม่ตรงกันว่าอะไรคือ “ความดี” ที่สังคมควรยึดถือ นั่นจึงได้ทำให้ความขัดแย้งในครั้งนี้เปรียบเสมือนการชี้ขาดว่าความคิดของใครถูกและผิดเลยทีเดียว

เช่น นักเรียนควรใส่เครื่องแบบต่อไปหรือไม่? คนรุ่นใหม่ไม่เคารพพ่อแม่แล้วหรือไม่? คำถามง่ายๆ แค่นี้กลับทำให้เกิดการทะเลาะกันรุนแรง จนบางทีเลยเถิดกลายมาเป็นการเห็นดีเห็นงามกับการใช้ความรุนแรงเพื่อกำราบอีกฝ่ายที่เห็นต่างเลยทีเดียว

สิ่งนี้มีคำเรียกว่า “Culture War” หรือ “สงครามวัฒนธรรม” นั่นเอง รายละเอียดของเรื่องนี้เป็นอย่างไร? มาติดตามกันได้ในโพสต์นี้กันครับ

ในสังคมนั้นมีความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ในมิติการเมืองและเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น ประชาธิปไตย vs สวัสดิการ, ทุนนิยม vs สังคมนิยม, โปรอเมริกา vs โปรจีน แต่นี่อาจเป็นเรื่องไกลตัว ที่หลายคนอาจไม่สนใจเพราะมองว่าตัวเองไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรมาก

แต่ “สงครามวัฒนธรรม” หรือ “Culture War” จะเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามขึ้นมาใหม่ นับเป็นความขัดแย้งกันในเรื่องวิถีชีวิตประจำวัน และอุดมการณ์ความเชื่อในส่วนลึกของมโนสำนึก เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากจะ “อิน” มากเป็นพิเศษ และการต่อสู้นี้จะดุเดือดแน่นอน! เรียกได้ว่าใครที่เฉยๆ ไม่ได้อินกับความขัดแย้งทางการเมืองกับเศรษฐกิจ ก็มีไม่น้อยที่โดดเข้ามาต่อสู้ในสงครามครั้งนี้ด้วย

ในสงครามวัฒนธรรมจะมีคู่ขัดแย้งเป็นสองฝ่ายใหญ่ ฝ่ายแรกคือวัฒนธรรมอนุรักษนิยม จะให้คุณค่ากับศีลธรรม, ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน, ความเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งสังคม และบทบาทของบุคคลตามสถานภาพในสังคม (เช่น ผู้ใหญ่กับเด็ก ชายกับหญิง ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา)

ฐานคิดของฝ่ายวัฒนธรรมอนุรักษนิยมเชื่อว่าสังคมจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่มีลำดับชั้นบางอย่างเพื่อควบคุมคน และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป กลัวว่าถ้าปล่อยให้สังคมเสรีเกินไปจะทำให้เกิดความวุ่นวาย (ให้นึกภาพเด็กแว้นขี่มอเตอร์ไซค์เต็มถนน อันธพาลยกพวกตีกัน ทำนองนั้น) ไปจนถึงว่าถ้าเสรีมากๆ อาจถึงขั้นที่คนคิดแยกประเทศหรือเกิดสงครามกลางเมืองได้เพราะคนรู้สึกห่างเหินจากวัฒนธรรมหลักของประเทศมากเกินไป

อีกฝ่ายหนึ่งคือวัฒนธรรมเสรีนิยม ที่ให้คุณค่ากับสิทธิและเสรีภาพ, การยอมรับความหลากหลาย, การยึดหลักเหตุผล และความเป็นธรรมทางสังคม ส่วนในเรื่องค่านิยมและการใช้ชีวิตของแต่ละคนนั้นสังคมไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว อยากทำอะไรก็ควรทำได้ตราบที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็พอแล้ว (ตรงนี้หลายคนพยายามโจมตีว่าฝ่ายเสรีนิยมคือไม่เคารพกฎหมายหรือสิทธิผู้อื่นเลย แต่ถ้าแบบนั้นจริงๆ ก็เป็นพวกอนาธิปไตยหรือพวกต่อต้านสังคมไปแล้ว)

และฐานคิดของฝ่ายวัฒนธรรมเสรีนิยมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล รู้จักผิดชอบชั่วดีเมื่อได้รับการสั่งสอนที่ถูกต้อง และกลัวว่าถ้าบังคับกันมากเกินไปจะเป็นเหมือนค่ายทหารที่ทุกคนเชื่องถูกสั่งซ้ายหันขวาหันไปหมด คนที่ออกนอกแถวจะถูกลงโทษอย่างหนักไปจนถึงถูกไล่ล่าสังหารอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

เวลามีการโต้เถียงกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมมักถูกวิจารณ์ว่าเก่าคร่ำครึยึดติดกับอะไรเก่าๆ ไม่ชอบคุยกันด้วยเหตุผลแต่เน้นการใช้อำนาจเข้าข่มมากกว่า รวมถึงชอบบงการชีวิตคนอื่น
ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมักถูกวิจารณ์ว่าไร้ระเบียบและศีลธรรม รวมถึงเป็นพวก “ชังชาติ” เพราะมักต่อต้านวัฒนธรรมและตำหนิชาติตัวเอง
(อย่างไรก็ตาม ต้องอธิบายเพิ่มว่าสองคำนี้เป็นคำรวมๆ แต่ไม่ได้แยกเป็นขาว-ดำโดยสิ้นเชิง คนๆ หนึ่งอาจเป็นพวกวัฒนธรรมอนุรักษนิยม 60% วัฒนธรรมเสรีนิยม 40% ก็ได้ แล้วแต่เรื่อง)

ในอเมริกาถึงกับมีคำกล่าวว่าการต่อสู้ในสงครามวัฒนธรรมเปรียบเสมือนกับการต่อสู้เพื่อ “จิตวิญญาณ” ของประเทศเพื่อช่วงชิงให้ค่านิยมที่ฝ่ายตนเชื่อมาชี้นำคนทั้งสังคม!
ประเด็นละเอียดอ่อนที่เป็นแนวรบสำคัญของสงครามวัฒนธรรมในอเมริกาก็เช่น สิทธิปืน, สิทธิทำแท้ง, การสมรสเพศเดียวกันหรือสิทธิ LGBT, การยอมรับกัญชานันทนาการ การแยกศาสนากับรัฐ หรือประเด็น woke vs anti-woke
เรียกได้ว่าเมื่อเห็นเรื่องพวกนี้โผล่มาในโซเชียลเมื่อไหร่ก็เตรียมหยิบป๊อปคอร์นมานั่งไล่อ่านคอมเมนต์กันยาวๆ ได้เลย

ที่ผ่านมาไทยก็เคยเกิดการถกเถียงในประเด็นเรื่องค่านิยมทางวัฒนธรรมมาแล้วเช่นกัน โดยเรื่องที่ร้อนแรงสุดๆ มักเป็นเรื่องบทบาทของคนในสังคม เช่น ข้อโต้เถียงเรื่องบทบาทระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างครูกับนักเรียน, เรื่องกฎระเบียบและทรงผม เป็นต้น

ยกตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ฝ่ายอนุรักษนิยมจะเชื่อว่าพ่อแม่คือพรหมของลูก ลูกจะต้องเชื่อฟังและกลับมาเลี้ยงดูในยามแก่เฒ่าเป็นเสมือนการตอบแทนบุญคุณ ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมองว่าลูกไม่ได้ขอเกิดมา และไม่ได้มีหน้าที่ต้องตอบแทนอะไรพ่อแม่ เพียงแต่ปฏิบัติดีตอบเมื่อปฏิบัติดีด้วย นอกจากนี้ยังไม่ติดใจที่จะตัดขาดจากครอบครัวหากพ่อแม่คนนั้นเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีด้วยจริงๆ

หรืออย่างเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ฝ่ายอนุรักษนิยมจะเชื่อว่าเครื่องแบบเป็นการฝึกระเบียบวินัย สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้น (บางส่วนถึงกับกล่าวหาว่าถ้าไม่บังคับแต่งชุดนักเรียนจะมีคนแก้ผ้าไปเรียน) ส่วนฝ่ายเสรีนิยมมองว่าเครื่องแบบเป็นตัวจำกัดกรอบความคิด ไม่เปิดช่องให้นักเรียนคิดเองว่าควรใส่ชุดแบบใดไปเรียน นอกจากนี้ยังบอกว่าเครื่องแบบไม่ได้ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการเรียนดีขึ้นหรือทำให้จบออกมาแล้วมีวินัยมากขึ้น

แล้วความขัดแย้งในมิติวัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรต่อ? ในอเมริกา สงครามวัฒนธรรมมีการต่อสู้จริงๆ จังๆ มาราว 20-30 ปี แต่นักวิชาการบางส่วนก็ชี้ว่าในทางปฏิบัติอาจมีการต่อสู้กันมาเป็นร้อยปีแล้วเลยทีเดียว ทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้กันอยู่และดูเหมือนสังคมจะยิ่งแบ่งขั้วกันหนักขึ้น ในขณะที่กรณีของไทยประเด็นนี้เพิ่งจะมาดังในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้เอง และคาดว่าคงไม่จบลงง่ายๆ เช่นกัน

ว่าแต่ว่าทำไมกระแสสงครามวัฒนธรรมถึงได้มาดังขึ้นในช่วงหลัง? คำตอบคือนักการเมืองอาจอาศัยประเด็นเหล่านี้ในการหาเสียงมากกว่าประเด็นที่จับต้องยากอย่างเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง
อย่างในอเมริกาช่วงหลังนักการเมืองมักชูประเด็นค่านิยมครอบครัว หลักศาสนา สิทธิปืน การทำแท้ง และ “การเมืองอัตลักษณ์” ขณะที่ยังคงนโยบายสนับสนุนกลุ่มทุน ลดรัฐสวัสดิการ ลดภาษี และไม่ได้จัดการถึงต้นตอปัญหามีลูกเมื่อไม่พร้อม ปัญหาเหตุกราดยิงทั้งที่ครอบครองปืนถูกกฎหมาย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนอัตลักษณ์ต่างๆ ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ปัญหาหนี้สาธารณะ ฯลฯ จนมีการกล่าวหาว่า นักการเมืองใช้สงครามวัฒนธรรมเมื่อไม่มีนโยบายอะไรจับต้องได้

แต่จากการสำรวจในอังกฤษออกมาก็พบว่าประชาชนเองก็เบื่อหน่ายกับ “วาทกรรม woke” และตั้งใจจะลงโทษนักการเมืองที่หาเสียงในเรื่องนี้ เพราะประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพ จึงต้องการเลือกนักการเมืองที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง
ทำให้พรรคอนุรักษนิยมที่ยังเล่นประเด็น woke อยู่มีความนิยมตามหลังพรรคแรงงานที่หาเสียงด้วยประเด็นค่าครองชีพและการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพแห่งชาติหรือ NHS (แต่ปรากฏการณ์ในอังกฤษอาจอธิบายในอเมริกาไม่ได้ เพราะอเมริกามีระบบ 2 พรรคที่มองประเด็นสังคมต่างกันแทบทุกเรื่อง แต่ประเด็นเศรษฐกิจไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น)

สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้คนทั้งสังคมเห็นตรงกันในทุกๆ เรื่อง แม้แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ควรต้องยอมรับว่าไม่มีทางทำให้คนทั้งสังคมเหมือนกันได้ 100% และวัฒนธรรมเก่าๆ ที่ล้าสมัยสมควรเปลี่ยนก็มีอยู่จริง ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมเองก็ควรต้องยอมรับว่าจริงๆ คุณยังมีความผูกพันกับสิ่งที่คนในสังคมยึดถือร่วมกันอยู่ บางเรื่องที่ควรปฏิบัติตามสังคมอยู่ก็มีอยู่เช่นกัน

เรื่องที่ยุ่งยากสำหรับสงครามวัฒนธรรมไม่ได้อยู่ที่การทำความเข้าใจฐานคิดและเหตุผลของอีกฝ่าย เพราะไม่ได้ทำความเข้าใจยากเลย แต่มันจะยากขึ้นมาทันทีหากไปพยายามบังคับคนอื่นให้คิดและยอมรับเหมือนๆ กัน และจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้แน่นอนหากเรื่องนั้นนำไปสู่กฎหมายที่มีสภาพบังคับทุกคน

…คำถามคือสังคมจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปท่ามกลางความคิดที่ดูเหมือนไม่มีทางลงรอยกันได้นี้?
…Culture War เมืองไทยเพิ่งจะเปิดฉากขึ้นเท่านั้นเอง…

#TWCSummary #TWCCulture #TWC_Cheeze