ผมเคยไปอิสราเอลมา คนที่นั่นที่เห็นด้วยกับความรุนแรงก็มี แต่ที่ต่อต้านความรุนแรงก็มีเยอะนะครับโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่พวกเขามักตกเป็นเหยื่อของฝ่ายหัวรุนแรงทั้งยิวและอาหรับ

1. การที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกดขี่เป็นเรื่องจริง พวกเขาถูกแบ่งเป็นหลายส่วน บางส่วนถูกความซับซ้อนทางการเมืองทำให้ไม่สามารถมีแม้แต่บัตรประชาชนของรัฐอะไรเลย …คนนึงที่ไม่มีบัตรบอกผมอย่างอารมณ์ดีว่าเขาไม่เห็นจะอยากได้บัตรเลย เขาเป็นประชากรของโลก …แต่หลังจากนั้นก็มาคุยอย่างเครียดๆ ว่าอยากให้ลูกโตมาในสถานการณ์ที่ดีกว่านี้

2. ชาวปาเลสไตน์บางส่วนถูกจำกัดให้อยู่ในกำแพงที่อิสราเอลสร้างล้อมไว้ ขาดอิสระในการเดินทาง การทำงาน การศึกษา และการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่นน้ำสะอาด ความผิดคือเพราะเกิดเป็นลูกหลานรุ่นที่สามของเจเนอเรชันที่แพ้

3. ในสลัมค่ายผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ เป็นที่ๆ ผู้คนถูกกดขี่มาก ดังนั้นใครที่สามารถไปทำร้ายทหารอิสราเอลก็จะถูกยกย่องเป็นฮีโร่ เพราะสามารถระบายความแค้นแก่คนในชุมชนได้บ้าง เกิดลัทธิบูชาสิ่งที่คนข้างนอกเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” แต่คนข้างในเรียกว่า “นักสู้เพื่อเสรีภาพ” เด็กที่โตมาในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ก็เสี่ยงที่จะถูกบรรยากาศดังกล่าวทำให้ได้รับแนวคิดรุนแรงไปด้วย

4. คนในค่ายผู้ลี้ภัยที่ผมคุยด้วย เขาบอกว่าไม่ได้อยากได้เอกราช หรือรัฐของชาวปาเลสไตน์นะ เขารู้ว่าอิสราเอลมีกำลังมากกว่ามาก ไม่มีทางสู้ได้ สิ่งที่เขาต้องการคือจะยอมให้อิสราเอลปกครองก็ได้ แต่ขอสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่เขาไม่มี

5. แม้แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะกลุ่มหัวรุนแรงของทั้งสองฝั่งไม่อยากให้เกิดขึ้น – ฮามาสอยากขับไล่อิสราเอลออกจากแผนที่ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) และปีกขวาจัดของรัฐบาลอิสราเอลต้องการส่งคนยิวไปเวสต์แบงค์เยอะๆ เพื่อกลืนชาติ

6. ผมได้เยี่ยมโมชาฟ (ชุมชนเกษตร) ชาวยิวที่อยู่ใกล้กำแพงกาซา ชุมชนนี้ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายของพวกฮามาส แต่พวกเขาก็แสดงความเห็นใจประชาชนในกาซาที่ต้องรับกรรมโดยไม่ใช่ผู้ผิดเช่นกัน พวกเขาพยายามเรียกร้องสันติภาพให้เกิดแก่ทั้งสองฝ่าย

7. ล่าสุดผมได้ยินข่าวว่าคนในโมชาฟข้อ 6 ถูกฮามาสฆ่าไป 15 คน ผมฟังแล้วนั่งจิตตก

8. อิสราเอลไม่ได้มีอิสราเอลเดียว ปาเลสไตน์ไม่ได้มีปาเลสไตน์เดียว พวกหัวรุนแรงก็มี แต่คนที่ต้องการสันติ และความเท่าเทียมกันก็มี และมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ (ดูจากผลการเลือกตั้งอิสราเอล พรรครัฐบาลเก่าซึ่งเป็นฝ่ายขวา ไม่ชนะเด็ดขาดเหมือนก่อน)

9. การสังหารผู้บริสุทธิ์ของฮามาสเป็นสิ่งชั่วร้าย มันคือการก่อการร้าย และไม่ใช่ว่าจะเอาเคราะห์กรรมของชาวปาเลสไตน์ในอดีตมาทำให้เป็นสิ่งดีได้ การต้องเด็ดขาดกับผู้ก่อการร้ายอาจเป็นสิ่งจำเป็น

10. แต่พวกเราที่นั่งดูอยู่ภายนอก ช่วยได้ก็ควรช่วยทางมนุษยธรรมทั้งสองฝ่าย และอย่าถึงขั้นเห็นความหายนะของประชาชนในกาซา (ซึ่งคงจะประสบอีกมาก) แล้วเยาะเย้ยยินดีกันเลยครับ พวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา พวกเขาถูกกดขี่จริง พวกเขาเลือกผู้ปกครองไม่ได้ เลือกอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง

รูปแนบ: เด็กในค่ายผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์