การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) เป็นจุดเปลี่ยนเทรนด์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือเปลี่ยนแนวคิดของชาวโลกจาก “อำนาจอยู่ที่คนวรรณะสูง” ไปสู่ “อำนาจอยู่ที่มวลชน” แม้ฟังแล้วดูดี แต่มันห่างไกลจากการโรยด้วยกลีบกุหลาบ
…ตรงกันข้ามมันเป็นเหตุการณ์ที่เจิ่งนองด้วยเลือดทุกๆ ขั้นตอน…
ในการปฏิวัตินี้เราอาจเห็นภาพอันสวยงามอยู่บ้าง …แต่เราจะได้เห็นภาพที่สกปรกทารุณมากกว่าเป็นอย่างยิ่ง
…มันเป็นยุคที่แยกความดีถูกหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกับความบ้าคลั่ง
…เราจะได้เห็นคนดีเปลี่ยนเป็นคนเลว
…เราจะได้เห็นยุคสมัยแห่งความโหดร้าย
…เราจะได้เห็นทั้งการตกต่ำที่สุด และการรุ่งเรืองที่สุดของฝรั่งเศส ก่อนจะส่งไม้ผลัดไปยังยุคถัดไป
ขอเชิญทุกท่านเป็นประจักษ์พยานในเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราต้องผ่านพ้นอะไรบ้าง กว่าจะได้สิทธิ ความเสมอภาค และระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
…ขอเชิญทุกท่านนั่งลงเถิดครับ …ผมจะเล่าให้ฟัง
การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังฝรั่งเศสบรรลุถึงยุคพีคเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) แต่ต่อมาพอถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (1715-1774) นั้นเขาบริหารผิดพลาด ทั้งรบแพ้สงครามเจ็ดปีกับอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอาณานิคมอเมริกา และอ่อนแอลง
หลุยส์ที่ 15 จากไปโดยทิ้งประเทศที่บอบช้ำจากสงครามให้หลานของเขาหรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 บัดนั้นฝรั่งเศสไม่ได้ร่ำรวยยิ่งใหญ่เหมือนเก่า แต่ชนชั้นสูงก็ยังติดความหรูหราฟูฟ่าจากยุครุ่งเรืองที่ผ่านมาไม่นาน
หลุยส์ที่ 15 จะมากน้อยยังหล่อเหล่าสง่างาม แต่หลุยส์ที่ 16 นั้นถูกญาติตัวเองนินทาว่า “อ้วน น่าเกลียด เป็นเชื้อพันธุ์ไม่ดี” แม้นิสัยส่วนตัวเขามิได้โหดร้าย แต่ความติ๋ม ขี้อาย เอ้อระเหย โลเล ชอบเล่นไม่เอาราชการ ล้วนเป็นลักษณะโทษของผู้เป็นกษัตริย์
หลุยส์ที่ 16 แต่งงานกับพระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงจากออสเตรียซึ่งขณะนั้นเป็นชาติมหาอำนาจเช่นกัน มารี อังตัวเนตเยาว์วัย สดใส น่ารัก คนนินทาว่าแต่งกับหลุยส์แล้วเหมือนเอาดอกไม้งามไปปักบนมูลโค เพราะหลุยส์เองมีโรคทางเพศ (องคชาติหากถอกจะเจ็บมาก) ทำให้ไม่โปรดร่วมเตียงกับภรรยาเป็นเวลาหลายปี เขาหวาดกลัวหลีกหนีการผ่าตัด ต่อมาถูกกดดันให้มีบุตรจนยอมผ่าตัดแล้วจึงหาย
แต่ถ้าท่านคิดว่าความแบ๊วน่ารัก ในยุคศตวรรษที่ 18 เป็นประมาณการ์ตูนกุหลาบแวร์ซายแล้วล่ะก็ขอบอกเลยว่าท่านคิดผิด
มารี อังตัวเนตของจริงเป็นประมาณนี้ คือเอ้อ… ชอบไว้ผมทรงประหลาด… ให้คิดถึงเธอเป็นเจ้าหญิงจากแดนไกลที่ต้องมาแต่งงานกับราชสำนักที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตตลอดวันผ่านพ้นไปกับพิธีรีตองหยุมหยิม เช่นพิธีตื่นนอน พิธีกินข้าว พิธีเดินเล่น พิธีส่งเข้านอน ทุกขั้นตอนล้วนมีคนมากมายห้อมล้อม เธอจึงคลายเครียดโดยการเป็นผู้นำแฟร์ชัน ทำทรงผมอลังการ เช่นภาพนี้เป็นทรงผมรูปเรือ
ราชสำนักฝรั่งเศสฟู่ฟ่ามีงานเลี้ยงทุกวัน ใช้จ่ายสิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง ภาพการแต่งกายหรูหราของมารี อังตัวเนต ย่อมขัดกับภาพราษฎร (ที่เธอแทบไม่เคยเห็น) โดยขณะนั้นประเทศกำลังยากจนจากภัยสงคราม บวกกับภัยธรรมชาติ ชาวนาจำนวนมากกำลังจะอดตาย…
ถามว่าหลุยส์ที่ 16 แก้ปัญหาอย่างไรน่ะเหรอ? คำตอบคือตอนนั้นเขาเห็นประชาชนอเมริกากำลังพยายามปฏิวัติอังกฤษ จึง “สนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา!” เพื่อล้างอายให้พระเจ้าปู่ ชำระแค้นที่เคยพ่ายแพ้ในสงครามเจ็ดปี …โฮะ โฮะ พระเจ้าปู่เคยบอกว่าเราอ้วนๆ โง่ๆ เราจะทำให้พระเจ้าปู่ภูมิใจ
ความสำเร็จของสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา เป็นการตบหน้าอังกฤษอย่างรุนแรง …แต่นอกจากสะใจที่ได้ตบหน้าแล้ว หลุยที่ 16 ก็ไม่ได้อะไรมากกว่านั้นเท่าใด …เพราะชาติเกิดใหม่อย่างอเมริกาย่อมไม่มีเงินมาใช้หนี้สงครามฝรั่งเศส
และที่น่ากลัวคือการปฏิวัติอเมริกาได้เป็นตัวอย่างแรงบันดาลใจให้คนฝรั่งเศสเห็นว่า ประเทศนั้นปกครองโดยประชาชนก็ได้นี่หน่า ไม่เห็นต้องมีกษัตริย์เลย
สงครามอเมริกาแม้รบชนะ แต่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสย่อยยับคนอดอยากล้มตายมากกว่าเดิม หลุยส์จึงแก้ปัญหาโดยการ “เก็บภาษีคนจนหนักขึ้นอีก!”
ตอนนั้นฝรั่งเศสมีคนอยู่สามกลุ่ม คือนักบวช, ขุนนาง, และชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือ ชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือนั้นมีจำนวน 98% ของประชากรในประเทศ (ขุนนางมี 1.5% นักบวชมี 0.5%) แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับคนสองพวกแรก อีกทั้งสองพวกแรกยังแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลยอีกด้วย!
ผู้คนเริ่มไม่พอใจ อยากให้หลุยส์เก็บภาษีนักบวชกับขุนนาง แต่หลุยส์ก็ไม่กล้าทำ เพราะราชวงศ์ฝรั่งเศสอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของนักบวชกับขุนนางนี่แหละ เนื่องจากเขาติ๋มเกินกว่าจะสั่งการอย่างไรไปเด็ดขาด จึงหาทางออกโดยการตั้ง “สภาฐานันดร” ขึ้น เพื่อโยนการตัดสินใจให้คนอื่น
สภาฐานันดรเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสมานับร้อยปีแล้ว มันคือการอนุญาตให้ประชาชนมากำหนดแนวทางของประเทศ ดูผิวเผินเหมือนช่วยเรื่องกระจายอำนาจ แต่ในความจริงคือหลุยส์ให้ฐานันดรนักบวช, ขุนนาง, และประชาชนมีจำนวนเสียงโหวตเท่ากัน
ในลักษณะนี้ไม่ว่าตัวแทนประชาชนจะโหวตอะไร จะถูกนักบวชกับขุนนางโหวตชนะในอัตรา 2 ต่อ 1 เสมอ ทำให้เสียง 98% ของประเทศไม่มีความหมาย
การตั้งสภาฐานันดรจึงทำให้ประชาชนซึ่งเมื่อก่อนยังเบลอๆ ได้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่าประเทศนี้อยุติธรรมแค่ไหน
ในที่สุดฝ่ายประชาชนไม่พอใจ เห็นว่าเรามี 98% ไม่ต้องฟัง 2% ก็ได้มั้ง จึงจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ประชุมบริหารกันเอง ไม่ต้องมีขุนนางนักบวช หลุยส์ไม่ชอบ แต่ติ๋มเกินกว่าจะห้ามตรงๆ อีกนั่นแหละ จึงใช้วิธีไปล็อคห้องประชุมไม่ให้พวกนี้เข้าได้ ฝ่ายประชาชนเห็นห้องถูกล็อคจึงไปจัดประชุมใหม่ที่สนามเทนนิสข้างๆ
เดือนมิถุนายน 1789 พวกเขาออกปฏิญญาสนามเทนนิส ปฏิญาณว่า “ประชาชนจะช่วยกันต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ จะปฏิรูปประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้จงได้!”
สมัชชาแห่งชาติได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาคือ มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ เขามีพื้นฐานเป็นทนายเนิร์ดๆ แต่มีจิตใจรักความเป็นธรรมเป็นอย่างมาก คอยต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของมวลชน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างมาตลอด จนผู้คนขนานนามเขาว่าเปาบุ้นจิ้น …เอ้ย “The Incorruptible” ท่านผู้ซื่อตรงเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความอยุติธรรม
ประชาชนในปารีสอินกับการสมัชชาแห่งชาติเป็นอันมาก พอมีข่าวว่าหลุยส์ส่งทหารตำรวจมาล้อมปารีส ก็เกรงว่าจะมาทำลายสมัชชา จึงพากันช่วยปกป้อง
กรกฎาคม 1789 หลุยส์ถูกพวกขุนนางกดดันให้ไล่รัฐมนตรีคลังชื่อ ฌัก แนแกร์ ออก ประชาชนเห็นว่าแนแกร์นี้เป็นขุนนางดีไม่กี่คนที่ต้องการช่วยคนยากจนจริงๆ จึงพากันโกรธแค้นมาก
ตอนนั้นประชาชนทราบว่าในคุกบาสตีย์ มีกระสุนดินดำอยู่ จึงกรูกันถล่มคุกเพื่อเอากระสุนดินดำมาใช้สู้รัฐบาล
นัยสำคัญอีกอย่างคุกบาสตีย์นั้นยังเป็นที่กักขังนักโทษการเมือง (จริงๆ ตอนนั้นเหลือไม่กี่คน) เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจมืดของรัฐบาล การถล่มคุกจึงเป็นการท้าทายรัฐบาลโดยตรง
…แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การถล่มคุก …จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้คือประชาชนที่บ้าคลั่งได้ตัดหัวผู้คุมคุกเอามาเสียบไม้ ชูประจานไปตามท้องถนนด้วยความสนุกสนาน
…และเมื่อสมัชชาแห่งชาติได้ยินเรื่องราวพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนนี้พวกเขาก็ตัดสินใจเออออ เป็นการสร้างมาตรฐานว่าความป่าเถื่อนสามารถใช้ได้ในการกำจัดความอยุติธรรม
…เป็นมาตรฐานที่จะได้ย้อนกลับมาทำร้ายทุกๆ คน รวมถึงตัวคนทำ ตัวสมัชชาแห่งชาติ …จะทำร้ายทุกคนจริงๆ ดังจะกล่าวในตอนต่อๆ ไป
และในวันที่คุกบาสตีย์แตกนั้น หลุยส์อยู่ในวังแวร์ซายที่ห่างจากปารีส 20 กิโลเมตร เขาพึ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวล่าสัตว์ บรรยากาศสงบสุขสวยงาม เขาลงไดอารี่วันนั้นว่า “ไม่มีอะไร (หมายถึงจับสัตว์อะไรไม่ได้)”
สิงหาคม 1789 สมัชชาแห่งชาติได้ออกประกาศ “สิทธิของมนุษย์” พูดถึงมนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน กลายเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยเรื่อยมาจนปัจจุบัน (สัญลักษณ์ปีรามิดมีตาข้างบนสุดเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ในหมู่ชาวยุโรป หมายถึงดวงตาของพระเจ้าที่เฝ้ามองคุ้มครองชาวโลก)
ตอนนั้นความนิยมของกษัตริย์ในหมู่ประชาชนตกต่ำถึงขีดสุด มีภาพล้อหลุยส์ และมารี อังตัวเนตออกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะล้อว่ามารีมีชู้เยอะ ส่วนหลุยโง่เง่า ไร้ความสามารถ มีคนมาเข้าด้วยฝ่ายประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งทหาร
ตุลาคม 1789 เกิดเหตุกลุ่มแม่ค้าตลาดปลาซึ่งปกติไม่ค่อยยุ่งการเมือง อยู่ๆ ก็ตระหนักขึ้นเองว่าพวกตนขาดขนมปังจะเลี้ยงลูกแล้ว จึงบิ้วๆ กัน จนลุกฮือกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ พอกันถือปังตอหั่นปลาเดินขบวน 20 กิโล ไปยังวังแวร์ซายด้วยความโกรธแค้น มีประชาชนและทหารแปรพักตร์ตามไปด้วยมากมาย
นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มารี อังตัวเนตได้สัมผัสกับประชาชนของตัวเองอย่างใกล้ชิดจริงๆ ตอนนี้คือตอนที่มีเรื่องเล่าว่าเธอกล่าวว่า “มาประท้วงเพราะไม่มีขนมปังกินเหรอ …ก็กินเค้กสิ” ซึ่งจริงๆ ในประวัติศาสตร์เธอไม่ได้พูดนะครับ
กองทัพมดของบรรดาป้าๆ ขายปลาได้กรูกันเอาปังตอเข้าหั่นทหารเฝ้าวังเป็นสามารถ กดดันจนหลุยส์ต้องขอยอมแพ้ และยอมตอบสนองต่อคำเรียกร้องข้อเดียวของพวกเธอคือ “ไม่อยากให้กษัตริย์อยู่แต่ในแวร์ซาย ให้กลับไปปารีส ไปดูว่าประชาชนเดือดร้อนอย่างไร”
วันนั้นขบวนป้าๆ ได้ล็อคตัวหลุยส์และครอบครัวขึ้นรถม้าไปปารีสอย่างผู้ชนะ พวกเธอชูศีรษะของทหารยามที่พึ่งตัดมา โห่ร้องด้วยความสนุกสนาน เป็นการกดดันกลุ่มราชวงศ์อย่างโหดร้ายที่สุด …ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะตอนนี้มาตรฐานความเถื่อนถูกเลื่อนขึ้นแล้ว
เหตุการณ์ป้าขายปลานี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะนับแต่นั้นหลุยส์ก็ไม่ได้กลับแวร์ซายอีก เขาถูกคุมขังในปารีสอย่างนักโทษ ทุกๆ วันจะถูกม๊อบบุกมารังแก บังคับให้เซ็นยินยอมสละสิทธิ์อะไรบางอย่าง อำนาจตกอยู่แก่สมัชชาแห่งชาติแทบจะสมบูรณ์
มีครั้งหนึ่งม๊อบบุกมาบังคับให้หลุยส์ใส่หมวกของฝ่ายปฏิวัติเพื่อล้อเลียน หลุยส์ก็ต้องยอมใส่ด้วยความติ๋ม แต่ในใจนั้นเขาและภรรยาพยายามหาทางเอาตัวรอดอยู่ตลอด
กษัตริย์และราชินีพยายามส่งข่าวขอความช่วยเหลือไปยังชาติพันธมิตร ซึ่งราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปรวมทั้งอังกฤษก็พร้อมช่วย เพราะกลัวว่าหากปล่อยไปจะเกิดการปฏิวัติในชาติตนเหมือนกัน เกิดเหตุพันธมิตรนานาชาติกรีฑาทัพมาบุกฝรั่งเศส
ประชาชนฝรั่งเศสต่างหวาดกลัว จึงรวมกันปกป้องการปฏิวัติของพวกเขา เกิดเป็นซีรีส์ของสงครามและการปฏิวัติทางสังคมครั้งใหญ่
ณ จุดนี้ ผมขอยุติเรื่องราวตอนที่ 1 ของการปฏิวัติฝรั่งเศสลงก่อน พรุ่งนี้จะได้กลับมาเขียนต่อตอนที่สอง…
0 Comment