สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นเรื่องของความล้มเหลวตอนหนึ่ง…
เป็นความล้มเหลวจากความพยายามอันประเสริฐ …ความพยายามที่จะทำให้เกิดยุคในอุดมคติที่ทุกคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพ นับถือเหตุผลแทนมายาคติ
แต่บางอย่างทำให้ความพยายามนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า…
และทำให้เกิด “นรก” ขึ้นแทนดินแดนในอุดมคติที่ควรเป็น
อย่างไรก็ตาม “ความปรารถนาดี” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้แหละ ก็ได้ส่งผลให้มนุษยชาติมีความเสมอภาคมากขึ้นในปัจจุบัน
…และเราควรจะต้องเรียนรู้มัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชั่วร้ายมาครอบงำมันอีก
“Reign of Terror” หรือ “ยุคแห่งความหวาดกลัว” เป็นชื่อของช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นหลังจากฝรั่งเศสทำการปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์ ทำให้เกิดความวุ่นวาย มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มปฏิวัติกับกลุ่มนิยมเจ้า ทั้งยังมีศึกสงครามจากภายนอกมาติดพัน เพราะชาติยุโรปอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการโค่นล้มเจ้า
ผู้นำคนสำคัญของฝ่ายปฏิวัติในเวลานั้นชื่อ มักซีมีลียง โรแบสปีแยร์ เขาเป็นคนกล้าหาญ เกลียดชังความอยุติธรรม คอยต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาตลอด เขาโค่นล้มกลุ่มศักดินา ผลักดันการเลิกทาส ยุติการเลือกปฏิบัติชาวยิวกับคนดำ จนได้รับฉายาว่า “ผู้ซื่อตรง”
หลังรัฐบาลทำลายอำนาจของศาสนาคริสต์ ได้มีคนตั้งลัทธิใหม่ขึ้นหลายลัทธิ ส่วนใหญ่จะบูชานามธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ เช่นมีลัทธิบูชาเสรีภาพ, ลัทธิบูชาธรรมชาติ, แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ “ลัทธิบูชาเหตุผล”
ชาวลัทธิดังกล่าวได้ไล่ทำลายแท่นสักการะพระเยซูในโบสถ์ทั่วประเทศ แล้วแทนที่ด้วย “แท่นบูชาแห่งเหตุผล”, เปลี่ยนโบสถ์คริสต์เป็น “วิหารแห่งเหตุผล”, ถอนกางเขนออกจากสุสาน อนุญาตให้เขียนป้ายสุสานแค่ว่า “ความตายคือการนอนหลับตลอดกาล”, และมีคำขวัญว่า “พระเจ้ามีองค์เดียว นั่นคือประชาชน”
ลัทธิบูชาเหตุผลได้สร้างพิธีกรรมของตนขึ้น ให้ผู้หญิงสวยงามมาแต่งตัวแบบโรมัน ยกเป็นตัวแทน “เทพีแห่งเหตุผล” แล้วให้มีหมู่ผู้หญิงสวมผ้าสามสีคอยบูชา (ผ้าสามสีมาจากธงสามสีแดงขาวน้ำเงินของฝรั่งเศสที่ฝ่ายปฏิวัติสร้างขึ้นตอนนั้นและถูกใช้มาจนปัจจุบัน) ทั้งหมดจะช่วยกันจุดไฟแห่งเหตุผลขึ้นให้ประจักษ์
เทศกาลแห่งเหตุผลที่มีชื่อเสียงนั้นถูกจัดในโบสถ์นอเทรอดามของปารีสนั่นเอง
เพื่อกำจัดของโบราณให้สิ้น รัฐบาลยังได้เปลี่ยนปฏิทิน โดยให้เริ่มศักราชใหม่ของตัวเอง นับการปฏิวัติสำเร็จเป็นปีเริ่มศักราช
พวกเขาเปลี่ยนชื่อเดือนทั้งสิบสองไปตามเหตุธรรมชาติ เช่นเดือนแห่งหมอก เดือนแห่งฝน เดือนแห่งหิมะ เดือนแห่งดอกไม้ เดือนแห่งการเก็บเกี่ยว
นอกจากนั้นยังให้เดือนหนึ่งมีสามอาทิตย์ อาทิตย์ละสิบวัน เพื่อให้ไม่มีวันอาทิตย์เข้าโบสถ์สำหรับคนที่ยังอินกับศาสนาคริสต์อีก
พวกเขาปรับให้วันหนึ่งมี 10 ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงมี 100 นาที และ 1 นาทีมี 100 วินาที นี่ทำให้ชั่วโมงใหม่ยาวราว 144 นาทีเก่า
ปฏิทินใหม่นี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสงงพอควร
มีคนต่อต้านกฎระเบียบแปลกๆ พวกนี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีกลุ่มโปรการปฏิวัติเรียกตัวเองว่ากลุ่มซานคูลอต หรือพวกไม่สวมกางเกงคูลอตเข้าทำลายพวกต่อต้านเช่นกัน (กางเกงคูลอตประมาณกางเกงขี่ม้าทุกวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง)
ตอนนั้นเกิดม๊อบชนม๊อบ เกิดความวุ่นวายทั้งภายนอกภายใน มีการสังหารหมู่อยู่เสมอ ทำให้โรแบสปีแยร์ตัดสินใจว่าจะต้องใช้ “ความกลัว” ขึ้นสร้างระเบียบในสังคม
ระบบ “ความกลัว” ของโรแบสปีแยร์จะออกมาประมาณการล่าแม่มด คือกดขี่ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติให้กลัวตายกันที่สุด สามารถตั้งข้อสงสัยคนเป็นฝ่ายต่อต้านด้วยข้อหาเล็กน้อยที่สุด เช่น สมมุติผมไม่ชอบเพื่อนบ้าน ผมเห็นเพื่อนบ้านเรียกเพื่อนว่าเมอร์ซิเออร์สมชาย >> ผมถือคำว่าเมอร์ซิเออร์ (หรือมิสเตอร์ในภาษาอังกฤษ) เป็นคำนำหน้าชื่อที่เอ้าท์แล้ว ยุคปฏิวัติต้องเรียกคำนำหน้ากันว่า ซีโตย็อง (Citizen) เท่านั้น ผมก็แจ้งจับเพื่อนบ้านข้อหาสงสัยว่าสมคบคิดได้
มีคนที่ถูกจับโดยข้อสงสัยง่ายๆ ประมาณบ่นว่าขนมปังแพง (แปลว่าบ่นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี) ถูกจับมารวมราวๆ สามแสนคน รัฐบาลก็ตัดสินง่ายๆ จนมีคนถูกจับเข้ากิโยตินนับหมื่น ตายในคุกอีกนับหมื่น ไม่รวมที่ถูกม๊อบฆ่ากันเอง
การประหารเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ผู้คนเห็นมันเป็นงานรื่นเริง พากันมาชุมนุมร้องเพลงดูคนถูกตัดหัวด้วยความสนุกสนาน
เหตุใดโรแบสปีแยร์ “ผู้ซื่อตรง” ซึ่งพยายามปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงต่อต้านโทษประหารมาก่อนถึงค่อยๆ เปลี่ยนไปโหดร้ายเช่นนี้ได้? นั่นคงเพราะเขาเคร่งเครียดจากการปกป้องการปฏิวัติมิให้สิ้นสูญ จึงยอมเป็นคนโหด จัดระเบียบสังคมอย่างเด็ดขาด…
และแล้วเวลาก็ผ่านไปจน ตุลาคม 1793 หรือวันพิจารณาคดีของอดีตราชินีมารี อังตัวเนต มารีในตอนนั้นไม่มีทรงผมประหลาดอีกต่อไปแล้ว เธอซูบผอมอย่างยิ่ง ทั้งเจ็บช้ำหวาดกลัวจนผมหงอกขาวทั้งศีรษะ สภาพซีดเซียวเหมือนซากศพเดินได้ พอเธอปรากฏตัวในที่สาธารณะอีกครั้ง ทุกคนต่างก็ตกตะลึงในสภาพอันน่ากลัวดังกล่าว…
สิ่งที่มารีกลัวที่สุดคือการพรากจากลูกของเธอ เพราะเธอกลัวว่าพวกเด็กๆ จะถูกรังแกด้วยฐานะเก่า แต่พวกปฏิวัติก็เอาลูกน้อยของเธอไป และทำให้สิ่งที่เธอกลัวเกิดขึ้นในภายหลังจริงๆ เมื่ออดีตเจ้าชายหลุยส์ชาร์ลส์ถูกกักขังทำร้ายเหมือนสัตว์ และตายเมื่ออายุสิบขวบ…
วันนั้นมารี อังตัวเนตนั่งฟังข้อกล่าวหามากมายอย่างสงบ คล้ายยอมรับชะตากรรม กระทั่งฝ่ายปฏิวัติได้กล่าวหาเธอว่า “มีความผิดสมสู่กับลูกตนเอง” จุดนั้นแหละทำให้มารีทนไม่ได้ เธอลุกขึ้นมาร้องว่า “พวกท่านคิดข้อหาแบบนี้มาได้อย่างไร? เราขอประท้วงต่อมารดาทุกคนที่นั่งในห้องนี้… พวกท่านยังมีความเป็นคนอีกหรือไม่?” ทุกคนฟังแล้วก็นั่งอึ้ง พวกเขาพอตระหนักว่าได้บีบคั้นรังแกผู้หญิงคนหนึ่งมากเกินไปแล้ว
กระนั้นการประหารมารีก็ต้องดำเนินต่อไป รัฐบาลจัดเกวียนเปิดให้มารีนั่งไปตะแลงแกง สิ่งนี้เลวร้ายกว่ารถม้าปิดที่พระเจ้าหลุยส์สามีของเธอใช้ เพราะมันทำให้เธอต้องทนกับเสียงโห่เยาะเย้ยของผู้คนไปตลอดทาง
คำพูดสุดท้ายของมารีคือ “ขอโทษ ฉันไม่ได้ตั้งใจ” เกิดเมื่อเธอเผลอเหยียบเท้าเพชฌฆาต จากนั้นมารีที่ตัวซีดขาวหมดอาลัยตายอยากก็ถูกตัดหัวตายไปอย่างเรียบๆ
…นอกจากที่เราทราบว่าเธอขึ้นเป็นราชินีตั้งแต่ยังเด็กมาก และเป็นคนชอบแต่งตัวหรูหราแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานอะไรบอกว่าเธอเป็นคนชั่วร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหาอีก..
กระนั้นสถานการณ์โดยรวมของฝรั่งเศสก็ไม่ได้แย่เกินไป ตรงข้ามมันกลับดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะในกองทัพปฏิวัติได้เกิดนายพลหนุ่มรูปงามชื่อ นโปเลียน โบนาบาร์ต เขามีอัจฉริยะภาพทางทหารอย่างมาก รบกับใครก็ชนะ สามารถขึ้นเป็นนายพลตั้งแต่อายุเพียง 24 ปี ทำการสยบม๊อบภายใน พิชิตภัยคุกคามภายนอกจนแผ่นดินมั่นคง กลายเป็นวีรบุรุษที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
มีเพื่อนร่วมก่อการถามโรแบสปีแยร์ว่าตอนนี้ประเทศก็มั่นคงขึ้นเยอะแล้ว สมควรยุติการปกครองด้วยความหวาดกลัว แล้วปล่อยให้ผู้คนมีอิสระมากขึ้นได้หรือยัง โรแบสปีแยร์ซึ่งตอนนั้นถูกสิ่งต่างๆ บีบคั้นจนเปลี่ยนไปอย่างมากกลับเชื่อว่าเพื่อนเขาอาจคิดทรยศ จึงจับกลุ่มเพื่อนที่ร่วมปฏิวัติมาด้วยกันสังหารอย่างเลือดเย็น ข้อหาเสนอให้ยกเลิกการปกครองด้วยความกลัว
จากนั้นโรแบสปีแยร์ก็ประกาศตั้งศาสนาใหม่ชื่อว่า “ลัทธิแห่งสิ่งมีชีวิตสูงสุด” (cult of supreme being) ให้ขึ้นมาแทนลัทธิบูชาเหตุผล เขาเชื่อว่าอย่างไรคนเราต้องการพระเจ้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังนั้นเมื่อล้มพระเจ้าของคริสต์ลงแล้วก็ชอบที่จะสร้างพระเจ้าขึ้นมาอีกเวอร์ชันหนึ่งไว้ควบคุมคน
ตอนนั้นโรแบสปีแยร์เกณฑ์คนมาที่ภูเขาจำลองนอกเมือง ตัวเขายืนบนภูเขาประกาศหลักเกณฑ์ของลัทธิสิ่งมีชีวิตสูงสุด และประกาศตัวเป็นผู้นำลัทธิ คนบอกว่าเขาทำตนเหมือนพระเจ้ามากขึ้นทุกที
นับวันโรแบสปีแยร์ยิ่งบ้าอำนาจประสาทกิน วันหนึ่งเขาถือใบรายชื่อแผ่นหนึ่งมาประชุมสภา บอกว่านี่คือลิสต์ชื่อผู้ทรยศ ซึ่งหลายๆ คนก็นั่งอยู่ในสภานี่แหละ …พวกแกเตรียมตัวตายได้ …จากนั้นการประชุมก็ยุติโดยเขาไม่ยอมเอาใบนี้ให้ใครดู
ชาวสภาเห็นว่าโรแบสปีแยร์อยากฆ่าใครก็ยัดข้อหาง่ายๆ เคยฆ่าเพื่อนฆ่าฝูงมามากแล้ว มีจิตใจบ้าบอเกินไป จึงรวมกันโหวตไล่เขาแล้วจะจับฆ่า โรแบสปีแยร์พยายามหลบหนี จนตอนใกล้ๆ ถูกจับนั้นเขาได้เอาปืนยิงตัวเองเป็นความพยายามฆ่าตัวตาย
เสียดายเหตุการณ์ฉุกละหุก ทำให้โรแบสปีแยร์ยิงไม่แม่น เขายิงโดนกรามตัวเองแหลกแต่ยังไม่ตาย ถูกจับมัดทั้งเลือดโชก ต้องถูกผู้คนหัวเราะล้อเลียนขณะที่เขาไม่มีปากจะตอบโต้อีกแล้ว
กรกฎาคม 1794 โรแบสปีแยร์ถูกตัดสินประหารขณะกำลังเจ็บปวดทรมานจากกรามแหลก วันประหารนั้นเขาถูกจัดให้นั่งบนเกวียนเปิด ต้องทนฟังฝูงชนโห่ร้องเยาะเย้ยจนถึงตะแลงแกงในลักษณะเดียวกับมารี อังตัวเนตทุกประการ
…การตายของเขาเป็นการยุติยุคแห่งความหวาดกลัว
นักประวัติศาสตร์หลายคนให้การปฏิวัติฝรั่งเศสจบที่การตายของโรแบสปิแอร์ แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักยังนับเหตุการณ์ต่อจากนั้นอีก คือหลังจากนั้นชาวฝรั่งเศสยังต่อสู้กันต่อไป มีการเข่นฆ่าชิงอำนาจหลายครั้ง กระทั่งปี 1799 นโปเลียนซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาติก็มายึดอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่ เป็นการยุติการปฏิวัติฝรั่งเศสตามกระแสหลัก
ในที่สุดนโปเลียนกลับตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนเอง ให้คนกลับมานับถือคริสต์ ใช้ปฏิทินแบบเดิม หลังจากนั้นฝรั่งเศสยังมีการเปลี่ยนไปมาระหว่างระบบกษัตริย์กับระบบสาธารณรัฐอีกหลายครั้ง กระทั่งประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ในปัจจุบัน
การปฏิวัติฝรั่งเศสแม้มีความบิดเบี้ยวมากมาย แต่ก็เป็นหลักชัยสำคัญของมนุษย์ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
…พวกเราทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ควรที่จะเรียนรู้การพัฒนาสู่ความเท่าเทียม พร้อมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุเลวร้ายขึ้นอีกจนทำให้เป้าหมายอันบริสุทธิ์นั้นเสื่อมไป
0 Comment