อนาคตพลังงาน ในวันที่โลกเปลี่ยนไปทุกวันนี้ หากใครติดตามชมข่าวสารรอบโลก ก็จะพบว่า นอกจากการสู้รบแย่งชิงความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง สิ่งหนึ่งที่ตอนนี้หลายประเทศต้องเผชิญคือภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, พายุ, คลื่นความร้อน, ไฟป่า ฯลฯ ซึ่งมีความรุนแรงระดับที่หลายคนไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในชีวิต”

นักวิทยาศาสตร์หลายชาติให้ความเห็นตรงกันว่า “นี่คือผลจากภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” และโลกนี้อาจถึงคราวพินาศ หากมนุษยชาติไม่ช่วยกันแก้ไขตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะวิถีชีวิตเราที่เป็นอยู่สุขสบายเช่นปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการมีรถขับ มีโทรศัพท์ใช้ ฯลฯ นั้นมีราคาแฝงสูงยิ่งนัก

ทรัพยากรสำคัญที่เราใช้กันปัจจุบันส่วนหนึ่งคือน้ำมัน ที่เมื่อกลั่นแล้วก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งเป็นพลังงานและอื่นๆ จึงต้องมีการขุดปิโตรเลียมมากขึ้นกว่ายุคก่อน

…มันสร้างมลพิษมหาศาลตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งใช้หมดไป ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาวะโลกร้อนและอากาศอันผันผวนซึ่งเราเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

มนุษย์เราในปัจจุบันจึงแสวงหา “พลังงานและทรัพยากรทดแทน” น้ำมัน เพื่อจะได้แก้ไขวิฤตของโลก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ยังสามารถมีชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ต้องเสียความสะดวกไป และมันจะเป็นอะไรบ้าง เราจะมาค้นหาคำตอบไปด้วยกันครับ

เพียงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกิดภัยธรรมชาติแบบคาดไม่ถึงขึ้นมาแล้วมากมาย โดยมีตัวอย่างดังนี้…

ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน หลายเขตในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น ฉ่งชิ่ง, กุ้ยโจว, เสฉวน, ไหหนาน ฯลฯ เกิดฝนตกและน้ำท่วมรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบนับแสน เศรษฐกิจเสียหาย 1.22 พันล้านหยวน (ราว 6.2 พันล้านบาท)

ต้นเดือนกรกฎาคม เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในแคนาดา และอเมริกา อุณหภูมิขึ้นสูงถึงเกือบ 50 องศาเซลเซียส ตามมาด้วยไฟป่า

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “ดูเหลือเชื่อ” เพราะปกติแคนาดาอากาศหนาวเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีคนที่ร่างกายปรับตัวไม่ได้ร้อนตาย

วันที่ 12–15 ก.ค. เกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก

บางพื้นที่ปริมาณฝนพอๆ กับน้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปี 2011 บางสื่อเรียกว่า เป็นฝนตกหนักที่สุดใน 1,000 ปี ทำให้น้ำท่วมและมีผู้เสียชีวิตนับร้อย

วันที่ 3 สิงหาคม เกิดไฟไหม้จากคลื่นความร้อนขึ้นในเกาะอีเวียทางตะวันออกของกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ก่อนแพร่ลามไปหลายภูมิภาคโดยรอบ กลายเป็นไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์ที่สามารถเห็นกลุ่มควันได้จากภาพถ่ายดาวเทียม และปัจจุบันยังไม่สามารถดับไฟได้หมด

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากการเสนอข่าวหลายครั้งจนคนรับรู้โดยทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีก เช่นไฟป่าในตุรกี หรือน้ำท่วมในอัฟกานิสถาน (ที่โดนข่าวตาลีบันกลบมิด) ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรมองข้ามมันไปเลย

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 80s เป็นต้นมา โลกเราร้อนเกินค่าเฉลี่ยมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่า 1 องศาเซลเซียส

…ฟังดูน้อย แต่ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 1 องศาที่เพิ่มขึ้นมานี้ ก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกได้มหาศาล ดังที่เราเห็นตัวอย่างกันไป

เรารู้กันแล้วว่าปัญหาของโลกส่วนหนึ่งมาจากการใช้น้ำมัน นักวิทยาศาสตร์จึงนำเสนอ “พลังงานทดแทน” เพื่อนำมาแทนพลังงานฟอสซิลต่างๆ ที่ก่อคาร์บอนทำให้โลกร้อน

โดยแหล่งกำเนิดพลังงานชนิดนี้มักมาจากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานน้ำ แต่ก็มีที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติโดยตรง เช่น ชีวมวล (biomass) ซึ่งเหลือจากการแปรรูปสิ่งต่างๆ เช่น เศษไม้, กาบมะพร้าว, ชานอ้อย ฯลฯ ของพวกนี้ล้วนนำมารีไซเคิลหรือผลิตเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติได้

จริงๆ ก่อนสังคมโลกจะเริ่มใช้พลังงานถ่านหินในศตวรรษที่ 19 เราได้ใช้พลังงานธรรมชาติกันมาเนิ่นนาน ใช้ไม้จุดไฟ, ใช้ลมแล่นเรือ, ใช้น้ำเดินเครื่องกล

แต่ต่อมามีการมองว่ามันสิ้นเปลืองที่ต้องตัดไม้มาทำฟืนหรือล่าสัตว์มารีดไขมัน ต้องพึ่งพาธรรมชาติมากไป พอมีน้ำมันแล้วเลยลดการใช้ลงจนเหลือไม่กี่อย่าง

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โลกเริ่มรู้จักการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ซึ่งต้องใช้พลังงานจลน์ในการปั่น น้ำเป็นตัวสร้างพลังงานจลน์ที่ดี จึงมีการสร้างเครื่องปั่นไฟจากน้ำขึ้นมาขึ้นมาในหลายพื้นที่

เช่นที่น้ำตกไนแองการา ซึ่งอยู่ระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา เคยมีการใช้พลังน้ำตกเดินเครื่องกลในโรงเลื่อยตั้งแต่ปี 1750 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี 1881 และขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ จนใหญ่โต หรือจะเป็นเขื่อนฮูเวอร์ที่รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา ที่เปิดทำการในปี 1936

ทั้งสองที่นี้กลายเป็นแหล่งพลังงานและแหล่งท่องเที่ยวที่ยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

ไฟฟ้าถือว่าเป็นพลังงานที่ใช้งานได้หลายอย่าง และใช้แล้วหมดไปไม่เหลือสารพิษไว้แก่โลก

ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปสูง ไฟฟ้ายิ่งให้พลังงานได้หลากหลายตั้งแต่หลอดไฟยันเครื่องบิน คนจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้แทนน้ำมัน

แต่กระนั้นเอง ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการพบว่าถ่านหินสามารถสร้างไอน้ำที่มีแรงดันสม่ำเสมอ คนจึงนิยมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่าแบบอื่นบนโลก

ยิ่งยุคต่อมามีการใช้แก๊สธรรมชาติ พลังน้ำจากน้ำตกหรือเขื่อนจึงกลายเป็นพลังงานรองหรือพลังงานทางเลือกไป

…จนกระทั่งตอนนี้ที่คนเริ่มกลับมาให้ความสนใจมันอีกครั้ง…

ในปี 2015 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 ได้เกิด “ความตกลงปารีส” หรือ Paris Agreement ขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายของนานาประเทศว่าจะร่วมมือกันรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยยึดหลักความเป็นธรรมและการรับผิดชอบร่วมกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศนั้นๆ ด้วย

ความตกลงฯ มีหลายประเด็น ที่สำคัญอย่างเช่น การลดก๊าซเรือนกระจก, การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงในวันที่ 21 กันยายน 2016 ร่วมกับอีกหลายประเทศ โดยมีนโยบายกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2030 จากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งพลังงาน การขนส่ง และป่าไม้ เป็นต้น

หากเจาะหัวข้อพลังงาน อิงจากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ปัจจุบันในประเทศไทย มีการผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียน 10% โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มให้ถึง 37% ภายในปี 2037 และจะให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วยกันทั้งหมด 7 แบบตั้งอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่:

1) พลังงานขยะ (เมื่อขยะย่อยสลายจะเกิดก๊าซมีเทน นำมาปั่นไฟได้)
2) พลังงานแสงอาทิตย์
3) พลังน้ำ
4) พลังลม
5) พลังก๊าซชีวภาพ (จากมูลสัตว์หรือสิ่งปฏิกูล บางที่จะนับรวมกับขยะ)
6) พลังงานชีวมวล
7) พลังงานความร้อนใต้พิภพ

นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ปตท., บ้านปู, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ฯลฯ ก็ได้หันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน…

ปตท. ซึ่งเน้นด้านปิโตรเลียมมาตลอด ได้พยายามหาทางออกของพลังงานทางเลือกหลายประการ ตัวอย่างเช่นการร่วมกับเอสซีจี วางแผนจะให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้โรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นยังติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า (EV) ในปั๊ม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถไฟฟ้า

ปตท. ยังเป็นตัวแทนในไทยรายแรกที่ให้ให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนผ่านแพลตฟอร์ม ReAcc และสนับสนุนบริษัทที่อยากจะช่วยชุมชนเข้าถึงพลังงานสะอาด

ปตท. เปิดให้ลูกค้าใช้บริการซื้อ-ขายพลังงานหมุนเวียนได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยหวังให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านนี้ต่อไป

ด้านบ้านปูเลิกขุดถ่านหิน แต่ดำเนินกลยุทธ Greener & Smarter หันมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2 ประเภท ได้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลม พร้อมลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เช่น ด้านพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บ้านปูยังผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชน เช่นการร่วมมือกับซิเคด้ามาร์เก็ต หัวหิน ติดตั้งแท่นโซลาร์เซลล์ชาร์จโทรศัพท์

นอกจากนั้นบ้านปูยังทำโรงละครพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถจัดแสดงละครเพลงได้อย่างสวยงามไม่ต่างจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น พร้อมจัดการแสดงที่แทรกความรู้เรื่องพลังงานสะอาดด้วย

ส่วนกัลฟ์ได้ยึดถือนโยบายไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน และหันไปลงทุนพลังงานชีวมวลในและหลังคาแสงอาทิตย์ในไทย พร้อมมีโครงการในประเทศอื่น เช่น วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกับลาว ลงทุนหุ้นกังหันลมในเวียดนาม

กัลฟ์หมายจะผลิตไฟฟ้าให้ได้มากกว่าร้อยละ 30 ที่บริษัทผลิตได้ตอนนี้

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นก่อนยุคนิยมน้ำมัน

จากนี้เราจะต้องเรียนรู้ว่าการใช้พลังงานธรรมชาติอย่างไม่ถูกต้องนั้นจะเป็นการทำลายโลก และทำลายตัวเราเอง

ดังนั้นเราจึงต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้งานธรรมชาติให้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

ไม่นานมานี้เคยมีข่าวออกว่า จากการคำนวนของนักวิทยาศาสตร์ เราเหลือเวลา 12 ปีในการช่วยโลกไม่ให้ผิดเพี้ยนไปมากกว่านี้

แต่ปัจจุบันมันเหลือเพียง 6 ปี กว่าๆ บางคนให้เพียง 18 เดือน หรือเอ่ยปากบอกว่ามันสายไปแล้วด้วยซ้ำ…

ปัญหาโลกร้อนหรือสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อเราใช้โลกร่วมกัน ทุกคนก็มีส่วนต้องช่วยกันรักษามันไว้ไม่มากก็น้อย

…ถึงดูเหมือนอาจจะไม่ได้ส่งผลอะไร แต่ถ้าทุกคนช่วยกัน ธรรมชาติก็จะค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาได้ อย่างที่เราเคยเห็นกันมาแล้วตามหน้าข่าว

อีกทั้งเวลานี้ บริษัทพลังงานทั้งไทยเทศเริ่มขยับตัว ยอมเปลี่ยนแปลงวิถีธุรกิจที่เคยดำเนินมาหลายสิบปีให้สอดคล้องกับการช่วยเหลือโลก เราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งเยียวยาธรรมชาติให้อุณหภูมิเฉลี่ยที่ขึ้นไปเกิน 1 องศาลดกลับมาได้เช่นกัน แม้การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้