สำหรับคนไทยมีคำกล่าวว่า “มีเงินเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่” แต่ทุกวันนี้มีทองคงไม่ใช่พี่ธรรมดา แต่คงเป็นระดับเศรษฐี เสี่ยหรือเจ้าสัวเลยทีเดียว… เพราะราคาทองคำได้พุ่งสุงสุดเป็นประวัติการณ์ (สำหรับไทยคือกว่าบาทละ 40,000 บาท หรือราคาโลกคือ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์)

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายคนหันกลับมามองทองคำในฐานะเครื่องมือในการรักษาหรือสร้างความมั่งคั่ง …แต่คำถามนอกเหนือจากนั้นคือทำไมราคาทองคำจึงพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในช่วงนี้ มันเกี่ยวข้องกับสงครามหรือโควิด หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรหรือเปล่านะ?

ในโพสต์นี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาเจ้าโลหะมีค่าชนิดนี้กันครับ

1. ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโลหะที่ชื่อว่า “ทองคำ” กันเสียหน่อย ทองคำเป็นโลหะมีสกุลชนิดหนึ่ง ทำปฏิกิริยาเคมีต่ำมากจึงคงสภาพอยู่ได้นาน มนุษย์ยอมรับทองคำเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (เงินตรา) และใช้เป็นเครื่องเก็บรักษามูลค่ามาช้านาน

2. ราคาทองคำไม่ค่อยผันผวนมากนักตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ แต่หลังจากสหรัฐถอนตัวออกจากมาตรฐานทองคำและมีการกู้ยืมและผลิตเงินเพิ่มเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1971 หลังจากนั้นราคาทองคำก็พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย 40.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 1971 มาเป็นเฉลี่ย 1,940.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 48.5 เท่า!

3. ราคาทองคำเกิดจากสมดุลอุปสงค์-อุปทานเช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป แต่ทองคำมีความพิเศษตรงที่เป็นทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เครื่องประดับและอิเล็กโทรนิกส์ แต่บางคนก็ซื้อมาเก็บไว้ “เฉยๆ” เพื่อเป็นเครื่องมือการลงทุนหรือเก็บออมด้วย ดังนั้นอุปสงค์ของทองคำจึงมีมากกว่าความต้องการซื้อไปใช้เหมือนสินค้าอื่นๆ
…แต่นอกจากปัจจัยเรื่องอุปสงค์-อุปทานยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เรามาดูกันไปทีละข้อนะครับ

4. ในเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ หลายท่านมักได้ยินว่าเวลาเกิดสงคราม เกิดความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจหรือช่วงที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจมักจะส่งผลให้ราคาทองคำดีดตัวสูงขึ้น สาเหตุเป็นเพราะทองคำถูกมองว่าเป็น “แหล่งหลบภัย” (safe haven) สำหรับความไม่แน่นอนที่อาจทำให้สินทรัพย์อื่นๆ ที่ลงทุนไปกลายมาเป็นขาดทุนได้ แล้วค่อยขายออกมาช่วงที่สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

5. …แต่ก็มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าราคาทองคำมักเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงคราม แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นจริงก็มักย้อนกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดสงคราม จริงๆ แล้วราคาทองคำอาจสัมพันธ์กับรายจ่าย หนี้สินและการผลิตเงินของรัฐซึ่งเกิดขึ้นหากสงครามยืดเยื้อมากกว่า

6. และยังมีปัจจัยที่เป็นผลสะท้อนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สหรัฐอายัดเงินสำรองรัสเซียในคลังของตัวเอง ทำให้ประเทศอื่นเกิดร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาบ้างและต้องการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐจึงหันไปใช้ตัวกลางเก่าก่อนที่จะตกลงกันใช้เงินสกุลกลาง นั่นคือ “ทองคำ” นั่นเอง

7. ตัวอย่างของการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ เช่น รัสเซียใช้ทองคำในการซื้อขายระหว่างประเทศแทนหลังถูกตัดขาดจากระบบโอนเงินระหว่างธนาคาร SWIFT หรือธนาคารกลางจีนที่ซื้อทองคำขนานใหญ่ในช่วงปี 2024 และลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง (แต่ยังคงเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศของสหรัฐรายใหญ่อันดับ 2)

8. ปัจจัยที่มีผลต่อทองคำข้อถัดมาคือเรื่อง “เงินเฟ้อ” โดยคนมองว่าในช่วงหลังธนาคารประเทศต่างๆ มีการผลิตเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ทองคำถึงแม้จะมีการขุดค้นพบอยู่เรื่อยๆ แต่อัตราการเพิ่มยังน้อยกว่าเงินมาก ทำให้ทองคำยังรักษามูลค่าได้ดีว่าเงินที่ผลิตออกมาได้เรื่อยๆ (บางคนยังเข้าใจว่าจะผลิตเงินต้องมีทองคำค้ำ แต่ปัจจุบันประเทศไหนๆ ก็เพิ่มเงินออกมาได้ เพียงแต่จะทำให้เงินเฟ้อสูงมากๆ เช่น เยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1, ซิมบับเว, เวเนซุเอลา, อาร์เจนตินา, ตุรกี เป็นต้น)

9. อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาลึกลงไปจะพบว่า ทองคำจะทำหน้าที่ช่วยป้องกันเงินเฟ้อ (inflation hedge) ได้ต่อเมื่อถือเป็นระยะยาวๆ หลักสิบปีขึ้นไปเท่านั้น ส่วนในระยะสั้นราคาทองคำก็ยังมีความผันผวนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ไม่ต่างกับตลาดหุ้นเลยทีเดียว

10. ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อทองคำคือ “ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ” ซึ่งจริงๆ ก็โยงเข้ากับเรื่องเงินเฟ้อได้บางส่วน แต่ต้องเข้าใจข้อหนึ่งว่าทองคำนั้นซื้อขายกันด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐ (dollar-denominated) ดังนั้นผู้ที่ถือเงินตราสกุลอื่นจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่คงที่ ซึ่งขึ้นกับอุปสงค์ของเงินสกุลนั้นๆ เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอีกทีหนึ่ง

11. จากปัจจัยทั้งหมดนั้นนับเป็นเรื่องน่าสนใจที่ช่วงนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำล้วนประเดประดังเข้ามาพร้อมกันทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์สงครามทั้งในยูเครน ตะวันออกกลางหรือความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน, การกว้านซื้อทองคำของธนาคารกลางบางประเทศอย่างผิดสังเกต, ปัญหาเงินเฟ้อยืดเยื้อหลังจากโควิด และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งแกร่งผิดปกติในรอบหลายสิบปี สิ่งเหล่านี้อาจเป็นคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนประชาชนธรรมดายังรับรู้ได้

12. และนักวิเคราะห์ยังมองว่าราคาทองคำยังมีโอกาสที่จะพุ่งสูงขึ้นไปกว่านี้ โดยมองโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงและราคาทองคำเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแพงขึ้น), สถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวน รวมถึงโอกาสที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตลาดหุ้นตกทั่วโลก

13. และสำหรับประชาชนทั่วไป ทองคำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเลือกลงทุนได้ โดยมีตัวเลขย้อนหลังน่าสนใจพบว่า ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.9% ระหว่างปี 1971-2023 เทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐที่โตเฉลี่ยปีละ 10.8% ในช่วงเดียวกัน และพบว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทองคำจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นเฉลี่ยสองปี 1.65% และในช่วงที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยทองคำจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น 26 ปีจาก 65 ปี …หรือสรุปง่ายๆ ว่าทองคำให้ผลตอบแทนในระยะยาวน้อยกว่าหุ้น แต่มีช่วงราคาตกน้อยกว่าหุ้นนั่นเอง

…และทั้งหมดนี้คือภาพรวมของราคาทองคำกับเบื้องหลังที่มาของราคาที่เราเห็นกันทุกวันนี้นะครับ

ต้องขอแสดงความยินดีกับท่านที่มองการณ์ไกลซื้อทองคำไว้ตั้งแต่ราคาน้อยๆ แต่ถ้าจะให้ราคาทองคำพุ่งไปไกลกว่านี้ก็แปลว่าอาจมีสถานการณ์ไม่สู้ดีบางอย่างเกิดขึ้นกับโลกแล้ว ติดตามกันไว้ด้วยครับ!

#TWCSummary #TWC_Cheeze