ผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมในประเทศไทยมักมีความเชื่อว่า ไม่ควรกินเนื้อวัวเพราะเป็นสัตว์ใหญ่จะเป็นบาปหนา

น่าแปลกที่ผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมในประเทศอื่นก็ยังกินเนื้อวัวกันอยู่มาก และเมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์ไปแล้ว จะพบว่าความจริงความเชื่อดังกล่าว มีรากเหง้าอันซับซ้อน

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกันครับ

ตำนานเจ้าแม่กวนอิม

เจ้าแม่กวนอิม เป็นเทพีจีนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา” เชื่อว่าพัฒนามาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

รายละเอียดตำนานเจ้าแม่กวนอิมมีอยู่หลายกระแส แต่ตำนานฉบับที่ได้รับการเผยแพร่มากในประเทศไทยนั้น มาจาก “หนังสือกวนอิม พระโพธิสัตว์แห่งการุณย์” โดย เสฐียรโกเศศ ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1952 มีเนื้อหาใกล้เคียงกับตำนานพื้นเมืองเซียงซาน

นิทานพื้นเมืองเซียงซานเป็นเอกสารโบราณสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – 1279) เล่าว่าแต่เดิมมีอาณาจักรแห่งหนึ่งชื่อ “ซิ่งหลิน”

ฮ่องเต้ทรงพระนามว่าเมี่ยวจวง ทรงบนบานขอโอรสโดยฆ่าวัวและม้าเป็นเครื่องสังเวย แต่ไม่สมหวัง เพราะได้แต่พระธิดา 3 พระองค์ มีพระธิดาองค์หนึ่งชื่อเมี่ยวซ่าน เป็นผู้ฝักใฝ่ธรรมะ

เมี่ยวซ่านขัดพระราชประสงค์พระบิดาที่จะให้อภิเษกสมรส โดยไปขอปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง ฮ่องเต้พิโรธจึงสั่งเผาวัด ฆ่านักบวชและเมี่ยวซ่านเสีย แต่ยมบาลให้วิญญาณองค์หญิงกลับเข้าร่างไปปฏิบัติธรรมต่อ ซึ่งเมี่ยวซ่านก็ได้ไปปฏิบัติธรรมที่เขาเซียงซาน

ส่วนฮ่องเต้นั้นได้รับผลกรรมทำให้ประชวรเป็นโรคที่รักษาไม่หาย มีผู้บอกว่าต้องใช้โอสถจากดวงตาและมือของเทพที่เขาเซียงซานมารักษาจึงจะดีขึ้น ฮ่องเต้จึงเดินทางไปที่เขาแห่งนั้นโดยไม่ทราบว่า “เทพแห่งเขาเซียงซาน” คือธิดาของพระองค์เอง

ด้านเมี่ยวซ่านยอมสละดวงตาและมือให้ไปรักษาพระบิดา ครั้นฮ่องเต้ทราบเข้าก็สำนึกผิดกลับใจทำดี สละราชสมบัติไปปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เอง

ส่วนผลบุญของความเสียสละทำให้เทพธิดาเมี่ยวซ่านมีดวงตาและมือใหม่ที่สวยงามกว่าเดิม สำหรับตำนานฉบับไทยมีการดัดแปลงเล็กน้อย โดยเติมว่าพระพุทธเจ้าปรากฏพระวรกายและประกาศให้เมี่ยวซ่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มาโปรดสัตว์โลก

…ณ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกี่ยวกับการกินเนื้อวัว…

กระแสงดเนื้อวัวในเมืองจีน

หากศึกษาประวัติศาสตร์จีน จะพบว่าในเมืองจีนจะมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามกินเนื้อวัวอยู่ก่อนแล้ว โดยมีทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม เช่น:

– ความเชื่อ “หนิวเจี้ย” ซึ่งมาจากเรื่องเล่าว่ามีแม่ทัพคนหนึ่งซึ่งป่วยอยู่ฝันว่าหากเลิกกินเนื้อวัวแล้วจะทำให้ตนหาย เมื่อหายป่วยแล้วจึงได้เผยแพร่ความเชื่อนี้ไปอย่างกว้างขวาง

– ตามเอกสาร อี๋เจียนจื้อ (Yijian Zhi) สมัยราชวงศ์ซ่ง บันทึกความเชื่อเรื่องการงดกินเนื้อวัวถวายเจ้าแม่กวนอิมว่า เกิดจากหญิงคนหนึ่งฝันเป็นนัยว่าที่บุตรของตนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กนั้นเพราะกินเนื้อวัว ต่อมาจึงได้งดเสียและได้เลี้ยงบุตรจนเติบใหญ่สมประสงค์

– กฎหมายของราชสำนักจีนบางยุคเช่นยุคราชวงศ์เหนือใต้ที่ห้ามฆ่าวัว เพื่อปกป้องวัวในฐานะเครื่องมือทางการเกษตร แต่ก็ไม่ได้ห้ามกิน และมีเป็นบางพื้นที่ บางพื้นที่ยังมีเอกสารที่พูดถึงเมนูเนื้อวัว

– เอกสารตงจิงเมิ่งหัวลู่ ที่เขียนในยุคราชวงศ์ซ่ง บรรยายตลาดขายเนื้อในยุคนั้นอย่างละเอียด แต่กลับไม่มีพูดถึงเนื้อวัว แสดงถึงการที่คนจีนไม่นิยมกินเนื้อวัว

– การกินเนื้อวัวอาจมีเรื่องของชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยสมัยก่อนมีเฉพาะคนจีนที่มีอันจะกินเท่านั้นที่เข้าถึงเนื้อวัวได้ นานๆ ไปคนจึงมิได้พัฒนาสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก

อย่างไรก็ตามในยุคราชวงศ์ของชาวต่างชาติ คือ หยวน (ซึ่งเป็นมองโกล) กับชิง (ซึ่งเป็นแมนจู) มีหลักฐานการกินเนื้อวัวกันมาก

แม้การห้ามกินเนื้อวัวไม่ได้มีบัญญัติในศาสนาพุทธมหายาน แต่คนจีนมักถือว่าไม่ควรกินสัตว์ที่เป็นประโยชน์ เช่น ไม่กินวัวซึ่งทำหน้าที่ไถนา, หรือไม่กินสุนัขซึ่งทำหน้าที่เฝ้าบ้าน

ส่วนลัทธิเต๋าเองก็มองว่าวัวควายเป็นปศุสัตว์ที่ทำงานหนักให้คน ควรสำนึกในบุญคุณของพวกมัน ถ้าเลี่ยงกินได้ก็ควรเลี่ยง

จะเห็นว่าความเชื่อเรื่องไม่ทานเนื้อวัวนั้น มักตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าวัวควายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการนับถือเจ้าแม่กวนอิมเป็นพิเศษ

แม้ตำนานในเอกสารอี๋เจียนจื้อก็เป็นเพียงตำนาน มิใช่เป็นระเบียบ ผู้คนยังสามารถเลือกจะกินหรืองดเว้นตามรสนิยมส่วนบุคคล และแม้แต่ผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมในประเทศจีนทุกวันนี้ก็ยังมีที่กินเนื้อวัวกันอยู่ทั่วไป

คนไทยไม่ทานเนื้อวัวเพราะดูซีรีย์?

แล้วความเชื่อในไทยที่ว่าผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมห้ามกินเนื้อวัวมาจากไหนกันล่ะ?

ข้อมูลเรื่องนี้ไม่แน่ชัด แต่บางแหล่งชี้ว่ามันมีที่มาจากซีรีส์จีนเรื่อง “กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม” ที่เข้ามาฉายในไทยครั้งแรกเมื่อปี 1985 จากนั้นได้รับการเผยแพร่ซ้ำหลายครั้ง

เนื้อหาในซีรีย์ก็เป็นตำนานเจ้าแม่กวนอิมตามนิทานพื้นเมืองเซียงซานดังที่เล่าข้างต้น แต่ดัดแปลงให้มีอรรถรสยิ่งขึ้น

มีฉากหนึ่งที่พูดถึงพระราชบิดาของ “พระนางเมี่ยวซ่าน” ที่ไปเกิดใหม่เป็นวัวเพราะกรรมที่ได้กระทำในชาติก่อน ทำให้เจ้าแม่กวนอิมเลิกเนื้อวัวเพื่อทำบุญให้แก่พระราชบิดา

…เชื่อว่าคนที่ได้ดู โดยเฉพาะผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมอยู่แล้ว ก็พากันยึดถือปฏิบัติตามกันไปด้วย…

สำหรับคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างอื่นเช่น:

– คนจีนในไทยไม่ทานเนื้อวัว เพราะเห็นโฆษณาไถ่ชีวิตวัวควายในสมัยก่อนมีรูปวัวน้ำตาไหล สร้างความสะเทือนใจ จนไม่อยากทาน และต่อมาเอามาเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม

– คนจีนในไทยมีพื้นฐานไม่ได้กินวัวมาก่อน (ตามค่านิยมโบราณที่เขียนก่อนหน้า) พออพยพมาไทยก็ปนๆ นิสัยดั้งเดิมกับความเชื่อเจ้าแม่กวนอิม

อนึ่งสาเหตุอาจมีได้หลายสาเหตุผสมกัน และไม่ว่าอย่างไรข้อสุดท้ายนี้มีอิทธิพลไม่มากก็น้อยแน่นอน

บทส่งท้าย

บทความนี้เขียนขึ้นไม่ได้มีเจตนาเพื่อคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของท่านผู้อ่านคนใด ท่านที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมและเห็นว่าการทานเนื้อวัวเป็นสิ่งไม่ดี ยังงดกินเนื้อวัวได้ตามเดิม

บทความนี้เพียงแต่ต้องการสื่อให้เห็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาตลอด จนแม้แต่คนนับถือปฏิบัติเองก็มีน้อยคนที่ทราบที่มาที่ไปจริงๆ

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์คือทำให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น และสามารถเลือกรับสิ่งที่เราคิดว่าดีมาปรับใช้กับตัวเราได้ แทนที่จะเชื่อหรือทำตามๆ กันโดยไม่ทราบสาเหตุนั่นเอง