ถนนหนึ่งสายในประเทศเคอร์ดิสถานที่ทอดยาวไปตามหุบเขา 185 กิโลเมตร เป็นถนนที่มีเส้นทางที่งดงามที่สุดในเอเชียตะวันตก ถนนถูกสร้างขึ้นตัดผ่านขอบชายแดนอิหร่านและอิรัก จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้นั้นเริ่มจากเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเคอร์ดิสถานอิรัก ทอดยาวข้ามตัดผ่านเทือกเขาซากรอส จนไปสิ้นสุดที่เมืองฮาจิ อุเมรัน ชายแดนอิหร่าน
ทางของถนนเส้นนี้ ต้องขอบอกว่าคงเป็นเส้นทางที่ถูกใจสำหรับสายผจญภัย เนื่องจากสร้างตัดผ่านภูเขาทำให้เส้นทางมีความคดโค้งเยอะมาก สภาพของถนนก็ไม่ได้ขับง่ายๆ ชิวๆ มันจะค่อนข้างมีความขรุขระ แต่ถึงเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างผจญภัย แต่ก็ยังได้รับรองจากนักท่องเที่ยวหลายคนว่าถนนสายฮามิลตัน เป็นเส้นทางที่มีวิวโรแมนติกที่สุดแห่งหนี่งที่เคยได้พบมา แถมยังพูดไปเสียงเดียวกันว่าไปที่นี่แล้วจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจนลืมไม่ลงเลยทีเดียว
โดยกว่าจะมาเป็นถนนสายที่มีวิวสวยเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย การสร้างมันขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในอดีตเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างอันตรายทั้งจากการโจรกรรมอันป่าเถื่อน สัตว์ป่าอันดุร้าย และอากาศที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว รวมไปถึงความยากทางด้านภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้าง จึงไม่เคยมีใครคิดจะพยายามสร้างถนนเส้นนี้ขึ้นมา
แต่แล้ววันหนึ่ง ในช่วงปี ค.ศ. 1928 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันล่มสลายลง อังกฤษก็ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเส้นทางการค้าระหว่างเปอร์เซียและอิรักให้มีความสะดวกมากขึ้น เป็นระยะทาง 185 กิโลเมตร ภายในเวลา 4 ปี โดยอังกฤษได้มอบหมายให้วิศกรโยธาหนุ่มนิวซีแลนด์ที่ชื่อว่า ‘อาร์ชิบัลด์ แฮมิลตัน’ ให้เป็นผู้ควบคุมการสร้างถนนสายนี้ขึ้นมา
ในระหว่างการก่อสร้าง แฮมิลตันก็ได้มีการเขียนหนังสือเล่มหนึ่งไปด้วย มีชื่อว่า “road through Kurdistan เรื่องเล่าจากวิศวกรในอิรัก” หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงความยากลำบากภายในช่วงเวลา 4 ปี ที่ต้องสร้างถนนสายมหัศจรรย์นี้ขึ้นมา
หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่า การสร้างถนนครั้งนี้จะต้องมีการสร้างตัดผ่านเส้นทางภูเขา ต้องระเบิดและเจาะก้อนหินที่สูงกว่าคนเกือบตลอดทาง ซึ่งจุดที่ยากที่สุดนั้นเป็นช่วงที่สันเขามีความสูงถึง 198 เมตร แถมยังเป็นช่วงที่มีความอันตรายจากการโจรกรรมและฆาตกรรมที่สุด ในการสร้างถนนครั้งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องรวบผู้เก่งกาจในด้านต่างๆ มาร่วมกันทำงาน ซึ่งได้แก่ กองทัพคนงานชาวเคิร์ด อาหรับและเปอร์เซีย ผู้สำรวจชาวฮินดูและเบงกาลี ผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิดชาวยิวอาร์เมเนีย
ซึ่งคนงานทั้งหมดมีประมาณ 1,000 คน ที่จะต้องทำงานหนักทั้งกลางวันและกลางคืน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันยากลำบาก ภัยร้ายสามารถเกิดขึ้นได้รอบตัว เนื่องจากเป็นพื้นที่กลางป่ากลางเขา ไม่มีผู้คน และในสมัยนั้นก็มักจะมีโจรดิบเถื่อนที่สามารถเดินมาปล้นเราได้เสมอ แถมยังมีสัตว์ป่าดุร้ายที่คอยมาข่มขู่ เช่น งูพิษ เสือดาวหิมะ อีกทั้งตลอดเวลา 4 ปี คนงานจะต้องเจอสภาพอากาศที่หลากหลาย ทั้งอากาศที่ร้อนถึง 40 องศา ทั้งหิมะถล่ม ทั้งฝนตก มีดินโคลนบ้าง ทำให้ทำงานลำบากกว่าเดิมมากขึ้นคูณสิบ
เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงปี ค.ศ. 1932 ครบกำหนดเวลา 4 ปี สำหรับการสร้างถนนสายนี้ หลังจากสร้างเสร็จก็ได้รับการตั้งชื่อว่า ถนนสายฮามิลตัน ตามชื่อของวิศกร อาร์ชิบัลด์ แฮมิลตัน และยังได้รับการขนานนามว่าเป็นถนนที่ประสบความสำเร็จทางวิศกรรมอย่างกล้าหาญที่สุด เพราะหลายสิ่งที่คนงานต้องเผชิญในการไปสร้างถนนในที่ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะทำได้มาก่อนนั้นเป็นเรื่องที่นับว่าต้องใช้แรงใจและความกล้าหาญมากเลยทีเดียว
ปัจจุบันถนนสายนี้ก็เป็นที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักมากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยและค่อนข้างเจริญขึ้นจากอดีต โดยเฉพาะสำหรับสายผจญภัย การได้ไปปล่อยใจ ขับรถเล่นตามถนนที่รอบข้างมีแต่วิวเขาอันน่าทึ่ง ล้วนเป็นสิ่งที่เติมเต็มประสบการณ์ในหัวใจได้อย่างดี เพราะฉะนั้นใครที่ได้อ่านเรื่องราวนี้แล้ว ต้องห้ามพลาดไปผจญภัยที่ ถนนสายฮามิลตัน เลยนะคะ
0 Comment