เนื่องในวันที่ 27 มกราคมของทุกปี ถือเป็น “วันระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล” (International Holocaust Remembrance Day) และปีนี้ ทางสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้เชิญผมไปเป็นวิทยากรบรรยายในงาน ผมจึงขอนำเรื่องประวัติศาสตร์ “ฮอโลคอสต์” ที่เคยเขียนมาให้ทุกท่านอ่านกันอีกรอบนะครับ
หลายๆ คนอาจสงสัยว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องเรียนรู้หรือรำลึกเรื่องฮอโลคอสต์ ในเมื่อมันเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก ประชากรชาวยิวในไทยก็ไม่ได้มีมากมาย (ข้อมูลจากสมาคมชาวยิวแห่งประเทศไทยบอกว่า มีราวๆ พันกว่าคน)
นอกจากนั้นจากหลายคนเอาวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มาปนกับเรื่องฮอโลคอร์ส บอกว่าถ้าฮิตเลอร์สังหารชาวยิวให้หมด ก็คงจะไม่มีเหลือมาเบียดเบียนชาวปาเลสไตน์ได้
อย่างไรก็ตามเรื่องฮอโลคอสต์ยังคงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา ไม่ใช่ศึกษาเพื่อเข้าข้างชาวยิว หรือชนชาติไหน แต่ทำเพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์ชั่วร้ายถึงเพียงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
ฮอโลคอสต์คืออะไร?
“ฮอโลคอสต์” (Holocaust) แปลว่า การบูชายัญด้วยไฟ, ความหายนะ
…แต่หลังจากคำนี้ถูกนำมาใช้เรียกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 คำว่าฮอโลคอสต์ก็กลายเป็นคำที่จำเพาะเจาะจงหมายถึง “การล้างชนชาติ” ครั้งดังกล่าว
เหตุการณ์ฮอโลคอสต์เกิดขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1941 – 1945 ถือเป็นบทตอนอันโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตรมนุษยชาติ เพราะมันได้สังหารชาวยิวกว่า 6 ล้านคน ด้วยวิธีการอำมหิตต่างๆ มากมาย ที่ผ่านการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ
…เป็นระบบที่เลือดเย็นอย่างยิ่ง และซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง…
ผู้ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง
“ชาวยิว” เป็นคนชนชาติหนึ่งพูดภาษาตระกูลเซมิติก เคยมีบ้านเมืองอยู่ในแถบปาเลสไตน์ (หรือดินแดนประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน) ต่อมาถูกขับไล่จนต้องระหกระเหเร่ร่อนเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ นับพันปี
หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นผู้แพ้สงครามนั้น ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวบ้านลำบากยากจน ขาดความหวังในการดำรงชีวิต… ปรากฏนักการเมืองชื่อ “อดอลฟ์ ฮิตเลอร์” ซึ่งมีแนวคิดว่า การสร้างชาติขึ้นใหม่นั้น ประการแรกจะต้องสร้างความภูมิใจแก่คนในชาติ ประการที่สองจะต้องทำให้คนในชาติมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
ฮิตเลอร์บอกแก่ผู้คนว่าทุกคนควรภูมิใจในตัวเอง เพราะชนชาติเยอรมันนั้นสืบเชื้อสายจากชาวอารยัน สูงส่งกว่าชนชาติอื่นๆ ในทุกด้าน (ชาวอารยันมีต้นกำเนิดมาจากอิหร่าน ต่อมาอพยพมายุโรป พูดภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน และเป็นบรรพบุรุษของหลายชนชาติ ทั้งอิหร่าน อินเดียเหนือ อังกฤษ เยอรมัน)
อีกประการหนึ่งฮิตเลอร์โทษว่าความเลวร้ายทั้งปวงที่เยอรมันประสบอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นมีสาเหตุมาจาก “ยิว” ซึ่งเป็นนกสองหัว คอยหักหลังเยอรมัน
คำพูดของฮิตเลอร์เป็นการหยิบยกข้อมูลบางส่วนมาเหมารวม คือตอนนั้นมีสมาคมยิวเรียกว่า “ไซออนิสต์” ที่ยึดอุดมการณ์พาชาวยิวกลับดินแดนปาเลสไตน์
กลุ่มนี้ไม่ได้แสดงท่าทีว่าเข้าข้างฝ่ายไหนอย่างเด็ดขาดในสงครามโลกครั้งที่ 1 กระทั่งต่อเมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าเยอรมันจะแพ้ จึงเข้าข้างฝ่ายพันธมิตร (ที่ต่อต้านเยอรมัน) เพื่อผลประโยชน์
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือตอนนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แพร่เข้ามาในเยอรมัน มีการพยายามเรียกร้องให้โค่นล้มระบบสังคมแบบเก่า เพื่อสร้างรัฐคอมมิวนิสต์ในอุดมคติขึ้น พอดีผู้นำของกลุ่มคอมมิวนิสต์นั้นมีชาวยิวอยู่ด้วย
ฮิตเลอร์เอาการเป็นนกสองหัวของยิวไซออนนิสต์ และการสร้างความวุ่นวายของยิวคอมมิวนิสต์มาผสมกัน และกล่าวโทษคนยิวทั้งหมด ทั้งที่ยิวส่วนใหญ่ในเยอรมนีนั้นก็ผสมกลมกลืนไปกับคนเยอรมันไปมากจนแทบแยกไม่ออก และ “ยิวสายกลาง” นี้ก็ต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บาดเจ็บล้มตายไปก็มาก
…ถึงความเชื่อของฮิตเลอร์จะดูไม่สมเหตุผลยังไง มันก็เป็น “สิ่งที่น่าฟัง” เพราะมันได้ปลดปล่อยชาวเยอรมันที่กำลังบอบช้ำจากความรู้สึกผิดที่รบแพ้ ทำให้เชื่อว่าไม่ได้แพ้เพราะฝีมือ แต่เพราะถูกพวกยิวทีหักหลัง นอกจากนั้นยังเสริมกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่น ชี้ให้เห็นความหวังที่จะสร้างชาติพันธุ์ให้เจริญก้าวหน้ากลับมาอีก กลายเป็นมหาอำนาจที่มาท้าทายมหาอำนาจตะวันตกอีกครั้ง
ปัญหายิว
เริ่มแรกสุด รัฐบาลมีเพียงความคิดในการสร้างชาติอารยันอันรุ่งเรืองสถาพรขึ้น ไม่ได้นึกไปถึงขั้นว่าจะต้องจัดการไปทางไหน เลยทำเพียงกดดันให้ยิวอพยพออกจากเยอรมนี ด้วยวิธีการริดรอนสิทธิในการทำธุรกิจและการศึกษา ต่อมาก็รุกหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยแบ่งชนชั้นจากเชื้อชาติ และออกกฎห้ามการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เรียกว่า กฎนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws)
ตัวอย่างในภาพนี้คือแผนภูมิที่ใช้แบ่งชาวเยอรมันบริสุทธิ์จากยิว วงกลมสีขาวคือเยอรมัน วงกลมสีดำคือยิว
ทางซ้ายสุดหมายถึงผู้เป็น “เยอรมันบริสุทธิ์” จะต้องมีปู่ย่าตายายเป็นเยอรมันสิ้น, ทางขวาสุดสองแถว หมายถึงผู้เป็น “ยิว” คือมีปู่ย่าตายายทั้งหมดหรือสามในสี่เป็นยิว
แถวกลางคือผู้มีปู่ย่าตายายหนึ่งในสี่ หรือสองในสี่เป็นยิว พวกนี้จัดเป็น “กลุ่มเลือดผสม” รัฐบาลนาซีใช้เกณฑ์เหล่านี้ในการให้สิทธิประชาชนต่างๆ กันไป
พรรคนาซียังวางแผนจะบังคับอพยพยิวที่เหลือออกจากยุโรปให้หมด แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้น (เพราะเยอรมนีบุกโปแลนด์)
ซึ่งพอเยอรมนียึดโปแลนด์ได้แล้ว กลับพบว่ามีภาระต้องจัดการกับประชากรยิวสามล้านคนที่นั่น (พวกยิวมีประวัติหลบหนีการกดขี่จากดินแดนอื่นมาโปแลนด์กันมาก)
ความเกลียดชังเห็นยิวเป็นศัตรู… ความกลัวยิวโปแลนด์จะลุกฮือขึ้นต่อต้าน… ความระแวงว่าหากปล่อยยิวไปประเทศอื่นมันจะกลับมาแก้แค้น… ทำให้พวกผู้นำนาซีตัดสินใจว่า ไม่มีทางอื่นอีกแล้วที่จะแก้ปัญหายิวนอกจากโยนความผิดในชะตากรรมอันเลวร้ายของเยอรมันในอดีตให้
…และ “ฆ่าพวกมันให้หมด”…
ด้วยเหตุนี้กระบวนการสังหารยิวจึงถือกำเนิดขึ้น ท่ามกลางนโยบายที่เรียกว่า “การตัดสินใจสุดท้าย” (Final Solution หมายถึงการตัดสินใจสุดท้ายในการตอบคำถามเกี่ยวกับยิว)
อย่างไรก็ตาม นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวเป็นที่ถกเถียงกันมากแม้ในหมู่พรรคนาซี โดยฝ่ายต่อต้านชูประเด็นว่าไม่ควรฆ่ายิวทั้งหมด เพราะสิ้นเปลืองทรัพยากร ทั้งยิวยังมีประโยชน์ในฐานะแรงงานทาส …กระนั้น ในที่สุดฝ่ายสนับสนุนนโยบายก็ชนะด้วยเหตุผลว่ายิวเป็นเนื้อร้าย เก็บไว้ก็เหมือนเก็บหอกข้างแคร่ ชอบที่จะกำจัดให้หมดมิให้มาสร้างภัยพิบัติได้
เราอาจเข้าใจแรงบันดาลใจของนโยบาย “การตัดสินใจสุดท้าย” นี้ จากอุดมการณ์นาซี ที่มองความขัดแย้งในโลกเป็นสงครามระหว่างเชื้อชาติ จึงควรกำจัดสายพันธุ์ที่ต่ำต้อย เพื่อชำระยีนส์ของมนุษย์ให้บริสุทธิ์แข็งแรง (การทำลายทางชาติพันธุ์นั้นไม่ได้เกิดกับยิวอย่างเดียว พวกสลาฟและยิปซีที่ถูกมองเป็นสายพันธุ์เลวก็ถูกกวาดล้างไปหลายล้านคน)
ระบบการฆ่า
คนเยอรมันทำทุกอย่างเป็นระบบ ทั้งอุตสาหกรรม, สถาปัตยกรรม, กีฬา ฯลฯ ในช่วงสงครามที่ต้องกำจัดคนยิว ก็ยังไม่ทิ้งการวางระบบ
โดยแรกสุดได้ตั้งทหารขึ้นหน่วยหนึ่งชื่อ “ไอน์ซาร์ดกรุปเปน (แปลว่า หน่วยปฏิบัติการ) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพวก SS (SS คือกองกำลังกึ่งทหารที่มีชื่อเสียงในความโหดเหี้ยม ถูกรัฐบาลนาซีล้างสมองมาอย่างดี สามารถฆ่าคนเพื่อรัฐบาลได้ไม่กระพริบตา)
หน่วยไอน์ซาร์ดกรุปเปนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่นาซีบุกถึง แล้วจับชาวยิวหรือยิปซีที่นั่นฆ่าเสีย เริ่มจากจี้ยิวพาไปในที่โล่งกว้าง ซึ่งมีหลุมใหญ่ขุดเตรียมอยู่แล้ว หรือจะมีการบังคับให้ชาวยิวกลุ่มนั้นแหละขุดหลุมขึ้น
เมื่อขุดหลุมเสร็จ พวกไอน์ซาร์ดกรุปเปนจะยึดของมีค่าจากเหยื่อ โดยอาจจะให้เหยื่อแก้ผ้า พร้อมตรวจสอบให้แน่ใจว่ามิได้แอบซ่อนของใดๆ ไว้อีก
…จากนั้นก็มีอยู่สองแบบ คือให้ชาวยิวไปยืนเรียงอยู่ปากหลุมแล้วยิงให้ตกลงไป หรือให้นอนอัดๆ กันในหลุมค่อยยิง
…ทำเช่นนี้โดยไม่ละเว้นผู้หญิงหรือเด็ก…
อย่างไรก็ตาม ถึงพวกไอน์ซาร์ดกรุปเปนจะโหดร้ายแค่ไหนก็ยังเป็นมนุษย์ พอต้องมาทำหน้าที่ที่กระทบต่อศีลธรรมอย่างการสังหารผู้หญิงหรือเด็กบริสุทธิ์ หลายคนก็จิตตก คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บป่วยไม่อาจทำหน้าที่ต่อได้
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว “ดร.อัลเบิร์ต วิดมันน์” นักเคมีแห่งกองกำลัง SS จึงรับหน้าที่วิจัยหาวิธีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ด้วยการเสนอวิธี “ฆ่าคนด้วยก๊าซพิษ” ใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากไอเสียรถยนต์ต่อเข้าไปในห้องปิดตาย…
ผลการทดลองคือคนในห้องสำลักควัน จากนั้นก็เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม หายใจติดขัด สิ้นสติและตายหมดในเวลาประมาณสามสิบนาที นับว่าต้นทุนต่ำมีประสิทธิภาพมาก
เพื่อต่อยอดไอเดียนี้ พวกนาซีได้จัดให้สร้าง “รถก๊าซ” ยาว 4.5 – 5.8 เมตร ให้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สำหรับใส่คน แล้วต่อท่อไอเสียจากรถเข้าไปในตู้นั้น รถก๊าซแต่ละคันสามารถยัดนักโทษได้คราวละ 80-150 คน ขึ้นกับความยาวรถ
วิธีนี้แม้ดีกว่าการไล่ยิงตรงๆ แต่ก็ยังมีข้อเสียอีก ช้า และเสียงดัง คือคนที่โดนรมควันมักร้องขอชีวิต ทำให้คนขับรถที่รับบทเพชฌฆาตต้องจิตตกตาม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องหาวิธีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป…
ค่ายกักกัน
ในที่สุดทางการก็สามารถคิดวิธีกำจัดยิวที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่ารถก๊าซออก มันคือการตั้ง “ค่าย” สำหรับสังหารยิวโดยเฉพาะ
…ขั้นตอนคือ ทางการจะกวาดต้อนชาวยิว จับยัดใส่ตู้รถไฟขนมายังค่ายเหล่านี้โดยหลอกให้เข้าใจว่าเป็นเพียงค่ายกักกันแห่งหนึ่งเท่านั้น
เมื่อถึงจุดหมายพวกเขาจะถูกสั่งให้ “ถอดเสื้อผ้า” เพื่อ “อาบน้ำ” ในบางแห่งจะมีการแจกสบู่และผ้าเช็ดตัวให้ตายใจ จากนั้นพวกยิวจะถูกกวาดต้อนไปยังห้องใหญ่ซึ่งมีป้ายเขียนว่า “ห้องอาบน้ำ” พวกเขามักจะดีใจกัน เพราะตอนอยู่ตู้รถไฟนั้น ได้รับความร้อนทรมานมานานร่างกายกำลังขาดน้ำอย่างแรง
…และแล้วห้องจะถูกปิดล็อค
…ผู้คุมจะปล่อยก๊าซพิษออกมาใส่พวกยิวที่กำลังเปลือยกายนั้น…
…เหยื่อที่อยู่ใกล้จุดปล่อยก๊าซจะตายทันที เหยื่อที่อยู่ไกลจุดปล่อยก๊าซจะต้องทรมานเป็นพิเศษ พวกเขาจะดิ้นรนกรีดร้อง เอาตัวรอด และตายหมดในยี่สิบนาที…
จากนั้นทหารเยอรมันจะบังคับให้นักโทษยิวอีกกลุ่มเข้ามาตัดผมศพเหยื่อผู้หญิง และหาฟันทองคำหรือวัตถุมีค่าอื่นๆ ที่ซ่อนไว้ ก่อนจะต้องทำความสะอาดคราบเลือด และสิ่งสกปรกจากคนตายเพื่อให้ห้องรมก๊าซมีความสะอาดอยู่เสมอ จากนั้นจึงนำศพเหยื่อไปฝังหรือเข้าเตาเผา (แน่นอนว่าหากไม่ปฏิบัติตามย่อมถูกสังหารด้วย)
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยวิธีรมก๊าซนี้มีประสิทธิภาพมาก สามารถฆ่าได้คราวละ 800 – 1,200 คนต่อการรมหนึ่งครั้ง ค่ายหนึ่งสามารถรมได้ถึงห้าครั้งต่อวัน มีผู้เสียชีวิตจากค่ายสังหารเหล่านี้ไปมากกว่าสองล้านคน เพียงที่ค่ายเอาต์ชวิตซ์ที่เดียว ก็มีคนตายไปราวล้านคนแล้ว
เรื่องราวอีกด้านหนึ่ง
จริงอยู่ว่า ทหารบางคนซาดิสต์สนุกสนานกับการสังหารเหยื่อ แต่นั่นย่อมเป็นส่วนน้อย ทหารส่วนใหญ่จิตใจปกติย่อมอึดอัดคับข้องกับภารกิจที่ชั่วร้ายอย่างการฆ่าคนบริสุทธิ์โดยไม่เลือกเด็กสตรี และบ้างก็มีคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพราะรับไม่ได้กับความอยุติธรรม
…มีบันทึกจากชาวยิวหลายกลุ่มระบุว่าพวกเขารอดชีวิตมาได้ เพราะได้รับความช่วยเหลือจากทหารเยอรมันที่ไม่ทราบแม้แต่ชื่อ
ชาวยิวกลุ่มหนึ่งให้การว่า ขณะที่พวกเขาทนทรมานในค่ายแรงงานนั้น มีทหารเยอรมันคนหนึ่งได้แอบเอาอาหารและน้ำมาให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
ชาวยิวอีกกลุ่มให้การว่าพวกเขาเคยต้องหลบอยู่ในบ้านเพื่อหนีการกวาดล้างตอนนั้นทหารคนหนึ่งได้ค้นพบที่ซ่อนพวกเขาแล้ว ทั้งสองฝ่ายจ้องกันตาค้างไม่พูดอะไร แต่แทนที่ทหารคนนั้นจะเข้าจับกุม กลับตะโกนแจ้งเพื่อนว่า “ตรงนี้ไม่มีอะไร!” จึงเดินจากไป ทำให้พวกเขารอดมาได้
อีกบันทึกบอกว่าตอนที่นาซีจะเข้ามาจับคนจากสลัมยิวไปเข้าค่ายสังหาร มีทหารเยอรมันคนหนึ่งขับรถบรรทุกมาก่นด่าขับไล่พวกยิวให้ขึ้นไปอัดบนรถบรรทุกของตนเท่าที่ขึ้นได้
ทุกคนต่างหวาดกลัวกันมาก แต่แทนที่ทหารนั้นจะเอาพวกเขาไปยังรถไฟ กลับเอาไปหลบซ่อนไว้ในที่ลับก่อนจะปล่อยตัว ทำให้เหล่าชาวยิวทราบภายหลังว่าการก่นด่านั้นคือการ “แกล้งทำ” เพื่อช่วยชีวิตโดยไม่ให้ผิดสังเกต
เคสที่มีชื่อเสียงอีกเคสคือ “ออสการ์ ชินด์เลอร์” เศรษฐีชาวเยอรมัน ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเห็นพรรคนาซีข่มเหงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวก็มีใจเมตตาต่อคนตกทุกข์ได้ยาก จึงเสี่ยงภัยใช้ทรัพย์สมบัติแทบทั้งหมดติดสินบนเจ้าหน้าที่ สามารถช่วยชีวิตชาวยิวไว้ได้ถึง 1,200 คน
หลังสงครามชินดเลอร์ตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว แม้ชาวยิวที่รอดจะพยายามหาเงินมาช่วย แต่สุดท้ายเขาก็ตายอย่างยากจนในปี 1974
…ชาวยิวที่เขาเคยช่วย ต่างไว้ทุกข์แก่เขา…
…ครับ ในยามที่ความวุ่นวายของโลกพัดพาให้คนทั้งหลายไหลไปตามกระแสของผู้มีอำนาจ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มี “มนุษยธรรม” มากพอจะเอาชนะกระแสซึ่งครอบงำพวกเขาอยู่ได้
สิ่งนี้เป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่?
ผมอยากให้ท่านลองคิดตามดูว่า เพราะอะไรสิ่งชั่วร้ายอย่างการสังหารคนบริสุทธิ์เป็นล้านๆ ด้วยความผิดเพียงเพราะมีสายเลือดต่างกัน จึงเป็นสิ่งที่คนในประเทศที่เจริญแล้วในยุคนั้นเกิดคล้อยตามไปด้วยว่า การฆ่ายิวเป็นเรื่องดี? แล้วเพราะอะไรเหตุการณ์แบบนี้จึงปรากฏซ้ำๆ อยู่หลายครั้งในหลายประเทศ?
ผมทิ้งคำถามไว้ตอนต้นเรื่องว่า “ทำไมเราถึงจำเป็นต้องเรียนรู้หรือรำลึกเรื่องฮอโลคอสต์ ในเมื่อมันเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก?”
คำตอบคือ เพราะประเด็นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมันเป็นสากล มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนเราจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบนั้นขึ้นซ้ำสอง
ประวัติศาสตร์บอกเราว่ามันล้วนเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจมาปลุกปั่นประชาชนให้เป็นไป…
แม้ดูเผินๆ พวกเขาแต่ละคนก็จะพูดไปคนละอย่าง ความเชื่อคนละทาง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่จริงๆ แล้วพวกเขาต่างพูดในเรื่องเดียวกัน
…นั่นคือเรื่องที่คนอยากฟัง…
ซึ่งก็มีไม่กี่เรื่อง เช่น…
“…มันมีบางชนชั้น มีคนบางกลุ่มที่กดขี่พวกคุณอยู่ ถ้ากำจัดคนเหล่านี้ได้ ชีวิตคุณจะดีขึ้น”
“…มันมีคนต่างชาติที่มาคุกคามชาติของคุณ ถ้ากำจัดพวกมันได้ คุณจะปลอดภัย”
“…มันมีคนต่างศาสนาที่มาทำลายศาสนาของคุณ ถ้ากำจัดมันเสีย คุณจะได้ขึ้นสวรรค์”
ความลำบากของคนนั้นมีได้หลายสาเหตุ แต่มันเป็นเรื่องง่ายที่จะโทษว่าสาเหตุนั้นมาจากคนอื่น …มันฟังแล้วสบายใจกว่า…
คำพูดเหล่านี้มักมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่มักถูกบิดเบือนเหมารวมเพื่อให้เข้าใจง่าย เช่นบิดเบือนว่าชาวยิวมันก็เลวทั้งหมดนั่นแหละ ความยากจนในโลกล้วนมาจากชนชั้นกลางชนชั้นสูงพวกนายทุนนั่นแหละ …ทั้งหมดเป็นการเอาความโลภ ความโกรธ และความกลัว มาล่อให้คนคล้อยตาม
ผู้มีอำนาจย่อมปลุกปั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อเปลี่ยนแปลงได้แล้วก็ไม่แน่ว่าสังคมจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง ผลประโยชน์อาจตกมาสู่ประชาชนหรือไม่ก็ได้ แต่ย่อมตกสู่ผู้มีอำนาจแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือชั่วย่อมพูดเพื่อตนเองก่อน เขาย่อมแสวงหาความนับถือ ความสำคัญ และประโยชน์ต่างๆ สู่ตนเองก่อน
สิ่งนี้เป็นเรื่องเก่าหรือไม่? เป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่? คุณเองเมื่อฟังคำโฆษณาต่างๆ ที่ผ่านหูมาในชีวิตประจำวันแล้ว เคยรู้สึกว่าได้ยินคำพูดทำนองนี้บ้างหรือไม่?
ดังนั้นบทเรียนจากประวัติศาสตร์เรื่องนี้สอนเราว่า:
…อย่ายกอำนาจการตัดสินใจให้แก่ผู้อื่น…
…อย่ายกมโนธรรมให้แก่ผู้อื่น…
…อย่าให้ผู้อื่นมาตัดสินความถูกต้องแทนคุณ…
ยามที่สังคมสับสนวุ่นวาย ฝักฝ่ายต่างๆ ชิงความเป็นใหญ่ ย่อมมีคำชวนเชื่อหลากหลายมาโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกข้าง
เมื่อผู้คนคล้อยตามไป ก็จะเริ่มรุกรานฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่าง ไม่เปิดใจรับฟังเหตุผลกันและกัน เลยไปจนถึงการใช้กำลังและกะฆ่ากันให้ตาย เกิดเป็นความขัดแย้งไปมาไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น เราจึงตระหนักตนเสมอในกระแสธาร จงตัดสินเรื่องราวต่างๆ ด้วยใจเป็นกลาง อย่าเอนเอียงไปตามกระแสของโลก
…ทหารนาซีที่สังหารชาวยิวแล้วรู้สึกสนุกนั้นคือคนบ้า
…ทหารนาซีที่สังหารชาวยิวแล้วรู้สึกผิดนั้นคือคนอ่อนแอ
…ทหารนาซีที่ยอมเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือชาวยิวโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จึงเป็นผู้ที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง
เขาผู้นั้นไม่หวั่นไหวต่อความบ้าคลั่งของคนรอบข้าง ใช้คุณธรรมพื้นฐานเป็นเครื่องชี้นำ สร้างสิ่งดีงามขึ้นในโลก
ร่องรอยของบาดแผล
แม้ในปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอักษะ เยอรมนีถูกตีแตก ฮิตเลอร์และคนใกล้ชิดฆ่าตัวตายหนีกรรมกันเกือบหมด ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เหลือโดนจับขึ้นศาลไต่สวนในคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials) และถูกประหารไป แต่นั่นไม่สามารถลบล้างรอยแผลที่เกิดขึ้นในใจของชาวยิวได้เลย
ในปี 1953 สภาเนสเซตของอิสราเอล ได้มีมติให้สร้างอนุสรณ์สถานฮอโลคอสต์ นามว่า “ยาด วาเชม” (Yad Vashem) ขึ้น เพื่อจุดมุ่งหมายในการเก็บข้อมูลและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมีเป้าหมายไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเลวร้ายเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ยาด วาเชม ตั้งอยู่บนหุบเขาเฮิร์ลซ์ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, ศูนย์วิจัย, ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ที่บันทึกคำบอกเล่า และเก็บสิ่งของจากชาวยิวผู้รอดพ้นจากเหตุการณ์ฮอโลคอสต์บริจาคไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็น
ในปี 2005 สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติให้วันที่ 27 มกราคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ค่ายเอาต์ชวิตซ์ได้รับการปลดปล่อย เป็นวันระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล พร้อมได้ผลักดันให้มีการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องฮอโลคอสต์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใดๆ อีก
จนถึงปี 2015 มีหลายประเทศที่จัดกิจกรรมในวันระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล โดยบ้างก็จัดการบรรยาย บ้างก็ฉายภาพยนตร์หรือสารคดีเกี่ยวกับฮอโลคอสต์ และบ้างก็จุดเทียน อ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
0 Comment