ภาพ “ทิวต้นสน” บนฉากพับได้นี้ วาดราวปี ค.ศ. 1595 โดยศิลปินชื่อ ฮาเซกาวะ โทฮาคุ ซึ่งเป็นปรมาจารย์ของศิลปินสำนักฮาเซกาวะ
ผู้วาดใช้พู่กันลากลวดลายเข้มบางเป็นรูปต้นสนสลับกัน จนเป็นเกิดภาพทิวทัศน์ป่าสนในสายหมอกที่ทั้งสมจริง ทั้งน่าพิศวง
จะเห็นว่าภาพนี้มี “พื้นที่ว่าง” จำนวนมาก ทั้งมีสิ่งที่เลอะเลือนไม่ชัดเจนมากมาย แต่พื้นที่ว่างและความไม่ชัดเจนเหล่านั้นกลับส่งเสริม “ความชัดเจน” ที่มีอยู่ จนเกิดความหมายขึ้น
มีผู้ตีความว่าภาพต้นสนในสายหมอกนี้ สะท้อนแนวคิดศาสนาพุทธนิกายเซน อันบอกว่าสรรพสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน ความหมายของสิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความมีและความว่างเปล่านั้นสามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในขณะเดียวกัน ส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน
แนวคิดนี้แพร่หลายมากในญี่ปุ่น โดยแสดงออกมากทางงานศิลปะ ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักมองเห็นความงามในความเรียบง่าย และไม่สมบูรณ์ดังกล่าว
เวลาท่านไปทานร้านอาหารญี่ปุ่นอาจเคยเห็นแก้วชาที่เหมือนปั้นไม่เสร็จบ้าง หรือเวลาชมสวนญี่ปุ่นก็จะเห็นสวนเรียบๆ เหมือนไม่มีอะไรเลย แต่กลับให้ความรู้สึกสงบลึกซึ้งอย่างประหลาดบ้าง
ปัจจุบันภาพทิวต้นสนบนฉากพับ ถูกบรรจุเป็นสมบัติแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงโตเกียว
0 Comment