ท่านผู้อ่านที่รักครับ… ผมจะเล่านิทานให้ท่านฟังเรื่องหนึ่ง…

…เรื่องมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งมีดินแดนป่าเถื่อน ซึ่งผู้ชายกดขี่ผู้หญิงอย่างรุนแรง

…พ่อที่นี่สามารถขายลูกสาววัยเด็กให้แต่งงานกับคนแก่เพื่อเงิน …พี่ชายที่นี่สามารถฆ่าน้องสาวตนเองหากทำผิดจารีตของวงศ์ตระกูล …สามีที่นี่สามารถตีภรรยาได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย …มีการจับผู้หญิงขาย และให้เช่าเป็นสินค้าอยู่ทั่วไป

…แต่ในดินแดนอันป่าเถื่อนนี้กลับมี “ประเทศของผู้หญิง” อันเป็นประเทศที่ไม่มีอยู่จริงในทางกฎหมาย

ในประเทศของผู้หญิงนี้ มีการพยายามสร้างยูโทเปียโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงทุกคนต้องยืนหยัดพึ่งพาตนเองเพื่อรักษาเสรีภาพของตนไว้ให้ได้

…ที่นั่นมีผู้หญิงนับล้านคนกำลังจับจอบขึ้นมาทำนา และจับปืนขึ้นมาปกป้องประเทศเป็นสามารถ

…พวกเธอได้ต่อสู้กับกองทัพที่ชั่วร้ายที่สุดในโลก ท่ามกลางดินแดนที่ป่าเถื่อนที่สุดในโลก และจนบัดนี้ก็ยังต่อสู้อยู่

…เรื่องประหลาดทั้งหมดนี้ฟังดูเหลือเชื่อหรือไม่?

ท่านผู้อ่านที่รักครับ ผมขอสารภาพว่าเรื่องที่ผมพูดมาไม่มีข้อไหนเป็นนิทานสักข้อเดียว…

เรื่องทั้งหมด “จริง” เป็นอย่างยิ่ง

และคำว่า “กาลครั้งหนึ่ง” ก็คือเวลาปัจจุบันนี่เอง

ขอเชิญทุกท่านนั่งล้อมกันเข้ามาเถิดครับ …ผมจะเล่าเรื่องประหลาดนี้ให้ฟัง…

ปี 2014 ประเทศอิรักซีเรียเกิดทุรยศมีสงครามกลางเมืองใหญ่ มีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงชื่อ ISIS (ไอซิส) ออกอาละวาด ตีชิงดินแดนได้มากมาย

ในยุคพีคนั้น ISIS สามารถตีชิงพื้นที่ได้ถึงหนึ่งในสามของซีเรียอิรัก ปกครองคนกว่าสิบล้านคน เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดกองหนึ่งในสงคราม

วก ISIS ตีความศาสนาผิดเพี้ยน มีพฤติกรรมหยาบช้าทารุณ มักจับคนที่มิได้นับถืออิสลามในแนวทางเดียวกับตนไปฆ่าเล่นด้วยวิธีวิปริต ทั้งเผาทั้งเป็น, จับกดน้ำ, หรือตัดหัวแล้วเอามาเตะเป็นลูกบอลอย่างโรคจิต

พวกมันปฏิบัติกับผู้หญิงที่จับมาได้เหมือนสัตว์ เอาผู้หญิงมาข่มขืน บังคับเป็นทาส ซื้อขายให้เช่าเหมือนเป็นสิ่งของ ถึงกับพัฒนาแอพลิเคชันสำหรับขายและให้เช่าทาสกามโดยเฉพาะ

ในแอพนั้นยิ่งผู้หญิงมีอายุน้อยยิ่งมีค่ามาก เด็กที่สุดที่มันข่มขืนคือแปดขวบ

หากการแผ่อำนาจของ ISIS กลับมาสะดุดเมื่อพวกเขายกมาถึงเมืองโคบานีในซีเรียเหนือซึ่งมีพวกเคิร์ดอาศัยอยู่

เคิร์ดเป็นชนเผ่าในตะวันออกกลางมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน เคยมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ หากปัจจุบันเคิร์ดถูกแบ่งแดนเป็นสี่ส่วนอยู่ในซีเรีย อิรัก อิหร่าน และตุรกี ทำให้อ่อนกำลังลงเป็นอันมาก พวกเขาถูกรัฐบาลของทุกประเทศดังกล่าวกดขี่มาตลอด

การถูกข่มเหงหลายชั่วอายุคนให้พวกเคิร์ดกลายเป็นมีนิสัยเหี้ยมหาญดุดัน แม้มีคนน้อย อาวุธน้อยแต่รบพุ่งกล้าหาญเป็นที่ประจักษ์

เคิร์ดนับถืออิสลาม แต่ไม่เคร่งศาสนาเหมือนประเทศรอบข้าง และมีวัฒนธรรมพิเศษ คือมักให้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากโดยเปรียบเทียบกับชาติตะวันออกกลางอื่นๆ

ทหารหญิงเคิร์ดมีชื่อเสียงว่ารบเก่ง และหน้าตาสวยงาม

นักรบหญิงเคิร์ดคนหนึ่งชื่อเซลัน โอซัลพ์ เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC กล่าวถึงพวก ISIS ว่า “พอพวกมันเจอผู้หญิงถือปืน พวกมันก็กลัวจนตัวสั่น …มันสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่าตัวเองเก่งกล้า แต่พอมันเห็นพวกเราจับปืนมาสู้ก็พากันหนีหางจุกตูด …พวกมันเหยียดหยามดูถูกผู้หญิง แต่ (เมื่อสู้กันจริง) นักรบหญิงของเราคนหนึ่ง มีค่าเท่าพวกมันร้อยคน”

เธอกล่าวในเดือนกันยายนปี 2014 หลังจากการพูดนี้ไม่กี่อาทิตย์ ทัพ ISIS นับหมื่น พร้อมรถถัง 50 คัน จะยกมาตีเมืองโคบานีที่เธออยู่ ตอนนั้นในเมืองมีทัพเคิร์ดอยู่เพียงสองพันคน

ทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างดุเดือดทรหด มีคนตายหลายพันคน แต่ลงท้ายทัพเคิร์ดพลิกชนะ ISIS จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม ทำให้นานาชาติเห็นศักยภาพการต่อสู้ของชาวเคิร์ด

นั่นนำสู่อเมริกาได้หันมาสนับสนุนทัพเคิร์ดให้เป็นหัวหอกในการปราบ ISIS กระทั่งปราบสำเร็จในปี 2019

พวกเคิร์ดเรียกดินแดนของตนที่ถูกต่างชาติยึดครองตามชื่อทิศ
แดนเคิร์ดในตุรกีเรียกว่า “บาคูร์” แปลว่า ทิศเหนือ
แดนเคิร์ดในอิรักเรียกว่า “บาชูร์” แปลว่าทิศใต้
แดนเคิร์ดในอิหร่านเรียกว่า “โรจฮิลัต” แปลว่า ทิศตะวันออก
แดนเคิร์ดในซีเรียเรียกว่า “โรจาวา” แปลว่าทิศตะวันตก

ในจำนวนนี้ บาคูร์ กับโรจาวาตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มการเมืองเดียวกัน ชื่อ Kurdistan Communities Union (ภาษาเคิร์ดเรียก Koma Civakên Kurdistan ย่อเป็น KCK) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดสังคมนิยม

กลุ่ม KCK นี้เดิมไม่มีรัฐของตนเอง แต่ต่อมาจากภาวะวุ่นวายในสงครามซีเรีย, ชัยชนะต่อกลุ่ม ISIS, และการสนับสนุนของอเมริกาทำให้พวกเคิร์ดซีเรียสามารถตีชิงดินแดนอันกว้างขวาง ตั้งรัฐของตนขึ้นมาสำเร็จ ชื่อว่า Autonomous Administration of North and East Syria หรือมักเรียกว่า “โรจาวา” เป็นประเทศซ้อนขึ้นในซีเรีย ไม่มีอยู่จริงทางกฎหมาย (ชนะ ISIS เด็ดขาดปี 2019 แต่เริ่มสร้างรัฐตั้งแต่ปี 2013)

อย่างไรก็ตามแต่เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไป มิใช่วีรกรรมการรบของพวกโรจาวา หรือผู้หญิงเคิร์ด …แต่เป็นสังคมที่ให้กำเนิดพวกเธอขึ้น

…เรื่องของสังคมที่ให้กำเนิดเธอยังมีความน่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของพวกเธออีก…

ในการอธิบายเรื่องดังกล่าว ผมขอพาท่านไปสู่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของซีเรีย มีชื่อว่าหมู่บ้านจินวาร์ ชื่อของมันมาจากคำเคิร์ด คือ Jin แปลว่า ผู้หญิง และ War แปลว่า บ้าน รวมกัน แปลว่า “บ้านของผู้หญิง”

หมู่บ้านนี้มีบ้านอยู่ราว 30 หลัง ประชากรไม่ถึง 100 คน อย่างไรก็ตามมันเป็นหมู่บ้านที่หลายคนบอกว่า “เป็นที่ๆ สะท้อนอุดมการณ์ของโรจาวาอย่างเด่นชัด”

หมู่บ้านนี้เป็นโครงการของกลุ่มสิทธิสตรีโรจาวา สิ่งพิเศษอันดับแรกคือประชากรแทบทั้งหมดของหมู่บ้านนี้เป็นผู้หญิง

…พวกเธอมักมีภูมิหลังเป็นเหยื่อสงคราม …บางคนเป็นม่ายสามีตายในการรบ …บางคนเคยเป็นทาสกามของพวก ISIS มาก่อน

พวกเธอมักอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอกจึงมารวมกันสร้างที่นี่ขึ้น มันเป็นดินแดนของผู้หญิงโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง

ผู้ชายสามารถเข้ามาเยี่ยมหรือค้าขายกับที่นี่ได้แต่ห้ามค้างคืน ประชากรชายกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ถาวรคือลูกชายของสมาชิก

ฮาวัน ซูลิ (ชื่อปลอมเพื่อความปลอดภัย) มาจากเมืองสุไลมานิยาในอิรัก เธอถูกจับให้แต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ตั้งแต่ยังไม่ทราบว่าการแต่งงานหมายถึงอะไร

เธอถูกสามีข่มเหงเรื่อยมาจนต้องขอหย่า ต่อมาเธอแต่งงานใหม่ และหลอกสามีใหม่ว่าเป็นม่ายผัวตายเพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่ยังคงถูกข่มเหงเช่นเดิม

เธอพยายามฆ่าตัวตายสองครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเธอเห็นข่าวเรื่องโรจาวาจากในทีวี จึงติดต่อกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้อง แล้วหลบหนีมา

เธอบอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ อยากบอกผู้หญิงที่คิดฆ่าตัวตายด้วยปัญหาครอบครัวว่า ไม่ต้องตาย ให้หนีมาที่นี่ก็ได้

ฟาติมา อุม นาสริน อายุ 34 ปี สามีเธอเป็นทหาร ตายระหว่างต่อสู้กับพวก ISIS ที่เมืองโคบานี

เธอทราบเกี่ยวกับโครงการนี้จึงพาลูกสาวมาอยู่ด้วย เธอบอกว่าจะไม่แต่งงานอีกแล้ว จะอยู่ที่นี่แหละ เป็นที่ๆ เธอรู้สึกมีเสรีภาพมากที่สุด

มีงานให้ทำมากมายในหมู่บ้านจินวาร์ พวกผู้หญิงสร้างบ้านของตนขึ้นมาจากดิน ฟาง และโคลน โดยปั้นดินผสมฟางเป็นก้อน เอาไปตากแดดให้กลายเป็นอิฐ จากนั้นเอาอิฐมาเรียงกัน แล้วใช้โคลนฉาบต่างปูน จนได้บ้านดินขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

“นี่ไม่ใช่วิธีสร้างบ้านที่มั่นคงที่สุด แต่มันเหมาะกับสภาพแวดล้อม และที่สำคัญคือชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่สร้างได้เอง”

พวกเธอถางที่ทำไร่ ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทำงานประการต่างๆ เพื่อมั่นใจว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ห่างจากทะเลทรายมาก

พืชที่เธอปลูกมีหลายชนิด เช่นมะเขือ ปาปริกา มันฝรั่ง ถั่ว แตงโม แตงกวา หอม กระเทียม และผักอีกมาก ผลผลิตที่ได้จะถูกจัดการในลักษณะสหกรณ์ คือรวมกันเอาไปค้าขายกับชุมชนอื่น

ในจินวาร์ยังมีโรงเรียนประถมซึ่งสามารถสอนได้ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ และมีสถาบันจินวาห์ สอนวิชา Jineology ซึ่งเป็นอุดมกาณ์ที่อยู่เบื้องหลังหมู่บ้านนี้

ชาวจินวาร์ชอบศิลปะเป็นอย่างยิ่ง เธอมักวาดภาพตามผนังอาคารต่างๆ ภาพเหล่านั้นมักเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งเพศหญิงในการสร้างสรรค์สังคมของตน

ในบรรดาภาพวาดนั้น มีภาพหนึ่งเป็นรูปผู้หญิงมือข้างหนึ่งมีต้นไม้ไร้ใบ มืออีกข้างมีต้นไม้เขียวชอุ่ม แสดงถึงอุดมการณ์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

จินวาร์ไม่ได้มีแต่คนเชื้อสายเคิร์ด แต่มีทั้งคนอาหรับ คนยาซิดี และชาติพันธุ์อื่นๆ ที่หนีสงครามมา

ที่นี่ไม่มีผู้นำชัดเจน แต่ปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง ทุกคนมีสิทธิออกเสียง ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา จะมีการประชุมกันเดือนละครั้ง และมีการคัดเลือกผู้นำเป็นวาระ

คนที่นี่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง ออกไปแสดงพลังในเมืองใหญ่บ่อยๆ นี่เป็นสิ่งหาได้ยากในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการเหยียดเพศ

คำถามคืออุดมการณ์ Jineology ที่อยู่เบื้องหลังที่นี่เป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร?

คำว่า Jineology แปลว่า “ผู้หญิง” หรือ “ชีวิต” ก็ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งอุดมการณ์ “สหพันธ์ประชาธิปไตย” (Democratic confederalism) ซึ่งคิดค้นโดยนายอับดุลลาห์ โอคาลัน ผู้นำทางความคิดของชาวเคิร์ดในบาคูร์โรจาวา (หรือที่รวมเป็นกลุ่ม KCK) คนมักเรียกเขาว่า “อะโป” แปลว่าคุณลุง คนนี้มักถูกมองเทียบเป็น อองซานซูจี หรือ เหมาเจ๋อตุง ของชาวเคิร์ด

โอคาลันเป็นลูกครึ่งเคิร์ด-เติร์กเกิดในตุรกี เขาไม่ชอบที่ชาวเติร์กตุรกีกดขี่ชาวเคิร์ด จึงลุกขึ้นนำการต่อสู้ปฏิวัติ แม้ปัจจุบันโอคาลันเพลี่ยงพล้ำถูกทางการตุรกีจับกุมขังคุกมายี่สิบปีแล้ว แต่ยังเขียนหนังสือออกมาชี้นำคนมิได้ขาด

ช่วงแรกของการปฏิวัตินั้นเขาได้ชูอุดมกาณ์ชาตินิยมเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากขึ้น และมีความประทับใจกับวีรกรรมของสหายหญิงหลายคนที่ร่วมก่อการกันมา ทำให้เขาค่อยๆ คิดว่าทางออกของปัญหาชนกลุ่มน้อยเคิร์ด ไม่สามารถแก้ได้จากการสร้างรัฐของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องแก้ถึงรากฐานวัฒนธรรม

ตามมุมมองของโอคาลัน ปัญหาในตะวันออกกลางเกิดจากลัทธิชาตินิยม ศาสนานิยม และความเชื่อว่าชายเป็นใหญ่ สิ่งเหล่าล้วนนี้กดขี่ผู้คน และแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน

ในการแก้ปัญหานั้น ข้อสำคัญข้อหนึ่งคือต้องเสริมพลังแก่เพศหญิง ไม่ใช่ให้เหนือชาย แต่ต้องให้เท่าเทียมกับชายจนความแตกต่างทางเพศนั้นหมดไป เป็นที่มาของอุดมการณ์ อุดมการณ์ Jineology

โอคาลันเชื่อในแนวทางสังคมนิยม และยังเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาชิงชังลัทธิทุนนิยมที่นอกจากจะเสริมความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแล้ว ยังเป็นรากเหง้าของการใช้ทรัพยากรเกินตัว ทำลายจนธรรมชาติเสื่อมโทรม

โลกยูโทเปียในความคิดของเขา จะต้องมีประชาธิปไตยที่ถูกวางรากฐานตั้งแต่ระดับชุมชนเล็กๆ ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถอาศัยอยู่โดยอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

ดังนี้เศรษฐกิจของโรจาวาจึงเป็นแบบสังคมนิยม เน้นการทำธุรกิจแบบสหกรณ์ เน้นการประกันเรื่องพื้นฐาน เช่นที่อยู่ อาหาร และการแพทย์

ชุมชนแต่ละชุมชนถูกสอนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่แสวงหาความต้องการซับซ้อน ฟุ้งเฟ้อแบบทุนนิยม

โอคาลันสนับสนุนให้ผู้คนศึกษาร่ำเรียนมากๆ และมีจิตสำนึกทางการเมือง เขาสนับสนุนให้ทุกหมู่บ้านมีสภาของตนเอง มีการคัดเลือกตัวแทนเป็นระดับชั้นไปจนถึงระดับประเทศ

เขาสนับสนุนให้ผู้คนไม่แบ่งแยกชาติ ศาสนา ทุกคนสามารถปฏิบัติตามประเพณีพิธีกรรมของตน ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับสิทธิของคนอื่น

ตามหลักสหพันธ์ประชาธิปไตยนั้น มิได้ขัดแย้งกับการมีรัฐ แต่รัฐจะต้องมีบทบาทเท่าที่จำเป็น เช่นบทบาททางทหาร, ทางการต่างประเทศ, หรือการดำเนินโครงการระดับชาติ

สิทธิการปกครองตนเองของแต่ละชุมชนจะต้องอยู่เหนือรัฐ มีพื้นที่ซึ่งรัฐไม่สามารถก้าวก่ายกดขี่ได้

ทั้งหมดนี้โอคาลันเชื่อว่าจะทำให้คนมีเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง นำสู่โลกยูโทเปียยุคพระศรีอาริย์ของคอมมิวนิสต์เวอร์ชันเคิร์ด

โรจาวาไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากซีเรีย แต่ขออำนาจปกครองตนเองในลักษณะสหพันธรัฐตามโมเดลของโอคาลัน

แน่นอนว่ารัฐนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลซีเรีย และสหประชาชาติ จึงต้องต่อสู้อยู่เสมอ

ศัตรูหลักๆ ได้แก่กลุ่ม ISIS ที่เหลืออยู่ และรัฐบาลตุรกีซึ่งไม่อาจปล่อยให้โรจาวาเป็นรัฐได้ เพราะเกรงว่าชาวโรจาวาจะมาช่วยชาวบาคูร์หรือเคิร์ดตุรกีก่อกบฏ

สำหรับรัฐบาลซีเรียนั้น แม้ไม่ยอมรับโรจาวา แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับร่วมมือกันหลายครั้ง เพราะรัฐบาลซีเรียมอง ISIS และตุรกีเป็นศัตรูที่ร้ายกาจกว่า

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของโรจาวาเป็นผู้หญิงเคิร์ดชื่ออิลแฮม เอลเมด ซึ่งประธานาธิบดีคนก่อนเธอก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน (พวกเธอทั้งสองเป็นร่วมกับประธานาธิบดีชายชาวอาหรับชื่อมันซูร เซลุม น่าจะเพื่อให้ชาวอาหรับใต้ปกครองให้การยอมรับ)

เนื่องจากพื้นที่ๆ เคิร์ดซีเรียชิงมาได้นั้นมีชาวอาหรับ และคนเชื้อชาติอื่นๆ อาศัยอยู่มาก รัฐโรจาวาจึงพยายามแสดงภาพลักษณ์ว่าไม่โปรเคิร์ดเท่านั้น แต่ให้มีการเลือกตั้ง และชวนคนเชื้อชาติอื่นมาร่วมรัฐบาลด้วย

อิลแฮม เอลเมดยังเป็นผู้ก่อตั้ง “คอนเกรยา สตาร์” หรือสหพันธ์ขององค์กรสตรีโรจาวา สหพันธ์นี้เองเป็นผู้สนับสนุนหลักของหมู่บ้านจินวาร์ที่กล่าวไปแล้ว

รัฐโรจาวามีการออกกฎหมายมากมายเพื่อสนับสนุนผู้หญิง เช่นห้ามบังคับแต่งงาน ห้ามให้ผู้หญิงแต่งงานเมื่อยังเด็กเกินไป และให้มีการแต่งงานทางแพ่งขึ้นครั้งแรกในซีเรีย

อนึ่งซีเรียและประเทศตะวันออกกลางหลายแห่งยังมีกฎโบราณว่าการแต่งงานที่ถูกต้องจะต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรศาสนาก่อนเท่านั้น ผิดจาก “การแต่งงานทางแพ่ง” ซึ่งเป็นการแต่งในสายตากฎหมาย ไม่เกี่ยวกับศาสนา

การสนับสนุนสิทธิสตรีในโรจาวาเริ่มจากการปกครองระดับรากหญ้า พวกเขามีสภาคอมมูนที่กระตุ้นให้สมาชิกมาแสดงความเห็น และลงมติแก้ไขปัญหากัน

รัฐบาลกำหนดว่าสภาคอมมูนจะต้องมีผู้นำหญิงชายคู่กัน และสมาชิกหญิงต้องไม่น้อยกว่า 40% อีกด้วย เพื่อสนับสนุนพลังผู้หญิง และยุติแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่มีมาแต่โบราณ

ในทุกชุมชนมีสิ่งที่เรียกว่า “มาเล จิน” หรือ “บ้านของผู้หญิง” เป็นสมาคมของผู้หญิงในชุมชนที่มารวมตัวกันปรึกษาเรื่องต่างๆ

สมาคมนี้ยังมีบทบาทในการแก้ปัญหาครอบครัว เช่นครอบครัวในภาพนี้มีปัญหาสามีอยากให้ภรรยาช่วยดูแลเขามากขึ้น เพราะเขาเป็นคนออกไปทำงานเหน็ดเหนื่อย ส่วนภรรยาก็อารมณ์งานบ้านงานอื่นก็ยุ่งอยู่แล้ว เหนื่อยเกินไปที่จะดูแลสามี

ในภาพนี้ทั้งสองมาให้สมาชิกอาวุโสของมาเลจินช่วยไกล่เกลี่ย โดยสมาชิกอาวุโสไม่ได้โน้มน้าวให้หญิงเหนือชาย แต่ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ

ผู้หญิงเคิร์ดได้รับการสนับสนุนให้ไปทำงานอยู่ในทุกกลุ่มอาชีพ และทุกกลุ่มจะมีสภาของตนเอง พวกเธอเรียกกันว่า “สหาย” ตามธรรมเนียมสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์

ผู้แทนของสภาเหล่านี้จะถูกส่งไปรวมตัวกันเป็น “คอนเกรยา สตาร์” ดังที่กล่าวแล้ว นับเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางสังคมมาก

ในภาวะสงครามซึ่งมีความผันผวนอยู่เสมอ ผู้หญิงเคิร์ดได้ออกมาปกป้องการปฏิวัติทางสังคมของพวกเธอกันทุกทาง รวมทั้งทางทหาร

หน่วยรบผู้หญิงของเคิร์ดซีเรียถูกเรียกว่า Women’s Protection Units ภาษาเคิร์ดคือ Yekîneyên Parastina Jin หรือ YPJ) มีปริมาณประมาณ 40% ของทหารทั้งหมด

ผู้หญิงเคิร์ดรบพุ่งกล้าหาญไม่แพ้ชาย มีบทบาทสำคัญในการทำศึกหลายสมรภูมิ สามารถตีชิงพื้นที่สำคัญจากกลุ่ม ISIS ทั้งบ่อน้ำมัน และดินแดนลุ่มแม่น้ำที่เพาะปลูกได้ดีของซีเรียเหนือ

พวกเธอถูกฝึกสอนให้พึ่งพาตัวเองได้ทุกทางรวมทั้งทางการรบ ในภาพนี้ชาวจินวาร์เมื่อว่างจากการทำงานก็มาฝึกทหาร เพื่อให้มีความพร้อมแปรสภาพเป็นหน่วยรบปกป้องตนเองเมื่อมีสงครามมาติดพัน

พวก YPJ ยังฝึกสอนให้ผู้หญิงที่เคยถูก ISIS จับเป็นทาสกามมาสู้รบเพื่อแก้แค้นและปลดปล่อยทาสคนอื่นๆ อีกด้วย

มีคนต่างชาติจำนวนมากได้ฟังอุดมการณ์ของโรจาวาก็อาสามาสนับสนุน ภาพนี้คือแอนนา แคมเบล เป็นชาวอังกฤษที่อาสามาช่วยโรจาวาสร้างประเทศ โดยเข้าร่วมหน่วย YPJ ด้วย

อย่างไรก็ตามหลังจากศึก ISIS เบาลงแล้ว พวกโรจาวายังต้องรบกับทัพรัฐบาลตุรกีอย่างดุเดือด โดยเสียเปรียบที่มีกำลังน้อยกว่า

ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายตั้งตรึงกำลังกันอยู่ โดยตุรกีสามารถยึดเมืองเคิร์ดในฝั่งซีเรียหลายเมือง

พวกเคิร์ดซีเรียประสบความยากลำบากโดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายลดความช่วยเหลือพวกเขาในปี 2018 ที่ผ่านมามีคนต้องบาดเจ็บล้มตายมากมายภายใต้การต่อสู้ที่ขาดการสนับสนุนทางอาวุธอย่างเพียงพอ

บรรดาสื่อต่างชาติที่เข้าไปทำข่าวในแดนเคิร์ดนั้น หากเห็นนักรบหญิงหน้าตาดีหน่อยก็จะถ่ายเก็บไว้

สิ่งนี้สร้างภาพแฟนตาซี ประมาณว่าผู้หญิงเคิร์ดเหมือนนักรบอเมซอนในนิทานที่ทั้งสวยและรบเก่ง ซึ่งอาจทำให้เราลืมแง่มุมอื่นๆ ว่าแท้จริงพวกเธอไม่ใช่ดารา แต่ล้วนเป็นทหารในสงครามอันร้อนระอุ ที่สู้จริง เจ็บจริง ตายจริง…

ผู้หญิงในภาพหน้าปกบทความชื่อ อะเซีย รามาซาน อันตาร์ ความที่เธอหน้าตาเข้มแข็งจึงถูกแพร่ภาพไปมาก

ในความจริงเธอพลีชีพขณะต่อสู้กับพวก ISIS ในเมืองมันบิจในปี 2016 ตอนตายเธออายุแค่ 19 ปี เท่านั้น

เซลัน โอซัลพ์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ BBC บอกว่า “นักรบหญิงเคิร์ดหนึ่งคนมีค่าเท่าพวก ISIS ร้อยคน” เมื่อตอนต้นบทความนั้น ได้เข้าร่วมรบจริงกับ ISIS ในสมรภูมิโคบานีปี 2014

หลังจากเธอถูก ISIS ล้อมไว้จนกระสุนหมด จึงวิทยุบอกเพื่อนว่า “ลาก่อน” แล้วใช้กระสุนนัดสุดท้ายยิงตัวตาย มิให้ตกเป็นเชลยของศัตรู

แอนนา แคมเบล แม้ไม่ได้เป็นชาวเคิร์ด แต่ร่วมต่อสู้ในแนวหน้าเพื่อปกป้องอุดมการณ์สิทธิสตรี Jineology อย่างกล้าหาญ เธอถูกทัพตุรกีฆ่าตายที่เมืองอฟรินในปี 2018

โลกที่แท้นั้นมิได้สวยงามแฟนซี …ความถูกต้องมีได้หลายแง่ …การรบมีแพ้มีชนะ บางครั้งการปฏิวัติสังคมก็จำเป็นต้องใช้เลือดเนื้อจำนวนมากเข้าแลก

โรจาวาแม้มีอุดมการณ์สวยงามแต่ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นรัฐเถื่อนที่ย่อมมีความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองรอบข้าง และเป็นรัฐเกิดใหม่ซึ่งยังอ่อนแอนัก มีความเสี่ยงที่จะถูกศัตรูที่เหนือกว่ามาทำลายลงได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตามแค่เพียงการที่มีผู้หญิงจำนวนมากลุกขึ้นมาสู้ปกป้องสิทธิของตนเองในช่วงเวลาที่ป่าเถื่อนบ้าคลั่งเช่นนี้ ก็ถือว่ามหัศจรรย์มากแล้วใช่หรือไม่?

มันคงจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อสู้ของสตรีในที่อื่นๆ ได้อีกใช่หรือไม่?

…หนทางสู่เสรีภาพ และสันติภาพของเหล่าผู้หญิงโรจาวายังอีกยาวไกลนัก

…และในปัจจุบันขณะที่ท่านกำลังอ่านข้อความนี้ …พวกเธอก็ยังคงต่อสู้อยู่…