หากมองจากมุมสูงเหนือเมืองอิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน จะพบกับสะพานแห่งหนึ่งที่มีโครงสร้างดูราวกับพญาอินทรีที่กำลังกางปีกกว้างอยู่เหนือแม่น้ำซายันเดห์ (Zayandeh River) โดยโครงสร้างต่างระดับของสะพานเป็นขนนก และอาคารตรงกลางที่ยื่นออกมาเป็นดั่งหัวของอินทรี

พญาอินทรีตัวนี้รู้จักกันในนามว่า “สะพานคาจู” (Khaju Bridge)

เดิมที ชื่อของสะพานคาจู แผลงมาจากคำว่า คาเจห์ (Khajeh) อันเป็นชื่อที่ใช้เรียกแทนเหล่าข้าราชบริพารในราชสำนักและบรรดาผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดราชวงศ์ เนื่องจากสะพานแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณชายขอบของพื้นที่ที่เหล่า “คาเจห์” อาศัยอยู่ ซึ่งแท้จริงแล้ว คำว่า คาจู กินความหมายครอบคลุมทั้งตัวสะพานไปจนถึงบริเวณรอบข้างด้วย

ซากของสะพานฮาซัน-อาบัด (Hasan-Abad Bridge) ในยุคติมูริด (Timurid Period) ถูกใช้เป็นฐานของสะพานคาจู ตามคำบัญชาของพระเจ้าชาห์อับบาสที่ 2 แห่งราชวงศ์ซาฟาวิด (Shah Abbas II of Safavid Dynasty) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมพื้นที่เขตคาจูกับเส้นทางทัคต์-อี ฟูลัด (Takht-e Foulad) และเส้นทางชีราซ (Shiraz) เข้าด้วยกัน

กล่าวกันว่า ในวันที่สะพานคาจูก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระเจ้าชาห์อับบาสที่ 2 ทรงมีรับสั่งให้ประดับตกแต่งสะพานแห่งนี้ไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้ โคมไฟ ม่านบังแดดทองคำ รวมถึงผืนพรมสุดวิจิตร เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่พระราชกิจครั้งนี้ลุล่วงเลยทีเดียว

โครงสร้างของสะพานคาจูได้รับการออกแบบมาให้เป็นสะพานที่มี 2 ชั้น โดยชั้นบนถูกใช้เป็นทางสัญจรของบรรดาขบวนคาราวาน ในขณะที่เหล่าคนเดินเท้าทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ทั้งชั้นบนและใต้สะพาน แม้ในขณะที่แม่น้ำกำลังไหลผ่านอยู่ก็ตาม

เนื่องด้วยพระเจ้าชาห์อับบาสที่ 2 มีพระราชประสงค์ให้สะพานคาจูเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำด้วย ช่วงล่างของสะพานจึงมีช่องทางระบายน้ำ 21 ช่องใหญ่และ 26 ช่องเล็ก เพื่อควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำ โดยเมื่อนำแผ่นไม้วางในร่องเหล่านี้  ประตูน้ำด้านล่างจะถูกกีดขวาง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นทะเลสาบขนาดย่อม

ถามว่าทำทะเลสาบจำลองเพื่ออะไร? คำตอบคือพระเจ้าชาห์อับบาสที่ 2 และครอบครัวจะเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันทางน้ำ เช่นการแข่งพายเรือและว่ายน้ำ ณ พลับพลาที่ประทับบนสะพานนี้ (คือหอใหญ่ตรงกลางสะพาน) 

ความน่าสนใจของสะพานคาจูไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัตถุประสงค์การใช้งานดั้งเดิมเท่านั้น หากทว่าความงดงามของซุ้มประตูโค้ง ผลงานจิตรกรรมและแผ่นกระเบื้องเจ็ดสีอันเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวในอิหร่าน กลับช่วยเพิ่มมนต์เสน่ห์ให้สะพานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน นอกจากสะพานคาจูจะมีส่วนช่วยในด้านชลประทานแล้ว บริเวณส่วนล่างของสะพานยังทำหน้าที่เป็นแหล่งนันทนาการของผู้คน ที่พร้อมใจกันมาพักผ่อนในยามเย็น บ้างก็ออกมาจับกลุ่มล้อมวงสนทนากัน บ้างก็ขับร้องบทเพลงและแสดงดนตรีท้องถิ่นให้ผู้สัญจรผ่านไปมาได้รับฟัง โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นภายใต้แสงไฟยามกลางคืนอันน่าหลงใหลที่ส่องสะท้อนออกมาจากพญาอินทรีตัวนี้นั่นเอง

#TWCIranClassic

#TWCTravel