หากพูดถึง “เขมรแดง” หลายท่านคงนึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนในประเทศ แต่รู้หรือไม่เรื่องราวของเขมรแดงซับซ้อนยิ่งนัก ทำให้แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ค่อยถูกพูดถึงกัน

ในบทความนี้ผมจะมาเล่าเรื่องของเขมรแดงแบบเข้าใจง่ายให้ทุกท่านได้รู้ถึงประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของเพื่อนมนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชากันนะครับ

1. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กัมพูชามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1947 เป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

2.ช่วงเวลานั้น กัมพูชาส่งคนไปเรียนที่ฝรั่งเศส หนึ่งในนั้นคือ พลพต กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ศึกษางานของมาร์กซ์และเลนิน

3. เกิดกระแสล้มล้างระบอบกษัตริย์ตามจังหวัดต่างๆ เจ้านโรดมสีหนุจึงยึดอำนาจในปี 1952

4. พลพตกลับมายังกัมพูชาในปี 1953 หลังโดนตัดทุนการศึกษา พลพตได้เลือกเข้ากับเขมรเวียดมินห์ ซึ่งเป็นกลุ่มกองโจรคอมมิวนิสต์ต่อต้านรัฐบาล

5. ต่อมาเขมรเวียดมินห์เสื่อมอำนาจ เพราะมีกระแสปราบคอมมิวนิสต์ในเขมร ทำให้มีคนหนีไปเวียดนามเหนือมาก แต่พลพตยังอยู่ และร่วมกับนักลัทธิมากซ์-เลนินเหมือนกัน สร้าง “พรรคประชาชน” ขึ้น เพื่อร่วมแข่งการเลือกตั้งปี 1955

6. พระเจ้าสีหนุสละบัลลังก์ลงมาเล่นการเมือง และตั้ง “พรรคสังคมราษฎรนิยม” พรรคสังคมชนะทุกที่นั่ง เจ้าสีหนุเลยสามารถปกครองประเทศแบบพรรคเดียว ทำให้ฝ่ายซ้ายเขมรรู้สึกหมดหวังที่จะสู้ด้วยแนวทางสันติ

7. ปี 1960 พระเจ้านโรดมสุรามฤตสวรรคต สีหนุตั้งตนเป็นผู้นำประเทศ ในปี 1962 มีการเชิญสมาชิกฝ่ายซ้ายกัมพูชาเข้าพบ รวมทั้งพลพต แต่เขาไม่เชื่อใจกลัวจะถูกหักหลัง จึงหลบหนีไปยังชายแดน และเริ่มซ่องสุมกำลัง จนเกิดแนวคิดปฏิวัติประเทศให้เป็นสังคมนิยม

8. พลพตเดินทางไปจีนในปี 1966 ได้เรียนรู้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น และเห็นการปฏิวัติวัฒนธรรมที่กำลังเกิดแบบสดๆ ในจีน

9. เมื่อประเทศกัมพูชามีการเลือกตั้งในเดือน ก.ย. 1966 ลอนนอลได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขาดำเนินนโยบายเป็นเผด็จการ มีการปราบปรามชาวบ้านที่ลุกฮือจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อย …ประชาชนจึงเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นอันมาก ทั้งนี้สีหนุเริ่มเรียกเขมรคอมมิวนิสต์ว่า “เขมรแดง” และทุกคนก็เรียกตามนับแต่นั้น…

10. เดือนมีนาคม 1970 ขณะที่สีหนุเดินทางไปยุโรป ลอนนอลสบช่องยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ล้มระบบกษัตริย์ ด้านสีหนุหันไปร่วมมือกับเขมรแดงแทน

11. ระหว่างนี้พวกเวียดนามเหนือได้บุกเข้าโจมตีกัมพูชา ทำให้เวียดนามใต้และอเมริกาส่งกำลังมาช่วยรัฐบาลลอนนอล กลายเป็นผลักดันให้ชาวบ้านที่โดนลูกหลงมีความเจ็บแค้น และเข้ากับเขมรแดงมากกว่าเดิม

12. เขมรแดงแข็งแกร่งเป็นฝ่ายรุกตีใส่ฝ่ายรัฐบาลได้ชัยชนะหลายครั้ง ด้านรัฐบาลลอนนอลแม้จะมีอเมริกาหนุนหลัง แต่ก็มีการคอร์รัปชั่นมากจนอ่อนแอ สุดท้ายก็แพ้ไปในที่สุด

13. พวกเขมรแดงยึดพนมเปญได้ช่วงเช้าวันที่ 17 เม.ย. 1975 เริ่มมีการกวาดต้อนคนในเมืองไปทำนารวมในชนบทโดยทันที มีคนทำเกษตรมากขึ้นก็จริง แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่ชาวนา ย่อมปลูกอะไรไม่ขึ้น …สุดท้ายระบบเกษตรของกัมพูชาก็ล่มสลาย ชาวบ้านอดตายเป็นอันมาก

14. พวกเขมรแดงใช้วิธีรุนแรงป่าเถื่อนในการลงโทษคนที่ทำงานไม่ได้ เด็กจำนวนมากก็ถูกจับฟาดเข้ากับต้นไม้จนเสียชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่า “โตขึ้นจะได้ไม่กลับมาแก้แค้น” ที่โหดกว่านั้นคือคุกเขมรแดงที่เอาไว้ขังคนที่ถูกหาว่าเป็นชนชั้นนายทุนหรือนิยมต่างประเทศ ซึ่งหากรอดจากคุกก็จะโดนส่งไป “ทุ่งสังหาร” อยู่ดี

15. คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 1-3 ล้านคน จากประชากรในเวลานั้น 7.8 ล้านคน ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

16. ต่อมาในปี 1977 เกิดความแตกแยกภายในเขมรแดงซึ่งเชื่อว่าพลพตต้องการกวาดล้างทหารเขมรด้านที่ติดกับเวียดนาม สุดท้ายจึงมีคนแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายเวียดนาม

17. จุดแตกหักมาถึงในวันคริสต์มาสปี 1978 ทัพเวียดนามพร้อมกับเขมรแดงแปรพักตร์ได้บุกกัมพูชา! ใช้เวลาเพียงสองอาทิตย์ก็ล้มรัฐบาลพลพตได้สำเร็จ เป็นการปิดฉากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร

18. ความขัดแย้งในกัมพูชายังคงดำเนินต่อมาอีกหลายปี แต่สุดท้ายก็มีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโปรเวียดนามกับเขมรแดง กลายเป็นประเทศกัมพูชาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

19. ในภายหลังกัมพูชาร่วมกับยูเอ็นได้ตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดี พบว่าสามารถตัดสินเอาผิดได้เพียง 3 คน ส่วนที่เหลือไม่ป่วยตายก็แก่ตาย รวมทั้งพลพตด้วย เรียกได้ว่าตายไปโดยที่ยังไม่ได้รับโทษใดๆ ทั้งสิ้น

20. ปัจจุบันแม้กัมพูชาจะพัฒนาขึ้น แต่ยังเหลือร่องรอยความเสียหายหลายอย่าง ทุกวันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตหรือพิการจากทุ่นระเบิดที่ฝังไว้รอทำหน้าที่ของมันอยู่ ภาพของความโหดร้ายเกินมนุษย์ยังติดค้างอยู่ในใจผู้ได้รับผลกระทบ ยากจะลบเลือน…

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่เราทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำสอง ไม่ว่าจะกับใคร ฝ่ายไหน ประเทศใดก็ตาม..